พระพุทธศาสนามีทฤษฎีและวิธีการที่เป็นสากล


เป็นงานวิจัยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ในปี 2546 โดยได้เรียบเรียงตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นว่าน่าสนใจจึงขอนำเสนอในที่นี้

      พระพุทธศาสนามีสาระที่เป็นประโยชน์ มีความสำคัญทั้งในด้านทฤษฎีที่เป็นเหตุเป็นผล และวิธีการที่เป็นสากล
เหมาะสมกับทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งมีข้อปฏิบัติที่ยึดทางสายกลาง พุทธศาสนิกชนพึงวิเคราะห์และตระหนักในคุณค่าของทฤษฎี วิธีการ และหลักปฏิบัติเหล่านั้น น้อมนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต เพื่อความสงบสุขและความเจริญของตนเองและสังคม (อมร โสภณวิเชษฐ์วงศ์ และ กวี อิศริวรรณ. 2533 : 1) หลักธรรมและวิธีการที่เป็นสากลของพระพุทธศาสนา จำแนกออกเป็นดังนี้

                                1. หลักธรรมที่เป็นสากล
                                2. วิธีการทางพระพุทธศาสนาที่เป็นสากล

       1. หลักธรรมที่เป็นสากล   เป็นหลักธรรมที่สามารถถือประพฤติปฏิบัติได้ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกชนชั้นของสังคม หากประพฤติปฏิบัติตามก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสันติสุข โลกเกิดความสงบ ไม่เบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่ก่อให้เกิดสงครามซึ่งส่งผลเสียหายต่อมวลมนุษยชาติและธรรมชาติอย่างมหาศาล หลักธรรมที่เป็นสากลของพระพุทธศาสนา มีดังต่อไปนี้

           1.1 หลักความเป็นกฎธรรมชาติ ได้แก่ถือว่า ความจริงนั้นเป็นกฎธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้ามีฐานะเป็นผู้ค้นพบ หมายความว่า กฎความจริงของธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนั้นเองเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธรรมชาติก็เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้นไม่มีใครฝืนกฎของธรรมชาติไปได้ ซึ่งหลักการนี้ถือว่าเป็นสากล เพราะการที่เราฝืนธรรมชาติจะก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย เช่น การผลิตเทคโนโลยีที่สนองความต้องการหรือความสะดวกสบายของมนุษย์ ก่อให้เกิดผลเสียต่อธรรมชาติ เกิดมลพิษทั้งในอากาศ ในน้ำ และบนบก เป็นต้น หลักธรรมที่เป็นกฎธรรมชาติ เช่น หลักไตรลักษณ์

       หลักไตรลักษณ์ (The Three Characteristics of Existence) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ แปลว่า ลักษณะที่ทั่วไปหรือเสมอเหมือนกันแก่สิ่งทั้งปวง ประกอบด้วย

        1) อนิจจตา (Impermanence) ได้แก่ ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป

         2) ทุกขตา (Stress and Conflict) ได้แก่ ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว       ภาวะที่กดดันฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป       จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา       และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไปอยากเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน เช่น อยากได้สิ่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ตามที่ต้องการก็เกิดความทุกข์ เป็นต้น

        3) อนัตตตา (Soullessness or Non-Self) ได้แก่ ความเป็นอนัตตาความไม่ใช่ตัวตนความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง
ความไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เช่น คนเราเมื่อเกิดมาต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตาย เราไม่สามารถจะบังคับไม่ให้เกิดขึ้นตามความต้องการของเราได้ เพราะมีเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความแก่ ความเจ็บและความตาย เป็นต้น

            พระธรรมปิฎกกล่าวว่า ผู้ที่มองเห็นไตรลักษณ์ รู้เท่าทันธรรมดา และมีนิรามิสสุข (สุขที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องล่อด้วยวัตถุสิ่งของหรือกามคุณ)เป็นหลักประกัน แม้จะยังเสพกามสุขก็ไม่มืดมัวถึงกับหมกมุ่นหลงไหล หรือถลำลึกจนเกิดโทษรุนแรง โดยเฉพาะจะไม่เกินเลยจนกลายเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนตนและผู้อื่น และแม้เมื่อความสุขนั้นผันแปรไปก็จะไม่ถูกความทุกข์ใหญ่ท่วมทับเอา ยังคงดำรงสติอยู่ได้ มีความกระทบใจแต่น้อยเป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุขในทุกระดับได้อย่างสมบูรณ์เต็มอิ่มเต็มรสและคล่องใจ เพราะไม่มีความกังวลขุ่นข้องเป็นเงื่อนปมหรือเป็นเครื่องกีดขวางที่คอยรบกวนอยู่ภายใน และยิ่งกว่านั้น ทั้งที่สามารถเสวยสุขทั้งหลายได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ไม่ติดในความสุขเหล่านั้นไม่ว่าจะประณีตหรือดีวิเศษเพียงใด
        1.2 หลักของความเป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นเหตุปัจจัยแบบอิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย เรียกว่า “กฎปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งมีสาระสำคัญโดย
ย่อว่า “อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ; อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ. “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี; เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี”
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ; อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฒติ. “เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด; เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ”
หมายความว่า เมื่อมีผลอย่างหนึ่ง ก็มีเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลเช่นนั้น เช่น เมื่อเราปลูกต้นมะม่วง ต้นมะม่วงงอกงามขึ้นมาก็เป็นผล และมีเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดเป็นต้นมะม่วง เช่น อาศัยดิน อาศัยน้ำ อาศัยออกซิเจน อาศัยอุณหภูมิที่พอเหมาะ อาศัยปุ๋ย เป็นต้น


           1.3 หลักศรัทธา เป็นหลักศรัทธาที่นำมาสู่ปัญญา นั่นคือ ความไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ จะต้องเชื่อความจริงที่พิสูจน์ได้ ทดลองได้ หลักธรรมนี้ได้แก่ “กาลามสูตร” เช่น อย่าเชื่อ เพราะได้ฟังตามกันมา เพราะได้เรียนตามกันมา เพราะได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เพราะเสียงเล่าลือ เพราะอ้างตำรา เพราะตรรกะ เพราะอนุมานเอา เพราะคิดตรองตามแนวเหตุผล เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน เพราะมีรูปลักษณะน่าเชื่อ และเพราะเห็นว่าเป็นสมณะ เป็นครูอาจารย์ของเรา ดังนั้นจากหลักธรรมข้อนี้แสดงให้เห็นว่าบุคคลทุกคนไม่ควรเชื่ออย่างไร้เหตุผล การจะเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะต้องมีการพิสูจน์ ตรวจสอบ คิดไตร่ตรองด้วยสติปัญญา เป็นต้น

           1.4 หลักการแก้ปัญหาด้วยการกระทำของมนุษย์ตามหลักเหตุผล เป็นหลักที่มนุษย์สามารถแก้ปัญหาด้วยการกระทำของตนเองและด้วยสติปัญญาของตนเอง ไม่ใช่หวังอ้อนวอนจากปัจจัยภายนอกหรือสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เช่น ภูตผีปีศาจ รุกขเทวดา เทพเจ้า ทั้งหลาย เป็นต้น พระพุทธเจ้าเล่าไว้ในพุทธพจน์ที่ตรัสว่า“มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว พากันถึงเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าภูผา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่ง แต่สิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่สรณะอันเกษม เมื่อยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะ ย่อมไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง”“แต่ชนเหล่าใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ รู้เข้าใจอริยสัจ 4 เห็นปัญหา เหตุเกิดแห่งปัญหา ภาวะไร้ปัญหา และวิธีปฏิบัติให้ถึงความสิ้นปัญหาจึงจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”
 วิธีการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของมนุษย ก็คือ หลักธรรม “อริยสัจ 4” ได้แก่

                      1) ทุกข์ คือ เริ่มด้วยปัญหา ต้องรู้ปัญหาเกิดจากอะไร
                      2) สมุทัย คือ สืบสาวหาสาเหตุของปัญหา
                      3) นิโรธ คือ กำหนดจุดหมายที่จะดับหรือแก้ปัญหานั้น ๆ
                      4) มรรค คือ ปฏิบัติตามวิธีการให้ถึงความดับหรือแก้ปัญหานั้น ๆ ได้



           1.5 หลักกฎแห่งกรรม เป็นหลักที่ว่าด้วยกรรม (การกระทำ) และวิบากกรรม (ผลของการกระทำ) ซึ่งเป็นหลักสากลที่ว่า การกระทำกรรมใดก็ตามก็ย่อมได้รับผลกรรมนั้นตอบสนอง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ หากตนเองกระทำเรื่องใดก็ตามก็ย่อมได้ผลการกระทำนั้นตอบสนอง นั่นคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น 
           1.6 หลักพระธรรมวินัย หลักการของพระธรรมวินัยหรือคำสั่งในพระพุทธศาสนา ที่ถือว่าเป็นสากลสามารถ
นำไปปฏิบัติได้ทุก ๆ คน ได้แก่
                 1) สอนให้พึ่งตนเอง
                 2) สอนให้ทำความดีด้วยการเสียสละ
                 3) สอนให้เอาชนะใจตนเอง
                 4) สอนให้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริง
                 5) สอนให้ถือความถูกต้องเป็นหลัก
                 6) สอนให้ก้าวหน้าในความดีเสมอ
                 7) สอนให้รักษากาย วาจา ใจ ด้วยศีล
                 8) สอนแบบจำแนกแจงแจงตามเหตุผล
                 9) สอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างของคน
                 10) มีการสอนเป็นระดับ ได้แก่ ในระดับโลกิยะ และระดับโลกุตระ
2. วิธีการทางพระพุทธศาสนาที่เป็นสากล มีวิธีการมากมายที่เป็นสากล
สามารถนำไปเป็นแนวปฏิบัติได้ทั้งหมด ในที่นี้จะขอกล่าวในส่วนที่เป็นวิธีการใหญ่ ๆ ดังนี้คือ

            2.1 วิธีการพัฒนามนุษย์และสังคม ขบวนการการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญได้แก่ การศึกษาหลักของการศึกษา
ของพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๓ ด้าน โดยสอดคล้องกับองค์ประกอบแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่มี ๓ ด้านคือ
พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เรียกว่า “ไตรสิกขา” ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

                 1) ศีล คือ การฝึกฝนพัฒนาด้านพฤติกรรม หมายถึง การพัฒนาพฤติกรรมทางกาย และวาจา ให้มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องมีผลดี ได้แก่

                          1) การรักษาวินัยแม่บทของชุมชนหรือขององค์กร เช่น ศีล กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ระเบียบข้อบังคับ และจรรยาบรรณของวิชาชีพต่าง ๆ เป็นต้น

                          2) การรู้จักใช้อินทรีย์ เช่น รู้จักพิจารณาเลือกที่จะดู จะฟัง แยกแยะได้ว่าสิ่งใดควรดู ควรฟัง สิ่งใดที่เป็นสิ่งดีงาม มีประโยชน์หรือเป็นโทษภัย และละเว้นกระทำสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น การรู้จักดู ฟัง อย่างมีสติ ไม่ปล่อยตัวลุ่มหลงมัวเมา ตกเป็นทาสของสิ่งที่ได้ดู ได้ฟัง การไม่เห็นแต่ความสนุกสนานบันเทิงเพียงอย่างเดียวควรดู ฟังในสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญญา
                          3) การหาเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์ เช่น เป็นอาชีพที่ไม่เบียดเบียน เอาเปรียบผู้อื่น เป็นอาชีพที่ช่วยแก้ไขปัญหา หรือสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม เป็นอาชีพที่ช่วยให้พัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นอาชีพที่ไม่ทำลายคุณค่าของชีวิต เป็นอาชีพที่ทำให้ได้ปัจจัยต่าง ๆ มาเลี้ยงชีวิตด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังปัญญาของตนเอง เป็นต้น

                 2) สมาธิ คือ การฝึกฝนพัฒนาด้านจิตใจ หมายถึง การพัฒนาจิตใจดังต่อไปนี้

                         1) คุณภาพจิต ได้แก่ คุณธรรมความดีงามต่าง ๆ เช่น เมตตา กรุณา กตัญญูกตเวทิตา คารวะ หิริโอตตัปปะ ฯลฯ ซึ่งหล่อเลี้ยงจิตใจให้งอกงาม และเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมที่ดีงาม

                         2) สมรรถภาพจิต ได้แก่ ความสามารถ เข้มแข็ง มั่นคง มีประสิทธิภาพของจิต เช่น ฉันทะ (ความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ) วิริยะ (ความเพียร) อุตสาหะ (ความขยัน) ขันติ (ความอดทน) สติ (ความระลึกได้ การควบคุมตนได้) สมาธิ (ความตั่งมั่น ความแน่วแน่ ความสงบ) รวมทั้งความไม่ประมาท เป็นต้น ที่ทำให้ก้าวหน้ามั่นคงในพฤติกรรมที่ดีงาม และพร้อมที่จะใช้ปัญญา 3) สุขภาพจิต ได้แก่ สภาพจิตที่ปราศจากความขุ่นมัว เศร้าหมอง เร่าร้อน เป็นต้น ความสดชื่น เอิบอิ่ม ร่าเริง เบิกบาน ผ่อนคลาย ผ่องใส เป็นสุข ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกาย และทำให้พฤติกรรมที่ดีงามมีความมั่นคง สอดคล้องกลมกลืน

                      3) ปัญญา คือ การฝึกฝนพัฒนาด้านปัญญา มีหลายระดับ เช่น
                         
                         1) ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่สดับตรับฟังหรือเล่าเรียน และรับถ่ายทอดศิลปวิทยาการ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

                         2) การรับรู้ประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่บิดเบือน หรือเอนเอียง ด้วยอคติทั้งหลาย

                         3)
การคิดพิจารณาวินิจฉัยอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยการใช้ปัญญาบริสุทธิ์ ไม่ถูกกิเลส เช่น ความอยากได้ประโยชน์ และความเกลียดชัง เป็นต้น เข้ามาครอบงำบังคับบัญชา

                         4) การรู้จักมอง รู้จักคิด ที่จะให้เข้าถึงความจริง และได้คุณประโยชน์ มีโยนิโสมนสิการ ที่เรียกว่า มองเป็น คิดเป็น เช่น รู้จักวิเคราะห์ แยกแยะ สืบสาวเหตุปัจจัย เป็นต้น

                         5) การรู้จักคิดจักการ ดำเนินการ ทำกิจให้สำเร็จ ฉลาดในวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย

                         6) ความสามารถแสวงหา เลือกคัดสรรประมวลความรู้ ความคิดได้ชัดเจนและสามารถนำความรู้ที่มีอยู่มาเชื่อมโยงสร้างเป็นความรู้ความคิดใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและสร้างสรรค์

                         7) เป็นการใช้ปัญญาขั้นสูงสุด นั่นคือ ความรู้แจ้งความจริงของโลกและชีวิต หรือรู้เท่าทันธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่ทำให้วางใจถูกต้องต่อทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถแก้ปัญหาชีวิต ขจัดความทุกข์ในจิตใจของตนได้ หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย จิตไม่ถูกบีบคั้นครอบงำกระทบกระทั่งด้วยความผันผวนปรวนแปรของสิ่งต่าง ๆหลุดพ้นเป็นอิสระ อยู่เหนือกระแสโลก ซึ่งทำให้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายและดำเนินชีวิตด้วยปัญญาอย่างแท้จริง

          2.2 วิธีแสวงหาความรู้   ในกระบวนการพัฒนาปัญญาของมนุษย์ จะสัมพันธ์กับวิธีทำให้เกิดปัญญา 3 วิธี คือ


                  1) จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง
                  2) สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียนหรือถ่ายทอดหาเหตุผลต่อกันมา
                  3) ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการลงมือปฏิบัติฝึกหัดอบรม

             นอกจากนี้ความรู้ที่จัดโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์ ได้แก่ความรู้ที่เนื่องด้วยปฏิบัติการทางสังคม เช่น การสื่อสาร ถ่ายทอด
การแสวงหา การพูดคุย เป็นต้น จำแนกออกได้เป็น 3 อย่างคือ

                  1) สุตะ คือ ความรู้ที่ได้สดับ เล่าเรียน หรือถ่ายทอดต่อกันมา แบ่งย่อยได้เป็น 2 คือ
                      ก. ความรู้ที่ได้สดับตรับฟัง บอกเล่า สอนเรียน ถ่ายทอดต่อกันมา
                      ข. ความรู้ที่บางศาสนาถือว่าได้รับการเปิดเผยแจ้งดลใจจากองค์บรมเทพ เช่น พราหมณ์ถือว่าพระเวท
                          เป็นความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากพระพรหมโดยตรง เป็นต้น

                  2) ทิฎฐิ คือ ความเห็น ทฤษฎี ลัทธิ ความเชื่อถือต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้ที่ได้สรุปผลอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการเผยแพร่ มีคนเชื่อถือและปฏิบัติตาม เป็นต้น

                  3) ญาณ คือ ความรู้ ความหยั่งรู้ ความบริสุทธิ์ ความรู้ตรงตามสภาวะ หรือปัญญาที่ทำงานสัมฤทธิ์ผล เป็นต้น ญาณเป็นความรู้ระดับสุดยอดของปัญญามนุษย์ และเป็นผลสำเร็จสำคัญของมนุษย์ และมีส่วนผลักดันสำคัญ ให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในอารยธรรมของมนุษยชาติ

               2.3 วิธีการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์พึ่งตนเอง ดังสุภาษิตที่ว่า “อตฺตาหิ อตฺตาโน นาโถ” หมายถึง ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน โดยที่มนุษย์จะต้องแก้ปัญหาด้วยสติปัญญาของมนุษย์เอง และมนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ โดยไม่ต้องบวงสรวงอ้อนวอนด้วยพิธีกรรมจากเทพเจ้าบันดาล จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มนุษย์มีอิสรภาพของตนเอง
                 2.4 วิธีการให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยสันติวิธี โดยกระทำแต่ความดี มีหลักธรรมประจำใจ ไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน มีความเมตตากรุณา ความกตัญญูรู้คุณ ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา เป็นต้น หลักธรรมมากมายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาดีต่อมวลมนุษยชาติที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
                 2.5 วิธีการสอนให้มนุษย์ล่วงพ้นจากความทุกข ตามหลักของอริยสัจ 4 ดังที่กล่าวมา

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 437499เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท