เบื้องหลังคำว่า "ไม่มีเวลา" และ "ภาพลวงตา" ที่มาจาก KPI


. . คนทำงานก็หลอกผู้บริหารผ่านการทำผลงาน (ปลอมๆ) เพื่อให้เห็นว่าเป็นไปตาม KPI พูดง่ายๆ ก็คือพลังงานที่คนในองค์กรใช้กลับกลายไปอยู่ที่เรื่องการ “หลอกกันไปหลอกกันมา” . .

            ใครก็ตามที่ได้เรียนรู้เรื่อง KM ผ่าน Workshop 3 วันของ สคส. มักจะพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า เครื่องมือ KM แบบนี้มีพลังอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ท่านพูดเสริมต่อจากนั้นเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ท่านบอกกับผมว่า . . ถึงแม้เครื่องมือตัวนี้จะดี จะมีประโยชน์ต่อคนทำงาน เพราะทำให้คนได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน แต่ในสภาพการทำงานจริงๆ นั้น คนทำงานมักจะมีงานยุ่งตลอดเวลา ในการเชิญชวนให้เข้าร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งบางที่ก็เรียกวงนี้ว่าเป็นวง KM, วง Success Story Sharing (SSS), วง CoP, วง Dialogue, หรือชื่ออื่นๆ  ซึ่งรูปแบบของวงที่กล่าวมานี้ มักจะเป็นสิ่งที่สร้างเสริมเพิ่มเติมขึ้นมา ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะที่ “เนียน” อยู่กับการทำงาน ซึ่งแน่นอนล่ะครับคำตอบที่ได้รับมักจะออกมาในทำนองที่ว่า “ไม่มีเวลา” หรือ “งานยุ่งอยู่” อะไรทำนองนี้ จนในที่สุดองค์กรก็จำเป็นต้องสร้าง KPI (ตัวชี้วัด) ในเรื่องนี้ (KM) ขึ้นมา เพื่อจะได้ให้แน่ใจว่าเรื่อง KM นี้ เป็นเรื่องที่คนทำงานต้องให้ความสำคัญ

            ระบบบริหารงานในปัจจุบันนั้นจะเห็นได้ว่าถ้าผู้บริหารต้องการอะไร มักจะใช้วิธีการตั้ง KPI ขึ้นมา ภายใต้สมมติฐานที่ว่าถ้ามี KPI แล้วทุกคนก็จะให้ความสนใจกับเรื่องนั้นๆ นี่เป็นการมองที่ผิวเผินมาก คือแค่ตั้ง KPI ไว้ แล้วก็ใช้ KPI เหล่านี้ “ไล่บี้” คนทำงาน ใช้การประเมินเพื่อดูว่าคนนั้นคนนี้เดินไปตามตัวชี้วัดหรือไม่ โดยที่ไม่ได้เอ่ะใจด้วยซ้ำไปว่านี่คือต้นเหตุของการหลอกกันไปหลอกกันมาภายในองค์กร คือผู้บริหารหลอกใช้คนทำงานผ่านการตั้ง KPI ส่วนคนทำงานก็หลอกผู้บริหารผ่านการทำผลงาน (ปลอมๆ) เพื่อให้เห็นว่าเป็นไปตาม KPI พูดง่ายๆ ก็คือพลังงานที่คนในองค์กรใช้กลับกลายไปอยู่ที่เรื่องการ “หลอกกันไปหลอกกันมา” ซะเป็นส่วนใหญ่ จนแทบจะไม่มีใครรู้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริงอีกต่อไป แล้วอย่างนี้สิ่งที่ทุกคนอยากได้ สิ่งที่เขียนไว้ใน “ค่านิยม” องค์กร (อย่างสวยหรู) เช่น เรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) เรื่องความเอาใจใส่กัน (Care) จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

            ผมขอย้อนกลับไปเรื่องที่คนส่วนใหญ่อ้างว่า “ไม่มีเวลาใช้ KM . . ไม่มีเวลาที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน” ผมอยากให้ท่านนึกถึงการทำงานในลักษณะที่เหมือนกับการ “ออกรบ” หากในขณะที่ท่านกำลังจะไปรบนั้น มีใครมาชวนท่านให้เตรียม  “ลับดาบ” ก่อน แต่ท่านกลับตอบเขาไปว่า “ไม่มีเวลา ไม่เห็นหรือว่ากำลังยุ่งอยู่” แล้วท่านก็ออกไปรบ พร้อมกับดาบทู่ๆ ฟันศัตรูก็ไม่ตาย ต้องใช้แรงฟาดฟันมากมาย แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร นี่ก็คงเปรียบได้กับการทำงาน ที่ทำไปๆ โดยที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ดีพอ ทำแล้วก็ไม่เป็นที่พอใจของลูกค้า (ผู้ใช้บริการ) . .จนในที่สุดผู้บริหารก็ต้องหันมาตั้ง KPI ในเรื่องการเรียนรู้ในเรื่อง KM แต่แล้วสิ่งที่ได้ก็กลับกลายเป็น “KM ปลอมๆ” เต็มไปหมด . . เห็นไหมครับว่าการใช้ KPI ในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องพิถีพิถัน จะไปตั้งซี้ซั้วไม่ได้ ไม่เหมือน KPI เรื่องอื่นๆ ที่อาจใช้จำนวนเชิงปริมาณวัดได้ แต่ KPI เรื่องการใฝ่รู้ การแบ่งปันความรู้ และการเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจเป็นเรื่องที่อยู่ภายในคน ไม่ใช่เรื่องที่จะใช้ตัวเลขเชิงปริมาณวัดได้เสมอไป . .

            . . . พูดถึงตรงนี้สิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจของผมก็คือ . . แล้วคนที่กำลังจะไป “ออกรบ” ล่ะ ทำไมเขาจึงเตรียมตัว “ลับดาบ” เป็นอย่างดี ทั้งๆ ที่ไม่เห็นมี KPI ในเรื่องนี้แต่อย่างใด . . เราก็น่าจะทำเช่นนั้นได้นะ !!

หมายเลขบันทึก: 437367เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2011 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

Kill Performance & Innovation ด้วยครับ ดร.ภิญโญ

กำลังจะทำในองค์กรเลยครับ KPI หลังจาก ปลูกฝังเคเอ็มไปได้พักใหญ่ๆ ยาวๆ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะอาจารย์ KPI สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำคัญที่จิตใจของผู้ให้และรับค่ะ และคิดว่าวัดได้ไม่ยากนะค่ะอาจารย์ แต่ต้องใช้เวลาค่ะ และสำคัญที่ผู้ตั้ง KPI ต้องเข้าใจและได้ลงมือปฏิบัติการ ลปรร. ด้วยตนเองอย่างเอาจริงเอาจังด้วยนะค่ะ จะทำให้การวัดผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

ผมจะพยายามเขียนเรื่องนี้ครับ

KPI ที่ดีต้องสนับสนุนด้วย KM แบบเข้มข้นมากๆครับ

เรียนท่านอาจารย์ประพนธ์

ผมลองเขียนเรื่องนี้ไว้ที่บทความข้างล่างครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรจัด KM กันมากๆ ครับ..

http://gotoknow.org/blog/appreciativecoaching/434044

KPI (evaluation) , KM (learning), Leadership (vision, passion) สามเรื่องหลักๆ นี้ เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งและเป็นสิ่งที่ไม่ควรแยกออกจากกัน . . นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดในงานวันพรุ่งนี้ ที่โรงแรมริชมอนด์ ครับ

น่าสนใจมากๆครับ ท่านอาจารย์

กราบขอบพระคุณสำหรับการจุดประกายความคิดดีๆ ด้วยความรู้ดีๆ นะครับ

สวัสดีครับอาจารย์

อาจจะเป็นเพราะอะไรก็ตามที่เราฟังดูเป็น "กิริยา" เราเลยคิดว่ามันเป็นการเรียนรู้แบบจลนพิสัย (psychomotor, skill) และไม่ได้คิดว่าจริงๆแล้วมันเกี่ยวกับ (หรือ "เป็น") เรื่องทัศนคติก็เป็นได้ (อันนี้เป็นสมมติฐาน)

และอาจจะเป็นเพราะเขาเข้าใจว่าพฤติกรรมมนุษย์ถูกกำหนดจาก "กรอบ" หรือ "คำสั่ง" และไม่เกี่ยวกับอารมณ์

หรืออาจจะเป็นเพราะถ้าคิดว่าเกี่ยวกับอารมณ์ ก็เป็นเพียงเพราะอารมณ์ "กลัว" เท่านั้น.....!!!

เมื่อไรก็ตามที่เราพูดว่า "ไม่มีเวลา" คำๆนี้เป็นความหมายสัมพัทธ์ เพราะในความเป็นจริง "เวลา" ไม่ใช้สิ่งที่เรามี แต่เป็นสิ่งที่เราใช้เมื่อสิ่งนั้นมีความหมายต่อเรา ดังนั้น "ไม่มีเวลา" มีความหมายง่ายๆว่า "ฉันมีอะไรที่สำคัญกว่าจะทำ(กว่าสิ่งนี้)" เท่านั้นเอง เอาตรงนี้มาใส่มาในสมการ ก็จะพบว่าองค์กรนั้นๆไม่มี KM ไม่ใช่เพราะว่า "ไม่มีเวลา" แต่เป็นเพราะว่า "มีอะไรอย่างอื่นที่สำคัญกว่าจะทำการทำ KM" ซึ่งเป็นปัญหาทางทัศนคติ มากกว่าปัญหาว่าเรายังไม่มี KPI ทางด้านนี้

ทั้งหมดก็คงเป็นทัศนขัดสน (Poverty mentality) ของผู้บริหารเท่านั้นเอง ที่ไม่รู้จะทำอย่างไร กระนั้นเลยก็บังคับดีกว่า คิดว่าคนในองค์กรเป็นเด็กอนุบาลที่กลัวไม้เรียว ก็เอาไม้เรียวมาขู่

จบข่าว!!!

ถูกใจคำพูดอาจารย์หมอสกลมากค่ะ ขอบคุณค่ะ

อีกหนึ่งมุมมองค่ะ....

เห็นด้วยอย่างมากๆกับอาจารย์ในประโยคนี้ค่ะ

“...แต่ KPI เรื่องการใฝ่รู้ การแบ่งปันความรู้ และการเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจเป็นเรื่องที่อยู่ภายในคน ไม่ใช่เรื่องที่จะใช้ตัวเลขเชิงปริมาณวัดได้เสมอไป...”

...

 “. . แล้วคนที่กำลังจะไป “ออกรบ” ล่ะ ทำไมเขาจึงเตรียมตัว “ลับดาบ” เป็นอย่างดี ทั้งๆ ที่ไม่เห็นมี KPI ในเรื่องนี้แต่อย่างใด . .”

ในประโยคทองของอาจารย์ดังว่านั้น...ในการทำงานมีคนประเภทนี้จริงๆ...  คอนเฟอร์ม!!!...

ก็ “บางคน” เขาทำกันอยู่แล้วโดยธรรมชาติการทำงาน ไม่เกี่ยวกับ “มี” หรือ “ไม่มี” เวลา

จึงอาจทำให้บุคคลที่มีพฤติกรรมใฝ่รู้ แบ่งปันความรู้ และเรียนรู้อยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ถูกมองด้วย KPI ที่กำหนด(ตามหลัง)ไม่เห็น... เพราะเขาทำซะเนียนจริงๆ

บางเรื่อง...จึงกลายเป็นเรื่องที่ “วัดยาก” และอาจเป็นเหตุให้ เรื่องที่วัดยากไม่ถูกวัด

ผลลัพธ์ KPI_KM ที่ได้มา บางครั้งจึงเห็นเป็นภาพสะท้อนของ “หุ่นยนต์” มิใช่... “คนที่มีชีวิต และจิตใจ...”

เป็นเหตุให้บางคนที่ทำแบบเนียนในเนื้องานอยู่แล้วแต่KPI ควานหาเขาไม่พบ กลายเป็นมนุษย์ที่ไม่ถูกมองหรือถูกมองข้าม ตามมาด้วยความรู้สึกว่าตนเอง “ไร้ค่า ไร้หัวใจ และตายซาก...” กันเห็นๆ...

เฮ้อ!... อาวุธที่ใครใช้ไม่เป็น กลายเป็นดาบสองคมจริงๆ

น่าจ๋งจ๋านนนนิ.....อิอิ

อันนี้เป็นเรื่องว่ากันตรงๆ จริงๆของผู้(ถูก)ปฏิบัติ ชนิดไม่ขอเกรงใจกันละ...

จบข่าว(จะเป็นคดี)เด็ด!!!

อิอิอิ

เพิ่งฟังอาจารย์มาเมื่อวาน  ประเมิน  ประหาร  ....จิตวิญญาณ  การพัฒนา

แรงงงงงงงง.....จริงๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท