ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

ยอวาที


อีกทั้งการ “ ยอวาที” มักมีคนเข้าใจผิด นึกว่าเขาจัดให้มา ยกย่อง ชมเชย สรรเสริญ กันจริงๆ เขาไม่คิดว่าการ ยอวาที คือ การมาด่าทางอ้อม เพราะฉะนั้น บางงานผู้จัด จัดยอวาทีขึ้นเพื่อให้ผู้พูดมาสรรเสริญ สดุดี สถาบันของตนเอง ส่วนผู้ถูกเชิญก็เข้าใจว่าเขาให้มาพูดกระแหนะกระแหน เลยพูดกระแหนะกระแหน เหน็บแนมเสียยกใหญ่ ทางด้านผู้จัดก็ตกใจว่า เราเชิญเขาให้มาด่าเราหรือ หลังๆ ก็ไม่มีใครกล้าจัดการยอวาที พวกเราเลยหาดูการยอวาทียากขึ้น

ยอวาที 

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ 

www.drsuthichai.com

                 สำหรับการพูดเกี่ยวกับการ “ ยอวาที” มีคนเขียนเป็นหนังสือกันน้อยมากหรือแทบจะไม่มีใครเขียน ซึ่งบทความฉบับนี้ ได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับการพูดแบบ “ ยอวาที ” มาจากหนังสือ “ พลังเพิ่มพลังพูด” ของท่านอาจารย์วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ซึ่งท่านสามารถหาอ่านเพิ่มได้

                 การยอวาทีเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2515 (ก่อนปี พ.ศ.2515 การโต้วาทีเป็นที่นิยมมาก มีการโต้วาทีกันบ่อยมากๆ และนักโต้วาทีเป็นระดับคนที่มีชื่อเสียงของสังคมไทยหรืออยู่ในระดับแนวหน้าของสังคมไทยเช่น นายควง อภัยวงศ์(อดีตนายกรัฐมนตรี) , ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมท(อดีตนายกรัฐมนตรี) , คุณหญิงเต็มสิริ บุญยสิงห์ , คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร ฯลฯ  ซึ่งการโต้วาทีในช่วงนั้นจะออกในแนวของการสะท้อนปัญหาของบ้านเมืองและวิพากษ์วิจารณ์การปกครองบ้านเมือง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนสมัยนั้นมาก

                 แต่การปกครองในช่วงนั้น ผู้ปกครองจะมีลักษณะเป็นเผด็จการ อีกทั้งการโต้วาทีในช่วงหลังๆ เริ่มมีลักษณะดุเดือดมีการกระทบผู้มีอำนาจบ้าง ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นจึงเริ่มทำหนังสือเตือน มีการตักเตือนผู้โต้วาทีบางท่าน มีการตรวจสอบหัวข้อหรือญัตติของการโต้วาทีทุกครั้ง ซึ่งถ้าหากต้องการโต้วาทีต้องขออนุญาตสันติบาลในสมัยนั้นทุกครั้ง ทำให้สร้างความลำบากใจทุกครั้งเมื่อต้องการจัดการโต้วาที 

                 ทำให้การโต้วาทีในช่วงหลังๆเปลี่ยนไปใช้หัวข้อหรือญัตติที่เบาๆ จะเป็นเพราะการต้องการประชดผู้มีอำนาจก็ไม่อาจทราบได้ เช่น “ อกหักดีกว่ารักไม่เป็น”  “ รักผู้หญิง รักลิงดีกว่า ”

 “ รักผู้ชาย รักควายดีกว่า” และช่วงหลังสุดใช้ญัตติว่า “ เกิดเป็นหมาดีกว่าเกิดเป็นคน ” เมื่อโต้วาทีญัตตินี้เสร็จปรากฏว่า ฝ่ายหมาเป็นผู้ชนะ ทำให้สื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ ได้ลงข้อความหรือให้ข่าวในทางวิจารณ์แบบเสียหาย ทำนองว่าไม่มีอะไรจะพูดแล้วหรือ จึงได้พูดญัตตินี้ และคนพูดก็เป็นถึงคนที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เป็นครูอาจารย์

                 ทำให้อาจารย์คุณหญิงเต็มสิริ บุญยสิงห์ ซึ่งท่านคงจะอึดอัดกับเรื่องดังกล่าว กล่าวคือ โต้วาทีเรื่องของบ้านเมืองการเมืองการปกครองก็โดนห้าม พอโต้วาทีในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับบ้านเมืองก็โดนด่า เมื่อพูดไม่ได้ ด่าไม่ได้ กระทบไม่ได้ ก็ชมมันเสียเลยดีกว่า เยินยอสรรเสริญ ยกยอปอปั้นให้มันสิ้นเรื่อง สิ้นราว ท่านจึงคิดรูปแบบของการ “ ยอวาที ” ขึ้นมา โดยมีการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย เหมือนกับการโต้วาที แต่เรียกเสียใหม่ว่า “ ฝ่ายเยิน” และ “ฝ่ายยอ”  มีจำนวนผู้พูดฝ่ายละ 3-4 คน ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันยก  ช่วยกันยอ ช่วยกันเยิน ในหัวข้อหรือญัตตินั้นๆ  โดยมากการยอวาทีมักไม่ใช่การแข่งขันที่จะต้องมีการให้คะแนนแต่มักจะเป็นการโชว์มากกว่า

                 ปี 2515 การ “ ยอวาที ” จึงถือกำเนิดขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ญัตติที่ว่า “ ประชาธิปไตยไทยดีที่สุดในโลก ” แล้วก็มีการยอวาทีต่อมีหลายเวที จนเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้นนิยมยิ่งกว่าการโต้วาทีเสียอีก

                 การ “ ยอวาที” คือ การใช้ “ ศิลปะการกระแหนะกระแหน ” กล่าวคือการยอวาทีเป็นการพูด ประชดประชัน แดกดัน เหน็บแนม กระทบกระเทียบ ให้แสบๆ คันๆเข้าไปในรูหู  บางท่านถึงกับกล่าวว่าการยอวาทีเป็น “ศิลปะการพูดโดยการด่าคนโดยมิให้ติดคุก ” แทนที่จะด่ากันตรงๆ เปลี่ยนมาเป็นการชมซะ ยอซะ เช่น ถ้าต้องการด่าว่าขี้เกียจจนตัวเป็นขน วันๆ เอาแต่นอนไม่ทำอะไร ก็เปลี่ยนมายอหรือชมว่า “ ไอ้เนี่ยมันขยัน เวลาทำอะไรมันชอบทำแบบหักโหม คิดดูซิว่าพอเช้าขึ้นมา ถึงที่ทำงานมันก็เริ่มตั้งหน้าตั้งตานอนเลย คนอื่นเขาพักเที่ยงกันไปกินข้าวกัน แต่มันยังอดทนนอนอยู่ บางวันยังต้องไปสะกิดบอกมันว่า อย่าหักโหมเกินไปนัก ไงๆ ก็ตื่นขึ้นมาพักผ่อนบ้าง ” ครับ ทำนองนี้ เขาเรียกว่า “ ยอวาที”

                 แต่เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้การยอวาทีมีความนิยมน้อยลง เพราะเราสามารถโต้วาทีได้กันอย่างตรงๆหรือพูดจาตรงๆได้มากขึ้น แต่ถ้าหากจะจัดการยอวาที ก็สามารถเลือกประเด็นที่ผู้ฟังหรือผู้คนรู้สึกอึดอัดรำคาญใจอยากพูดอยากระบาย เช่น ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ก็สามารถพูดยอวาทีได้ 

                 ส่วนใหญ่การตั้งหัวข้อหรือญัตติในการยอวาที มักจะต้องมีคำว่า “ ดีที่สุด”  “ สบายที่สุด” หรืออะไรก็ได้ที่ลงท้ายด้วยคำว่า “ ที่สุด” ซึ่งควรตรงข้ามกับความจริงซึ่งอาจจะ “ เลวที่สุด ” หรือ “ ห่วยที่สุด” “ ลำบากที่สุด” เช่น – เมืองไทยน่าอยู่ที่สุด – กรุงเทพฯน่าอยู่ที่สุด       -การจราจรในกรุงเทพฯสะดวกที่สุด – รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ทำงานได้ว่องไวที่สุดในโลก – รัฐบาลนายบรรหาร ใจซื่อมือสะอาดที่สุดในโลก ฯลฯ

                 จุดเด่นของการ “ยอวาที” กล่าวคือ เป็นการใช้ศิลปะการพูดที่ต้องใช้อารมณ์ขันเพราะถ้าไม่มีอารมณ์ขันก็จะเป็นการพูดที่ดูจริงจังเกินไป อีกทั้งต้องใช้ศิลปะการพูดที่ให้ผู้ฟังเกิดความสะใจ จี้ใจ ต้องพูดในลีลาแบบ ทีเล่นทีจริง ตบหัวแล้วลูบหลัง ฯลฯ สำหรับการใช้อารมณ์ขันมักเป็นการใช้อารมณ์ขันแบบในลักษณะ “ ผิดเส้น ”  เช่น

 -                   ท่านทั้งหลายครับ ผมขอยืนยันว่าเมืองไทยนั้นน่าอยู่จริงๆ ครับ เพราะเมืองไทยเรานั้น ในน้ำก็มีปลา ในนาก็มีข้าว ในอ่าวก็มีแก๊ส ในแดดก็มีวิตามินดี ในซ่องโสเภณีก็ยังมีโรคเอดส์เลยครับ 

 -                   ผมเองก็ขอกล่าวเสริมว่าข้าราชการไทย ส่วนใหญ่ก็มักเป็นคนที่เที่ยงตรงกันเกือบทั้งนั้น ที่ว่าเป็นคนเที่ยงตรงนั้นหมายถึงว่า ถ้ายังไม่เที่ยงตรงก็ยังไม่โผล่หัวมาทำงานครับ 

 -                   ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้าง เพราะโดนโจมตีหนักเหนือเกิน คนที่ไม่รู้อะไรก็อาจจะไม่ทราบว่าการเป็นตำรวจนั้น มันเหนื่อยหนักหนาสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน ขนาดเพื่อนของผม คนหนึ่งรับราชการตำรวจมาจนกระทั่งติดยศพันตำรวจโท เป็นสารวัตรแล้ว ก็ยังมาบ่นกับผมว่า เขาเบื่ออาชีพตำรวจเต็มที เขาบ่นว่าอยากจะลาออกจากอาชีพตำรวจเพื่อไปหางานสุจริตอย่างอื่นทำบ้าง 

 ครับสำหรับ เนื้อหาและลีลา การยอวาที เราอาจจะเห็นว่าบางครั้งมันหมิ่นเหม่ต่อการติดคุกติดตะรางไม่น้อยครับ 

 ด้านข้อจำกัดของการ ยอวาที   เป็นศิลปะการพูดที่ค่อนข้างยากครับ เพราะถ้ามือไม่ถึง ก็จะออกไปในทาง รุนแรง ก้าวร้าว จนกลายเป็นการตั้งวงด่ากันแบบ ตรงๆ ซึ่งจะผิดเจตนารมณ์ของการยอวาทีไป  ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะพูด “ แซววาที ” เพราะพูดง่ายกว่ายอวาทีมาก ซึ่งการแซววาทีเราสามารถใช้การยอวาทีผสมลงได้

                 อีกทั้งการ “ ยอวาที” มักมีคนเข้าใจผิด นึกว่าเขาจัดให้มา ยกย่อง ชมเชย สรรเสริญ กันจริงๆ เขาไม่คิดว่าการ ยอวาที คือ การมาด่าทางอ้อม เพราะฉะนั้น บางงานผู้จัด จัดยอวาทีขึ้นเพื่อให้ผู้พูดมาสรรเสริญ สดุดี สถาบันของตนเอง  ส่วนผู้ถูกเชิญก็เข้าใจว่าเขาให้มาพูดกระแหนะกระแหน เลยพูดกระแหนะกระแหน เหน็บแนมเสียยกใหญ่ ทางด้านผู้จัดก็ตกใจว่า เราเชิญเขาให้มาด่าเราหรือ หลังๆ ก็ไม่มีใครกล้าจัดการยอวาที พวกเราเลยหาดูการยอวาทียากขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ยอวาที
หมายเลขบันทึก: 435734เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2011 01:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับอาจารย์

เคยติด และตามทีมยอวาทีของอาจารย์วสันต์ และอาจารย์สุรวงค์

รำลึกมาให้ฟังยังจำได้บางตอน ...การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อเพื่อน

"เพื่อนผมเป็นคนมีน้ใจแบ่งปันดีมาก วันก่อนมันไปซื้อนกกะทามาไม้หนึ่งห้าตัว มาถึงมันนั่งกินๆ เหลืออยู่หนึ่งตัวเพื่อนหันมาถามจะเอามั้ย ...ผมก็ยอกมันว่า"อย่าเลยเพื่อน เพื่อนกินให้หมดเถิด เดี๋ยวนกมันจะหลงฝูง" 5555

ยอการศึกษาของเด็กผู้หญิงไทย

"เงินงานการศึกษาหาให้โง่ หุ่นก็โตมีผมทองทั้งสองสี ฝึกกริยาฝึกมารยาทฝึกท่าที เหลือจะมีให้...อย่าแปลกใจ

ยอปรัชญาการศึกษา

ป.ตรี เรียนๆหลับๆก็ไดับปริญญา อ้ายที่เรียนแทบบ้าปริญญาไม่ได้รับ

ป.โท เรียนๆเล่นๆ ก็ได้เป็นบัณฑิต เอาแต่เรียนเอาแต่คิดบัณฑิตไม่ได้เป็น

ดร. เรียนๆลอกๆ ได้ไปนอกมามากแล้ว อ้ายที่ว่าแจ๋วอย่างดีก็แถวบ้านนอก

ด้วยความขอบคุณ อาจารย์ที่ทำให้นึกถึงยอวาทีของอาจารย์ วสันต์

สวัสดีค่ะ

"... การ “ ยอวาที” คือ การใช้ “ ศิลปะการกระแหนะกระแหน ”

ขอบคุณที่ทำให้ได้ความรู้ดีๆค่ะ

ครับ ขอบคุณมากครับ สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และข้อมูลเพิ่มเติมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท