การเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องน้ำ บทที่ 1


การเรียนรู้, จิตสำนึก, นำ, วิจัย, อนุรักษณ์

 

 

บทที่  1

 

บทนำ

 

ความเป็นมาและสำคัญของปัญหา

 

            รพินทรนาถ  ฐากูร  นักปราชญ์เมธีชาวอินเดียได้เปรียบเทียบความแตกต่างในการมองโลกและธรรมชาติระหว่างอารยธรรมตะวันตกและตะวันออกไว้ว่า  อารยธรรมตะวันตกถูกสร้างขึ้นบนก้อนอิฐ ไม้ เหล็ก และฝังรากลึกอยู่ในเมือง  ในขณะที่วัฒนธรรมตะวันออกก่อกำเหนิดจากป่า ทำให้ผู้คนมีมุมมองต่อธรรมชาติแวดล้อมในฐานะของการรวมเป็นหนึ่งเดียว ในท่ามกลางความหลากหลายแห่งสรรพสิ่งและสรรพชีวิตบนพื้นพิภพ ด้วยเหตุนี้วิธีการคิดของคนตะวันออกจึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นระบบนิเวศ ซึ่งสอนให้มนุษย์เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสรรพชีวิตทั้งหลายและความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง และการตระหนักรู้ว่าชีวิตได้รับการหล่อเลี้ยงจากธรรมชาติ     และความต่อเนื่องยั่งยืนของชุมชนสังคมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีความยั่งยืนและความหลากหลายของธรรมชาติที่สนองตอบความต้องการของมนุษย์ทั้งในด้านอาหาร น้ำ ที่อาศัย และยารักษาโรค  ความเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นรากฐานของความอุดมสมบูรณ์และความยั่งยืน    ทั้งยังเป็นบ่อเกิดของกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและสังคม    หากแต่ในสภาพการณ์ทางสังคมของการเรียนรู้ในปัจจุบันที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางตะวันตก  ความรู้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิตถูกมองว่าเป็นเรื่องของเทคนิค เกี่ยวกับการอ่านออกเขียนได้ เพื่อการเอาชนะผู้อื่นและธรรมชาติ  เพื่อการแสวงหาและตอบสนองความต้องการส่วนตน   ในลักษณะเช่นนี้มนุษย์จึงมีมุมมองต่อธรรมชาติในฐานะของการเป็นทรัพยากรเพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  จนนำมาสู่ช่องว่างและการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการล้างผลาญทำลายธรรมชาติจนเสื่อมทรามอย่างรวดเร็ว และได้ส่งสัญญาณเตือนมายังมนุษย์ด้วยสภาวะเรือนกระจก  ปัญหาโลกร้อน สารพิษปนเปื้อนในอาหาร  อากาศและแหล่งน้ำ การลดลงของพื้นที่ป่า การสูญเสียทรัพยากรชีวภาพ และพันธุกรรม การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ฯลฯ  (ยศ  สันติสมบัติ , 2537, หน้า 1-12)

            โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบ 3 ใน 4 ส่วนของโลก  และ 97 % ของน้ำทั้งหมด เป็นน้ำเค็ม  ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรง  มีเพียง  3  % ที่เป็นน้ำจืดที่และสามารถนำมาใช้ได้ประกอบด้วย  น้ำใต้ดิน  และน้ำผิวดินได้แก่ แม่น้ำ  ลำธาร และทะสาบน้ำจืด  ซึ่งน้ำจืดเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่  เพื่อการเกษตร การประมง  การอุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้เราจัดประเภทของน้ำให้เป็นทรัพยากรธรรมชาติประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับดิน ป่า และแร่ธาตุ   แต่น้ำกลับมีคุณสมบัติพิเศษบางประการที่แตกต่างไปจากทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ  ประการแรกน้ำเคลื่อนที่ได้  ประการที่สองปริมาณน้ำทั้งหมดมีอยู่คงที่ตายตัว  ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง      และประการที่สามคือ  น้ำเป็นพื้นฐานของชีวิต  ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย  และเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของการมีชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศวิทยา ที่เกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งในลักษณะของการใช้เพื่อการอุปโภคและการบริโภค (วินัย  วีระวัฒนานนท์ , 2536 , หน้า 18 –25)

            ในอดีตน้ำเป็นทรัพยากรมีอยู่อย่างเหลือเฟือ  ทำให้มีการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างขาดความระมัดระวัง และมิได้คำนึงถึงคุณค่าของน้ำ ต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเร่งรัดกิจกรรมต่างๆเพื่อการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม  ทำให้ความต้องการในการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น  อีกทั้งผลจากการผันแปรของธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง  ทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถสนองตอบความต้องการได้อย่างพอเพียง  ซึ่งพบว่า มนุษย์มีความต้องการน้ำเพื่อความอยู่รอด และความเป็นปกติสุขของร่างกาย  โดยเฉลี่ยร่างกายมนุษย์ต้องการน้ำวันละ  1 ลิตร  และยังมีความต้องการใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือน     ความต้องการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม   และในภาคเกษตรกรรม   ซึ่งเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำก็ผันแปรตาม

(วันเพ็ญ   สุรฤกษ์ , 2535 , หน้า 9 – 15)  ในขณะเดียวกัน  คุณภาพของน้ำในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาด้านสภาวะแวดล้อมและสุขอนามัย  อันเป็นผลเนื่องจากการปล่อยของเสียจากการบริโภคอุปโภคในครัวเรือน  และจากกระบวนการผลิตด้านอุตสาหกรรมและการเกษตร  ที่ได้สร้างความเสียหายต่อแม่น้ำลำคลองและส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในสังคมส่วนรวม  ทำให้เป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการบำบัด ซึ่งการบำบัดน้ำเสียเราจำเป็นต้องใช้น้ำในแม่น้ำลำคลองทั้งหมดเพื่อลำเลียงและเจือจาง  กิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดล้วนแต่มีความต้องการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก  ในขณะที่ความเป็นจริงคือ ปริมาณของน้ำมีอยู่อย่างจำกัด   จากสภาพการณ์ดังกล่าวนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า  ความต้องการใช้น้ำกำลังเข้าสู่วิกฤต  อาจนำสู่ความขัดแย้งและการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างเมืองกับชนบท  และภาวะการแร้นแค้น  ดังเช่น  ปรากฏการณ์ของความแร้นแค้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ในทวีปอาฟริกา และเอเซีย ได้ประสบเหตุการณ์การอดอยากแร้นแค้นอาหาร   ด้วยสาเหตุจากความแห้งแล้ง  ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความขัดแย้งและสงคราม และเหนืออื่นใดคือ  สภาวะการขาดแคลนน้ำ  ซึ่งสภาวะการขาดแคลนน้ำเป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากมากมายต่อชีวิตมนุษย์      และเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ  เพราะหากปราศจากน้ำมนุษย์แทบไม่สามารถผลิตสิ่งใดได้ทั้งสิ้น (ยศ  สันติสมบัติ , 2537. หน้า 15-32)

            ด้วยเหตุที่น้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับชีวิตและการพัฒนา  สภาวะการขาดแคลนน้ำจึงเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนามนุษย์ในทุก ๆ ด้าน  ตราบใดที่เรายังไม่สามารถค้นพบวิธีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างยั่งยืน  ตราบนั้นการพัฒนามนุษย์และคุณภาพชีวิตย่อมไม่อาจบรรลุเป้าหมายแม้แต่น้อย  ซึ่งสภาพปัญหาเรื่องน้ำ  หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความตระหนักและได้พยายามดำเนินนโยบายโดยวิธีการต่าง ๆ เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างยั่งยืน อาทิวิธีการรีไซเคิลน้ำที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำประปาใหม่และการขุดบ่อบาดาลเพิ่มขึ้น   รวมทั้งการรณณรงค์ให้ผู้คนในสังคมเกิดจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างประหยัดโดยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเพียงพอกับปริมาณน้ำที่สามารถจัดหาได้    ซึ่งกระบวนการกระตุ้นสร้างจิตสำนึกเพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างประหยัดและการร่วมดูแลรักษาน้ำ  ควรเริ่มขึ้นจากบุคคลแต่ละบุคคลที่อยู่ในครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมที่ต้องสร้างลักษณะนิสัยร่วมกัน   ตลอดจนช่วยตักเตือนแนะนำคนรอบข้างให้เกิดจิตสำนึกร่วม(อภิชาต   อนุกุลอำไพ , 2535 ,หน้า 134 – 135) ในที่นี้สถานศึกษาจึงควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนัก ปลุกจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างรู้คุณค่า  ให้แก่กลุ่มเยาวชนซึ่งจะต้องเติบโตเป็นผู้บริโภคที่สำคัญในอนาคต  ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้เรียนในแต่ละระดับ  ทั้งในลักษณะของการกำหนดเป็นรายวิชาและการบูรณาการสอดแทรกในเนื้อหาเพื่อสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้แก่ผู้เรียน  แต่ก็ยังพบว่า ผลการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควรอันเนื่องมาจากกระบวนการของการจัดการเรียนการสอนยังคงเป็นลักษณะของการมุ่งเน้นเนื้อหาสาระ  สอนโดยการบรรยาย    ขาดการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อการกล่อมเกลาเพื่อซึมซับให้เกิดความตระหนักรู้ และซึมซับสะสมเป็นลักษณะนิสัย  (กระทรวงศึกษาธิการ , 2539)  นอกจากนี้กระบวนการเรียนรู้กล่อมเกลาเกี่ยวกับคุณค่าของน้ำยังมิได้มีการกระทำอย่างจริงจังในสถานศึกษาต่าง ๆ

            วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่เป็นสถานศึกษาสังกัดสถาบันอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1     ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเพื่อเตรียมกำลังทรัพยากรบุคคลด้านการเกษตร       โดยมีเขตพื้นที่รับผิดชอบคือ  เชียงใหม่  แม่ฮ่องสอนและลำพูน   ได้ทำการเปิดสอนสาขาเกษตรกรรมทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มาเป็นระยะเวลากว่า  20 ปี  สำหรับในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่สนองนโยบายของรัฐบาลในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่บุตรหลานเกษตรในชนบทที่ยากจนและห่างไกลเข้าศึกษาในหลักสูตรโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต โดยรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่  3 เข้ามาศึกษาต่อในลักษณะนักเรียนประจำเป็นระยะเวลา  3 ปี ในระหว่างการศึกษาผู้เรียนจะได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ  ที่อยู่อาศัยอาหาร และยกเว้นค่าเล่าเรียนรวมทั้งค่าหน่วยกิต  สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์แก่ผู้เรียน โดยผสมผสานระหว่างการเรียนการประกอบอาชีพ  และการทำโครงงานด้านการเกษตร  เพื่อการเตรียมสู่การเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพในการผลิตและการจัดการ  รวมทั้งสามารถดำรงตนในสังคมได้อย่างเหมาะสม     ในลักษณะของการจัดการหลักสูตรเช่นนี้  ทำให้ผู้เรียนในโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติต่าง ๆ อาทิ   ดิน  ป่า และน้ำ ทั้งในฐานะของผู้ใช้และผู้อนุรักษ์โดยเฉพาะเกี่ยวกับน้ำ  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของระบบการผลิต   ดังนั้นหากมีการปลูกฝังกล่อมเกลาให้เกิดความรู้  ความเข้าใจ  และฝึกปฏิบัติตอกซ้ำย้ำทวนในการใช้น้ำ ด้วยความตระหนักซาบซึ้งในคุณค่า ย่อมเกิดการซึมซับเป็นลักษณะนิสัยการประพฤติปฏิบัติต่อทรัพยากรน้ำ  ส่งผลต่อการสร้างสรรค์พฤติกรรมส่วนบุคคลและพฤติกรรมสาธารณะทั้งในปัจจุบันและอนาคต    ตลอดจนพัฒนาสร้างเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ของกลุ่มผู้อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างเหมาะสม

            จากปรากฏการณ์ดังกล่าว  จึงนำมาสู่ความสนใจในการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อแสวงหาวิธีการจัดการกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อการกล่อมเกลาบ่มเพาะให้เกิด การเรียนรู้ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างเหมาะสม  ก่อให้เกิดความตระหนักและจิตสำนึก ที่ซึมซับเป็นลักษณะนิสัย ซึ่งเชื่อว่า  ผลที่ได้จากการศึกษาจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ในการจัดการเรียนรู้เรื่องน้ำที่สามารถสร้างลักษณะนิสัยให้แก่นักศึกษา  อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้มีประสิทธิภาพ  เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

 

  1. เพื่อศึกษาการจัดการกระบวนการเรียนรู้แบบส่วนร่วมเพื่อการสร้างจิตสำนึกในเรื่อง

ทรัพยากรน้ำให้แก่นักศึกษาอาชีวเกษตร

2.  เพื่อศึกษาผลของการจัดการกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องทรัพยากรน้ำ

 

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

           

ประโยชน์ทางวิชาการ

            1.  ได้ทราบถึงรูปแบบ  วิธีการ ในการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมตลอดจน  ผลการจัดการกระบวนการรูปแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องทรัพยากรน้ำให้แก่นักศึกษาอาชีวเกษตร

  1. ผลที่ได้รับจาการศึกษาในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการจัดการ

กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกต่อทรัพยากรน้ำให้แก่นักศึกษาอาชีวเกษตร

ประโยชน์ทางการปฏิบัติการ

1.  นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัยเกิดการความรู้  ความเข้าใจ  และจิตสำนึกในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากน้ำ   นำไปสู่การแสดงพฤติกรรมการอนุรักษ์และการใช้น้ำที่เหมาะสมทั้งในส่วนบุคคลและสาธารณะ

2. องค์ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาสามารถนำไปส่งเสริมแนวคิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาพฤติกรรมที่เหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้เรียน

 

ขอบเขตในการวิจัย

 

ขอบเขตด้านเนื้อหา

-          รูปแบบในการเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกต่อทรัพยากรน้ำให้แก่นักศึกษาอาชีวเกษตร

-          วิธีการในการเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกต่อทรัพยากรน้ำให้แก่นักศึกษาอาชีวเกษตร

-          ผลของการจัดการกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกต่อทรัพยากรน้ำ

ขอบเขตด้านพื้นที่

สำหรับการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ได้ทำการศึกษานักศึกษาที่กำลังศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตร

วิชาชีพชั้นต้น  ชั้นปีที่  3  (ปวช. 3)  ในโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต  ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่  จำนวนทั้งสิ้น  30  คน  ประกอบด้วยนักศึกษาชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่ากัน  การที่เลือกศึกษาในกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวเพราะว่า   ในรูปแบบการจัดการศึกษาของโครงการเกษตรเพื่อชีวิตนั้น  นักศึกษาทุกคนจะต้องพักอาศัยร่วมกันในหมู่บ้านนักศึกษา  ทำให้ต้องมีการปฏิสัมพันธ์จากการทำกิจกรรมร่วมกันในลักษณะต่าง ๆ  มีการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกันในวิถีประจำวัน  ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้สร้างสมพฤติกรรมส่วนบุคคลและสาธารณะ   ตลอดจนลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมย่อยบางประการร่วมกัน       

นิยามศัพท์

 

   การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม   หมายถึง  กระบวนการที่นักศึกษามีบทบาทสำคัญในการมีส่วน

ร่วมในการวางแผนการเรียนรู้  การคิดค้น  การแสวงหาคำตอบ โดยวิเคราะห์  สังเคราะห์ และประเมินค่า  ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง  โดยผู้วิจัยมีบทบาทในการจัดประสบการณ์     ในการเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหา และวิธีการภายใต้บรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้

รูปแบบการเรียนรู้   หมายถึง  กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมในการใช้และ

การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ  ทั้งในลักษณะของพฤติกรรมส่วนบุคคลและพฤติกรรมเชิงสาธารณะ  ในที่นี้หมายถึง  การเรียนรู้แบบเป็นทางการ  การเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย

          วิธีการเรียนรู้   หมายถึง  แนวทาง  เทคนิค   การปฏิบัติ  การติดตามประเมินผล การสรุปผลการเรียนรู้

จิตสำนึก  หมายถึง  ความตระหนัก  ความรับผิดชอบ ในสิ่งที่คิดที่กระทำอยู่เสมอ เห็นความ

สำคัญ ความจำเป็น และความรับผิดชอบในสิ่งนั้น ในที่นี้หมายถึง   จิตสำนึกต่อการใช้ทรัพยากรน้ำ

นักศึกษาอาชีวเกษตร  หมายถึง  นักศึกษาที่กำลังศึกษาภายใต้โครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตร

เพื่อชีวิต  สังกัดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

 

ข้อตกลงเบื้องต้น

 

            การศึกษาวิจัยในครั้งนี้  เป็นการมุ่งสร้างจิตสำนึกที่เหมาะสมในเรื่องการใช้และการอนุรักษ์น้ำ  ซึ่งเป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องใช้การฝึกฝนบ่มเพาะตอกซ้ำย้ำทวนเพื่อให้เกิดความรู้  ความเข้าใจความซาบซึ้งตระหนักถึงคุณค่า และสถานการณ์ของทรัพยากรน้ำ ตลอดจนสามารถวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างน้ำกับสรรพสิ่ง  และพฤติกรรมที่เหมาะสมในการใช้และการอนุรักษ์น้ำ   ดังนั้นการวิจัยลักษณะเช่นนี้    จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานเวลาและความตั้งใจจริงในการเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบร่วมกันระหว่างผู้วิจัยและนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม     ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงใช้วิธีการคัดสรรจากนักศึกษาที่แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการวิจัย 

ฉะนั้นการนำเสนอผลการวิจัย  จึงเป็นการอธิบายถึงกระบวนการในการสร้างจิตสำนึกจากบริบทของนักศึกษาที่มีความสนใจและความตระหนักร่วมในคุณค่าของน้ำเป็นพื้นฐาน   ประกอบกับสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาที่มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ผู้เรียนต้องสัมผัสสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์จากน้ำเพื่อการเกษตร  รวมทั้งจากการที่นักศึกษาทั้งหมด     มีลักษณะกิจกรรมประจำวันในรูปแบบของนักศึกษาประจำ  ที่มีการกำหนดกฎระเบียบในการอยู่และใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน   ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยแวดล้อมสำคัญที่ส่งผลต่อการสร้างจิตสำนึกในเรื่องน้ำ

 

ข้อจำกัดในการวิจัย

 

            เนื่องจากการศึกษาวิจัยเพื่อการสร้างจิตสำนึกของบุคคลเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะ  หากแต่ข้อจำกัดเรื่องกรอบระยะเวลาในการดำเนินการที่กำหนดเพียงหนึ่งปี ซึ่งเวลาจำนวนดังกล่าว  ทำให้สามารถอธิบายผลของการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดลักษณะพฤติกรรมการรับรู้ การข้าใจสามารถคิดวิเคราะห์  และนำสู่การปฏิบัติ    ซึ่งชี้สะท้อนถึงจิตสำนึกได้ในระดับหนึ่ง หากแต่ในส่วนของความถาวรของพฤติกรรมคงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการติดตามประเมินผล

 

หมายเลขบันทึก: 435728เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2011 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท