จากสังคมฐานความรู้ (โลภ)


ลองกล้าที่จะก้าวข้ามสังคมฐานความรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมไป สู่สังคมฐานเมตตาธรรม ที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง จะดีไหม

จากสังคมฐานความรู้ (โลภ)
สู่สังคมฐานเมตตา (ธรรม)
จุมพล พูลภัทรชีวิน


             ผู้เขียนเคยเสนอแนวคิด หวังให้ประชาคมโลกพิจารณาและหันหน้าเข้าหากันเพื่อทำข้อตกลงเมตตาเสรี (Free Compassion Agreement-FCA) มาแล้วครั้งหนึ่ง ในหนังสือ “คลื่นความคิด จากจิตวิวัฒน์” ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความของสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่กลั่นกรอง สะท้อนความคิดและความรู้สึก จากเหตุการณ์สึนามิถล่มภาคใต้ของไทย เพราะผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากการเห็นพลังแห่งความเมตตาที่เป็นธรรมชาติฝ่ายสูงหรือเมล็ดพันธุ์แห่งความดีของมนุษย์หลั่งไหลมาจากคนไทยทั่วประเทศและจากคนทั่วโลก เป็นพลังแห่งเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่จริงๆ
     ในขณะที่ทั่วโลกกำลังวุ่นวายอยู่กับการผลักดันของประเทศมหาอำนาจ ให้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) และประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่คิดว่าตนเองน่าจะได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว  ก็พยายามผลักดันจะให้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ อยู่ในขณะนี้
 ถ้าเราจะเปรียบเทียบความวุ่นวายของกระบวนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีของคู่เจรจา ที่จ้องหรือหวังจะได้เปรียบคู่เจรจา กับความวุ่นวายของกระบวนการช่วยเหลือที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาของผู้คนจากทุกสารทิศที่ระดมไปช่วยผู้ประสบภัยสึนามิแล้ว จะเห็นภาพสองภาพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเจตนาของการกระทำ
 ผู้เขียนจึงมีความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ความเมตตา โดยเฉพาะความเมตตาเสรีเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับโลกมากกว่าการค้าเสรี เพราะความเมตตาสื่อถึงความสัมพันธ์ที่โยงใยด้วยความเอื้ออาทร เกื้อหนุนจุนเจือระหว่างกัน ในขณะที่การค้าเสรีเน้นที่การแข่งขัน ผู้เขียนจึงได้เสนอแนวคิดดังกล่าวในบทความของผู้เขียน และขออนุญาตนำเสนอบางส่วนของบทความนั้นในบทความนี้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันคล้ายคลึงกับครั้งก่อนที่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการผลักดันเรื่องการทำข้อตกลงการค้าเสรี

           “สึนามิทำให้คนจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องเจ็บปวด ระทมกับความทุกข์เศร้า ที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินและคนที่เป็นที่รักของเขา แต่สึนามิก็ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกจำนวนมากได้มองเห็นความจริงของธรรมชาติของสรรพสิ่ง
 ความดีของความโหดร้ายของภัยธรรมชาติ คือการช่วยกระตุ้นจิตสำนึกแห่งความดีงาม ความเมตตา กรุณาของมนุษย์ให้มีพลัง ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น
        คลื่นความทุกข์ของผู้คนยิ่งใหญ่กว่าคลื่นสึนามิมากมายหลายเท่า เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นและหายไปในทันทีดั่งคลื่นสึนามิ แต่คลื่นความทุกข์ของคนจะคงอยู่และต่อเนื่องไปอีกนาน
 คลื่นน้ำใจที่ไหลหลั่ง ยิ่งยิ่งใหญ่กว่าอีกหลายเท่า เพราะมันหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศทั่วโลก
 จะทำอย่างไรคลื่นน้ำใจ คลื่นความดีงาม และจิตสาธารณะที่เกิดปรากฏในเหตุการณ์เลวร้ายนี้ จะดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อมนุษยชาติและสรรพสิ่งจะได้ดำรงอยู่อย่างมีศานติสุข
 เมื่อไหร่ความเมตตาที่ยั่งยืน (Sustainable Compassion) จึงจะเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นวาระของโลก
 แต่ละประเทศน่าจะมี FCA (Free Compassion Agreement) ระหว่างกัน จะดีกว่ามี FTA (Free Trade Agreement) หรือไม่
 เพราะ FCAไม่มีเงื่อนไข (Unconditioned) แต่ FTA มีเงื่อนไข (Conditioned) เพราะกลัวเสียเปรียบแต่อยากได้เปรียบ
 FTA ตั้งอยู่บนความโลภมากกว่าความลดละ เพราะต้องการได้ (Take) มากกว่าต้องการให้ (Give) แต่ FCAให้โดยไม่มีเงื่อนไข จึงไม่มีการเจรจาต่อรอง (Negotiation)”

          เพียงชั่วระยะเวลาปีกว่านับจากภัยสึนามิเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ ภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ และน่าน ก็ประสบภัยพิบัติที่รุนแรงอีกครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก ผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ความสูญเสียทั้งชีวิต ที่อยู่อาศัย และทรัพย์สิ่งของมีมากมาย
 ยิ่งเมื่อติดตามข่าวก็พบว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งของการสูญเสียครั้งนี้เกิดจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ผืนดินและป่าไม้ไม่สามารถรับน้ำได้ดีเท่าที่ควร ยิ่งทำให้คิดว่ามนุษย์เรามีส่วนสำคัญมากในการทำให้โลกขาดความสมดุลมากเกินไป เราทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั้งคิด เราเผาผลาญน้ำมัน ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ เราปล่อยของเสียอันเกิดจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำ และเป็นพิษเป็นภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ ตามกระแสเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม มีการ ผลิต ใช้ และบริโภคเกินความพอเพียง
               มนุษย์น่าจะลองทำข้อตกลงเมตตาเสรี (FCA) กับธรรมชาติดูบ้าง
 มนุษย์จะได้เป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนเดียวกันกับธรรมชาติ จะเข้าใจ ยอมรับ และเคารพธรรมชาติ ปฏิบัติต่อธรรมชาติ และสรรพสิ่ง  ในฐานะที่ทุกสิ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่จะทำอะไรก็อ้าง “ศักดิ์” และ “สิทธิ” ส่วนบุคคลโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์และสิทธิของผู้อื่นและสรรพสิ่ง
                สังคมไทยปัจจุบัน เป็นสังคมที่ชอบอ้างกระแสโลกาภิวัตน์ อ้างความรู้ฐานเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม โดยไม่เฉลียวถึงฐานที่มาของความรู้เหล่านั้น แล้วพยายามที่จะวิ่งไล่ตามกระแส โดยผู้จุดกระแสและโน้มน้าวให้คล้อยตามได้แก่รัฐบาล นักธุรกิจกระแสหลัก นักธุรกิจการเมือง และนักวิชาการกระแสหลักบางกลุ่ม
 สังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society) ที่คนส่วนใหญ่พูดกันในปัจจุบัน เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy) ได้ก้าวมาถึงจุดหักเหที่สำคัญ เมื่อเริ่มประจักษ์ชัดว่าอัตราเร่งของการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติที่ทวีเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงและร้ายแรงจนยากที่จะเยียวยา ชีวิตที่เร่งรีบ มุ่งเน้นการแข่งขันชิงดีชิงเด่น ทำให้เกิดความเครียด โมโหง่าย โกรธง่าย เบื่อง่าย หน่ายเร็ว
                หากมนุษย์ยังไม่ตื่นรู้เท่าทัน ขาดสติและขาดปัญญาที่จะเข้าใจและปฏิบัติให้สอดคล้องกับธรรมชาติ มนุษย์ก็จะเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น
                มนุษย์น่าจะลองพิจารณาอย่างจริงจัง หันมาทำข้อตกลงเมตตาเสรีกับธรรมชาติ คน สัตว์ ป่าไม้ แม่น้ำลำคลอง และสรรพสิ่ง เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน สัมพันธ์กัน โดยการยอมรับและเคารพในความไม่เหมือนของกันและกัน จะได้ไม่ต้องอ้างศักดิ์และสิทธิระหว่างกัน เพราะทุกคนและทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งสิ้น
 น่าเสียดายที่มนุษย์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความรู้ทางด้านการบริหารการจัดการ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์แนวเสรีทุนนิยม ความรู้ทางการตลาดและการโฆษณา เพื่อสนองความอยากและความโลภของตนเอง จนถึงขั้นสามารถจะทำลายล้างโลกและตัวเองได้
            ความรู้ที่สร้าง (Created Knowledge) และความรู้ที่สั่งสม (Collective Knowledge) ของเศรษฐกิจฐานความรู้ เป็นความรู้ที่มีฐานและเป้าหมายคือความโลภ เอารัดเอาเปรียบ แข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง ความรู้ทั้งหมดจึงเป็นความรู้โลภ นำไปสู่สังคมฐานความรู้ (โลภ) ไม่ใช่ความรู้แท้เพราะมิได้ตั้งอยู่บนฐานปัญญา (Wisdom Based) ที่มองเห็น และเข้าใจธรรมชาติของธรรมชาติ
 สังคมที่พึงประสงค์ สังคมที่ยั่งยืน ควรเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเมตตาธรรม มีการเมืองการปกครองในระบอบธรรมาธิปไตย มีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ บนฐานของปัญญาและคุณธรรมที่พ่อหลวงของปวงชาวไทยได้ทรงพระราชทานเป็นแนวทางไว้ให้ จึงจะเป็นสังคมฐานเมตตาธรรม
            ลองกล้าที่จะก้าวข้ามสังคมฐานความรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมไป สู่สังคมฐานเมตตาธรรม ที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง จะดีไหม

จุมพล พูลภัทรชีวิน
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
www.jitwiwat.org
ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๙

 

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 43517เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 07:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท