EK-KARIN CHUAYCHOO
นาย เอกรินทร์ EK-KARIN CHUAYCHOO ช่วยชู

เทคนิคเปิดดอก ดูแลรักษาก้อนเชื้อเห็ดแครง


เมื่อเชื้อเห็ดเจริญเต็มก้อนแล้ว(ขาวทั้งก้อน) ถัดมาคือการเปิดดอก โดยให้คัดเลือกถุงก้อนเชื้อที่เชื้อเจริญเติบโตเต็มที่ จากนั้นถอดคอขวดพลาสติกพร้อมกับจุกประหยัดสำลีออก รวบปากถุงใช้ยางรัดให้แน่น และใช้มีดคมๆ กรีดข้างถุงให้เป็นแนวยาว 4 แถว โดยให้กรีดในลักษณะเฉียงดีกว่าการกรีดตรง เพราะก้อนเชื้อจะเก็บความชื้นได้ดีกว่า และรอยกรีดจะยาวกว่าการกรีดตรง จากนั้นก็นำก้อนเชื้อไปวางหรือแขวนก้อนเชื้อให้เกิดดอก ซึ่งปฏิบัติได้ดังนี้คือ

  1. วางบนชั้น โดยให้แต่ละถุงห่างกันประมาณ 5-7 เซนติเมตร
  2. แขวนก้อนเชื้อ โดยชั้นที่จะแขวนก้อนเห็ดประกอบด้วยเชือก 4 เส้น และแป้นพลาสติกหรือไม้ จำนวน 3-4 แป้น เชือกจะร้อยเข้ารูแต่ละแป้นติดกันเป็น 1 ชุด แต่ละชุดจะแขวนก้อนเห็ดได้ 10 ก้อน

การดูแลรักษาก้อนเชื้อหลังเปิดดอกสิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากก็คือ ความสะอาด มิเช่นนั้นโรงเรือนอาจเป็นแหล่งสะสมของโรคแมลงศัตรูเห็ดก็ได้ ส่วนการดูแลรักษาก้อนเชื้อโดยทั่วไป หลังจากกรีดก้อนเชื้อและนำเข้าโรงเรือนเปิดดอก ในระยะแรกๆ ของการรดน้ำควรรดเฉพาะที่พื้นโรงเรือน เพื่อให้ภายในโรงเรือนมีความชื้นที่เหมาะสมต่อการออกดอก เพราะในระยะแรกตรงบริเวณรอยกรีดเส้นใยจะขาด ต้องรอให้เส้นใยเจริญประสานกันก่อน หากรดน้ำไปถูกก้อนเชื้อโดยตรงอาจจะทำให้น้ำเข้าตรงบริเวณรอยกรีด ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดอาจจะเน่าเสียหายได้ การรดน้ำให้ความชื้นต่อก้อนเชื้อเห็ดในโรงเรือนควรทำอย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง หากอากาศแห้งหรือความชื้นน้อยก็ควรรดน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาความชื้นในโรงเรือนให้ได้นานที่สุด การเก็บผลผลิตก็เช่นเดียวกันควรเก็บในระยะดอกสีขาวนวลก่อนที่จะสร้างสปอร์ มิเช่นนั้นสีของดอกจะคล้ำออกเป็นสีน้ำตาล หลังจากกรีดถุง รดน้ำเห็ด ภายใน 2-3 วัน เห็ดจะเริ่มสร้างตุ่มดอกออกมา จากนั้นประมาณ 3-4 วัน ดอกเห็ดก็จะโตพอที่จะเก็บดอกเห็ดได้ ในการเก็บดอกเห็ดนั้นควรใช้มือดึงส่วนดอกเบาๆ เท่านั้นดอกเห็ดก็จะหลุดออกอย่างง่ายดาย ดอกเห็ดที่เก็บได้ในรุ่นแรกจะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 80-90 กรัม/ก้อน หลังจากนั้นประมาณ 5-7 วัน ก็สามารถเก็บดอกเห็ดรุ่นที่ 2 ได้อีกแต่จะให้ผลผลิตลดลงเฉลี่ยประมาณ 30-40 กรัม/ก้อน และลดลงตามลำดับในรุ่นต่อไป ดังนั้นเห็ดแครง 1 ก้อน (600 กรัม) จะให้ผลผลิตประมาณ 110-130 กรัม เมื่อเก็บผลผลิตหมดแล้วให้นำก้อนเชื้อเห็ดไปทิ้งกองไว้ให้เป็นที่เป็นทางหรือหมักย่อยสลายให้ดีเสียก่อนนำไปทำปุ๋ย เนื่องจากเห็ดแครงสามารถย่อยสลายเนื้อไม้ได้ดี อาจจะเป็นอันตรายต่อผลิตผลทางการเกษตรบางชนิด สำหรับโรงเรือนเปิดดอกหลังขนย้ายก้อนเชื้อเห็ดเก่าทิ้งแล้ว ควรทำความสะอาดโรงเรือนและพักโรงเรือนให้แห้งประมาณ 10-15 วัน ก่อนจะนำก้อนเชื้อเห็ดรุ่นใหม่ไปเปิดดอกต่อ

มิตรเกษตรท่านใดที่เพาะอยู่หรือกำลังจะเพาะ แล้วมีความสนใจอยากจะลองเพาะเห็ดแครง(เห็ดตีนตุ๊กแก)สร้างรายได้ดูบ้าง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสั่งจองเชื้อเห็ด อุปกรณ์การเพาะ ได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ โทร. 02-9861680-2 หรือได้ที่คุณเอกรินทร์  ช่วยชู โทร.081-3983128

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์  ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 434756เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2011 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แต่ว่า เห็ดโคน เพาะเชื้อไม่ได้ เพราะอะไรครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท