ชีวิตนักศึกษาสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (๑) : มานพ จันทร์ฤทธิ์ ผจก.เคเบิ้ลทีวี


"การที่นักศึกษาทุกคนจะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์ต้องเอาใจใส่นักศึกษาแต่ละคนในความรับผิดชอบของตนอย่างใกล้ชิดทั้งด้านการเรียนและการทำโครงงานเฉพาะสาขาดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการประกันคุณภาพของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน"

นักศึกษาสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนทุกคนมีอาจารย์ที่ปรึกษา ที่ไม่เพียงจะเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเรียนเท่านั้น แต่ยังร่วมเรียนรู้กับนักศึกษาในโครงงานพัฒนาการงานอาชีพของนักศึกษาด้วย จึงจำเป็นต้องมีการเยี่ยมเยียนบ้าน สถานที่ทำงาน รวมทั้งชุมชนของนักศึกษาเป็นระยะ 

สถาบันกำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องทำโครงงานเฉพาะสาขา ซึ่งเป็นโครงงานใหญ่ใช้ระยะเวลาทำ ๓ ปี เริ่มทำเค้าโครงตั้งแต่ในปีแรกที่เข้าเป็นนักศึกษา มีการรายงานความคืบหน้าในภาคการศึกษาต่างๆ ระหว่างเรียน และส่งเอกสารรายงานฉบับสมบูรณ์พร้อมนำเสนอโดยวาจาในปีสุดท้าย 

ที่ประชุมอาจารย์มอบหมายให้ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษา ๒ คน คนหนึ่งเป็นผู้จัดการ เอส.พี.เอส เคเบิ้ลทีวี สมุทรสงคราม ชื่อคุณมานพ จันทร์ฤทธิ์ อายุ ๕๗ ปี อีกคนทำเรือประมง ชื่อ คุณชาญวิทย์ โชติไชยฤทธิ์ อายุ ๔๗ ปี ผมจึงตั้งใจที่จะทำหน้าที่โดยการไปเยี่ยมเยียนบ้าน/สถานที่ทำงานของนักศึกษาทั้ง ๒ ท่าน เพื่อเรียนรู้ชีวิตส่วนตัวและการงานของพวกเขา

http://gotoknow.org/file/surachetv/manop8287.jpg
คุณมานพ จันทร์ฤทธิ์ ผู้จัดการเอส.พี.เอส.เคเบิ้ลทีวี สมุทรสงคราม

การที่นักศึกษาทุกคนจะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์ต้องเอาใจใส่นักศึกษาแต่ละคนในความรับผิดชอบของตนอย่างใกล้ชิดทั้งด้านการเรียนและการทำโครงงานเฉพาะสาขาดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการประกันคุณภาพของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ตามแนวคิดการเรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เรียนรู้เพื่ออยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นตน เรียนแล้วช่วยตนเองได้ ช่วยคนอื่นได้ เรียนแล้วมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง

สัปดาห์นี้ผมนัดไปเยี่ยมที่ทำงานคุณมานพก่อน สัปดาห์หน้าจึงจะไปเยี่ยมคุณชาญวิทย์ โดยนัดหมายที่ทำงานคุณมานพเจ็ดโมงเช้าวันจันทร์ที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๔ เหตุที่นัดกันเช้าขนาดนั้นเพราะคุณมานพบอกว่ามาถึงที่ทำงานประมาณ ๖ โมงเช้าทุกวัน เพื่อเช็คข่าวและเตรียมงานต่างๆ แปดโมงเช้าประชุมพนักงานที่เป็นผู้สื่อข่าว เพื่อมอบหมายให้ออกไปทำข่าวตามที่ต่างๆ

http://gotoknow.org/file/surachetv/manop8292.jpg
กิจวัตรประจำวันทุกเช้าของคุณมานพ จันทร์ฤทธิ์ ผู้จัดการเอส.พี.เอส.เคเบิ้ลทีวี
สมุทรสงคราม คือการประชุมนักข่าวเพื่อแบ่งงานกันออกไปทำข่าว

เมื่อผมไปถึง คุณมานพเตรียมงานเสร็จแล้ว ยกกาแฟมานั่งคุยกันไปเรื่อยๆ ขณะที่พนักงานก็เริ่มทยอยเข้ามาทำงาน คุยกันเรื่องชีวิตบ้าง เรื่องงานบ้าง เรื่องแม่กลองบ้าง เรื่องเพื่อนนักศึกษาคนอื่นบ้าง จนแปดโมงเช้า ผมได้ร่วมสังเกตการณ์การประชุมผู้สื่อข่าวและช่างภาพด้วย "คุณ...ไปสำนักงาน กกต. นะ วันนี้มี... คุณ...ไปสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานะ วันนี้มี..." คุณมานพแจกงานแต่ละคน 

ประชุมเสร็จแล้วก็พาผมชมกิจการ แนะนำให้รู้จักพนักงานฝ่ายต่างๆ คนทำบัญชี คนทำงานเทคนิค รวมพนักงานขณะนี้ประมาณ ๓๐ คน ในจำนวนนี้ ๙ คนเป็นช่างเทคนิคคอยออกไปเดินสายเคเบิ้ลเข้าบ้านลูกค้าที่สมัครสมาชิก และซ่อมบำรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สมาชิก โดยมีสมาชิกปัจจุบันหลายพันราย ไม่เพียงแต่ในสมุทรสงครามแต่ยังครอบคลุมไปถึงราชบุรีด้วย ค่าสมาชิกเดือนละ ๓๐๐ บาท

http://gotoknow.org/file/surachetv/manop8300.jpg
ห้องควบคุมช่องสัญญาณที่ออกอากาศ เอส.พี.เอส.เคเบิ้ลทีวี สมุทรสงคราม

ผมถามคุณมานพว่าเป็นไงมาไงถึงได้มาทำเคเบิ้ลทีวี คุณมานพเล่าว่าตนเองเคยเป็นผู้จัดรายการวิทยุมาก่อน ต่อมาก็เป็นผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสมุทรสงครามของ นสพ.ข่าวสด และเดลินิวส์ และโทรทัศน์ช่อง ๓ ด้วย

คุณมานพคิดทำเคเบิ้ลทีวีในปี ๒๕๔๐ อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำยุค IMF คิดว่าเป็นโอกาสที่คนอยู่บ้านกันมาก แต่ตนเองไม่มีทุนพอ จึงนำโครงการไปชวนพ่อค้าในจังหวัดคนหนึ่งที่มีเงินทุน แล้วก็ร่วมกันก่อตั้ง เอส.พี.เอส เคเบิ้ลทีวี โดยคุณมานพทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ กิจการก็เติบโตเรื่อยมา จนกระทั่งมีสมาชิกอยู่ได้อย่างมั่นคงในปัจจุบัน

http://gotoknow.org/file/surachetv/manop8296.jpg
ห้องถ่ายทำรายการ

คุณมานพบอกว่า คู่แข่งคือจานดาวเทียม แต่เคเบิ้ลทีวีอยู่ได้ด้วยการมีสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งเสนอเรื่องราวและทำรายการต่างๆ เกี่ยวกับท้องถิ่นโดยตรง ในขณะที่ฟรีทีวีช่องใหญ่ๆ เช่น ๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑ ทำเรื่องระดับชาติ อีกทั้งเคเบิ้ลทีวีมีภาพยนตร์ดีๆ ที่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ถูกต้องให้ดูตลอดเวลา

http://gotoknow.org/file/surachetv/manop8302.jpg
อาคารสำนักงานเอส.พี.เอส เคเบิ้ลทีวี สมุทรสงคราม

สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งคือ ประวัติของคุณมานพ ที่พ่อเสียตั้งแต่ตนยังเป็นเด็ก แม่แต่งงานใหม่ ตนมาเป็นเด็กวัดเพื่อเรียนหนังสือ แต่เกเร เรียนชั้นประถมศึกษาไม่จบ ออกกลางคัน ชีวิตมาเปลี่ยนครั้งสำคัญเอาตอนที่เป็นทหารเกณฑ์ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการมีระเบียบวินัย พ้นจากทหารออกมาแล้วก็เริ่มทำมาหากิน ด้วยการวิ่งรถสองแถวสายแม่กลอง-บ้านฉู่ฉี่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นรถบัสสายแม่กลอง-ดำเนินสะดวก ก่อนที่จะสอบใบผู้ประกาศทางวิทยุได้ แล้วเช่าเวลาสถานีวิทยุทำรายการเพลง

มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายมหาวิทยาลัย รวมทั้งในกรุงเทพฯ พานักศึกษาโปรแกรมนิเทศศาสตร์มาดูงานธุรกิจเคเบิลทีวีทุกปี รวมทั้งเชิญคุณมานพไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยด้วย คุณมานพรู้สึกอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาต้องกรอกวุฒิการศึกษาในประวัติวิทยากร เพราะไม่จบอะไรมาเลยแม้แต่ชั้นประถมศึกษา ที่ได้เรียนแค่ ป.๔ แล้วก็ออกกลางคัน นอกจากนี้คุณมานพยังมีตำแหน่งต่างๆ อีกหลายตำแหน่งในแม่กลอง เช่น ที่ปรึกษา อบจ. เป็นกรรมการการเลือกตั้งต่างๆ จะไปเป็นกรรมการ กกต.ระดับจังหวัดก็รู้สึกไม่ดีกับตนเองที่ไม่มีปริญญา

ในที่สุดจึงไปสมัครเรียนชั้นประถมศึกษากับ กศน. จบแล้วก็ต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลายจนจบ เมื่อสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนมาตั้งที่สมุทรสงครามจึงตัดสินใจสมัครเข้าเรียน ก่อนหน้านี้เคยคิดจะสมัครกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในจังหวัดใกล้เคียง ๒ - ๓ แห่ง แต่ลองขับรถไปดูแล้ว ไกลพอสมควร

คุณมานพบอกว่า ตนมาเรียนแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตขึ้นอีกครั้ง เช่นเมื่อเรียนวิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต ต้องเริ่มทำบัญชีครัวเรือน พอทำแล้วก็ "สะดุ้ง" กับการใช้จ่ายของตน เริ่มปรับพฤติกรรม

คุณมานพบอกว่าเรียนที่สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนต้องทำงานต่างๆ ที่อาจารย์มอบหมายหลายชิ้น แต่พอลงมือทำแล้วก็พบว่างานเหล่านั้นเป็นการศึกษาวิจัยชีวิตของผู้เรียนเอง หรือชุมชนท้องถิ่นของตนเอง และก็ทำให้ได้เรียนรู้อะไรขึ้นมาอีกเยอะ

คุณมานพเพิ่งเริ่มเรียนในภาคการศึกษาแรก ผมก็หวังว่าคุณมานพจะเรียนจนสำเร็จเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ ร่วมสร้างสรรค์สังคมแม่กลองให้เป็นเมืองน่าอยู่ต่อไป.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๕ เมษายน ๒๕๕๔ 

หมายเลขบันทึก: 434257เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2011 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ครับ

สวัสดีค่ะ

น่าชื่นชมและเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์พัฒนาค่ะ

ชีวิตน่าสนใจมากค่ะ ทำให้มองเห็นว่าถึงแม้จะมีประสบการณ์มากมายแค่ไหน แต่ในสังคมไทย ยังไง ใบปริญญาก็ยังมีความสำคัญ

 

ศรัทธาในความคิดที่สามารถพัฒนาตนเป็นแบบอย่างที่ดีกับตนเอง และสามารถเป็นแม่แบบที่สามารถนำไปศึกษามาก ขอชื่นชมด้วยความจริงใจและเป็นตัวอย่างให้คนอื่นนำไปศึกษา ต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท