ห้อง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใน 12th HA forum


นักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้มากมาย แต่การรู้จักใช้โอกาสที่จะฉวยให้เร็วเมื่อมีกลุ่มเสี่ยงสนใจ และใช้ทักษะความรู้และวิถีชีวิตที่เค้ามีอยู่แล้วเป็นหลัก เพราะสิ่งสำคัญคือใจที่อยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช่ใส่ความรู้ไปมากมาย

          งาน HA forum ครั้งที่ 12  ระหว่าวันที่ 15-18 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยเป็นคนอำนวยกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของเครือข่าย KM DM-HT เรื่อง “ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง” ในห้อง jupiter15 ของวันที่ 17 มีนาคม   จากทั้งหมด 3 ห้อง ที่เครือข่ายจัดกิจกรรม เหมือนทุกๆปี (อ่านบันทึกที่นี่ คลิ๊ก)

        กิจกรรมกำหนดไว้ที่สองรอบ เช้า-บ่าย โดยมีเบรกและอาหารกลางวัน จัดมาบริการถึงที่ บริเวณหน้าห้อง พร้อมๆกับทีม สรพ.ที่มาช่วยดูแล โดยการโทรตามตั้งแต่ 7 โมงเช้า  ตามมาด้วยแม่งานคนสำคัญ ดร.วัลลา ตันตโยทัย ที่มาถึงห้องจัดกิจกรรมตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง พร้อมๆกับโทรแจ้งข่าวผมว่ามีผู้ชุมทยอยมากันแล้วตั้งแต่ไม่แปดโมง พร้อมๆกับทีมวิทยากรหลักที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือทีมจาก รพสต.นาราก อ.ครบุรี โคราช 3 ท่านคือ พี่แพรว คุณปราณี คุณโบว์ สุพรรณี และน้องนิว จารุบุญ  และทีมจากโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก อีก 2 ท่านคือ พี่อ้อ เปรมสุรี พี่รัตน์ สิริรัตน์ พร้อมแกนนำสุขภาพจาก รพสต.บ้านกลาง อีก2 ท่านคือ พี่สโน และพี่ประมวล


           ผมมาถึงห้องกิจกรรมเกือบๆ แปดโมงครึ่ง พร้อมกับน้องออฟ วัชชิระ จาก PCU ต.ธาตุพนม โดยในห้องมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั่งจนเต็มเก้าอี้ที่จัดไว้เป็นรูปตัวยู ประมาณ 60 ที่ และต้องเสริมอีก 1 แถว ให้ได้ 100 ที่นั่ง ซึ่งคนก็เกือบเต็มในตอนเกือบๆ 9 โมงเช้า และมีส่วนหนึ่งที่มาเกินนั้น และต้องบอกให้ขยับมาในรอบบ่ายแทน ซึ่ง ดร.วัลลา กับทีม สรพ. ก็จัดระเบียบจัดคิวการเข้าห้องได้อย่างราบรื่นผ่านช่วงเวลาชุลมุนไปได้

         กิจกรรมเริ่มที่ 9 โมงเช้าในรอบเช้า และบ่ายโมงตรงในรอบบ่าย  โดยเริ่มดึงความสนใจ ด้วยภาพบันทึกบรรยากาศงานมหกรรม KM DM-HT ครั้งที่4 เมื่อ 1-15 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา พร้อมๆกับประชาสัมพันธ์กิจกรรมของเครือข่าย ที่จะจัดประชุมในภูมิภาคอีก 3 ครั้ง คือที่ขอนแก่น พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช ในเดือน พ.ค. – ก.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งได้ส่งหนังสือโครงการไปทางหน่วยงานทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว  หลังจากนั้นผมได้แนะนำทีมที่จะมาร่วม ลปรร.ทั้งหมดก่อน โดยจะเริ่มที่โปรแกรมของ รพสต.นารากที่โด่งดัง จนออกรายการทีวีหลายรายการในปีที่ผ่านมา และต่อด้วย กิจกรรมของ พุทธชินราชที่โดดเด่นเช่นกันจากรางวัลมากมาย  แต่คนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งห้องต้องลองสมมุติตัวเองบ้างในบางครั้งว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่กำลังจะได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

          พี่อ้อเริ่มต้นจากการใช้แบบคัดกรองสุขภาพของพุทธชินราช ซึ่งใช้กันอยู่แล้วทั่วไป แต่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย โดยที่ของพุทธชินราชได้ประเมินกลุ่มเสี่ยงโดยใช้ Risk score ของ นพ.วิชัย เอกพลาการ มาแปลผลความเสี่ยงว่าแต่ละคนมีโอกาสป่วยด้วยโรคเบาหวานมากน้อยแค่ไหนในอนาคต  ซึ่งใช้เวลาประเมินกันประมาณ 10 นาที ซึ่งพี้อ้อก็ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราคุ้นเคยยังต้องใช้เวลาจากข้อคำถามที่มากหลายข้อ และที่พุทธชินราชต้องใช้กลุ่มแกนนำและ อสม.มาช่วย ในการคัดกรองให้ได้มากที่สุด และทีสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือเมื่อคัดกรองจนได้กลุ่มเสี่ยงแล้วนั้นเราจะจัดการต่ออย่างไร

           พี่แพรว จาก รพสต.นาราก  เริ่มต้นแนะว่า เมื่อรู้ว่าตนเองเสี่ยงแบบไหนแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อคิดจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคือ การทำให้ผู้ที่เสี่ยงตระหนักถึงความสำคัญ และมีใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลงก่อนเป็นอย่างแรก  เพราะกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มที่ยังไม่ป่วย ความตระหนักด้านสุขภาพจึงน้อยมาก โดยให้ลองนึกถึงตัวเราเอง ก่อนที่จะถึงถึงคนอื่นว่า พฤติกรรมเปลี่ยนยากขนาดไหน ทั้งๆที่มีความรู้อยู่กับตัวมากมาย  ที่ รพสต.นารากใช้เทคนิคแรกคือ ประเมินความฟิต” โดยการให้ทดสอบด้วยกิจกรรมง่ายเช่น ลุกนั่งภายใน 2 นาที  นั่งงอตัวรูปตัววี ซึ่งทุกท่ามีพี่อ้อ และผมร่วมแสดงโดยที่หุ่นไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด  เมื่อกลุ่มเสี่ยงรู้ถึงความฟิตตัวเองแล้ว  พี่เพลินก็ต่อด้วยเทคนิค “ความสุข ที่เราต้องการ” โดยถามไปในกลุ่มว่า “คุณป้าคะ อะไรคือความสุขที่คุณป้ารอคอย” ซึ่งส่วนใหญ่มักจะหนีไม่พ้น รอเห็นความสำเร็จของลูกหลานหรือคนที่ตัวเองรัก เช่นเรียนจบ รับปริญญา  เป็นต้น และให้เรารีบฉวยโอกาสบอกเลยว่า “วันนั้นจะมาถึงอย่างมีความสุข ถ้าคุณป้ามีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วยจากโรเรื้อรังต่างๆเสียก่อน”  เมื่อมาถึงตรงนี้พี่แพรวก็เริ่มเฉลยไปถึงทฤษฎีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เรียกว่า “Stages of change”  ทีมีทั้งหมด 5 ระยะ โดยระยะที่สำคัญที่สุดคือขั้นตอนแรกที่เรียกว่า Precontemplation ที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับถึงปัญหาของตัวเองและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง


           พี่แพรว ใช้แนวคิดนี้ นำมาออกแบบโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ของ รพสต.นาราก โดยเรียกว่า อรพิมพ์โมเดล (ทราบภายหลังว่าเป็นชื่อตำบลที่อยู่ รพสต.นาราก) โดยที่โปรแกรมแบ่งเป็นทั้งหมด 5 ครั้ง ตามระยะของ stages of change และเรียกชื่อแต่ละขั้นตอนใหม่ดังนี้

           ครั้งที่ 1 มาค้นหาตัวเอง เพื่อหารูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมของแต่ละคน โดยการให้คิดเองให้ง่ายและทำได้จริง ไม่ฝืนกับชีวิตปกติ  ซึ่งที่นารากนอกจากจะใช้เทคนิคความฟิตและความสุขแล้ว ยังเพิ่มเทคนิคการคิด BMI ที่เข้าใจง่ายว่า ดัชนีมวลกาย คือเนื้อตัวที่เกินมา จากร่างกายที่เท่ากันคือโครงร่างกระดูกหนัง และมีการคำนวณง่ายๆด้วยเครื่องคิดเลข คือเอาน้ำหนักหารด้วยความสูงที่ใส่จุดหลังเลข1 และหารสองครั้ง (พี่แพรวบอกว่าไม่น่ามีใครสูงเกินเลข 2 นะ)

           ครั้งที่2 เน้นมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค  โดยให้กำหนดเป้าหมายที่ต้องการของแต่ละคนตามความสามารถ โดยใช้กิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนกันเองด้วยคำถาม “กินอย่างไร ให้มีความสุขโดยไม่อ้วน” แล้วสรุปให้ฟังด้วย ธงโภชนา โมเดลอาหาร และอาหารจริงในชีวิตประจำวัน  เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำมาที่นาราก ทุกคนรู้หมดว่าอะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน อะไรที่ทำให้อ้วน แต่ไม่ตระหนักกันเอง  ขั้นตอนนี้เราเพียงแค่ให้กำลังใจ และเชียร์ให้ทำให้ได้ก็พอ

          ครั้งที3ใช้กำลังกายและใช้แรงงาน  เป็นการสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มให้ช่วยเหลือกัน โดยกลุ่มมาคิดร่วมกันว่าทำอย่างไรจะได้เหงื่อ ซึ่งกิจกรรมนี้เองที่ทำให้เกิดนวัตกรรม การเต้นแอโรบิคด้วยท่าซักผ้า การเดินเร็วแบบเดินพาเรด  ส่วนการประเมินความหนัก ก็ให้มากประมาณว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง หอบหน่อยเป็นพอ โดยไม่ต้องสอนเรื่องการจับชีพจรให้ยุ่งยาก

         ครั้งที่4 ทำให้ต่อเนื่อง โดยครั้งนี้เน้นกิจกรรมให้ช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจะไม่เบื่อและขี้เกียจเสียก่อน กิจกรรมเน้นด้านอารมณ์ เสริมกำลังใจ  เพราะมีบางคนในกลุ่มเริ่มเครียดที่ไม่เห็นผลตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งกลุ่มจะให้กำลังใจและสันทนาการคลายเครียด โดยครั้งนี้อาจใช้แบบประเมินกรมสุขภาพจิตช่วยก็ได้ หรืออาจใช้เทคนิคไม้บรรทัด คือ ความยาวไม้บรรทัด 10 จะให้คะแนนความสุขเท่าไหร่ คนที่ได้มากก็เล่าได้ แต่คนที่ได้น้อยก็ต้องให้กำลังใจโดยกลุ่มว่าจะช่วยกันอย่างไร ซึ่งมักเป็นการร้องรำทำเพลง หรือร้องคาราโอเกะด้วยกัน และกินอาหารที่ชอบร่วมกัน  ส่วนที่เหลือก็เป็นคัดกรองให้คำปรึกษาความเครียดรายบุคคลต่อไป 

          ครั้งที่ 5 สร้างกำลังใจและพันธสัญญา เพื่อความต่อเนื่อง พร้อมกับประเมินผล ด้วยการเสนอช่องทางปรึกษาสื่อสารอย่างต่อเนื่อง  ครั้งนี้เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จ และถ่ายทอดความรู้สึก เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่มากขึ้นเป็นเครือข่ายติดต่อกันในแต่ละรุ่นของกลุ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  พร้อมทำการนัดหมายว่าจะมีการประเมินซ้ำทุกระยะ 3-5 เดือน เป็นจำนวน 2 ปี  ร่วมกับการจัดการประกวดต่างๆ เช่น ตลาดนัดสุขภาพประจำปีร่วมกับท้องถิ่น โดยที่นารากใช้เกณฑ์ว่า ถ้าจะประกวดสุขภาพดี ต้องมีสมาชิกในบ้านร่วมทีมด้วย เพื่อเป็นการดึงคุณผู้ชายมาร่วมกิจกรรม ให้มากขึ้น เพราะผู้ชายมักให้ความสำคัญด้านสุขภาพต่ำกว่าผู้หญิง (แต่พี่แพรวก็ติดตลกว่า แล้วทำไมผู้หญิงถึงป่วยมากกว่าล่ะ น่าสงสัย)

          1 ชั่วโมงครึ่งของพี่แพรว ยังดูน้อยไปกับกิจกรรมต่างๆ ซึ่งพีแพรวก็ยังทิ้งท้ายไว้อย่างน่ารักว่า พี่เป็นนักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้มากมาย แต่การรู้จักใช้โอกาสที่จะฉวยให้เร็วเมื่อมีกลุ่มเสี่ยงสนใจ และใช้ทักษะความรู้และวิถีชีวิตที่เค้ามีอยู่แล้วเป็นหลัก เพราะสิ่งสำคัญคือใจที่อยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช่ใส่ความรู้ไปมากมาย และหาข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.orapimhealth.com

          ระหว่างเบรกน้อง อ๊อฟ วัชชิระ ใช้ช่วงเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ให้ทุกคนได้พักกินเบรก พร้อมกับร้องคาราโอเกะ จากนวัตกรรมเพลง “เบาหวานเบาใจ” และ “ดันสูงดลใจ” จากเนื้อร้องและภาพบรรยากาศของคลินิกบนหน้าจอ สลับกับเกมส์สนุกๆตามสไตล์   พร้อมกับสรุปให้ฟังสั้นๆได้ใจความว่า รูปแบบการสอนมีอยู่มากมาย ถ้าเราใช้ให้หลากหลาย ไม่เครียด ทุกคนชอบ เช่นการใช้บทเพลง ก็จะทำให้บรรยากาศในคลินิกโรคเรื้อรังต่างผ่อนคลายลงได้เช่นกัน

            ช่วงชั่วโมงสุดท้ายของกิจกรรมในห้อง พี่อ้อ เปรมสุรีย์ มาแบบสบายๆ โดยบอกว่าไม่สอน แต่เชิญทุกคนทำจริงเลย ว่าการออกกำลังกายที่มีมากมายนั้นมีอะไรบ้าง  เริ่มโดยการให้ทุกคนได้โยกตัวด้วย ฮุลาฮูป ที่กำลังเป็นที่นิยมในตอนนี้ และแกนนำทั้งสองก็พร้อมนำเล่นอยู่แล้ว พี่สโนและประมวล เริ่มแจกอูล่าฮุป หลายขนาด เล็กใหญ่ ตามแต่ชอบ แต่สิ่งที่สนใจของคนในห้องเป็นพิเศษ คือ ฮูล่าฮูปแบบห่วงที่สามารถพกพาได้ ซึ่งบอกได้แต่ว่ามีขายที่ห้างเซนทรัล ต้องไปตามหาซื้อกันเอาเอง  พอได้เหงื่อ พีอ้อก็ต่อด้วยการออกกำลังกายเพื่อลดพุง โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ ชื่อว่า “ท่าไหว้ฟ้าดิน”  โดยทำครั้งละประมาณ 30 เซต เช้าเย็น ประกอบด้วยพนมมือยื่นขึ้นเหนือหัวจนสุด แล้วเอนยืดตัวไปด้านบน ด้านหลัง ด้านข้างซ้ายขวา ข้างละ 10 วินาที  และต่อด้วยแนะนำให้รู้จักการออกกำลังกายด้วยยางยืด ซึ่งพี่อ้อได้มาจากการ ลปรร.กับทีมโรงพยาบาลอุดรธานีเมื่อหลายปีก่อนอีกที  แต่ยางยืดเป็นยางยืดที่ผลิตขึ้นเองโดยสานให้มีแรงต้าน แตกต่างกันตั้งแต่ใช้หนังยาง 6-10 เส้น


              ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ออกแรงกันอย่างสนุกสนาน นานครึ่งชั่วโมง พี่อ้อได้สรุปถึงกิจกรรมการแนะนำการออกกำลังกายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยใช้ตัวเองเป็นแบบอย่างว่าสามารถลดน้ำหนักได้ถึง 25 กิโลกรัมและมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือการที่จะทำให้ได้สม่ำเสมอตลอดไป  เทคนิคที่สำคัญคือการออกกำลังกายโดยมีเพื่อนหรือรวมกลุ่มกัน เช่นที่นำไปส่งเสริมให้เกิดในชุมชนต่างๆ โดยมีแกนนำออกกำลังกายเป็นหัวใจในการกระตุ้นและเป็นแบบอย่าง ซึ่งตัวอย่างก็คือพี่สโนและพี่ประมวลที่พามาด้วย ทั้งสองคนมีหุ่นดี ดูสดใสแข็งแรงกว่าอายุจริง (ที่ไม่ยอมเปิดเผย)  การมีเพื่อนคอยเตือน สังเกตได้จากเวลามีคนใดคนหนึ่งหายไป คนอื่นๆจะถามหากันเสมอ เป็นแรงผลักอย่างหนึ่งที่ทำให้การออกกำลังเกิดขึ้นยาวนานและสม่ำเสมอ ส่วนชนิดของการออกกำลังกายก็สามารถปรับได้ตามแต่ความชอบของแต่ละพื้นที่เช่นกัน

              พี่รัตน์ จาก รพสต.บ้านกลาง พิษณุโลก ได้เล่าปิดท้ายให้ฟังถึงกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ที่อาศัยแกนนำสุขภาพเช่น หัวหมู่เบาหวาน ผู้นำชุมชน มาเป็นผู้นำในชุมชน โดยร่วมมือกับส่วนท้องถิ่นทั้งคนและงบประมาณ เพื่อให้เกิดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ส่วนที่สำคัญคือการติดตามประเมินผล ซึ่งที่ รพสต.บ้านกลางมีการติดตาม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือหลังเข้าร่วมโครงการ และติดตามต่อจนครบปีโดยใช้ตัวชี้วัดที่ควรเก็บเพื่อใช้รายงานสรุปโครงการ คือ น้ำหนัก BMI รอบเอว  ระดับน้ำตาล   และการเปลี่ยนจากกลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มป่วย   แต่มีอีกตัวชีวัตหนึ่งที่แนะนำและเห็นผลได้อย่างชัดเจนคือ “การวัดการเปลี่ยนพฤติกรรม” เช่นมีการออกกำลังกายมากขึ้น เป็นต้น 

Stages of change

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

5. Maintenance

 

 

 

4. Action

 

 

3. Preparation

 

2. Comtemplation

1. Precontemplation

ภก.เอนก ทนงหาญ  ผู้เล่าเรื่อง

 

คำสำคัญ (Tags): #12th HA Forum#km dm-ht
หมายเลขบันทึก: 433849เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2011 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีท่านเภสัช

ไม่ได้เข้าเรียนรู้ในห้องนี้ เสียดายเหมือนกัน

จึงต้องมาเรียนรู้ นอกห้องเรียน

ขอบคุณครับ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- 

ขอบคุณกำลังใจ ที่ท่านให้กับเครือข่ายครับ

ฟังเรื่องเล่าแล้วน่าสนุกจริงๆนะคะ ขอบคุณมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท