เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ... เพิ่มรายได้จริงหรือเปล่า?


เมื่อภาคเกษตรเจริญรุ่งเรืองเหมาะสมกับเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ เพื่อมุ่งไปสู่ครัวโลกแล้ว ภาคแรงงานก็ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ไม่จำเป็นต้องรอหรืออาศัยเศษเงินจากน้ำมือภาคอุตสาหกรรม เหมือนรอกินน้ำใต้ศอก กว่าจะถือปากถึงท้องก็เหลือประโยชน์น้อยนิด เผลอ ๆ มีสิ่งเจือปนก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้อีก

ระยะนี้เห็นข่าวโฆษณาชวนเชื่อ (ต้องใช้คำว่าโฆษณาไม่ใช่ประชาสัมพันธ์เพราะมีเหตุผลเพื่อชักจูงให้ขายได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป) ของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล โดยมีนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น สู้กับปัญหาข้าวยากหมากแพง

ฟังดูแล้วเป็นนโยบายที่ดี แต่วิธีการนั้นดูเหมือนจะง่ายเกินไป เพราะถ้าหากทำได้ง่าย ๆ อย่างนี้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาสามารถแก้ไขได้หมดแล้ว

ง่ายอย่างไร?

ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปากเสียอีก

ราคาสินค้าแพงขึ้น ก็เพิ่มรายได้(ค่าแรงขั้นต่ำ)เพื่อให้มีเงินไปซื้อสินค้าได้

ง่ายจริง ๆ แก้ไขแบบตรงไปตรงมาไม่มีอะไรแอบแฝง แต่ไม่เหมาะสมกับเป็นนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดังระดับโลกเอาเสียเลย

เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วสินค้าแพงเกิดจากค่าของเงินลดต่ำลง ซึ่งเรียกว่าเงินเฟ้อ ตัวอย่างเช่น

ตัวอย่างการคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค
ลองคำนวณเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ ปี 2543 กับ ปี 2544
สมมติตัวเลข ปี 2543 เป็น 197.7
และปี 2544 เป็น 202.6 ดัชนีราคาผู้บริโภคปี 2544 เพิ่มจากปี 2543 ดังนี้

CPI = (202.6/197.7) x 100 = 102.5

ดังนั้นดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 102.5-100 = 2.5

ดัชนีราคาผู้บริโภคในปี 2544 ที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจบ่งบอกได้ถึงภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.5 ซึ่งถือเป็นเงินเฟ้ออย่างอ่อนเป็นสิ่งที่ดีต่อเศรษฐกิจ

จากตัวอย่างเห็นได้ว่า ปี 2543 สมมติว่ามีเงิน 100 บาท สามารถซื้อสินค้า A ได้ 1 ชิ้น พอถึงปี 2544 จะซื้อสินค้า A ได้ 1 ชิ้นนั้นต้องใช้เงินถึง 102.5 บาท ซึ่งภาษาชาวบ้านเรียกว่าของแพง นักเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคารเรียกว่าเงินเฟ้อ เพราะค่าเงินลดลง

(ที่มา: วิกิพีเดีย - ภาวะเงินเฟ้อ)

ซึ่งส่วนนี้นายอภิสิทธิ์ ซึ่งจบเศรษฐศาสตร์ทราบเป็นอย่างดี ยิ่งของแพงมากเท่าใด ก็แสดงว่าเงินเฟ้อมาก (เงินก็มีค่าน้อยลงไปตามอัตราส่วน)

สาเหตุของเงินเฟ้อนั้นมี 2 ประการคือ

  1. ต้นทุนเพิ่ม (Cost push inflation) เกิดจากด้านอุปทานที่มีต้นทุนสูงทำให้ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ต้นทุนนั้นก็ประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน การเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ การเพิ่มกำไรของผู้ประกอบการ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้านำเข้า ซึ่งอาจเพิ่มไปตามภาวะ ตลาดโลก หรือผลของอัตราแลกเปลี่ยน
  2. ความต้องการเพิ่ม (Demand-pull inflation) เกิดจากความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นสูง เป็นผลจากฝั่งอุปสงค์เพิ่มขึ้น อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอัตราการแลกเปลี่ยน พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยน หรืออื่น ๆ

การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลคือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งก่อนหน้าก็ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ก็ประดุจดั่งสาดน้ำมันเข้ากองเพลิง เร่งโหมเพลิงราคาให้แรงขึ้น ในที่สุดก็จะไหม้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใกล้เคียงนั่นคือ ระบบเศรษฐกิจ

ข้อเขียนนี้ไม่ได้ต่อต้าน คัดค้าน การขึ้นค่าแรง หรือเพิ่มรายได้ส่วนใด แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่หยิบเอาเรื่องเหล่านี้มาแสวงหาผลประโยชน์เหมือนกับการซื้อขนมมาแจกเด็ก ๆ โดยเด็กและผู้ใหญ่หลายคนไม่ทันคิดว่า เงินที่ซื้อขนมนั้นก็มาจากกระเป๋าตัวเอง

สาเหตุที่เขียนคือสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด และวิธีการแก้ไขปัญหาที่ยังอ่อนเกินไป และไม่ยั่งยืน

ทำไมไม่ส่งเสริมและพัฒนาให้เกษตรกรมีแนวทางการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน และแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จริงจัง และจริงใจ ไม่ใช่ทำแบบขอไปที

เมื่อภาคเกษตรเจริญรุ่งเรืองเหมาะสมกับเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ เพื่อมุ่งไปสู่ครัวโลกแล้ว ภาคแรงงานก็ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ไม่จำเป็นต้องรอหรืออาศัยเศษเงินจากน้ำมือภาคอุตสาหกรรม เหมือนรอกินน้ำใต้ศอก กว่าจะถือปากถึงท้องก็เหลือประโยชน์น้อยนิด เผลอ ๆ มีสิ่งเจือปนก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้อีก

สุดท้ายจึงขอฝากให้ผู้อ่านทุกท่านได้เล็งเห็นถึงการส่งเสริมวิธีคิดและการเรียนรู้ โดยเฉพาะผู้อ่านในกลุ่มนักการศึกษาทั้งหลายโปรดช่วยกัน ส่งเสริม เสริมสร้าง วิธีคิดและการเรียนรู้ ให้เกิดในหมู่นักศึกษาและเยาวชนของชาติให้สามารถคิดเป็น แก้ไขปัญหาเป็น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแบบขอไปที หรือลูบหน้าปะจมูกแบบนี้...

หมายเลขบันทึก: 432541เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2011 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

  • มาขอบคุณที่กรุณาไปทักทายคุณมะเดื่อจ้ะ
  • การแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรง หรือขึ้นเงินเดือน
  • เป็นการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและฉับพลัน ...แบบฉุกเฉิน...ก็ว่าได้
  • แต่....ผลที่ตามมา...คือ..ปัญหาทั้งหมด....

ขึ้นค่าแรง  ก็ดีใจ นึกว่ารายได้มากขึ้นจริง แต่ที่เพิ่มขึ้นกลับไม่ไช่ "เงินเก็บ"

กลับกลายเป็นเพิ่มหนี้สินมากขึ้น  เพราะนึกว่ามีรายได้เพิ่ม เลยซื้อผ่อนเพิ่มพอกพูน ต่อปัญหา จริงๆ ไม่รู้จบ

 

  • สวัสดีค่ะ
  • "เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ....เพิ่มรายได้จริงหรือเปล่า".....น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า..........  
  • ขอบคุณค่ะ

                                     

ขอบคุณคุณ Ico24 บุษรา และ Ico24 คุณมะเดื่อ. Ico48 mee_pole ที่เข้ามาเยี่ยมชม และให้กำลังใจพร้อมความคิดเห็น พอดีคุณ mee_pole กล่าวถึงเงินเก็บก็คิดได้ว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วเงินได้ 100% จ่าย 80% ออม 20% ถ้าทำได้รับรองไม่จน ตรงนี้ต่างหากเราต้องรณรงค์ส่งเสริมการออมอย่างแท้จริง

แต่ทุกวันนี้เกิดปรากฎการณ์ชักหน้าไม่ถึงหลังมากกว่า อย่าว่าแต่เงินออมเลยครับ

และการออมเงินนั้นในระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้ไม่ส่งเสริมเกื้อหนุน เพราะฝากเงินธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยถูกแสนถูก จึงเป็นกรรมของประชาชนที่ต้องหาทางออมกันเอาเองแล้วแต่เวรกรรมก็แล้วกัน ใครคิดได้ก็ออมเป็น คิดไม่ได้ก็เป็นหนี้แทน

ขอบคุณอีกครั้งครับ

เข้ามาขอบคุณ คุณโยธิน นะครับ

ที่เข้าไปให้กำลังใจ ลูกชาย ที่ถูกรถชน

ขอบคุณมากนะครับ

"เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง" ก็ยังเป็นวลีอมตะ ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยครับ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท