แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

ของฝากจากการไปชอปปิ้งโยคะ by ศิษย์ดุล



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ



ของฝากจากการไปชอปปิ้งโยคะ

ศิษย์ดุล; เรียบเรียง
คอลัมน์ ; จดหายจากเพื่อนครู
โยคะสารัตถะ ธันวาคม ๒๕๕๒

 

สวัสดีครับเพื่อนครูทุกท่าน

เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา (๑๔-๑๕ พฤศจิกายน) หลายคนในแวดวงโยคะคงได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรมช้อปปิ้งโยคะแห่งปี Thailand Yoga Festival 2009 ซึ่งมีคลาสให้เลือกเรียนมากถึง ๑๘ คลาส ซึ่งนักช้อปโยคะอย่างผมมีหรือจะยอมพลาด

งานนี้จัดขึ้นมาเป็นปีที่ ๓ โดยนิตยสารโยคะเจอร์นอลไทยแลนด์ ซึ่งผมได้ไปร่วมงานมา ๒ ครั้งนับตั้งแต่ปีที่แล้ว

จำได้ว่า ปีที่แล้ว ผมตื่นเต้นสนุกสนานกับการทดลองเรียนอาสนะหลากหลายรูปแบบจากครูโยคะที่มีชื่อเสียงมากมายจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งมีคลาสให้เลือกเรียน ๑๖ คลาส เรียนได้วันละ ๔ คลาส รวม ๒ วัน ๘ คลาส ผมเข้าเรียนด้วยใจอยากรู้อยากลองไปซะหมด ทุ่มเททำทุกท่วงท่าอย่างหมดใจ (แบบไร้สติ) กลับบ้านจึงออกอาการเดี้ยง ปวดร้าวระบมไปทั้งตัวตั้งแต่วันแรก ทั้งๆ ที่ปีที่แล้วร่างกายของผมฟิตกว่าปีนี้มาก อย่างน้อยก็ออกกำลังกายสม่ำเสมอต่างกับปีนี้ที่มีภารกิจรัดตัวก่อนหน้าจนแทบไม่ได้ออกกำลังกายเลย แต่ครั้งนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้น!

เมื่อลองกลับมาสวาธยายะหาเหตุผลถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น ผมพบว่า ครั้งนี้ผมทำอาสนะด้วยความรู้ทั้งที่มีต่อโยคะอาสนะ และรู้จักตัวเองมากขึ้นจากประสบการณ์เรียนรู้ความเข้าใจโยคะที่ผมคลุกอยู่ตลอดปีนี้

งาน Yoga conference ปีที่แล้ว ในคลาสวินยาสะอาสนะ กับครูแมททิว สวีนีย์ หลังเรียนจบผมรู้สึกประทับใจเพราะการลำดับท่านำพาให้เราทำบางท่าที่ไม่เคยทำได้เหมือนกับความหมายหนึ่งของโยคะคือการบรรลุถึงสิ่งที่ไม่สามารถบรรลุมาก่อน ในวันนี้เมื่อผมลองสวาธยายะโดยใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมมาจึงพอเข้าใจว่าคงเป็นเพราะการออกแบบชุดฝึกที่มีการเรียงร้อยท่วงท่าทั้งท่าเตรียม ท่าหลัก และท่าแก้เนื่องต่อกันอย่างลงตัว

ผมรู้สึกว่าผมโชคดีมาก เพราะงานปีที่แล้วทำให้ผมได้พบกับคอร์สอบรมครูโยคะระยะสั้นของสถาบันโยคะวิชาการ และได้เข้าร่วมอบรมเมื่อเดือนมีนาคม ณ ที่นี้เองที่ทำให้ผมได้รู้จักความหมายที่แท้จริงของโยคะ ที่ไม่ได้มีเพียงแต่การทำท่าให้ได้ จนต่อมาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยงานด้านวิชาการเล็กๆ น้อยๆ ให้กับสถาบันฯ ประกอบกับการกลับไปเรียนอาสนะกับครูหนู (ชมชื่น) อีกครั้งหลังจากทิ้งร้างไปหลายปี และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพี่เละ (ธีรเดช) ช่วยพอกพูนความรู้ความเข้าใจในการทำอาสนะและรู้จักถึงศักยภาพของร่างกายเราจนพอที่จะจัดปรับท่วงท่าให้สอดคล้องข้อจำกัดอันมากมายของตนเองได้บ้าง

ครั้งนี้ร่างกายผมจึงไม่เดี้ยงเหมือนปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ทำอาสนะ ๒ วัน วันละ ๖ ชั่วโมง กับร่างกายที่ถดถอยลง เพราะทุกขณะที่เรียนรู้อาสนะแบบสามานยะ (รวมๆ) ที่ครูแต่ละท่านนำฝึก ผมเลือกจัดปรับบางท่วงท่าด้วยการฟังเสียงเพรียกจากตัวเอง ชั่วขณะหนึ่งผมรู้สึกถึงความนิ่งที่อยู่ภายใน ท่ามกลางกายที่ยังไหวเคลื่อนไปตามท่วงท่าพร้อมกับผู้คนที่รายรอบ หากมองด้วยมุมแบบโกวเล้ง คงคล้ายกับว่า อาสนะอยู่ที่ใจ จนถึงขีดขั้น ไร้อาสนะ..ไร้กระบวนท่า (ต่อไปก็ไม่ต้องทำท่า..ฮา)

งานในปีนี้ผมได้รู้จักกับโยคะที่ถูกนิยามให้แตกต่างกันออกไปจนบางครั้งไม่อาจเรียกสิ่งที่กำลังเรียนรู้ว่าโยคะได้ คลาสหนึ่งเป็นมาสเตอร์ที่เค้าโปรโมตว่า สุดฮิป (แต่ผมว่าน่าจะย่อมาจาก สุดจะฮิปฮอป) เพราะท่าขั้นเทพที่นำมาแสดง(เพราะแกทำได้คนเดียว ผู้เรียนได้แต่ยืนมองตาค้าง) ประกอบเพลงฮิปฮอปสุดเร่าร้อนนั้น ไม่เข้าในหลักการของอาสนะตามตำราใดๆ เลยสักข้อ แต่ผมไม่ได้เกิดความรู้สึกต่อต้านหรือดูแคลนว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่โยคะ ผมเพียงแต่รับรู้และเลือกน้อมนำบางอย่างที่เห็นว่ามีประโยชน์มาปรับใช้ ผมเห็นแล้วว่าการทำอาสนะไม่ได้อยู่ที่การทำท่าให้ได้มากๆ ทำท่าที่ยากให้ได้ หรือจัดระเบียบร่างกาย(alignment) ให้สวยงามทั้งที่ร่างกายไม่พร้อม แต่อยู่ที่ว่า เรา"รู้" ว่าเรากำลังทำอะไร

สองสัปดาห์ก่อนหน้า ผมได้มีส่วนร่วมในงานประชุมโยคะวิชาการเล็กๆ กับชนกลุ่มน้อยผู้รักที่จะเรียนรู้และเข้าใจศาสตร์โยคะแบบออริจินัล จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นโยคะนอกกระแส (ที่คนนิยม) สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้คือวัตรของครูโยคะในดวงใจของผม ทั้ง ๓ ท่าน คือ ครูหนู พี่เละ และครูกวี เพราะแม้ว่าแต่ละท่านจะมีวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ทุกท่านทำอาสนะจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เหมือนที่ครูหนูบอกว่า "เรายังกินข้าววันละ ๓ มื้อได้ทุกวัน ทำไมเราจะทำอาสนะทุกวันไม่ได้" และนี่เองที่คอยย้ำเตือนใจให้ผมมีหมุดหมายที่จะทำอาสนะให้ได้อย่างสม่ำเสมอ

ผมลองตั้งข้อสังเกต (นิสัยนี้คงเริ่มติดมาจากพี่เละ) ว่าการที่ชื่องาน เปลี่ยนจาก Yoga Conference มาเป็น Festival ในปีนี้ คงเป็นนัยถึงเชิงหลากหลายมากขึ้น ยิ่งเห็นครูโยคะบางท่านมีบูธเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ทำให้ภาพมหกรรม ช้อปปิ้งโยคะครั้งนี้ชัดเจนกว่าทุกปี

ผมไม่ได้จะเปรียบเทียบว่างานไหนดีกว่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับ จริต การเปิดใจยอมรับ และพื้นฐานการรับรู้ของแต่ละคนมากกว่า และผมก็ไม่ได้รู้สึกต่อต้านใดๆ ผมยังคงสนุกกับการช้อปปิ้งเสื้อยืดสกรีนโยคะเก๋ๆ เดินดูนวัตกรรมแปลกๆ ใหม่ๆ ท่ามกลางกระแสบริโภคโยคะนิยม แต่ปีนี้ผมพอที่จะมองทะลุแพคเกจจิ้งที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอกทะลุเข้าไปถึงแก่นแกนบางสิ่งที่อยู่ในเนื้อ ทำให้การช้อปปิ้งโยคะครั้งนี้ มีความสนุกปนสติอย่างลงตัว (อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของผมเอง)

ผมเกิดความคิดว่า บางครั้งแม้เราไม่ได้คิดจะสวนกระแส แค่ "เลือก" หยัดยืนอยู่นิ่งๆ ท่ามกลางกระแสที่เชี่ยวกรากให้ได้อย่างมั่นคง ก็นับว่ายากแล้ว

ดังประโยคที่ว่า "ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรา (The choice is yours.)" ของ Dr.M.M.Gharote ที่กล่าวในงานประชุมเครือข่ายครูโยคะวิชาการ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ศิษย์ดุล 


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 432414เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2011 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท