เวทีบ่มเพาะ "เติบโตเเละก้าวย่าง" ของเครือข่ายการศึกษาสงเคราะห์เเละการศึกษาพิเศษ


หลังจากกลับมาจากวงสนทนากระบวนกรที่หาดใหญ่ ผมก็ง่วนกับการเตรียมเวที การจัดการความรู้สำหรับคณะผู้บริหารการศึกษาพิเศษที่จะเกิดขึ้นที่อัมพวาในอีกวันสองวันนี้  

การจัดเวทีครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นครั้งแรกๆของการพูดคุยในในประเด็นการจัดการความรู้ที่เปิดตัวด้วยการสร้างแรงบันดาลใจและการทำ Workshop ทักษะบางอย่างสำหรับเป็นต้นทุนในการนำพาองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติและมีความสุข ส่วนเป้าหมายใหญ่กว่านั้นก็คือ ผลผลึกของความรู้ที่เป็นปัญญาปฏิบัติของการจัดการการศึกษาพิเศษจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาพิเศษของประเทศ

การศึกษาพิเศษที่ผมเขียนถึง หมายถึง สถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนรู้การสอนที่มีรูปแบบพิเศษ จัดการศึกษาสำหรับผู้ที่ด้อยโอกาส คนชายขอบ รวมถึงผู้ที่ประสบกับพิบัติภัยประเภทต่างๆ สถาบันการศึกษาเหล่านี้ ก็รวมเอาโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่รับนักเรียนประจำ ทั้งหมดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ข้อมูลเบื้องต้นเท่าที่คุยกับแกนนำผู้บริหารการศึกษาพิเศษนำโดย ดร.บัญชร จันทร์ดา ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ พิษณุโลก เเละ ผอ.สมุนต์ ม่อนไข่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ลำพูน ได้รับทราบข้อมูลถึงศักยภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ของการจัดการการศึกษาพิเศษในประเทศไทยนั้นมีจุดแข็งหลายประการ รวมไปถึงผลลัพธ์ที่ดีเลิศทั้งในด้านวิชาการ นวัตกรรม การบริหารที่จำเป็นต้องใช้พลังสูงในภาวะที่ไม่พร้อม รวมไปถึงเครือข่ายการทำงานของสถานศึกษาเหล่านั้นที่รวมตัวกันเหนียวแน่น ทำกิจกรรมร่วมกันมาโดยตลอด ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การขับเคลื่อนไปข้างหน้าไม่มีพลังเพียงพอ   เมื่อวิเคราะห์สาเหตุแล้วพบว่า ขาดการจัดการความรู้ทั้งในระดับปัจเจกและระดับกลุ่ม ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงบุคลากร นักเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะมีการจัดการความรู้บ้างแล้ว แต่การขับเคลื่อนของวงจรความรู้ก็ไม่ได้ตอบสนองกับการขับเคลื่อนพัฒนา

แล้วจะทำอย่างไร?

คำถามจากสถานการณ์ที่ผมเล่ามานี้ จึงเป็นเงื่อนไขเริ่มต้น ที่ทำให้เกิดวงคุยกันเล็กๆว่า หากมองในด้านการอยู่รอดขององค์กร ก็คงต้องมีการถอดบทเรียน มีการจัดการความรู้ที่เป็นวัฒนธรรมองค์กร ตัวแปรที่สำคัญจึงโฟกัสมาที่ “ผู้บริหาร”  หากผู้นำขององค์กรรับรู้ เข้าใจ ยอมรับ การพัฒนาที่ใช้การจัดการความรู้เป็นฐาน มีแรงบันดาลใจที่เพียงพอ การผลักดันในองค์กรไม่ใช่เรื่องยาก

ผมและทีมงานเคยทำเวทีเรียนรู้ให้กับมูลนิธิแห่งหนึ่งนานมาแล้ว และกลุ่มเป้าหมายที่ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ เริ่มจากการจัดการความรู้ตนเอง สกัดบทเรียนจากคนทำงาน (ผู้บริหาร- ครู) ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ปรากฏว่า หลังจากทุกคนผ่านกระบวนการเรียนรู้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรและที่สำคัญเกิดการเปลี่ยนความคิดของผู้เข้าร่วมกระบวนการ เห็นพลังของการจัดการความรู้ว่าสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาได้อย่างทรงพลัง

เเละหนึ่งในผู้บริหารที่เคยผ่านเวทีเรียนรู้ ก็เป็นแกนนำของผู้บริหารการศึกษาพิเศษที่เป็นกลุ่ม Core Group ที่ผลักดันให้เกิดกิจกรรมดีๆขึ้นมา

เราได้หารือกันในกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่เดือนก่อน จากนั้นเริ่มมองเห็นถึงกระบวนการที่คิดร่วมกัน โดยมีเป้าหมายหลักข้างต้น ผมตระหนักดีว่า การจัดการความรู้ในสถานศึกษา กลุ่มที่สำคัญกลุ่มแรกน่าจะเป็นผู้บริหาร ดังนั้น เวทีแรกที่เป็นเวทีผู้บริหารจึงเป็นเวทีเริ่มต้นและมีความสำคัญ

อีกสองสามวันที่อัมพวา ก็จะเกิดเวทีแรกขึ้นมา โดยมีผู้บริหารจากทั่วประเทศ กว่า ๑๐๐ คนเข้าร่วม ใช้เวลา ๒ วัน ผมและทีมงานก็ได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ มีทั้งบรรยายและ Workshop ทักษะบางอย่าง เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการคิดสู่การปฏิบัติ


 

"ครูเพื่อศิษย์ เติมหัวใจให้การศึกษา" โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือที่คัดเลือกใช้ใน workshop


 

วันแรกจะมีการบรรยาย แนวคิดการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาการศึกษาพิเศษ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  การบรรยายของอาจารย์วิจารณ์ในครั้งนี้ นอกจากเราจะได้ความกรุณาจากท่านแล้ว ความรู้และพลังร่วมที่เกิดขึ้นน่าจะเป็น แรงบันดาลใจเริ่มต้น

"ปริศนาภูมิปัญญาท้องถิ่น"

หนังสือที่เขียนโดย ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์

 


 

เพื่อให้เชื่อมต่อจากวิธีคิดของอาจารย์วิจารณ์ จะมีการบรรยายของ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ โฟกัสมาที่ การจัดการความรู้วิถีไทย โดย ดร.ยุวนุช ท่านได้แปลง KM ที่เป็นเรื่องยากๆ เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย และสอดคล้องกับบริบทการทำงานโดยเฉพาะการทำงานด้านการศึกษา การบรรยายจากอาจารย์ทั้งสองท่าน น่าจะให้ผู้บริหารมองเห็นภาพของ “การจัดการความรู้” ที่ครบมิติและพร้อมจะเชื่อมไปยังทักษะด้านอื่นด้วย

อ.ภีรัชญา วีระสุโข จะมาทำ Workshop การจัดการความรู้กับนพลักษณ์ ๙ ด้วยวิธีคิดที่ว่าด้วยการเข้าใจตนเองที่ถ่องแท้ นำไปสู่การเข้าใจผู้อื่น การที่จะเป็นผู้รังสรรค์การจัดการความรู้ในองค์กร หรือ เป็นนักพัฒนา ความเข้าใจในเรื่องมนุษย์ จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่เราละเลยไม่ได้เลย “นพลักษณ์ ๙” จึงเป็นศาสตร์เริ่มต้นสำหรับเวทีผู้บริหาร เชื่อมจาก KM 

หนังสือถอดบทเรียนนอกกรอบ  โดย จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ที่นำไปเป็นส่วนหนึ่งของ workshop นี้สามารถ Download เป็น File pdf ที่ ดาวน์โหลดไฟล์ PDF 

 


 

ในส่วนของผม จะมุ่งเน้นเรื่องของ วิธีวิทยาการถอดบทเรียน(นอกกรอบ) ตามสไตล์ของผม และ ใช้หนังสือที่ผมเขียนเป็นเอกสารประกอบ workshop ด้วย ผมตั้งใจว่า “ถอดบทเรียน” เป็นทั้งกระบวนการและเป้าหมาย เราไปไม่ถึงไหน เราเดินช้ากว่าที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งมาจาก ที่เราขาดการถอดบทเรียนทั้งสิ้น (หมายความถึง ถอดบทเรียนตัวเอง-องค์กร) ความจำเป็นสำหรับองค์กรเรียนรู้ต้อง รู้จักการถอดบทเรียน...

"เรียนนอกฤดู "  โดย พนัส ปรีวาสนา


 

เพื่อให้ครบองค์ประกอบการจัดการความรู้ ทางทีมคิดว่าทักษะที่จำเป็นอีกทักษะหนึ่งก็คือ การเขียน เราตระหนักดีว่า การเขียนสร้างคุณูปการให้กับผู้เขียนมากมาย (เติบโต เยียวยา) รวมไปถึงสังคมที่ได้เรียนรู้ผ่านเรื่องราวจากผู้ถ่ายทอด งานเขียนเป็นจดหมายเหตุที่เป็นความรู้ ข้อมูล และ ปัญญาปฏิบัติที่เรียบเรียงออกมา เป็นต้นทุนของผู้คน องค์กร ในการพัฒนา

ปัญหาก็คือ “เขียนไม่เป็น” เมื่อเขียนไม่เป็นการสื่อสารก็ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

เขียนไม่เป็น – หรือ ไม่กล้าเขียน ? หรือ ไม่มั่นใจ ?

ที่ผมเขียนคำถามอย่างนี้เพราะ แท้จริงแล้วทุกคนมีทักษะการเขียนในระดับหนึ่ง แต่อาจขาดแรงบันดาลใจ ขาดพื้นที่ ขาดโอกาส ที่จะได้เขียนพร้อมกับสื่อสารออกไป ข้อจำกัดของการเขียนจึงเป็นข้ออ้างที่ทำให้เราหลบเลี่ยงการเขียนตลอดมา พบว่า ในที่สุดเเล้ว เราสื่อสารด้วยการเขียนไม่เป็น

การเขียน ไม่ได้ยากเหมือนที่คิดครับ...

เรามาเริ่มต้น "เขียนเพื่อการสื่อสารการจัดการความรู้"  ใน workshop ครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการเขียน โดย คุณพนัส ปรีวาสนา นักกิจกรรมนักศึกษา ที่กรำงานเขียน มีผลงานเขียนที่เป็นวาทกรรมการสื่อสารงานวิชาการสู่เรื่องอ่านเล่นธรรมดา(ที่มีพลัง)

สุดท้ายทางทีมงานเราคาดหวังว่า องค์ความรู้ + ทักษะ + แรงบันดาลใจ ในเวทีแรกของผู้บริหารที่อัมพวา น่าจะมีพลังเพียงพอในการเปิดรับและเริ่มต้นการจัดการความรู้ที่มีรูปแบบเฉพาะของการศึกษาพิเศษในวันนี้และอนาคต

บันทึกนี้เขียนขึ้นในเวลาว่างๆของการเตรียมเวทีแรกของผมและทีมงาน

ส่วนเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นจริงๆอีกวันสองวันนี้ที่อัมพวา...จะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามกันต่อครับ แค่เริ่มต้นคิด ผมก็รู้สึกตื่นเต้นแล้วครับ

---------------------------------------------------------

ทีมวิทยากร 

  1. ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์
  2. คุณภีรัชญา วีระสุขโข
  3. คุณพนัส ปรีวาสนา
  4. คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
  5. คุณ ณหทัย บัวแย้ม Lemon Ray co.Ltd
  6. คุณธนะภูมิ จันทร์ประไพ

------------------------------------------------------------------


 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔

ศาลายา,นครปฐม

หมายเลขบันทึก: 432274เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2011 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับน้องเอก

ยึดหลักในการเขียน และพัฒนาการเขียนโดยการ "ผลัดกันเขียน  เวียนกันอ่าน  วานกันชม" ได้คำชมทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และพัฒนาไปได้ในที่สุด

บัง

ผมชอบหลักการที่บังเขียนไว้ครับ 

"ผลัดกันเขียน  เวียนกันอ่าน  วานกันชม" 

จะนำไปใช้ใน workshop ด้วยครับ

  • เยี่ยมยอดมากค่ะ คุณเอกมีพลังมหาศาลจริง ๆ ค่ะ ยังไม่ทันหายเหนื่อยเลยก็เริ่มงานใหม่อีกแล้ว คืนนี้นอนเยอะ ๆ นะคะ
  • ยังไม่ได้มีโอกาสติดตามอ่านเรื่องเล่ากิจกรรมงดงามที่หาดใหญ่ใน G2K จากหลาย ๆ ท่านเลยค่ะ แต่ก็ได้ฟังพี่นุชเล่าบ้างแล้วเพราะนัดจะไปด้วยกันค่ะ ตื่นเต้นอยากอ่านหนังสือถอดบทเรียนคุณเอกมากจริง ๆ  
  • เพิ่งได้มีโอกาสเข้า G2K นี่แหละค่ะ หลังจากเร่งงานบางอย่างให้เสร็จเพื่อที่จะร่วมงานในสองวันที่จะถึงนี้ค่ะ
  • เจอกันพรุ่งนี้ห้ามใส่แว่นตาน้องช่วงช่วง ๆ มานะคะ (นอนเยอะๆ นะคะ)
  • แล้วพบกันค่ะ 

ทีมนี้แน่นปึ๊ก ดั่ง น้ำตาลปีก ครับ ;)...

  ทองกวาวสีเหลือง

ดอกไม้ สีวันจันทร์ คนมีเสน่ห์ มาฝากค่ะ คิดถึงเสมอค่ะ

ขอบคุณ อ.ศิลา ครับที่มาเป็นส่วนหนึ่งของ workshop ครับ

ผมไม่ได้ลงเนื้อหาอันเป็นเทคนิคเลย  เพราะประเมินก่อนนั้นดูแล้วผู้เข้าร่วมอบรมมีทักษะการเขียน ซึ่งหมายถึงจับประเด็น บันทึกและสื่อสารได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดความมั่นใจในการเขียนในแบบฉบับ เรื่องเล่า,...เพราะที่ผ่านมา ดูเหมือนหนักไปในทางการเขียนในระบบบทความ งาวิชาการที่ไม่ผูกโยงความเป็นกลิ่นอายสารคดีสักเท่าไหร่

ดังนั้น  เช้าๆ จึงมานั่งทบทวนใหม่  หากจะลงเทคนิคการเขียนแบบที่เป็นศาสตร์  ก็เกรงว่าจะไม่เกินแรงทะยานที่อยากจะเขียน  เลยจำต้องปรับใหม่ในช่วงเช้าของวันนั้นในแบบกว้างๆ ย้ำเน้นการกระทำซ้ำผ่านวาทกรรมว่า "อยากเขียนต้องเขียน"

  • อยากเขียนต้องเขียน
  • เขียนในเรื่องใกล้ตัว (ระยะสุดสายตา)
  • เขียนเสร็จอ่านทวน ชวนเพื่อนอ่าน
    •หาเวลาว่างอ่านหนังสือ
    •ลงมือบันทึกย่อ...
    •ถักทอเป็นจดหมายเหตุชีวิต
    •สะกิดการพัฒนาองค์กร
    •สะท้อนความงามของโลกและชีวิต

ส่วนทักษะที่แท้จริงเมื่อลงมือเขียนลงมืออ่าน ทักษะต่างๆ ก็จะตามมาเอง  ยังดีใจที่หลายๆ ท่านยืนยันว่า "อยากเขียน และกำลังจลงมือเขียน"

นั่นคือภาพความสุขที่ผมเห็น และเป็นความสุขที่ผมได้รับ

ส่วนกระบวนทัศน์การเขียนนั้น  ก็ย่อยให้สั้นได้ (1) เตรียมตัว : อ่าน ฟัง คิด  (2)  สั่งสมประสบการณ์ : ฝึกฝนอยู่บ่อยๆ  (3) เก็บข้อมูล : ให้ความสำคัญกับข้อมูล และจัดกระทำข้อมูลให้เป็นศิลปะ (4) ลงมือเขียน...

ดังนั้น  ถ้าจะมีการขยายความ ก็มีสองประเด็นหลังเท่านั้น ที่จะต้องลงรายละเอียดเชิงลึก ซึ่งก็ได้ทิ้งประเด็นไว้บ้างแล้ว

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท