อ่านรัฐธรรมนูญ (แห่งราชอาณาจักรไทย) ให้เป็น


รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญ เราท่านรู้จัก(ชื่อ)กันดี แต่จะมีสักกี่คน ที่เคยได้อ่าน และจะมีสักกี่คนที่เคยอ่านจนจบ

รัฐธรรมนูญของเราค่อนข้างจะยืดยาวหลายร้อยมาตรา เห็นแล้วก็พาลเบื่อ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีใครเอามาอ่านเล่น

ผมเองก็ไม่อยากอ่าน แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องค้นหาข้อความใช้อ้างอิง เปิดๆ ปิดๆ สักพักก็เริ่มคุ้นเคย พอไหวๆ ไม่ยากนัก

 

ในบันทึกนี้ ผมอยากจะแนะนำให้อ่านเฉพาะส่วนต้นของรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง

ดูฉบับ พ.ศ. 2550 เลยนะครับ

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
_______________

สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

ตราไว้ ณ วันที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน


ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๕๕๐ พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม สูกรสมพัตสร สาวนมาส ชุณหปักษ์ เอกาทสีดิถี สุริยคติกาล สิงหาคมมาส จตุวีสติมสุรทิน ศุกรวาร โดยกาลบริเฉท

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า...

 

ตรงสีชมพูนั้นแหละครับ เด็กๆ บ่นว่าอะไรก็ไม่รู้ อ่่านไม่รู้เรื่อง ผู้ใหญ่ก็บอกว่า คือกันๆ

 

ขอเฉลยเสียตรงนี้

ศุภมัสดุ เป็นคำขึ้นต้นเอกสารสำคัญทางราชการ หรือพระบรมราชโองการ มีใช้มาแต่โบราณ แปลว่า "ขอความดีความงามจงมี"

พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๕๕๐ พรรษา นี้ง่ายหน่อยครับ คงไ่ม่ต้องอธิบายนะครับ

ปัจจุบันสมัย แปลง่ายๆ ว่า วันนี้, ตอนนี้

จันทรคตินิยม คือ ปฏิทินจันทรคติ นับแบบนับขึ้นแรม

สูกรสมพัตสร สังเกตไหมครับ มีคำว่า สูกร (หมู) สมพัตสร (สม-พัด-สอน) มาจากภาษาสันสกฤต (สํวตฺสร) แปลว่า ปี  เพราะฉะนั้น สูกรสมพัตสร ก็คือ ปีหมู หรือ ปีกุน นั่้นเอง

สาวนมาส นี่ก็ต้องแยกครับ มาส แปลว่า เดือน หลายท่านอาจจะคุ้นเคย ส่วน สาวน เป็นชื่อเดือนตามแบบบาลีครับ บอกไม่ถูกว่าเดือนอะไร เอาเป็นว่า ถ้านับแบบแขก ท่านก็ว่าเดือนห้า แต่ถ้าเทียบเดือนไทย น่าจะตรงกับเดือนเก้า อยู่ถัดจากเดือนแปด หรือเดือนอาสาฬหะ ครับ  (ชื่ออีก ๑๑ เดือนมีอะไรบ้าง ค่อยเล่าให้ฟังนะครับ) [ถ้าเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ให้เปิดคำว่า "สาวนะ" เปิดคำว่า สาวน หรือ สาวนมาส ไม่เจอครับ]

ชุณหปักษ์ มีคำว่า ปักษ์ แปลว่า ข้าง หมายถึง ข้างขึ้นข้างแรม หรือ เดือนคว่ำเดือนหงายนั่นแหละ ชุณหะ แปลว่า ขาว หรือ สว่าง เพราะฉะนั้น นี่เป็นข้างขึ้น แน่ๆ, ข้างแรมท่านใช้คำว่า กาฬปักษ์ (เป็นบาลี ผสม สันสกฤต, กาฬ เป็นบาลี ส่วน ปักษ์ เป็น สันสกฤต) [พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ เปิดคำว่า ชุณหปักษ์ หรือ ชุณห, ถ้าเปิด ชุณหะ ไม่เจอ]

เอกาทสีดิถี มาจาก เอกาทสี แปลว่า วันที่สิบเอ็ด คือ สิบเอ็ดค่ำ นะครับ ส่วน ดิถี หมายถึงวันตามจันทรคติ

ยังไม่หมดครับ อดทนอีกนิด (บอกตัวเอง)

สุริยคติกาล ก็คือ ปฏิทินแบบนับตามดวงอาทิตย์

สิงหาคมมาส ง่ายๆ นะครับ สิงหาคม + มาส เดือนสิงหาคม นั่นเอง

จตุวีสติมสุรทิน โอ๋ย อะไรละเนี่ย.. จตุวีสติม (จะ-ตุ-วี-สะ-ติ-มะ) แปลว่า ที่ ๒๔ ครับ สุรทิน ก็คือ วันตามดวงอาทิตย์ ทั้งหมดนี้ แปลว่า วันที่ ๒๔ ตามปฏิทินที่เราใช้ธรรมดาๆ

ศุกรวาร วาร แปลว่า วัน, ดังนั้น ศุกร + วาร ก็คือ วันศุกร์

โดยกาลบริเฉท แปลว่า เป็นการอ้างวันเวลา, กาล คือเวลา บริเฉท คือ ส่วน หรือ การกำหนด

* เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีการบอก"ศก"แบบไทย  คือ จุลศักราช (กฎหมายเก่าบางครั้งก็ใช้มหาศักราช) ที่บางครั้งก็ใช้ศกเต็ม บางทีก็ใช้ศกย่อ คือ บอกแค่เลขท้าย (ตัวเีดียว)

 

ฉะนั้น ถ้าเจอรัฐธรรมนูญปีอื่นๆ เขาก็จะเปลี่ยนเฉพาะในวงเล็บ แบบนี้ครับ

จันทรคตินิยม  [สูกร]สมพัตสร   [สาวน]มาส   [ชุณห]ปักษ์   [เอกาทสี]ดิถี 

สุริยคติกาล  [สิงหาคม]มาส   [จตุวีสติม]สุรทิน   [ศุกร]วาร  โดยกาลบริเฉท

 

อันที่จริงการอ่านศัพท์บาลีนี้ไ่ม่สู้จะสำคัญนัก เพราะข้างบนก็มีวันเดือนปีแบบสุริยคติไว้แล้ว

ในภาษากฎหมายยังมีการอ้างเลขที่แบบภาษาบาลี ไว้ค่อยเล่าในโอกาสหน้านะครับ.

หมายเลขบันทึก: 431639เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2011 01:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

เคยอ่านเจอคำพวกนี้เช่นกัน เพราะต้องอ้างข้อความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังคิดว่าเขียนภาษาอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้เรื่องเลย และสงสัยว่าทำไมต้องใช้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาไทยด้วย

ตอนนี้ก็คิดเดาว่าอาจเพราะต้องการอนุรักษ์ภาษาบาลีสันสกฤตไว้ และภาษาทั้งสองนี้ก็เป็นภาษาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและความนิยมแล้ว

รออ่านต่อค่ะ


  • สวัสดีค่ะ อ.ธ.วัชชัย
  • ขอบคุณสำหรับความหมายของคำที่ยากมากในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
  • เป็นวิทยาทานจริงๆ ชื่นชมอาจารย์ที่แตกฉานภาษาบาลี - สันสกฤต

 

สวัสดีค่ะอาจารย์ธ.วัชชัย

*** ขออนุญาตนำข้อมูลไปสร้างสื่อการเรียนรู้ 

*** ขอบคุณข้อมูลดีๆ ที่นำเสนอค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท