รำลึกวันวาน โรงเรียนบ้านแห่


สามารถเรียนทันกันได้ เรียนแล้วเป็นคนดีมั้ย สามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและสังคมได้มั้ย นี่แลเป็นสิ่งที่จะต้องทำไว้ในใจ การศึกษาของคนเราทุกวันนี้เป็นการศึกษาที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ มีเฉพาะวิชชา แต่ขาดจรณะ มีความรู้ดี แต่ความประพฤติไม่ดี แต่คนที่ดีก็มีมากมาย

     อาตมาเองก็เป็นคนบ้านแห่ที่เคยได้เรียนประถมที่โรงเรียนบ้านแห่ ตอนนั้นมีอาจารย์จรูญ   เวชกามาเป็นอาจารย์ใหญ่    มีอาจารย์ประสาท   ทิวาพัฒน์   เป็นผู้ช่วยครูใหญ่    อาจารย์ที่จำชื่อได้   ก็มีอาจารย์ทองปาน   นาทันตอง   อาจารย์ทองมา   จำนามสกุลท่านไม่ได้   อาจารย์จันทร์   ผันอากาศ   อาจารย์เสถียร    บุญศรี   อาจารย์นวลจันทร์   อาจารย์อรจันทร์   อาจารย์ดรุณี   ศรีทอง   อาจารย์ยรรยง   จันทรา   อาจารย์อุรพงษ์   สิงห์ศรีโว    อาจารย์สมหมาย กลางท่าไคร้   อาจาย์นิตยา   อาจารย์ฉวีวรรณ   นิลผาย   อาจารย์ดวงใจ   อาจารย์ประสิทธิ์   สารเสวก    อาจารย์วีระศักดิ์   กลางบุรัมย์ และก็คุณโยมชัชวาล จังพล

 

     ในตอนที่เรียนก็คุ้นเคยกับอาจารย์หลายท่านอยู่   แต่มาบัดนี้ท่านเหล่านั้นก็ย้ายไปบ้าง   เกษียณไปบ้างตามธรรมดา    แต่เมื่อพบเจอท่าน   บางท่านก็จำได้   บางท่านก็จำไม่ได้   ส่วนมากท่านจำลูกศิษย์ไม่ค่อยได้    แต่ลูกศิษย์จำท่านได้   ในช่วงที่เรียนอาตมาเองก็เป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก   เป็นคนที่ชอบอาย   แต่ก็ยังได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าห้อง   ในเวลาที่สอบก็สอบได้ที่  ๑   ที่สองกับเขาอยู่    วิชาที่ไม่ชอบก็คือการฟ้อนรำ   นาฏศิลป์   ร้องเพลง   รู้สึกไม่ค่อยจะถุกกับจริตเท่าไร   แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ 

 

     ทุกวันนี้ที่โรงเรียนก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว   ผู้บริหารก็ผ่านมาแล้วหลายท่าน   แต่คุณครูเก่าๆ   บางท่านก็ยังสอนอยู่   ไม่ได้จากไปไหน   พูดถึงเรื่องการบวช   ตอนนั้นอาตมาเรียนจบชั้น   ป. ๖   แล้ว   ก็เลยบวชเณรภาคฤดูร้อน   แล้วไม่สึก   ก็เลยไปขออนุญาตอาจารย์ใหญ่   อาจารย์จรูญ   ท่านเองก็ไม่อยากให้บวช   กลัวว่าจะสึกมากลางครัน   แล้วการเรียนจะเสีย   จะเรียนไม่ทันเพื่อน   หรือไม่ได้เรียนเลย   นั่นก็เป็นคำแนะนำด้วยหวังดีของท่านในขณะนั้น    แต่อาตมาก็บวชมาถึงจนบัดนี้ก็หลายปีพอสมควรอยู่    เรื่องการเรียนการศึกษาก็จบปริญญาตรีตั้งแต่ปี   ๔๙   ทางธรรมก็ได้เป็นมหาเปรียญ   มีความรู้เรื่องบาลี อ่านออก   แปลได้   รู้จักประโยคประธาน  กริยา   ตอนนี้ก็ยังอยู่ในวังวนของการศึกษา

 

     เรื่องการศึกษานี้ก็ไม่ได้อวดอ้าง   แต่ก็ให้เป็นเป็นทิฏฐานุคติ   ว่าการบวชเรียน   ไม่ได้เรียนแค่ทางธรรมอย่างเดียว   ทางโลกก็ได้เรียน   ได้ประพฤติปฏิบัติฝึกหัดจิตใจตนเอง   ให้รู้ดีรู้ชั่ว   ถ้าอาจารย์ท่านรู้ว่าอาตมายังบวชอยู่   และยังเรียนอยู่ท่านคงจะดีใจ   และภูมิใจ เรื่องการบวชนี้อาตมาชอบมาตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว    ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าบวชแล้วจะได้เรียน   ตอนเป็นเด็กคิดแต่เพียงว่า   อยากบวช   เห็นภาพพระเป็นภาพที่ถูกใจ   ต่อมาก็ได้บวชจริง  ๆ    สมใจอยาก   บวชมาแล้วก็เห็นคุณค่าของพระศาสนา   เห็นคุณค่าของการบวช   เห็นคุณค่าของธรรม   เห็นคุณค่าของการเรียน   เรื่องการเรียน   เราไม่ควรจะอวดอ้างว่า   เรียนโรงเรียนดัง   โรงเรียนดี   เรียนจบสูงๆ

 

     เพราะเรื่องการเรียนการศึกษา   สามารถเรียนทันกันได้   เรียนแล้วเป็นคนดีมั้ย   สามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและสังคมได้มั้ย   นี่แลเป็นสิ่งที่จะต้องทำไว้ในใจ    การศึกษาของคนเราทุกวันนี้เป็นการศึกษาที่ไม่ค่อยสมบูรณ์   มีเฉพาะวิชชา   แต่ขาดจรณะ    มีความรู้ดี แต่ความประพฤติไม่ดี   แต่คนที่ดีก็มีมากมาย   ครูก็สอนให้นักเรียนๆเก่ง  ๆ   แต่คนเก่งเหล่านั้น   กลายมาเป็นคนเห็นแก่ตัวในที่สุด    การแข่งขันนั้นเป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าอยู่บนพื้นฐานของความมีน้ำใจ    

    

     "ที่ว่าการศึกษาสมบูรณ์นั้น   มิได้หมายถึงการศึกษาสูงอย่างเดียว   แต่หมายถึงความรู้และความประพฤติดีจะต้องควบคู่กันไป   คนที่มีความรู้ดี ความรู้สูง   แต่ขาดความประพฤติดีก็เหมือนไม้ที่สูง   แต่หาใบมิได้ ไม่ร่มเย็น   ให้ความสุขแก่ใครไม่ได้   ส่วนผู้มีความประพฤติดี   แต่ขาดความรู้   เป็นเหมือนไม้ที่มีใบมาก   แต่ต้นเล็กเกินไป   เตี้ยเกินไป พอคุ้มครองรักษาตัวได้   แต่เป็นที่พึ่งอาศัยแก่ใครไม่ได้   เพราะฉะนั้น   ต้องทำตนให้เป็นเหมือน  ไม้ที่มีลำต้นสูงใหญ่ใบหนา สะพรั่งด้วยดอกด้วยผล   เมื่อเป็นดังนี้    นอกจากจะมีความร่มเย็นในตัวแล้ว   ยังเป็นที่พึ่งให้ความร่มเย็นแก่ผู้อื่นได้ด้วย  บุคคลจะเป็นดังนั้นได้   ก็ต้องอาศัยการศึกษาอันสมบูรณ์    คือต้องศึกษาทั้งคดีโลกและคดีธรรม   การศึกษาทางคดีโลกก็เพื่อตั้งตัวไว้ในทางโลก    แสวงหาทรัพย์โดยทางที่ชอบธรรมมาเลี้ยงชีวิต แสวงหาทรัพย์ภายในมาหล่อเลี้ยงจิตใจ   ทั้งสองอย่างนี้จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้"

 

   เพราะฉะนั้นคุณครูก็ดี   พ่อแม่ก็ดี   เมื่อลูกศิษย์   หรือลูกของตนเอง   มีความศรัทธาอยากจะบวชเรียนในพระพุทธศาสนา   อย่าได้ไปห้ามปรามเลย   ต้องให้คำแนะนำในทางที่ดี   ครูทุกวันนี้ไม่อยากให้นักเรียนย้ายไปเรียนที่อื่น   ไม่อยากให้นักเรียนบวช   เพราะอะไร เพราะว่าจำนวนนักเรียนจะลดลง   เมื่อจำนวนนักเรียนลดลง   จากการที่เคยเป็นโรงเรียนระดับใหญ่ก็จะกลายมาเป็นโรงเรียนขนาดกลาง   และขนาดเล็กในที่สุด    เรื่องขนาดของโรงเรียนนี้ก็มีส่วนเนื่องด้วยงบประมาณสนับสนุนจากทางรัฐบาลเช่นกัน   เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เลยแนะนำนักเรียนว่าอย่าไปบวชเรียนเลย   บวชไปก็งั้น  ๆ   แหละ ไม่มีอนาคต   มองการบวชในทางที่ไม่ดี   ที่จริงก็น่าจะให้คำแนะนำเขาในทางที่ดี   ว่า   การบวชลำบากนะ   ต้องอยู่ในกฎระเบียบของพระธรรมวินัย   ไม่ได้กินอาหารค่ำ   ต้องอดต้องทน   งดเว้นในเรื่องราวของฆราวาส   หรือถ้าจะบวชจริง  ๆ    ก็ขออนุโมทนา   เรียนที่ไหนก็ดีเหมือนกันนั่นแหละ   ขอเพียงเราตั้งใจจริง   ขยัน   อดทน   ยิ่งบวชเรียนยิ่งได้ศึกษาธรรมะ    และได้ประพฤติปฏิบัติฝึกหัดจิตใจให้เป็นคนดี    แม้บวชแล้วไม่สึกก็เป็นศรีของพระศาสนา   สึกออกมาก็เป็นฆราวาส   เป็นคนดีมีศีลธรรมของสังคมต่อไป

 

     แต่ครูบางท่านไม่ได้แนะนำแบบนี้   อนิจจาครูไทยบางท่าน   อนาคตเด็กไทยในมือครูจริง  ๆ    เรื่องที่เขียนนี้ก็เป็นการรำลึกถึงพระคุณของคุณครูที่ท่านได้อบรมสอนสั่ง   จากการอ่านไม่ออก เขียนไม่เป็น    ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี   อ่านออก   เขียนเป็น   คิดเป็น   จึงฝากบันทึกนี้มาบูชาครู   แต่ก็มีบางอย่างที่เป็นข้อคิดสำหรับครูเหมือนกัน   ต้องมองอะไรด้วยใจที่เป็นกลาง   ไม่มีอคติ แล้วท่านจะเป็นครูที่น่ารัก   น่าเคารพ   นับถือ ....   ปาฐกถาธรรม    “ เรื่องครูคือใครทำไมจึงสำคัญนัก”    ของพระปลัดนอบ   รักขิตตสีโล  เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก    เหมาะสำหรับครูและศิษย์...

หมายเลขบันทึก: 431584เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2011 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
อยู่เพื่องานสานสุขเพื่อทุกผู้        มีเพื่อให้ความรู้มิหวงแหน
กินพอประทังยังชีพมิข้นแค้น     ทำเพื่อแทนทดมอบตอบถิ่นไทย
ชีวิตใครใครเขาก็เท่านี้                มามอบเอื้ออารีดีกว่าไหม
เมื่อเรามีมอบฝากจากจริงใจ        โลกหนึ่งใบก็งดงามยามแบ่งปัน

 

                                         (คุณครูภาทิพ)

               อินทรวิเชียรฉันท์ชื่อเล็บนาง

 

    ๏   พี่บอกจะขอยล            นฤมลนขาเชย

สั่นเทิ้มมิคุ้นเลย                    อุระไหวระส่ำกาย

   ๏   ลูบไล้ ณ นิ้วนวล           กลชวนภิรมย์หมาย

สัมผัส มิเสียดาย                   ดรุณีสิลืมตน

   ๏   ล่วงกาลมินานนัก          นขลักษณ์ก็ฝากผล

ชายชัง ก็ล่องหน                  นฤมลก็หมองมัว

  ๏   เล็บนาง ก็กางร่าย          สติชายสะพรึงกลัว

เล็บนาง สะกิดทั่ว                  ปริรอยประทับตรา

 

                                         หมูอ้วน - 30/01/2002 14:27

                                         (คุณครูภาทิพ)

 

                     ร้อยกรองครูฝากไว้            เป็นหลักฐาน

               หาใช่กล่าวเกินการณ์               แน่แท้

               สังเกตจากผลงาน                   ครูแต่ง

              ภาทิพครูเลิศแล้                       เสกสร้างคำโคลง

 

                                                         "...พระมหาอ้อม..."

                                                        ๔   มีนาคม ๒๕๕๔

 

ภาทิพ (ความเห็นล่าสุด)
05 มกราคม 2554 20:43
#2319380

                             ความรู้ครูฝากไว้            เตรียมการ

                วันที่หมดวิญญาณ                      อยู่ได้

                กายดับแต่ผลงาน                       งามงอก  เงยนา  

                ครูแก่แลเจ็บไข้                          เข็ดคู้สารพัน

มากราบนมัสการพระคุณเจ้าขอรับ

เพิ่งจะกลับมาจากการสัมมนาที่ กทม. นะครับ

เจริญพรอาจารย์ ผศ.โสภณ เปียสนิท จากราชมงคลรัตนโกสินทร์วังไกลกังวลประจวบคีรีขันธ์ ขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์ที่มาเยี่ยม ขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาในการให้ความรู้เป็นวิทยาทานครับ..

ได้เติบโตเรียนรู้คู่โลกกว้าง            ได้ตัวอย่างมากมายหลายวิถี
ได้ปรับตัวมิตรรับซับไมตรี                 ได้รู้รสบทกวีอิ่มเอมใจ
ได้อิ่มเอิบเคลิบเคลิ้มในคราเหงา       ได้พ้นเขลาหม่นหมองเป็นผ่องใส
ได้ปัญญาพารอดและปลอดภัย         ได้นิสัยดีงามตามปรัชญา
ได้ท่องเที่ยวทุกทิศานผ่านอักษร       ได้รู้ผ่อนสู้รับกับปัญหา
ได้เลี้ยงชีพครอบครัวเนิ่นนานมา       ได้พัฒนาศิษย์แกร่งรู้แบ่งปัน     

สองมือแม่

            สองมือแม่นี้ที่เหี่ยวย่น                ผ่านเลี้ยงลูกหลายคนจนสมหวัง

ทั้งโอบอุ้มกอดเกี่ยวเหนี่ยวรั้ง                  ปลุกปลอบปึงปังมาเนิ่นนาน

หว่านข้าวทำนาท้าแดดฝน                       เหงื่อไหลท่วมท้นบนสังขาร

ตำข้าวผ่าฟืนฝืนทรมาน                          สองมือแม่ผ่านจนด้านชา

หาบหามหิ้วหอบกอบเก็บ                         สองมือแม่เจ็บมิบ่นว่า

หวังเวียนเปลี่ยนเห็นเป็นเงินตรา                แลกหาอาหารผ่านลูกตน

            สองมือแม่นี้ที่เหี่ยวแห้ง                เคยมากเรี่ยวมากแรงแต่งพืชผล

ทำสวนไร่นามามากล้น                             มิเคยทำนาบนหลังคนสักครั้งเดียว

ทำนาทำไร่และทำสวน                              ทำมาจนจวนหมดแรงเรี่ยว

คำยากจนข้นแค้นแน่นนักเทียว                  เกาะเกี่ยวมือแม่เกินแก้คลาย

            สองมือแม่นี้ที่สร้างลูก                   ชี้ทางที่ถูกก่อนลูกสาย

ชี้นั่นชี้โน่นอยู่วุ่นวาย                                หวังลูกสุขสบายมิหลงทาง

"การศึกษาก็ไม่มีแม่นี้น่ะ"                          แม่หรือจะชี้ชัดลูกขัดขวาง

"อาบน้ำร้อนก่อนเจ้านะนวลนาง"                ลูกจึงวางไว้ใจในสองมือ

            สองมือแม่กรำแดดแปดสิบห้า         ความชะแร่แก่ชรามายึดถือ

ความเชื่องช้าล้าเมื่อยเฉื่อยฉุดยื้อ               แพ้ความดื้อแข็งแกร่งแรงใจเธอ

ตื่นหุงข้าวใส่บาตรไม่ขาดพร่อง                   ร่วมฉลองงานบุญวุ่นเสมอ

ผักสวนครัวหลายหลากมากจริงเออ!            ความสุขเอ่อแม่มากภาคภูมิใจ

นี่ดอกแคนั่นคะน้าแม่หาฝาก                 เงาะหวานกรอบมากมากฝากเพื่อนไหม

ถั่วฝักยาวพริกแดงลูกแบ่งไป                      กล้วยหอมทองผลใหญ่แม่ยกมา

            สองมือแม่นี้ที่เหี่ยวย่น                  รอลูกลูกทุกคนกลับมาหา

มิต้องหรอกดอกมะลิมีราคา                   เพียงลูกคว้า "สองมือแม่"แหมชื่นทรวง

 

                                      ผลงานคุณครู (ภาทิพ)

P

21. ภาทิพ
เมื่อ ส. 08 ส.ค. 2552 @ 11:23
1462631 [ลบ] [แจ้งลบ]

   สองมือของแม่นี้                ซูบผอม    นักเฮย

ลูกอิ่มแม่จำยอม                   อดได้

ลูกทุกข์แม่ทุกข์ตรอม            เกินกว่า    นุชนา

ยามแม่นุชเจ็บไข้                 ลูกเจ้าอยู่ไหน

Ico48

        พระมหาส่งข้อ        คำพร

  วันอมาวสีจร                 จับฟ้า

  ขอความสุขแรมรอน       มาสู่  เร็วเฮย

  ปัดเป่าทุกข์ถมข้า          หลบเร้นลับสูญฯ

      พลุเอ๋ยพลุสี                     สารเคมีปรุงแต่งเกิดแสงฉาย

จุดจากดินเหินฟ้าดาราราย         เปล่งประกายแตกซ่านผ่านสายตา

ขอชีวิตอย่าเป็นเช่นดังพลุ         เพียงประทุให้เห็นเร้นให้หา

เพียงช่วงเสี้ยววินาทีแล้วลี้ลา     หากชีวาเหมือพลุสีมิดีเอย

 

เมื่อ พฤ. 31 ธ.ค. 2552 @ 22:39   คุณครู (ภาทิพ)

นมัสการค่ะ

  •        เพิ่งเข้ามาเห็นบันทึกนี้   มีลีลาการเขียนเหมือนการเทศนา    ฝีมือพระคุณเจ้าพัฒนาไปเยอะมาก 
  • แต่ก็แปลกใจที่นำผลงานครูภาทิพมามากมาย  ถ้าไม่ระบุชื่อก็จำไม่ได้แล้วเป็นผลงานของตัวเอง 
  • พระคุณเจ้ามีความแม่นยำเรื่องครุ ลหุ มาก   น่าจะเปิดบันทึกนำเสนอผลงานการแต่งฉันท์ล้วน ๆ สักบันทึกนะคะ
  • ครูภาทิพได้ปรับปรุงแผนผังจนสวยงามไประดับหนึ่งแล้ว
  • งานศพโยมแม่รำไพของพระคุณเจ้า คงผ่านไปด้วยดีนะคะ  เข้ามาเผื่อจะเห็นบันทึกเกี่ยวกับการศพ แตไม่เห็นเปิดบันทึก
  • คงจะทำใจยอมรับกับธรรมดาโลกได้แล้วนะคะ

 

                         เตสํ มจฺจุปเรตานํ        คจฺฉตํ  ปรโลกโต

                         น ปิตา ตายเต  ปุตฺตํ   ญาตี วา ปน ญาตเก

        เมื่อสัตว์เหล่านั้นถูกความตายครอบงำแล้ว ต้องไปปรโลก บิดาจะป้องกันบุตรไว้ไม่ได้ หรือพวกญาติจะป้องกันพวกญาติไว้ก็ไม่ได้

 

        ความเอ๋ยความตาย              ย่อมพลัดพรายหายลับด้วยดับขันธ์

แม้นมือพ่อแม่ลูกที่ผูกพัน              มิอาจกั้นหาญห้ามยามถึงกาล

 ปรโลกคือที่หมายปลายชีวิต         ทุกดวงจิตมิอาจขอหรือต่อต้าน

ธรรมชาติธรรมดามาเนิ่นนาน          ทุกสังขารมิอาจห้ามความตายเอย.

 

    

ขอขอบพระคุณคุณครู เมื่อวานได้ฝากพุทธพจน์เกี่ยวกับมรณานุสติ ที่อ้างจากสัลลสูตร ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ขุททกนิกาย สุตตนิบาต พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ เป็นพระสูตรที่ให้ผู้ศึกษาพิจารณาความจริงของชีวิต จะทำให้ปลงตก และบรรเทาความเศร้าโศกจากการพลัดพรากจากคนที่ตนรัก,  ไว้ให้คุณครู แต่คุณครูก็นำดอกสร้อยมาส่งในที่นี้ งานร้อยกรองของคุณครู นำมาไว้เพื่อเป็นต้นแบบ เป็นแนวทางในการฝึกแต่ง เป็นประโยชน์อย่างมาก  เรื่องครุ-ลหุ  สิถิล-ธนิต โฆสะ-อโฆสะ ผู้เรียนบาลีมีความชัดเจนอยู่ งานศพโยมแม่ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ญาติโยมให้ความช่วยเหลือด้วยดี จนรู้สึกว่าเป็นหนี้ท่านเหล่านั้น ขออนุโมทนาขอบคุณท่านเหล่านั้นไว้ในที่นี้ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท