beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

เรื่องเล่า "วิชาชีวิต"<๓> สมุดแห่งการเรียนรู้ ปฐมบทของการเรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเอง


มีวิธีการสร้างแรงจูงใจหรือแรงบันดาลใจอย่างไร ให้นิสิตเขียนสมุดได้เกิน 64 หน้า

    วิชา "การเลี้ยงผึ้ง" หรือ Apiculture เป็นวิชาเลือกเอกของนิสิตชีววิทยา และเป็นวิชาเลือกเสรีของนิสิตคณะวิทยาศาสตร์

   ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ผู้ที่มาลงทะเบียนเรียนวิชานี้ ซึ่งเปิดปีละ ๒ ภาค (ต้น/ปลาย) จะทราบก่อนล่วงหน้า (จากการถามผู้ที่ลงเรียนก่อนหน้านี้) ว่า อาจารย์ beeman จะบังคับให้เขียน "สมุดแห่งการเรียนรู้" พัฒนามาเรื่อยๆ จนต้องเขียนอย่างน้อย (minimum) 64 หน้า

   นิสิตที่มาเรียน ส่วนมากไม่มีใครเชื่อว่า ตัวเองจะเขียนสมุดแห่งการเีรียนรู้ได้เกิน 64 หน้า ส่วนมากจะนึกว่า "ข้าน้อยจะเขียนได้หรือ ตั้ง 64 หน้าแน่ะ"

    แต่สุดท้ายแล้ว สถิติล่าสุด (ภาค 2/2553) มีนิสิตลงทะเบียนเรียน 12 คน (สุดท้ายเหลือ 11 คน) เขียนสมุดแห่งการเรียนรู้ได้ เกิน 100 หน้า..จำนวน 7 คน เรียงตามลำดับได้ดังนี้ คือ 141,127,117,115,113,107,106 หน้า

   อีก ๔ คน เขียนได้น้อยกว่า ๑๐๐ หน้า แต่ก็เกิน ๖๔ หน้าทุกคน เรียงลำดับดังนี้ คือ 93,91,87 และ 69 หน้า

   ...เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าจะมีคำถามว่า "มีวิธีการที่จะสร้างแรงจูงใจ หรือแรงบันดาลใจอย่างไร ให้นิสิตเขียนสมุดได้เกิน 64 หน้า ในช่วงเวลา ๔ เดือน หรือ ๑๕ ครั้งต่อสัปดาห์"..ก็จะดีมาก

   แต่ถ้าจะตั้งคำถามว่า "ที่ให้เขียนสมุดแห่งการเรียนรู้นี้ เขียนไปทำไม หรือมีจุดประสงค์อย่างไร" ก็ไม่ว่ากัน

    ถ้าอ่านต่อไป คงมีคำตอบทั้ง ๒ คำถามซ่อนอยู่

     การที่ให้นิสิตวิทยาศาสตร์เขียน "สมุดแห่งการเรียนรู้" นี้ นับว่าเป็นการเรียนการสอนที่ออกจะแปลกประหลาดในสายตาของนิสิตทั้งหลาย และที่คณะวิทยาศาสตร์ มน.นี่คงมี อาจารย์ beeman คนเดียวที่ทำแบบนี้

    ขอเล่าเรื่องที่มาที่ไปของสมุดแห่งการเีรียนรู้นี้ ก่อนนะครับ คือ ช่วงภาคฤดูร้อนปี 2546 ผมได้ไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาค่าย "เรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้างชุมชน" ที่อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ร่วมกับอาจารย์อีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์ลือธวุฒิ บานเย็น (หากใครอ่าน วารสาร "หมอชาวบ้าน" ยุคแรกๆ ช่วงปี 2530 ต้องรู้จักเขาแน่ๆ)

   นิสิตแต่ละค่าย จะมี 40 คน แบ่งนิสิตตามกลุ่มกิจกรรม 8 กลุ่มด้วยกัน ในแต่ละกิจกรรมจะมีนิสิตอยู่ในกลุ่ม ๕ คน ด้วยกัน

   นิสิตแต่ละคนจะมีสมุดบันทึกการทำกิจกรรมสีม่วงคนละ 1 เล่ม...ที่ค่ายอื่นๆ นิสิตไม่ค่อยได้เขียนสมุดเล่มนี้ เขียนเฉพาะวันแรกๆ..เป็นเพราะไม่มีคนตรวจนั่นเอง

   แต่ที่ค่ายทับคล้อ เรา คือ อ.ลือธวุฒิ และ อ.บีแมน จะช่วยกันตรวจ คนละครึ่ง..ตอนแรกๆ มีนิสิตส่งประมาณ ๒๐ เล่ม แต่พอเรา ๒ คนช่วยกันตรวจและเขียน comment ลงไป..นิสิตส่งเพิ่มขึ้น จนถึง ๓๘ เล่ม (มี ๒ คนไม่ยอมส่ง)

   เราอาศัยข้อมูลที่นิสิตเขียนมานี้ ในการวางแผนออกไปเยี่ยมชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้ความรู้ของชุมชน...

   สรุปว่า อ.ที่ปรึกษา ๒ คน นั่งตรวจสมุดอยู่ที่ค่าย ก็สามารถเรียนรู้การทำงานของนิสิตทั้งค่ายได้ แถมได้ความรู้จากการไปเรียนรู้ของนิสิตด้วย...และต่อๆ มา เนื้อที่ที่เว้นให้นิสิตเขียนก็เริ่มไม่พอ เพราะนิสิตเขียนมากขึ้นนั่นเอง

   ผมคิดว่าสมุดแห่งการเรียนรู้นี้ มันช่วยพัฒนาทักษะการเขียนของนิสิต และฝึกให้นิสิตฝึกถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองรู้ให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย..

   จุดอ่อนของคนไทยอย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยจะบันทึกความรู้ และความรู้จากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมา ก็สูญไปพร้อมกับการตายของเจ้าของความรู้นั่นเอง

  เมื่อเปิดเทอมปีการศึกษา 2546 ผมก็ได้ไอเดีย..จากค่ายเรียนรู้ร่วมกันฯ แจกสมุดหนา 20 แผ่นให้นิสิตเขียนความรู้ที่ได้จากการสอนของผม ซึ่งปีแรกๆ นิสิตเขียนได้ไม่มากนัก ต่อมาก็มีการพัฒนาการเขียนเพิ่มขึ้นไปในแต่ละรุ่น

  ผมพัฒนาการเรียนรู้ของนิสิต (และตัวเอง) ไปเรื่อยๆ จน KM เข้ามา และต่อมามี blog ผมก็สอนให้นิสิตเขียน blog แทนการเขียนในสมุด...แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เลยย้อนกลับมาพัฒนาการเขียนสมุดอีกครั้ง จนพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

   ปี 2552 ได้สนทนากับอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มน. ที่สอนเรื่องจิตตปัญญาศึกษา ทำให้ผมทราบว่า "การเขียน" ที่ผมให้นิสิตเขียนลงใน "สมุดแห่งการเรียนรู้" นั้น เขาเรียกกันว่า "การเขียน Journal"

   การเขียน Journal ต่างกับการเขียน Diary ตรงที่เป็นการเขียนบันทึกเรื่องราวเฉพาะเรื่อง ตามที่กำหนด

   คำถาม ที่ใช้ได้ในทุกคาบการสอน คือ "นิสิตได้เรียนรู้อะไรบ้างในวันนี้" เน้นให้นิสิต Capture หรือจับประเด็นความรู้ที่ได้ในแต่ละครั้ง ในส่วนที่ตัวเองชอบหรือประทับใจ และหาความรู้มาต่อยอดความรู้นั้นๆ

   สำหรับจุดประสงค์ ที่ให้นิสิตเขียน สมุดแห่งการเรียนรู้ คือ

  1. เพื่อที่ผู้สอนจะได้รู้จักนิสิตแต่ละคน และความเป็นตัวตนของเขาและเธอ
  2. นิสิตแต่ละคนจะเข้าใจตนเองมากขึ้น ด้วยการวิเคราะห์ตัวเองจากงานเขียน..

    ลองอ่านสมุดบันทึกของนิสิตคนหนึ่ง (สกุลนุช แก้วเทพ) ที่เขียนความรู้สึกเกี่ยวกับ สมุด Journal ซึ่งผมคัดมาดังนี้ (หน้า 89).... "วิชาผึ้งมีงานเยอะ อีกทั้งต้องเขียน Journal ด้วย ซึ่งต้องใช้ความสม่ำเสมอในการเขียน ตอนแรกก็แอบคิดอยู่ว่าจะเขียนได้ 64 หน้าหรือเปล่า เพราะเป็นคนที่เขียนไม่ค่อยเก่ง อารัมภบลไม่ค่อยเป็น  แต่พอเขียนจริงๆ เขียนมาเรื่อยๆ จนเกิน 64 หน้าไม่รู้ตัว"

    ณัฐดนัย สว่างเรืองฤทธิ์ เขียนความรู้สึกเกี่ยวกับ Journal ตอนหนึ่งว่า "สมุดบันทึกเล่มนี้ ทำให้เรามีความรับผิดชอบต่อการส่งสมุด ถึงแม้ว่าเราจะมีงานมากเท่าไร แต่ถ้าเรารู้จักแบ่งเวลา มีความรับผิดชอบที่จะทำ เราก็จะส่งสมุดทัน"

   คือ ผมจะนัดให้นิสิตส่งสมุดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เช่น เทอมนี้นิสิตเรียนวิชาการเลี้ยงผึ้งวันอังคารและพฤหัสบดี ผมจะให้นิสิตส่งสมุดในวันศุกร์ตอนเย็นๆ เขียนได้สัปดาห์ละ 5-7 หน้า ส่งทั้งหมด 15 สัปดาห์

    มาอ่านความรู้สึกที่มีต่อการเขียน Journal ของ ปณิตา เผ่ากันทะ ตอนหนึ่งเขียนว่า " เมื่อเริ่มมาเรียน ฉันรู้สึกว่า Journal มันจะมีประโยชน์จริงๆ หรือ หลังจากที่เรียนและได้เขียนมันในทุำกๆ สัปดาห์ ก็ได้พบว่ามันมีประโยชน์อย่างมาก  ในทางตรง มันทำให้ฉันตั้งใจเรียน ตั้งใจจด จดจ่อกับสิ่งที่อาจารย์สอน และฉันต้องเอาสิ่งที่จดกลับมานั่งอ่าน นั่งทบทวนกับสิ่งที่จด และสกัดมันนำมาเขียน Journal เล่มนี้ ในทางอ้อม ฉันได้แนวคิดใหม่ๆ จาก Journal เล่มนี้ และได้ฝึกฝนทักษะการเขียน.......หากในอนาคตทุกๆ วิชาต้องมีการเขียน Journal พวกเราซึ่งผ่านการเขียนมาแล้วคงจะไม่หนักใจและคงรู้สึกว่าเป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องธรรมดา"

   ผมคิดว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่ทำให้ นิสิตเขียนสมุด Journal ได้เกิน 64 หน้าทุกคน น่าจะเป็นเรื่องของ

  1. ความตั้งใจอ่าน Journal ของนิสิตทุกคน อ่านทุกตัวอักษร ซึ่งนิสิตทราบได้ เพราะหากคำใดเขียนผิด หรือเข้าใจผิดผมก็จะแก้ไขให้
  2. อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องของการ Comment.. เมื่อผมเอาสมุดมาแจกคืนให้ทีละคน เพื่อจดจำชื่อของนิสิตแต่ละคน เมื่อนิสิตได้สมุดคืน ก็จะเปิดอ่าน comment และบางครั้งก็แลกกันอ่าน..ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นแรงจูงใจให้นิสิตเขียนต่อ..ซึ่งหากใครเอาไปใช้บ้างผมก็ไม่ว่าครับ

   การเขียน Journal (รวมทั้งวิธีสอนด้วย) ทำให้นิสิตเข้าใจตนเองมากขึ้น...ลองอ่านบันทึกของ ปณิตา (แนน) ซึ่งเขียนว่า " ฉันเข้าใจตัวเองมากขึ้น ไม่มากก็น้อย เพราะฉันรู้สึกตัวเองหลังจากที่ได้เรียนวิชานี้แล้ว อยากกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เริ่มมองเห็นความเป็นจริงที่ว่า การขายนาส่งลูกไปเรียน กับ การเก็บนาเอาไว้และสอนให้ลูกรู้จักทำมาหากิน สิ่งไหนถูกต้องกว่ากัน หากเป็นเมื่อก่อนก็ไม่ได้ฉุกคิด รู้สึกไปตามกระแสสังคมว่า การเรียน คือสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ตอนนี้ก็ได้กลับมาคิดอย่างจริงจัง และได้พบว่าการขายนาส่งลูกเรียนเป็นการให้ความรู้แก่ลูก แต่ไม่ได้ให้แนวทางในการทำมาหากิน...."

    บันทึกนี้ขอจบเพียงเท่านี้ครับ รู้สึกว่าจะไม่ค่อยโดนใจผู้อ่านสักเท่าไหร่..อิอิ

หมายเลขบันทึก: 429546เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"บันทึกนี้โดนใจคนเป็นครูค่ะ  ชอบ  เห็นด้วย   และสนับสนุนการอ่านการเขียนทุกระดับอายุค่ะ"

  • ต้องขอขอบคุณ คุณครูอำพร ยอดนักเขียนนักอ่านครับ ที่แวะมาให้กำลังใจครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท