ห้องเรียน : จุดแตกหักของคุณภาพการศึกษา


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          

            

             รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2  หลังจากที่ได้ประเมินการศึกษาทั้งระบบแล้วพบว่ามีหลายอย่างที่ต้องเน้นหรือพัฒนาและขับเคลื่อนโดยใช้ปัจจัยต่างๆ และที่สำคัญต้องอาศัยจากทุกภาคส่วนให้การศึกษาของชาติมีการพัฒนาไปตามกระแสสังคมและกระแสของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  และเป็นที่น่าชื่นชมที่นักการศึกษาต่างขานรับและเร่งกำหนดยุทธศาสตร์ และแนวทางเพื่อให้การศึกษาของชาติมีคุณภาพตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้

           จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดวิกฤติทางการศึกษา ทั้งในด้านคุณภาพการศึกษาตกต่ำ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  การหยุดเรียน รวมทั้งโรงเรียนที่เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ถูกเผาทำลาย ตั้งแต่ระฆังแห่งความโหดร้ายได้ดังขึ้นเมื่อ  4 มกราคม  2547  เป็นต้นมา และดูร่องรอยและแนวโน้มของเหตุการณ์ไม่อาจจางหายไปจากพื้นที่หรือความรู้สึกที่หลายคนพยายามปลอบใจตัวเองว่า “เหตุการณ์ดีขึ้น”แล้วก็ตาม  รวมทั้งงบประมาณ บุคลากร และน้ำใจจากเอกชนและภาครัฐที่ได้จัดสรรมาให้ เพื่อเป็นการลดช่องว่างแล้วก็ตาม  แต่เรื่องคุณภาพก็เป็น”ปัญหา”หนึ่งที่ทุกคนร่วมกันแก้ไขและหานวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาช่วย

            แนวคิดเรื่อง “เขย่าห้องเรียน” คือจุดแตกหักของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ ที่ได้หยิบยกกันมาวิพากษ์ในวงสนทนาและดูแล้วอาจจะโดนใจหรือโดนต้นตอของปัญหาก็เป็นได้

          วันนี้ ผู้บริหารและคุณครูยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลง และตั้งข้อสังเกตง่ายๆว่า

           1) นโยบายรัฐบาลหรือหน่วยงานที่กำหนดมาดี แต่กว่าจะสานต่อถึงสถานศึกษา ครูและนักเรียน อาจแผ่วลง แก้ไม่ถึงแก่นแท้ของปัญหา  เป็นเพราะการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ขาดการสื่อสารที่ดี ขาดการติดตามผล และข้อเท็จจริงที่ได้ไม่ใช่ข้อสรุปที่ตรงกับสภาพจริงทุกอย่าง

           2) งบประมาณ ที่จัดสรรลงมาเพื่อจัดการศึกษามากกว่าในอดีต งบเรียนฟรี รายหัว นักเรียนยากจน  นม อาหารกลางวัน  ไม่เคยได้รับมากเท่ากับการได้รับมาในทศวรรษนี้  แต่ขาดการจัดการที่ดีในบางโรงเรียน  งบถูกใช้ไปในทางที่ไม่ตรงกับปัญหาที่สังคมต้องการ แต่ถูกใช้ตามสภาพของพื้นที่ โรงเรียนและลักษณะการบริหารแต่ละโรง  ซึ่งไม่มีใครบอกว่าถูกหรือผิด

          3) บุคลากรมีจำนวนเพียงพอ ความขาดแคลนที่เคยอ้างในอดีต “ครูไม่พอ”เริ่มจะไม่พูดถึง แต่จะอ้างว่าบุคลากรมีมากแต่ขาดการพัฒนาหรือไม่ตรงตามวุฒิ  ทั้งๆที่ให้อำนาจในการสรรหาเอง โรงเรียนมีข้อจำกัดในเรื่อง การสรรหาและจ้างบุคลากร เพราะมีปัจจัยเข้ามาหลายประการ  บางครั้งต้องจ้างครูไม่ตรงวุฒิเพราะพยายามแก้ปัญหาด้านความมั่นคงของโรงเรียนและผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย

          4) ความเป็นนิติบุคคล  มีการกระจายอำนาจมาทั่วถึง พร้อมกันทั่วประเทศ  ผู้ที่พร้อมก็บริหารได้ดีมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ไม่พร้อมก็ไม่กล้าตัดสินใจหรือกล้าจนไม่ต้องดูระเบียบกฎหมาย สุดท้ายก็ต้องแก้ปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงิน           การบริหารงบประมาณมากกว่าที่มาเร่งคุณภาพ

          5) สถานศึกษาให้ความสำคัญกับการสอบวัดคุณภาพ  O-Net , NT, LAS  หรือการประเมิน สมศ. ที่เป็นตัวสุดท้ายของทุกเรื่อง  มากกว่าการให้ความสำคัญของการสอน ว่าได้สอนเต็มที่ เต็มเวลา เต็มหลักสูตร หรือไม่ และเข้มงวดกับการประเมินมากกว่า การสอนในชั้นเรียน

           6) งานอบรม สัมมนา พัฒนาบุคลากร มีมากเพื่อรองรับการปฏิรูปให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง แต่ทิ้งชั้นเรียน ทิ้งเด็ก  การอบรมทุกอย่างไม่ถึงชั้นเรียนถึงเด็ก และขาดการติดตาม

            7) นโยบายเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน  เทคโนโลยีล้ำสมัย ครูยุคใหม่นำองค์ความรู้สู่ชั้นเรียน ใช้ Internet   ส่งการบ้านแบบพิมพ์คอมพิวเตอร์ส่ง  จนเด็กเขียนตัวอักษร  ฐ  ด้วยลายมือไม่ถูก  ลายมือเขียนอ่านไม่ออก ทำรายงานแบบตัดแปะ  มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดองค์ความรู้ของตัวเอง

             8) ระบบการนิเทศติดตามผลมีนวัตกรรมใหม่ๆ ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหาร และครูมีวุฒิการศึกษาสูงผ่านการอบรม e-Training   แต่ส่วนหนึ่งไม่ถึงชั้นเรียน ไม่นำปรัชญาหรือองค์ความรู้กลับสู่ชั้นเรียน  เด็กยังเหมือนเดิม นั่งโต๊ะตัวเดิม ทำกิจกรรมแบบเดิมๆ และกลับบ้านเวลาเหมือนเดิม อยู่แบบเดิมๆเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

              9)  ฯลฯ

             สถานศึกษามีการทาสีใหม่  โรงเรียนมีห้องคอมพิวเตอร์  มีถนนคอนกรีต มี Internet ไร้สาย มีสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์วิทยาศาสตร์พร้อม ผู้บริหารเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ครูได้เลื่อนวิทยะฐานะสูงขึ้น มีห้องสมุดที่ใหญ่โต ผู้อำนวยการมีห้องพักหรู เป็นต้น แต่เด็กนักเรียน ยังอ่านหนังสือไม่ออก คิดเลขไม่เป็น  ยังมีอีกหลายโรงเรียน  เพราะอะไร....คำตอบคงมีมากมายทั้งที่เป็นข้อโต้แย้งและเหตุผลต่างๆนาๆ และที่สำคัญคือ “พยายามดีที่สุดแล้ว”และเหตุการณ์ความไม่สงบ

               มาวันนี้  ข้อสรุปที่อยากเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าด้านกายภาพและสิ่งอื่นๆคือ “คุณภาพผู้เรียน” และยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาคุณภาพคือ ตัวผู้เรียนที่เป็นคนดี คนเก่ง และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข นั่นเอง

              การ ”เขย่าห้องเรียน” คือแนวคิดที่ให้ทุกฝ่ายกลับมามองที่ตัวผู้เรียน ที่ไม่อยากให้เป็นแบบเดิมๆ จุดแตกหักของคุณภาพการศึกษาจึงน่าจะอยู่ที่”ห้องเรียน และผู้เรียน”คือเป้าหมายสุดท้าย  ถ้างบประมาณที่ลงมาถึงห้องเรียน แนวคิดทั้งหลายลงสู่ห้องเรียน นวัตกรรมขับเคลื่อนสู่ห้องเรียน  ครูอยู่กับห้องเรียน  กิจกรรมทุกอย่างเกิดที่ห้องเรียน ผู้บริหารนิเทศห้องเรียน  ศึกษานิเทศก์ติดตามถึงห้องเรียน เขตพื้นที่การศึกษาให้ความสำคัญกับห้องเรียน นั่นคือ นักเรียนทุกคนในห้องเรียนถูก “รุม”กันกระทำ  เสมือนกับยาน้ำเชื่อมดีๆที่วางไว้ในตู้ยา ก่อนจะใช้ต้อง “เขย่าขวด” เพื่อให้สิ่งที่นอนก้นหรือตกตะกอนลอยขึ้นมา นั่นหมายถึงทุกฝ่ายต้องลงไปสำรวจสภาพห้องเรียนกันอย่างจริงจัง สิ่งใดขาดให้เติมเต็ม สิ่งใดไม่มีหามาเสริม และผู้เรียนคือผู้ที่ต้องช่วยกันดูแล บำรุงรักษา และเติมเต็มให้มากที่สุด

             วิธีการเขย่าห้องเรียน อาจแตกต่างกันแต่ละบริบท แต่จุดแตกหักของคุณภาพของการศึกษา อยู่ที่ “ความจริงใจและความตั้งใจของผู้จัดการศึกษาทุกระดับและทุกคน”ที่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้น และห้องเรียนพร้อมจะให้พวกเรา “เขย่า”อยู่ตลอดเวลา..... ขอให้กำลังใจ

คำสำคัญ (Tags): #เขย่าห้องเรียน
หมายเลขบันทึก: 429545เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณ ดร.ขจิต ฝอยทอง แวะมาเขียนอีกรอบครับ

Are we (once again) talking about 'rocking the boat' (and shake off dead wood) in schools?

"คุณภาพผู้เรียน" may be an unkind word -- blaming kids for not meeting teachers'/adults' expectation. At present, we have issues on 'teachers' not 'learning' to meet kids' expectation and from kids'/parents' point of view "คุณภาพผู้สอน" is an issue. From government's view (as controller of education providers), some 30+% of taxes (from people) are being wasted every year nationally on things that are little relevant to 'building qualified and happily contributing population'.

Bull-dozer (reform) approaches: demolish-and-rebuild can only be done when we have better 'engineers', 'materials', funding and technologies.  Any other ways may be just some means for corruption.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท