ไม่ว่าจะวิชาไหน..กระบวนการสอนแบบสร้างความตระหนักรู้ ... ก็ยังใช้ได้ดี !


ผมได้บันทึก  ตัวอย่างการเปลี่ยนวิธีคิดของลูกศิษย์ หลังจากเรียนกับผมมา 4 เดือน ... มันน่าทึ่งมาก ! และ อีกตัวอย่างของการเปลี่ยนวิธีคิดของลูกศิษย์ผมอีกคน ... วิธีคิดไม่แพ้คนแรกเลย ! ในรายวิชาเทคโนโลยีการศึกษา อันเป็นวิชาที่มีจุดหมายเพื่อสอนการสร้างสื่อการเรียนการสอนให้กับอนาคตคุณครู

บันทึกนี้ต้องการพิสูจน์กระบวนการสอนแบบตระหนักรู้ต่อไป โดยเคลื่อนย้ายมายังอีก 1 วิชา ที่ผมสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 นี้ ได้แก่ วิชาการศึกษาโดยระบบสื่อทางไกล เป็นวิชาที่เจาะลึกการศึกษาทางไกล และสื่อทางไกลเพื่อการศึกษา

เป็นวิชาครูเลือก คำว่า "ครูเลือก" หมายถึง เลือกก็ได้ ไม่เลือกก็ได้ หากไม่เลือกเก็บตัวนี้ ก็ไปเก็บตัวอื่นที่มีสถานะเท่าเทียมกัน (แต่ที่มหาวิทยาลัย ครูเลือก เปิดน้อยมาก จึงเข้าทางผม)

 

ดังนั้น กระบวนการสร้างความตระหนักจึงเกิดขึ้นตามวิธีการของผู้สอนอย่างผม

 

ทดลองยกตัวอย่างนักศึกษาคนหนึ่ง เป็นนักศึกษาเอกจีนที่โอนย้ายมาเรียนเอกประถมศึกษา ฐานะทางบ้านยากจน ต้องทำงานพิเศษที่คณะทุกวัน เพื่อหาเงินมาผ่อนแรงพ่อแม่ อยู่ปี 1 ครับ

 

 

โจทย์ที่ผมตั้งไว้ในข้อสอบกึ่งแบบสอบถามปลายเปิด ... เพื่อให้พวกเขาได้ลองทบทวนตัวเองอย่างมีเหตุและผล ในประเด็นต่าง ๆ ที่ผมต้องการทราบ

 

โจทย์ตรงนี้ขอแก้ไขจาก "ครูบังคับ" เป็น "ครูเลือก" นะครับ ;)

 

 

 


 

ประเด็นแรก ...

วิธีคิด ทัศนคติ หรือ การใช้ชีวิตของ "ตนเอง" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

 

คำอ่าน ...

 

จากเดิมที่หนูไม่เคยคิดที่จะลงวิชานี้เลย เพราะได้ยินจากรุ่นพี่พูดว่างานเยอะ ข้อสอบยาก ทำไม่ทัน หนูจึงไม่คิดลงวิชานี้ค่ะ แต่จำเป็นต้องลงเพราะวิชาครูเลือกอื่น ตารางเรียน หรือสอบตรงกันหมด เหลือวิชานี้วิชาเดียวค่ะ หนูก็เลยจำเป็นต้องลง

พอมาเรียนแล้ว ความคิด และทัศนคติของหนูเปลี่ยนไปมาก จากเดิม คิดว่า ทำไม่ได้หรอก ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลองทำ

ตอนนี้หนูคิดใหม่ค่ะ หนูต้องทำให้ได้ทุกอย่าง หากเราจะทำมันต้องทำได้ค่ะ คนอื่น ๆ เขาทำได้ เราก็ต้องทำได้ค่ะ เราก็คน เขาก็คนเหมือนกัน อย่างที่ เอกชัย วรรณแก้ว ได้บอกไว้

จากที่คิดว่าเรียนไปเรื่อย ๆ แล้วค่อยตั้งใจตอนสอบบรรจุเป็นครู ตอนนี้หนูเปลี่ยน หนูจะตั้งใจเรียนให้มากขึ้นตั้งแต่นี้ต่อไปค่ะ มีเป้าหมายไว้ว่าอยากได้ทุนครูพันธุ์ใหม่ มีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป

การคิดดีสามารถเปลี่ยนชีวิตคนเราได้ค่ะ 

  

  

บทวิเคราะห์เล็ก ๆ ...

อิทธิพลคำพูดว่า "อย่าเพิ่งบอกว่าไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำ" ของเอกชัย วรรณแก้ว นักศึกษาวิทยาเขตเพาะช่างที่ไม่มีแขน แต่วาดรูปจากปลายเท้า

และ "การคิดดีสามารถเปลี่ยนชีวิตคนเราได้" จาก "สามเกลอแห่งมอชอ" สามนักศึกษาพิการที่มีหมุดหมายในการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผมใช้ตอน The Last Lecture

  

 


 

ประเด็นที่ 2 ...

วิธีคิด หรือ ทัศนคติของตนเองที่กระทำต่อ "พ่อแม่และครอบครัว" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

 

คำอ่าน ...

 

หนูจะตั้งใจเรียนให้มากกว่านี้ เรียนให้จบใน 5 ปีนี้ให้ได้ เพราะหนูย้ายสาขา หนูต้องตามเก็บวิชาที่เพื่อน ๆ เรียนกันไปแล้วให้ทันค่ะ จะต้องจบภายในเวลา 5 ปี เหมือนเพื่อน ๆ และจะต้องไม่เรียนซัมเมอร์ด้วยเพราะเปลืองเงินพ่อแม่ด้วย จะต้องจบเพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจ เพื่อเป็นรางวัลชีวิตชิ้นแรกที่หนูมอบให้แก่พ่อแม่

ชิ้นที่ 2 ที่หนูตั้งไว้คือ จะต้องสอบบรรจุเป็นครูให้ได้ เพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจและสบาย และเพื่อลบคำสบประมาทของบรรดาเพื่อนบ้านที่ว่าไว้ด้วย

ถึงแม้หนูจะมีฐานะยากจน แต่หนูก็ได้เรียนในระดับที่สูงกว่าคนที่เขารวยกว่าหนู และอีกอย่าง และเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล

และหนูจะเป็นคนแรกที่จะมีอาชีพครู เป็นคนของหลวง เป็นข้าของแผ่นดิน ต้องทำเพื่อพ่อแม่ภูมิใจค่ะ 

 

 

บทวิเคราะห์เล็ก ๆ ...

เขาคือ ตัวแทนนักศึกษาที่ด้อยโอกาสของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีแต่คนจน คนด้อยโอกาสมาเรียนเสียครึ่งหนึ่งของนักศึกษาทั้งหมด แต่อาชีพครู กลายเป็น ความฝันของพวกเขา และต้องเป็นครูที่ดีเสียด้วย 

 

 


 

 

ประเด็นที่ 3 ...

วิธีคิด หรือ ทัศนคติของตนเองที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่าง "เพื่อนร่วมห้อง หรือ เพื่อนร่วมหมู่เรียน" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

  

 

คำอ่าน ...

 

คือครั้งแรกที่หนูเข้าห้องเรียนวิชานี้มา คนเยอะมาก ๆ ค่ะ มีเป็น 60 คน อาจารย์ทัศนีย์ ....... ได้เข้ามาแจ้งเรื่องต่าง ๆ ให้ ดูทุกคนเหมือนจะดร๊อป หรือ ถอนวิชาออกกันหมดเลย สุดท้ายก็เหลือกันไม่ถึง 20 ค่ะ

ตอนแรกหนูคิดว่าจะถอนเหมือนกัน เพราะไปดูรายชื่อ หนูไม่รู้จักสักคนค่ะ แต่พอคิดไปคิดมาคนอื่น ๆ เขายังเรียนคนเดียวได้เลย ทำไมเราจะเรียนคนเดียวไม่ได้ ก็เลยเรียนต่อค่ะ สุดท้ายก็มีเพื่อนเอกสังคมที่มีอยู่ที่ลงเรียนต่อเหมือนกัน และเพื่อนเอกอื่นด้วย ก็ทำให้เรียนได้เป็นกันเองขึ้นค่ะ

หนูคิดว่าเพื่อนที่เรียนด้วยกัน ก็คงมีความคิดเหมือนหนู ที่ว่าคนอื่น ๆ เขายังเรียนได้เลย ทำไมเราจะเรียนไม่ได้ เพื่อนทุก ๆ คนเป็นกันเองมาก

ตอนแรก ๆ ก็นึกว่าจะไม่คุยกันแล้วซะอีก แต่พอมาถึงงานที่ทำสมุดประวัติ สมาชิกห้องทุกคนดูเข้ากันได้ดี ช่วยกันออกความคิดเห็นว่า จะทำยังไง มีการแบ่งหน้าที่กันทำเสร็จ ดูทุกคนมีความกระตือรือร้น มีความสามัคคีกันค่ะ 

 

 

บทวิเคราะห์เล็ก ๆ ...

คำตอบนี้เป็นภาพสะท้อนความมักง่ายของนักศึกษายุคปัจจุบันที่มักจะอยากได้อะไรมาอย่างง่าย ๆ อะไรที่ยาก ๆ จะไม่เลือกปฏิบัติ หรือ ทำ

ภาพแห่งการถอนรายวิชา เป็นภาพปกติสามัญที่เกิดขึ้นในรายวิชาที่ผมสอนทุกรายวิชา ระบบกลั่นกรองหัวใจ คือ สิ่งที่ผมลงมือทำ ใจสู้ก็เรียน ใจไม่สู้ ก็ไปไกล ๆ ไม่ต้องมาเรียน

แถมธรรมชาติของวิชา คือ การรวมตัวกันหลายเอก หลายสาขา

ชิ้นงานภาพรวมจึงต้องออกแบบให้เกิดขึ้น เพื่อยังผลอย่างที่ท่านได้เห็นกัน 

 

 

 


 

 

ประเด็นที่ 4 ...

วิธีคิด หรือ ทัศนคติของตนเองที่มีต่อ "ครูผู้สอนประจำวิชา" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

  

คำอ่าน ...

 

ตอนแรกที่คิดถึงครูผู้สอนวิชานี้ หนูคิดตามจินตนาการของหนูว่า อาจารยเป็นคนที่ดุ หุ่นผอม อยู่ด้วยแล้วจะเกรง ๆ ดูดุ หน้าตาเข้ม ๆ คิ้วชนกันตลอดเวลา ใส่เสื้อผ้าเรียบ ๆ ดูมีอำนาจ ทำให้เด็กกลัวได้

แต่พออาจารย์ ................. เดินเข้าห้องมา หนูคิดว่าเป็นคนที่มาเช็คดูเครื่องคอมพิวเตอร์ ติดตั้งคอมพิวเตอร์ อาจารย์ดูเป็นคนที่ไม่ดุ ใส่เสื้อม่อฮ่อมด้วยวันนั้น หนูยังคิดเลยว่า อาจารย์น่าจะไปเป็นครูสอนสังคมมากกว่า

แต่ความคิดที่ผิดพลาดครั้งนี้ของหนู ก็ทำให้หนูได้รู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากอาจารย์ค่ะ คนที่ดูดี แต่งตัวดี ๆ ไม่ใช่จะเป็นคนดี เป็นอาจารย์ที่ดีได้เสมอไป ดูดีแต่ไม่มีจรรยาบรรณของความเป็นครูก็ไม่สามารถที่จะเป็นคนดีได้

คนเราไม่ได้เป็นคนดี และวัดความดีจากหน้าตา หรือการแต่งตัว ฐานะ มันไม่ใช่ ความดีวัดกันที่จิตใจค่ะ อย่างที่อาจารย์บอก ปริญญาไม่เหมาะกับคนเก่ง แต่เลว ค่ะ

หนูจะยึดอาจารย์เป็นแบบอย่างค่ะ หนูจะเป็นครูที่สอนเด็กให้ได้อย่างที่อาจารย์สอนหนูค่ะ ขอบคุณค่ะ 

 

 

บทวิเคราะห์เล็ก ๆ ...

ยิ่งอ่านยิ่งชอบ เป็นคนเดียวที่กล้าจะเขียนความคิดตรงไปตรงมาบอกผม

ผมชอบใส่เสื้อม่อฮ่อมในการสอนวันศุกร์ เพื่อการอนุรักษ์ผ้าเมือง

ภาพที่ออกไปคือ ผมไม่สนใจใครว่า จะมองผมอย่างไร

ผมต้องการสอนพวกเขาว่า อย่ามองคนแต่เปลือกนอก หรือถ้าหากผมแต่งตัวแบบนี้ รู้ได้อย่างไรว่า ผมเป็นยังไง

The Last Lecture ผมสอนเขาว่า "ใบปริญญาบัตรไม่ควรค่าแก่คนเก่ง แต่เลว"

แรง แต่ ตรง

ผมต้องการให้เขาเป็นคนดี คนดีที่ควรค่าแก่การรับพระราชทานปริญญาบัตร

 

 


 

ประเด็นที่ 5 ...

วิธีคิด, ทัศนคติ หรือ การใช้ชีวิตของตนเองที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายในอนาคต คือ "การเป็นครูที่ดี" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

  

คำอ่าน ...

 

ความคิดหนู ตอนแรกไม่คิดจะมาเป็นครูหรอกค่ะ แต่คิดว่าถ้าเป็นครูก็แค่ไปสอนเด็ก ๆ เป็นคนของหลวง เป็นข้าราชการธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่สบาย เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลก็เท่านั้น ไม่ได้คิดถึงความเป็นครูที่มีจรรยาบรรณของความเป็นครูเลย

แต่พอหนูได้เข้ามาเรียนกับอาจารย์มันทำให้หนูคิดได้ว่า ครูที่ดีนั้น คอยเคี่ยวเข็ญให้เราทำอย่างนั้นนะ ทำอย่างนี้นะ สั่งงานเยอะ สอนเต็มเวลา นั้น

การทำอย่างนี้เป็นการสอนให้ศิษย์รู้จักทำ รู้จักอดทน รู้จักสู้ ที่คอยพูดเปรียบเทียบต่าง ๆ ก็เพื่อให้เราเกิดแรงฮึกเหิม คิดจะทำขึ้นมา

ครูที่ดียอมให้ลูกศิษย์เกลียด แต่ยังไงก็จะทำให้ลูกศิษย์ได้ดี

หนูจะเป็นครูที่ดีให้ได้ค่ะ จะเป็นครูที่สอนเด็ก เพราะรักในอาชีพ รักในลูกศิษย์ มีจรรยาบรรณค่ะ หนูจะเป็นเหมือนอาจารย์ให้ได้ค่ะ 

 

 

บทวิเคราะห์เล็ก ๆ ...

ผมบอกเขาในคาบสุดท้าย The Last Lecture ให้เขาเข้าใจอุดมการณ์ที่ผมมีต่อการสอนพวกเราที่ผ่านมา 4 เดือน และตัวอย่างที่ดีมีค่าคำสอน 

เชื่อผมเถอะ หากครูทำให้เขาศรัทธา เขาจะฟังคุณทุกเรื่องที่เป็นสิ่งดี ๆ ;)  

 

  


 

ประเด็นที่ 6 ...

ทักษะและความรู้ที่นักศึกษาได้รับจริง จากการเรียนรู้ เรื่อง "สื่อทางไกลเพื่อการศึกษา"

 

 

คำอ่าน ...

 

ได้ทักษะความรู้เรื่องการหลักการพิมพ์งานค่ะ ได้มากด้วยค่ะ ทำให้หนูรู้ว่า หลักการพิมพ์งานมีอะไรบ้าง ทำไมต้องแบบกระจาย แบบนี้ค่ะ ซึ่งทุกครั้งที่หนูพิมพ์งานมา หนูไม่มีหลักการพิมพ์งานเลยค่ะ

และอีกอย่างความรู้เรื่องการศึกษาค่ะ ทำให้หนูรู้ว่า การศึกษาทั่วโลกมีให้เราเลือกตั้งมากมาย ไม่ใช่เรียนจบ ม.6 แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว

การเรียนทางไกลก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นทางเลือกที่ดีกับคนเราได้ และเป็นการศึกษาที่อำนวยความสะดวกให้เราเกือบจะทุกอย่าง

ไม่ว่าเราจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็เรียนได้ และเรียนสูงกว่าระดับปริญญาตรีได้ด้วยค่ะ 

 

 

บทวิเคราะห์เล็ก ๆ ...

ตัวอย่างชิ้นงานในวิชานี้จะไม่หนักมาก แต่ละเอียดมาก เช่น การให้พิมพ์งานให้ถูกตามหลักการ ไม่ใช่ เปิดโปรแกรม word แล้วใส่เลย แบบนี้ติด I ติด F กันมันมาก

อีกอย่างผมใช้วิธีการประมวลความรู้โดยการเขียนบทความวิชาการ มันยากกว่าการทำรายงานที่นิยมสั่งกัน

ผมไม่ศรัทธา "รายงาน" ที่เป็นแบบ Copy + Paste

แต่ผมค้นพบว่า "บทความ" สามารถประมวลสิ่งที่ผมสอนเขาได้ทุกเรื่องวิชาการ

หูตาเขาจะกว้างไกลมากขึ้น หากเรียนวิชานี้ ถ้าเขาเลือกที่จะเรียน ;) 

  

 

  


  

กระบวนการสร้างความตระหนักสามารถใช้ได้กับทุกวิชา

 

นี่คือ สิ่งที่ผมต้องการพิสูจน์ให้ออกไปในรูปของงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ

 

ผมเอามานั่งคิดต่อว่า กระบวนการนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ตัวครูผู้สอนอันเป็นผู้ควบคุมกระบวนการนั้นสำคัญมาก เพราะเราคือ ผู้เน้นแรงบันดาลใจบางอย่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เขาได้เข้าไปในหัวใจเขาได้เลย

หากครูผู้สอนไม่เข้าใจในความเป็นไป แทงไม่ถูกจุด กระบวนการดีแค่ไหน ผมก็คิดว่า ไม่บรรลุผล

 

ครู + กระบวนการ + ปัจจัยภายนอก

=

ความตระหนักรู้ ลูกที่ดี คนที่ดี และครูที่ดี

 

 

 

ขอบคุณทุกท่านมากครับ สำหรับดอกไม้ในบันทึกที่ผ่านมา

ถือเป็นกำลังใจอย่างใหญ่หลวงครับ

  

 

บุญรักษา ครูผู้มีความเพียรนะครับ ;)

 

หมายเลขบันทึก: 429409เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 01:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

วิชาครูเลือก  คล้ายๆกับ ไม่บังคับแต่ต้องลงเรียน 555+

ถ้าทุกคนมีวิธีที่ถูกต้อง ดีงาม เขาก็จะดำเนินชีวิตไปตามวิธีคิดของเขา

ผลที่เกิดอาจจะไม่ได้ดีทุกด้าน แต่ก็ย่อมจะเป็นไปในทางบวก

ปัญหาต่างๆของเด็กและเยาวชนในสังคมคงจะลดน้อยลงมากกว่านี้นะคะ  

สถาบันครอบครัวจะมีความสุขเป็นอันดับแรกค่ะ

 และ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ประเทศชาติรอคอย

 ขอบคุณ คุณครูที่เป็นครูด้วยจิต วิญญาณ 

เดี๋ยวขออนุญาต ลิงค์ให้นิสิตในบ้านอ่านหน่อยนะคะ  

 

                     ใบปริญญาไม่ควรค่าแก่คนเก่ง แต่เลว

 

ใช่ครับพี่นก NU 11 ... ลักษณะอันพึงประสงค์ถูกเขียนไว้ในเอกสารระดับชาติหลายเล่ม แต่ไม่เคยพึงจะทำได้จริงเท่าไหร่ เพราะเป็นแค่ตัวหนังสือที่ไม่มีคนนำไปสร้าง ไปทำ

ยินดีและขอบคุณมากครับ พี่นก NU 11  ;)...

ถ้าเยาวชนของชาติทั้งหลาย มีความคิดเห็นเช่นนักศึกษาคนนี้คงจะดีไม่น้อย

อาจารย์ทำงานหนักแต่มีความสุขนะคะ รักษาสุขภาพมากๆ จะได้มีพลังกายไว้ทำงานที่สำคัญนี้ไปอีกยาวนาน

คิ้วไม่ต้องชนกันมากได้ก็ดี^___^ เดี๋ยวจะต้องไปพึ่งวิทยาการการลบริ้วรอยค่ะ

ชื่นชมค่ะ

อนาคตครูดีมีคุณธรรมมีให้กับสังคมแล้วที่นี่

ขอบคุณค่ะ

 

กว่าจะค้นหาวิธีการได้ ครูอย่างผมยังเวลาหลายปี

เมื่อค้นพบได้แล้วนั้น จึงได้ลงมือทำทันที

โดยไม่รีรอสิ่งใด และไม่สนใจเสียงลบใด ๆ

ขอบคุณมากครับ คุณ ครูเอ ;)...

แน่ ... น้องคุณครู เทียนน้อย ;)...

อิ อิ ได้สองคำ เพราะว่าน้องไม่ได้อยู่หน้าเครื่องคอมฯ ใช่ป่ะ

อิ อิ ใช้มือถือส่งข้อความมาแทน

แต่ก็ ขอบคุณมากครับ ;)...

พี่นุช คุณนายดอกเตอร์ สะพานบุญ ครับ ;)...

งานสอนด้วยกระบวนการนี้ค่อนข้างหนัก เพราะต้องให้ผลย้อนกลับหลังจากมีการให้งานอย่างเร็วที่สุด เพราะทำให้รอยต่อของกระบวนการไม่ขาดตอน ... แต่เวลาผลออกมา มันช่างหอมหวานและสุขใจที่สุดครับ

คิ้วชนกัน สงสัยจะเรื่องความรักอย่างเดียวครับ อิ อิ

ขอบคุณครับ พี่นุช ;)...

ขอบคุณเช่นกันครับ คุณ krutoiting ;)...

น่าประทับใจมากคะ เนื่องจากว่าไม่ได้เรียนทางศึกษาศาสตร์โดยตรง แต่อยากขอเรียนรู้จากอาจารย์คะ คือ ดิฉันอยากจะเข้าใจกระบวนสร้างความตระหนัก มันต้องสอนอย่างไรบ้างคะ หาข้อมูลมามีแต่ทฤษฎี แต่ไม่ทราบว่า รูปธรรมที่จะนำมาใช้กับนักเรียนหรือลูกหลานนั้น ต้องทำอย่างไรบ้างคะ

ช่วยกรุณาด้วยนะคะ

ขอบคุณคะ

เชื่อผมเถอะ หากครูทำให้เขาศรัทธา เขาจะฟังคุณทุกเรื่องที่เป็นสิ่งดี ๆ ;)  ...

ไม่เชื่อครูตงฉินแล้วจะเชื่อแมวที่ไหนนิ อิ อิ :)

สามารถใช้ได้กับทุกวงการเลยนะคะ หาก เชื่อมั่น ศรัทธา แล้ว คุณคือฮีโร่ เค้า

เขาก็จะฟัง ทำตาม และเลียนแบบ ชอบคำว่า เฉพาะสิ่งดีๆ ด้วยเจ้า :)

คุณ แสงเดือน ;)...

กระบวนการตระหนักรู้ ควรเริ่มที่ "ความกตัญญู" เป็นจุดเริ่มต้นครับ

การบอกเล่าเก้าสิบเฉย ๆ จักไม่ได้ผลดี ควรใช้วิธีการบอกทางอ้อม

เช่น ผมจะใช้วีดิทัศน์ตัวอย่างของคนที่มีความกตัญญู ความคิดจากรายการคนค้นฅน หรือ วีดิทัศน์การสัมภาษณ์ของอาจารย์หมอพงศ์ศักดิ์ ตั้งค่า ที่อาจารย์กล่าวถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว

เด็กจะคิดได้ด้วยตัวของตัวเอง เปลี่ยนได้ด้วยตัวเองครับ

เราเปลี่ยนใครไม่ได้ นอกจากเจ้าตัวจะเปลี่ยนเองครับ

ถือเป็นข้อแนะนำเบื้องต้นนะครับ ;)...

ครูยังคงทำหน้าที่เป็น "ต้นแบบ" ที่มีชีวิตเสมอครับ คุณ Poo ;)...

เด็กเติบโตจะได้ไม่บิดเบี้ยว

ขอบคุณมากครับ ;)...

ชอบมากเลยค่ะ...กระบวนการสอนแบบสร้างความตระหนักรู้..

ขอบคุณค่ะ..^_^

ขอบคุณมากครับ พี่พยาบาล สีตะวัน ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท