แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

หนอน เนื้อ และเหล็ก by ครูเละ (๒/๒)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


หนอน เนื้อ และเหล็ก

(จบ)

ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์
คอลัมน์ ; โยคะวิถี
โยคะสารัตถะ ฉ.มิถุนายน ๒๕๕๑

 

เข้าอ่าน ; หนอน เนื้อ และเหล็ก (๑/๒)

ความเดิมตอนที่แล้ว

ครั้งหนึ่งระหว่างกลับไปอยู่กับครูอายุรเวทที่อินเดียช่วงสั้นๆ น้องสาวในแวดวงโยคะ เขียนอีเมล์เล่าว่าเธอได้หนังสือพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ซึ่งเปรียบคนเราว่าเป็นดังหนอน เนื้อ และเหล็ก ผมตีความเอาเองว่าคนที่เป็นหนอนคงหมายถึงคนที่มีจิตใจและพฤติกรรมที่รุกล้ำล่วงเกินชีวิตรอบข้าง เหมือนหนอนที่ชอนไชเนื้อหนังมังสา ส่วนเนื้อน่าจะเปรียบกับคนที่ปล่อยให้สิ่งภายนอกมากระทบเหมือนเนื้อที่ถูกหนอนชอนไช และเหล็กอาจเทียบได้กับคนที่จิตใจเข้มแข็งมั่นคง ไม่ถูกกระทบจากเหตุปัจจัยภายนอก ประหนึ่งเหล็กที่แข็งแกร่งไม่มีสิ่งใดเจาะทะลวงได้

คำว่าหนอน เนื้อ และเหล็ก ทำให้ผมนึกถึงสารัตถะในศาสตร์โยคะที่ว่าด้วยคุณสมบัติสามแบบของจิตใจ ได้แก่
รชัสหมายถึงสภาวะของจิตใจที่แส่ส่ายไปมา
ตมัสหรือสภาวะจิตใจที่เฉื่อยชาซึมเซา
และสัตตวะซึ่งเป็นสภาวะจิตที่ชัดเจน รับรู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
ซึ่งสอดคล้องกับคำจำกัดความของคำว่าโยคะที่หมายถึง จิตใจที่จดจ่อแน่วแน่ไม่แส่ส่าย

สรุปรวมความแล้ว ทั้งพุทธศาสนาและโยคะต่างก็ชี้ให้เราเข้าใจธรรมชาติของจิตใจที่มีทั้งด้านที่มืดและสว่าง มีทั้งภาวะที่มัวซัวซัดส่าย และภาวะที่สงบนิ่งมั่นคงกระจ่าง่ชัด สภาวะอย่างหลังถือว่าเป็นทิศทางที่เราแต่ละคนพึงมุ่งสู่ไม่ว่าจะในอุดมคติของพุทธหรือโยคะ

คำเปรียบเปรยมนุษย์ว่าเป็นหนอน เนื้อ และเหล็ก นอกจากทำให้ผมนึกถึงคำว่ารชัส ตมัส และสัตตวะซึ่งรวมเรียกว่าตรีคุณะหรือคุณสมบัติสามแบบของจิตใจแล้ว ยังทำให้ผมนึกถึงคำอีกสามคำในสารัตถะของโยคศาสตร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาวะสามแบบในชีวิตของคนเรา

สามคำที่ว่าคือ โยคี โภคี และโรคี

คำว่าโยคีเป็นคำเรียกผู้ที่ก้าวไปบนหนทางแห่งโยคะ โดยที่คำว่าโยคะมาจากรากศัพท์"ยุช"อีกที ซึ่งแปลว่า ผูก โยง เชื่อม หรือรวมกัน โยคะจึงมักหมายถึงสภาวะรวมทั้งวิถีหรือมรรคาที่นำพาผู้ฝึกไปสู่การหลอมรวม

ส่วนคำว่าโยคีนั้นตำราบางเล่มกล่าวว่า หมายรวมถึงทั้งผู้ที่กำลังเดินไปมรรคาแห่งโยคะ" และผู้ที่บรรลุถึงจุดหมายปลายทางของโยคะแล้ว

พูดง่ายๆ ว่าโยคีอาจแบ่งเป็นสองระดับขั้น ขั้นแรกคือผู้ที่ยังก้าวย่างไปบนเส้นทางโยคะ หรือ "โยคสาธก" (ผู้ปฏิบัติโยคะ) ส่วนอีกขั้นอาจเรียกว่า"โยคสิทธา" หมายถึงผู้บรรลุถึงซึ่งโยคะ

คำถามก็คือ ที่กล่าวว่าโยคะคือมรรคาที่นำพาเราไปสู่การหลอมรวมนั้น หลอมรวมกับอะไรหรือสิ่งใดกระนั้นหรือ?

จะตอบว่าเราหลอมรวมกับอะไรหรือสิ่งใด ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับว่าเราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้างในชีวิต ซึ่งน่าจะมีอยู่ ๓ สิ่ง

สิ่งแรกเลยคือชีวิตและสรรพสิ่งรอบตัวเรา ตั้งแต่คนใกล้ตัวที่สุดคือพ่อแม่ญาติพี่น้องหรือพูดง่ายๆ ว่าคนในครอบครัว และห่างออกไปจนถึงธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไพศาล ต่อให้เราจะมีโลกส่วนตัวแค่ไหน ใช่หรือไม่ว่าถึงที่สุดแล้ว เราหลีกไม่พ้นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนและสรรพสิ่งรอบตัว

การหลอมรวมระหว่างเรากับชีวิตและสรรพสิ่งรอบตัวที่กล่าวมา ผมคิดว่าคงไม่ใช่การหลอมรวมในแบบที่ร่างกายของเราหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตรอบข้างหรือจักรวาลอันไร้ขอบเขต – อย่างน้อยตราบใดที่เรายังมีกายเนื้อ และยังต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ หากน่าจะเป็นการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกลมกลืนกับชีวิตรอบข้างและธรรมชาติ หรือพูดอีกอย่างว่าเป็นการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายแตกต่างของชีวิต

อย่างที่สองที่เราเกี่ยวข้องด้วยก็คือตัวเราเอง การหลอมรวมในแง่นี้น่าจะพอเรียกรวมๆ ได้ว่าความลงตัวของชีวิต ตั้งแต่อาชีพการงาน (มีความสุขกับงานที่ทำ) ฐานะทางเศรษฐกิจ(มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองและครอบครัวอย่างไม่อัตคัดขัดสน) ความเป็นอยู่ (มีอาหารและที่สถิตอาศัยที่เหมาะควรแก่อัตภาพ) เครื่องอำนวยความสะดวก (เช่นเครื่องมือเครื่องใช้ การสื่อสาร การคมนาคม) ไปจนถึงสุนทรียภาพในชีวิต (มีงานอดิเรกที่ให้ความเพลิดเพลินใจ ได้ท่องเที่ยวในสถานที่ที่ทำให้ผ่อนกายสบายใจ ฯลฯ)

สิ่งที่สามเป็นการเกี่ยวข้องกับด้านในสุดของเราคือจิตใจและจิตวิญญาณ การหลอมรวมในระดับนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางหรือเป้าหมายสูงสุดของโยควิถี คือการหลอมรวมที่ลึกที่สุด ซึ่งอาจไล่ตั้งแต่การหลอมรวมของจิตใจ จนเกิดสภาวะที่เรียกว่าสมาธิ คือดวงจิตที่แน่วนิ่งไม่แส่ส่าย ไปจนถึงระดับที่เรียกกันว่าตัวตนปัจเจกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจิตวิญญาณสากล

ผมคิดว่าคนทั่วไปอย่างเราๆ น่าจะพอสัมผัสรับรู้ได้ถึงการหลอมรวมแบบแรกกับแบบที่สอง ส่วนแบบที่สามคือในระดับจิต ผู้ที่ฝึกสมาธิภาวนาคงรู้สึกหรือสัมผัสได้ ส่วนจะสัมผัสได้กระจ่างชัดต่อเนื่องหรือรำไรประเดี๋ยวประด๋าว คงแล้วแต่ความเข้มข้นจริงจังในการฝึก

ส่วนคำว่าโภคี มาจากคำว่า"โภคะ"ซึ่งมาจากรากศัพท์"ภุช" ที่แปลว่าเพลิดเพลิน กิน เสพ ใช้ โภคีจึงหมายถึงผู้ที่ดื่มกินเสพและแสวงหาความเพลิดเพลิน หรือจะกล่าวว่าก็คือมนุษย์ที่ต้องกินดื่มเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ก็คงไม่ผิดนัก

คำสุดท้ายโรคี มาจากคำว่า"โรคะ"ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า"รุช" ที่แปลว่าทำให้เจ็บปวด บาดเจ็บ ทำลาย หรือทำให้แตกสลาย

ที่เราเรียกอาการเจ็บไข้ไม่สบายต่างๆ นานาว่า"โรคะ"(โรค) ก็เพราะมันทำให้เราเจ็บปวด หรือทำให้เกิดการแตกสลายของร่างกายส่วนต่างๆ ไม่ว่าภายในหรือภายนอก

คนที่เจ็บไข้ไม่สบายจึงมีคำเรียกว่าโรคี

ดูจากความหมายของคำทั้งสามแล้ว อาจตั้งข้อสังเกตว่าโยคีกับโรคีนั้นอยู่กันคนละด้านของเส้นทางชีวิต เพราะคนแรกเดินไปบนหนทางแห่งการหลอมรวม – จะในระดับไหนก็ตามแต่ ในขณะที่คนหลังไปสู่สภาวะที่ปริแยก – อาจจะในทางร่างกายหรือจิตใจ ส่วนโภคีอาจพออนุมานว่าเป็นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนสองแบบแรก

แต่ถ้ามองในสภาพความเป็นจริงของชีวิตเยี่ยงปุถุชนทั่วไป ผมคิดว่าพวกเราส่วนใหญ่น่าจะเป็นทั้งโยคี โภคี และโรคีในตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าสภาพร่างกาย จิตใจ และชีวิตของเราเป็นเช่นไรในแต่ละขณะ

ถ้าเรามีความสุขกับการทำงาน จดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้า ไม่นึกนินทาเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับคนในครอบครัว หรือบางคนใช้เวลาสั้นบ้างยาวบ้างในแต่ละวันบำเพ็ญสมาธิภาวนา อีกทั้งร่างกายก็เป็นปกติสุข

สภาพชีวิตในช่วงเวลาเหล่านี้ แม้ยังไม่ถึงขั้นโยคสิทธาหรือผู้ที่บรรลุถึงจุดหมายปลายทางของโยคะ แต่ก็น่าจะพอเรียกตัวเองว่าโยคีหรือโยคสาธกได้ – อย่างน้อยก็ยังมีสภาวะของการหลอมรวมสามแบบเป็นครั้งคราว

แต่ยามใดที่จิตใจขุ่นข้องเศร้าหมองหรือวิตกกังวล ปรับตัวเข้ากับโลกรอบตัวไม่ได้ หรือเจ็บไข้ไม่สบาย สภาพเช่นนี้เรากำลังอยู่ในสภาวะของโรคี

ส่วนเวลาไหนที่เราเสพกินหรือกระทั่งไปช้อปปิ้ง อ่านหนังสือดูหนังฟังเพลง เราก็กำลังเป็นโภคี ที่อาจจะแปลงเป็นโยคีหรือโรคีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเรากินอาหารแบบไหนด้วยวิถีการกินอย่างไร เราแสวงหาความเพลิดเพลินในรูปแบบต่างๆ ผ่านอินทรีย์ประสาททางตาบ้างหูบ้างเพื่อสุนทรียารมณ์อันละเมียดละไม หรือสิ่งบันเทิงเหล่านั้นปลุกเร้าจิตใจให้ตื่นเต้น ตระหนก

พูดถึงเรื่องโยคี โภคี และโรคี ทำให้ผมนึกถึงหลายปีก่อนตอนที่ไปช่วยครูอายุรเวทที่อินเดีย ทำการบำบัดด้วยวิธีอายุรเวท เช่น นวดน้ำมัน หยาดน้ำมัน ฯลฯ เพื่อปรับสมดุลให้กับชาวต่างชาติที่ตามครูโยคะไปเข้าคอร์สแบบทูอินวัน คือ รับการบำบัดแบบอายุรเวทไปพร้อมๆ กับเรียนและฝึกอาสนะแบบเข้มข้นไปด้วยเป็นเวลาหนึ่งเดือน

โยคีชนที่ไปเข้าคอร์สส่วนใหญ่มักมีปัญหาสุขภาพติดพ่วงมาด้วย เพราะวิถีชีวิตอย่างคนสมัยใหม่ที่เคยดำเนินมาก่อนฝึกโยคะ

สามอาทิตย์แรกของคอร์สโยคายุรเวท ตอนเช้าทุกคนจะผ่านการนวดน้ำมัน หยาดน้ำมัน สวนทวารเพื่อชำระร่างกายภายใน และหยาดน้ำนมที่ปรุงร่วมกับยาสมุนไพร พอตกเย็นก็ฝึกอาสนะแบบไม่หนักหน่วงเข้มข้นนัก เนื่องจากอยู่ในระยะที่ร่างกายควรผ่อนพักเพื่อได้รับประโยชน์จากการบำบัดอย่างเต็มที่

อาจเป็นเพราะอาหารเช้าซึ่งส่วนมากเป็นอาหารอ่อนๆ จำพวกข้าวต้ม หรือไม่ก็แป้งนึ่งจิ้มกับน้ำจิ้ม ส่วนมื้อกลางวันจะเป็นผลไม้สองสามอย่าง ปริมาณก็ไม่มาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเรือนกายบึกบึนของโยคีชนเหล่านี้ แถมตอนเย็นยังฝึกอาสนะอีก แม้จะเป็นอาสนะที่ไม่หนักหน่วงมากนัก แต่เท่าที่ผมเคยไปแจมด้วย ก็เล่นเอาเหงื่อพรั่งพรูชนิดหยดติ๋งๆ เหมือนกัน

จึงไม่น่าแปลกใจที่พอถึงเวลาอาหารเย็น โยคีชนแต่ละท่านกินจาปาตี (อาหารจำพวกแป้งคล้ายโรตีบ้านเรา แต่รับประทานกับกับข้าวแทนข้าว) กันคนละแปดแผ่นบ้างสิบแผ่นบ้าง ชนิดที่แม่ครัวต้องนวดแป้งกันมือเป็นระวิง

พวกผม – คือครูหมออายุรเวท หมอรุ่นน้องๆ ที่ไปขอฝากตัวเรียนรู้เพิ่มเติมกับครู รวมทั้งผม - ซึ่งเป็นไวทยา(หมายถึงแพทย์หรือผู้เยียวยา) เลยแอบแซวดังๆ ว่า โยคีชนเหล่านี้ตอนเช้าเป็นโรคี (ที่รับการบำบัด) ตอนบ่ายแก่ๆ เป็นโยคีที่ฝึกอาสนะอย่างตั้งอกตั้งใจ แต่พอตกค่ำก็แปลงกายเป็นโภคีที่หิวโซ

ระหว่างเดินสูดบรรยากาศยามราตรีอันสงบ เสียงพูดคุยของโยคีที่กลายร่างเป็นโภคีชั่วคราว แว่วมาแผ่วๆ ผมคิดถึงเส้นทางชีวิตของคนเราที่อาจเป็นไปได้หลายแบบหลายวิถี

เป็นต้นว่า โรคโภคี (ผู้ที่กินดื่มเสพจนเจ็บป่วยกายใจ) โยคโภคี (ผู้ที่กินดื่มเสพขณะหรือเพื่อเดินไปสู่มรรคาแห่งโยคะ) ไม่แน่ว่าบางคนก็อาจเป็นโภคโยคี คือฝึกโยคะเพื่อความเพลิดเพลิน

ในบรรยากาศอันสงัดของราตรีกาล โศลกในปตัญชลีโยคสูตรพลันผุดขึ้นในใจผม

โยคศฺจิตฺตวฺฤตฺตินิโรธหฺ (โยคะคือสภาวะจิตที่หยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์) 


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 428712เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท