ปริญญาบัตร กับ ปัญญาบัตร ท่านจะเลือกอะไร


แปลกมาก ที่เราเรียก “นิสิต นักศึกษา” ว่า ปัญญาชน แม้จะยังไม่ได้รับใบปริญญาด้วยซ้ำ

อนุสนธิจากการประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบเกษตรกร เมื่อเดือนที่แล้ว

และ

กำลังจะนำเสนอเป็นแผนการจัดการเรียนรู้

เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของไทยให้พึ่งตนเองได้ เข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป

จากการประชุม ได้มีการยกประเด็นว่า

ปัจจุบันประเทศไทยมีคนที่ปริญญาบัตรด้านการเกษตรมากมาย แต่ก็ยังทำให้ระบบการพัฒนาการเกษตรหลงทาง ผิดพลาด วิ่งตามกระแสเศรษฐกิจโลก โดยปล่อยให้เกษตรกรที่ไม่มีความรู้เท่าทัน และนักธุรกิจสาขาต่างๆที่เห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้นๆ เป็นคนนำทาง

ที่ทำให้มีปัญหา และผลกระทบต่างๆทั้งกระแสขาขึ้นและขาลง

ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้ทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมของไทยเสื่อมโทรมลงทุกด้าน

ไม่ว่าจะเป็น ป่า น้ำ ดิน และอากาศ

ในทางกลับกัน

คนที่มีใบปริญญาด้านการเกษตรกลับตกงานอย่างมากมาย ทั้งๆที่การทำงานในภาคเกษตรยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ถึงกับไปพึ่งแรงงานต่างชาติทั้งที่มาอย่างถูกและผิดกฎหมายกันทั่วไป

ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการพัฒนาที่ผิดฝาผิดตัว จนทำให้เกิดอาการขาดๆเกินๆ อยู่ในระบบ

และในเชิงลึก เชิงการทำงานการเกษตรจริงๆ ยังพบว่าคนที่มีใบปริญญาด้านการเกษตร กลับทำการเกษตรสู้คนไม่มีใบปริญญา (บางคนไม่เคยเรียนหนังสือ อ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ)ไม่ได้ ในแทบทุกมิติ

แสดงว่า น่าจะมีอะไรผิดพลาดในระบบของการมอบ "ปริญญาบัตร" พอสมควร

จึงมีความเห็นว่าเราควรจะหันกลับมายกย่องคนที่มีความสามารถอย่างแท้จริง เป็นครูได้ เป็นต้นแบบได้ เอาอย่างได้ นำการพัฒนาได้

ที่จะลดปัญหาการพัฒนาแบบผิดฝาผิดตัวได้

 แทนแค่การมี “ใบปริญญา” หรือ “ปริญญาบัตร”

โดยการมอบใบ “ปัญญาบัตร” ให้คนที่มีและใช้ความรู้ความสามารถ จนสร้างความสำเร็จในชีวิตของตนเอง แบบ "เชิงประจักษ์" 

โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดเรื่อง อายุ เงื่อนไขการเรียน การอ่านออกเขียนได้ หรือสถานะอื่นใด เหมือนในการมอบ “ปริญญาบัตร”

ผมในฐานะกรรมการยกร่าง จึงพยายามค้นหาความหมายว่า สองคำนี้ต่างกันอย่างไร ที่พบว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ให้ความหมายว่า

ปริญญา [ปะรินยา] น. ความกําหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความรู้รอบ

ปัญญา [ปัน-ยา] น. ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่การเรียนรู้

ที่อ่านดูแล้ว ใกล้เคียงกันมาก

ต่างกันเล็กน้อย ตรงวรรคสุดท้าย ที่ “ความฉลาดเกิดแต่การเรียนรู้

ที่น่าจะเป็นจุดต่างที่สำคัญ

ที่การมีปริญญา (อาจจะ) ยังไม่ฉลาด

แต่ก็แปลกมาก ที่เราเรียก “นิสิต นักศึกษา” ว่า ปัญญาชน แม้จะยังไม่ได้รับใบปริญญาด้วยซ้ำ

ที่ทำให้ดูเสมือนว่า เขาเหล่านั้นเป็น “ปัญญาชน” มาก่อนเป็น “ปริญญาชน” ที่ฟังแล้วลักลั่นยังไงพิกล

หรือว่าแต่เดิม สมัยก่อนมันเป็นเช่นนั้นจริง แต่คำว่า “ปริญญา” มาใช้อย่างผิดๆถูกๆ จนทำให้ “เสื่อม” ในภายหลัง จึงทำให้ดูด้อยกว่า “ปัญญา”

แต่ถ้าใช้เพียงความรู้สึกจากสถานการณ์ปัจจุบันตัดสินแล้ว

ปัญญาบัตร น่าจะดีกว่า ปริญญาบัตร

ที่จะนำเสนอต่อไปเพื่อการยกย่องคนดีในสังคมไทย

ให้เป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมทุกระดับครับ

อยากฟังความเห็นจากท่านที่มี “ปริญญาบัตร” และ ผู้ที่มีสิทธิได้รับ “ปัญญาบัตร” ทุกท่านครับ

ว่าท่านเห็นอย่างไร

เราจะประชุมสรุปประเด็นนำเสนอกันในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ นี้ ที่ มสธ. ข้างๆ เมืองทองธานี ครับ

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

 

หมายเลขบันทึก: 427926เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2011 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เจริญพรอาจารย์

ขอนุญาตแลกเปลี่ยนสักเล็กน้อย สมมุติว่ามีคนไข้ ๒ คน
คนแรกรู้ทุกอย่าง รอบรู้ไปหมด(ปริญญาบัตร)
คนที่สอง รู้เฉพาะทาง เฉพาะอย่าง แต่รู้จริง เชี่ยวชาญ(ปัญญาบัตร)
คนที่หนึ่งดูดีมากเลย เห็นยาปุ๊บ สามารถบอกได้เลยว่า ยาชนิดนี้มีส่วนประกอบอะไรบ้าง แก้โรคอะไร รู้สรรพคุณทุกอย่าง เอาแต่นั่งอ่านฉลากยาทุกวัน ไม่ยอมกินสักที 
คนที่สอง อ่านไม่ออก แต่รู้สรรพคุณยาอย่างดี ว่ารักษาโรคอะไรได้บ้าง เคยกินมาแล้ว เช่น รู้จักสมุนไพร และก็ไม่เคยอ่านสรรพคุณยาด้วย เมื่อรู้แล้วก็ไม่ต้องรอให้ใครบอกแนะนำ กินได้ทันที โครภัยก็หาย

สรุปว่าคนแรกแม่นเรื่องทฤษฎี คุยได้ทุกเรื่อง แต่ทำไม่เป็นเลย ไม่มีประสบการณ์ แก้ปัญหาไม่ได้ ความรู้ท่วมหัว
ส่วนคนที่สอง ทำได้ เอาตัวรอด เลี้ยงตัวเองได้ ผ่านงานมาอย่างโชกโชน ประสบการณ์เพียบ แก้ปัญหาได้(อาศัยปัญญาปฏิบัติ) แต่อ่อนเรื่องทฤษฎี ไม่ทราบเข้าประเด็นหรือไม่

ขออ้างพุทธภาษิตที่คนรู้จักกันดี เช่น ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์ ฟังด้วยดีจะทำให้เกิดปัญญา ปัญญารู้ได้ด้วยการพูดคุยสนทนา(สากัจฉา) ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก มีปัญญาก็มีสุข แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี คนฉลาดไม่เข้าเรื่อง ไม่ทำให้เกิดสุข

ขอเจริญพร

 

อ.แสวงคะ

หนูเห็นด้วยกับการให้ปัญญาบัตร เพื่อยกย่องท่านที่มีความรู้ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และการทำงานจริง จนเกิดเป็นทักษะการเรียนรู้ของตนเอง

และรบกวนสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์ต้นแบบที่ดีในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมคะว่า มีเกณฑฺ์ที่จะมอบปัญญาบัตรอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ อาจารย์

ขอบคุณมากๆ ค่ะ ^_^

อ.แสวงครับ  ผมเห็นด้วยกับการให้ปัญญาบัตร  เพื่อยกย่องบุคคลที่ใช้ประสบการณ์ของตนเองจนสามารถดำเนินชีวิต อยู่ในสังคมของเกษตรกรในปัจจุบันได้อย่างน่าชมเชยอย่างยิ่ง  เพราะปราชณ์ชาวบ้านต่างๆเหล่านี้แหละครับคือของจริง ที่ท่านพิสูจน์มาแล้วจากประสบการณ์ว่าทำได้จริง

ขอบพระคุณมากครับ สำหรับความเห็น

เกณฑ์ที่ใช้ประเมินก็คล้ายๆกับที่ผมเขียนไว้แล้วเมื่อวานนั่นแหละครับ

คือเกณฑ์ ๘ ข้อ อาจใช้สัก ๖ ข้อแรก หรือทั้ง ๘ ข้อเลยครับ

แต่มีแนวโน้มจะใช้ ๘ ข้อเลยครับ

เห็นเป็นอย่างไร ช่วยพิจารณาด้วยก็จะดีมากครับ

อ.แสวงคะ

หนูตามไปอ่านบันทึกนั้นแล้ว พอดีมีแนวคิดเพิ่มมาอีกอย่างหนึ่งว่า น่าจะเป็นคนที่แบ่งปันความรู้แก่ชุมชนหรือผู้อื่น คือเป็นเกณฑ์ที่แสดงถึงการได้แบ่งปันและถ่ายทอดความรู้จากการได้ทำงานและประสบการณ์แก่ผู้อื่นน่ะคะ

ไม่รู้ว่าจะเหมาะสมหรือไม่คะ ^__^

คิดว่าแฝงอยู่ในข้อที่ ๕ ถ้าไม่ทำ ก็จะไม่มีเพื่อนครับ การแบ่งปันทำให้มีเพื่อนช่วยเหลือกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท