บันทึก สรส. หนุน KM ท้องถิ่น : 1. อบต. ท่าข้าม อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา


เป้าหมายของสรส.ที่ต้องการหนุนเสริม “สถาบันจัดการความรู้ชุมชน” ซึ่งก็คือแหล่งเรียนรู้ในชุมชนนั่นเอง ฟังๆดูแล้วเหมือนกับว่าอบต.ท่าข้ามได้ทำหน้าที่ “สถาบันจัดการความรู้” ในชุมชนมาพอสมควรแล้ว

บันทึก สรส. หนุน KM ท้องถิ่น  : 1. อบต. ท่าข้าม  อ. หาดใหญ่  จ. สงขลา

 

         ต่อไปนี้เป็นบันทึกที่ทีมงาน สรส. (โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข) ส่งมาให้ สคส. เพื่อให้ สคส. ได้เรียนรู้ร่วมไปด้วย ว่าในท้องถิ่นเขามีการจัดการความรู้กันไปถึงไหนแล้ว       ผมจึงเอามาเผยแพร่ต่อ      เข้าใจว่าบันทึกนี้จะเป็นของคุณสมโภชน์ นาคกล่อม (ปาน)     หวังว่าเมื่อคุณปานเห็นผมขโมยบันทึกนี้มาลง     วันหลังคุณปานจะได้เอาบันทึกลง บล็อก เอง

 

 

การพูดคุยเรื่องการจัดการความรู้และองค์กรแห่งการเรียนรู้

องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๙

 

                หลังจากได้มีโอกาสรู้จักท่านนายกอบต.ครั้งแรกเมื่อคราวเวทีท้องถิ่นไทย จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา และได้รับการติดต่อให้ไปพูดคุยกับทีมงานอบต.เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๙

                การพูดคุยเริ่มต้นเริ่มจากการแนะนำตัวเองของทีมเจ้าภาพแต่ละคน จากนั้นทีมผู้มาเยือน (สรส.) ก็แนะนำตัวเอง อาจารย์ทรงพลซึ่งเป็น วิทยากรหลัก ในวันนี้ แนะนำตัวเป็นคนสุดท้าย ได้เล่าประวัติของตัวเองโดยโยงเข้าเรื่องการเรียนรู้ว่า การมีประสบการณ์ทำงานหลากหลายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทำให้เราเป็นคนที่ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ

                จากนั้นอาจารย์ทรงพลก็ให้ภาพแนวคิดการพัฒนาตำบล โดยเริ่มต้นจากปรากฏการณ์ที่เห็น เช่น ความยากจน ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่หน่วยงานต่างๆมักจะเข้ามาพัฒนาแบบแยกส่วน จากนั้นให้ภาพการเรียนรู้และพัฒนาในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน เช่น วัฒนธรรม การเกษตร สุขภาพ โดยการจัดการความรู้จะเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาตำบลของอบต.ได้อย่างไร และสรส.มีส่วนสนับสนุนอะไรได้บ้าง 

                โดยได้กล่าวถึงเป้าหมายของสรส.ที่ต้องการหนุนเสริม สถาบันจัดการความรู้ชุมชน ซึ่งก็คือแหล่งเรียนรู้ในชุมชนนั่นเอง ฟังๆดูแล้วเหมือนกับว่าอบต.ท่าข้ามได้ทำหน้าที่ สถาบันจัดการความรู้ ในชุมชนมาพอสมควรแล้ว เช่น เรื่องเกษตร เรื่องการศึกษา อาชีพ และการเงินชุมชน  โดยสิ่งที่อบต.ทำอยู่แล้วก็ดี หรือสิ่งที่คิดจะทำก็ดี สรส.จะมีส่วนช่วยหนุนเสริมได้ในแง่ของกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาคน การเชื่อมโยงวิทยากรและแหล่งเรียนรู้ภายนอก เนื่องจากมีพันธมิตรทั้งส่วนกลางและภูมิภาคมากมายแต่ท้องถิ่นส่วนมากเข้าไม่ถึงและไม่ได้ใช้ประโยชน์  หรือการเป็นเจ้าภาพเครือข่ายการเรียนรู้ (เปิดพื้นที่หรือเวทีการเรียนรู้) ในพื้นที่เป็นต้น 

                วกมาสู่เรื่องการภายในองค์กรของอบต.เอง อาจารย์ทรงพลได้ให้ภาพของงานที่อบต.ต้องรับผิดชอบ 3 ด้านหลักคืออาชีพ ครอบครัว และวัฒนธรรม สามารถใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการทำงานโดยหนุนเสริมแกนนำที่สนใจในประเด็นต่างๆเป็นคนทำงานในระดับหมู่บ้านหรือในพื้นที่ เพื่อเป็น ต้นแบบ ให้ผู้อื่นเรียนรู้

                ฉะนั้น สิ่งที่ควรจะทำในอันดับแรกคือการเอ็กซเรย์หา บุคคลเป้าหมาย เหล่านี้ในชุมชน ว่าเป็นใคร  ส่วนในการทำงานเราใช้ทุนและทรัพยากรต่างๆ (ทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงิน) ที่มีอยู่ในตำบล ไม่ว่าจะเป็นวัด สถาบันทางศาสนา ผู้รู้ในชุมชน โรงเรียน กลุ่มเด็กและเยาวชน หรือสื่อในชุมชน เช่น วิทยุชุมชน วารสาร เป็นต้น

                หลังจากฟังเพื่อเรียกน้ำย่อยแล้ว อาจารย์ทรงพลได้เว้นช่วงให้ทุกท่านได้แสดงความคิดเห็นว่า รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร มีคำถามอย่างไร มีหลายท่านได้แสดงความคิดเห็น เช่น อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของอบต.  ปลัดอบต. ร่วมสะท้อนแลกเปลี่ยน ซักถาม  

                สืบเนื่องจากที่ปรึกษา (อดีตผู้ว่า) สะท้อนว่าเรื่องนี้ทำยากเพราะเกี่ยวเนื่องกับหลายๆ คน อาจารย์ทรงพลจึงให้ดูชีวิต ครูใหญ่เกาหลี เพื่อกระตุ้นพลังและแรงบันดาลใจ ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆแค่คนๆเดียว รู้สึกทุกคนรู้สึกกระฉับกระเฉง เนื่องจากได้เปลี่ยนบรรยากาศจากการฟังเป็นการชมภาพยนต์  เราได้สรุปและสะท้อนจากการดูหนังเล็กน้อยก่อนพักอาหารเที่ยง

      (มีต่อ)

  

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 42756เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท