เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน : การพัฒนาการวิจัย


การถือเอาชุมชนให้เป็นหน่วยปฏิบัติการทางการศึกษาและหน่วยการเรียนรู้ นอกจากจะเป็นการบุกเบิกมิติการศึกษาเรียนรู้ในความหมายที่กว้างกว่าการศึกษาในระบบโรงเรียน ให้มีบทบาทต่อการพัฒนาชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมมากยิ่งขึ้นแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการศึกษาในระบบ ให้มีความสามารถจัดการตนเอง ซึ่งในที่สุด ก็จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะส่งผลต่อการยกระดับให้การศึกษาในระบบเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีมากยิ่งๆขึ้นไปด้วย

โดยนัยสำคัญดังกล่าวนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน ในอีกความหมายหนึ่ง จึงเป็นการปฏิรูปการศึกษาด้วยระบบชุมชน โดยมีส่วนสำคัญต่อการเตรียมพื้นฐานผู้เรียนและทรัพยากรการศึกษาที่ป้อนเข้าสู่การศึกษาในระบบ อีกทั้งพลังความเป็นชุมชนนั้น ก็ย่อมเป็นสภาพแวดล้อมและเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการศึกษา ที่จะเกิดการพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งเพียงพอต่อการมีบทบาทสนับสนุนโรงเรียนและสถานศึกษา ให้บรรลุจุดหมายที่พึงประสงค์ร่วมกันได้ดียิ่งๆขึ้น

ดังนั้น การวิจัยด้านกระบวนการเรียนรู้ชุมชน ตลอดจนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน จึงเป็นการวิจัยทางการศึกษาอีกสาขาหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการศึกษาเชิงระบบ ทำให้เกิดเครือข่ายชุมชนเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม พร้อมกับเชื่อมโยงมิติการศึกษาให้มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการสร้างความเป็นจริงให้เกิดขึ้นแก่สังคม มากยิ่งๆขึ้นไปด้วย หน่วยงานทางการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรต่างๆที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของประชาชน ตลอดจนการวิจัยของมหาวิทยา หากสามารถพัฒนาการวิจัยในด้านนี้ด้วย ก็นับว่าเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะในชนบท ซึ่งมักมีข้อจำกัดด้านคนและทรัพยากรทางวิชาการ ได้มีเครือข่ายจากภายนอกชุมชนเป็นกำลังร่วมคิดและทำสิ่งต่างๆ ได้ดีมากยิ่งๆขึ้น

จากประสบการณ์ที่พอมี ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะต่อผู้สนใจ ในอันที่จะดำเนินการวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน ให้มีบทบาทต่อการพัฒนาการจัดการตนเองของชุมชนและการดำเนินงานของท้องถิ่น เพื่อสร้างสุขภาวะชุมชนได้เป็นอย่างดีมากยิ่งขึ้น ดังนี้ :

การวิจัยพื้นฐาน : มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆต่อไปนี้ในระดับความเป็นจริงของชุมชนว่าในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้คิด ตัดสินใจ และริเริ่มสิ่งต่างๆได้อย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของชุมชน : การสร้างความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมิติสังคมวิทยาชุมชนในบริบทใหม่ๆของสังคมไทย ทั้งในสังคมเมือง สังคมชนบท และพื้นที่พิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต ตลอดจนการวิเคราะห์ทางสังคมประชากร การวิเคราะห์และพัฒนาโครงการทางประชากรศึกษา สิ่งแวดล้อมศึกษา และการศึกษาเพื่อการพัฒนาในมิติต่างๆ ด้วยแนวคิดและวิธีการที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถนำไปสู่การวางแผนปฏิบัติทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนได้อย่างสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางสังคม เช่น พื้นที่เขตอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ พื้นที่ชายแดนซึ่งลักษณะทางสังคมมีความพิเศษจำเพาะ พื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม พื้นที่ขาดแคลนทรัพยากรและไร้โอกาส ชุมชนในความหมายใหม่ เช่น สังคมออนไลน์ ชุมชนบ้านจัดสรร ชุมชนในองค์กรและแหล่งประกอบการขนาดใหญ่ เป็นต้น ประกอบด้วย

  • การวิเคราะห์สภาวการณ์ด้านการเรียนรู้ : การบริโภคข้อมูล ข่าวสาร สภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนในชุมชน สภาวการณ์ความเท่าทันสื่อและศักยภาพการสื่อสารเรียนรู้ที่ใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของชุมชน (Literacy in Educational Technology and Innovation) ศักยภาพ ทุนประสบการณ์ และสภาพการดำเนินการและการจัดการตนเองของชุมชน องค์กรท้องถิ่น และกลุ่มประชาคม ในพื้นที่ชุมชน ระบบและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน การปฏิสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกันของการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษากับกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน
  • การสร้างความรู้พื้นฐานเพื่อใช้ทำงานให้เหมาะสมกับชุมชน : แบบแผนการสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้ของประชาชนกลุ่มต่างๆในชุมชน บทบาทการศึกษาเรียนรู้และการใช้ความรู้ในชีวิตประจำวัน วิธีเรียนรู้จากแหล่งประสบการณ์ต่างๆ วิธีเรียนรู้ ผลกระทบ และผลสืบเนื่องของพัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนต่อมิติต่างๆในวิถีชีวิตชุมชน

การวิจัยทางมานุษยวิทยา : มุ่งสร้างความรู้ของชุมชนในมิติต่อไปนี้ว่าเป็นอย่างไร ? : การวิจัยที่ทำให้ชุมชนค้นพบตนเอง เข้าถึง และจัดความสัมพันธ์กับโลกรอบข้างได้อย่างเป็นตัวของตัวเองมากยิ่งๆขึ้น เช่น การวิจัยเพื่อเข้าถึงระบบวิธีคิดที่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเองของชุมชนตลอดจนกลุ่มทางสังคมต่างๆ ครอบคลุมทั้งระบบวิธีคิดต่อความจริง ความดี ความงาม ตลอดจนระบบความเชื่อ ระบบคุณค่า ระบบความรู้ สังคมวิทยาชุมชนที่สร้างขึ้นจากความรู้และประสบการณ์ของชาวบ้าน ประวัติศาสตร์จากการบอกเล่าและการสะสมไว้ในวิถีชีวิตของชุมชน มรดกทางสังคมของชุมชน แหล่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ความภูมิใจร่วมกันของชุมชน นิทาน เรื่องเล่า เพลง งานศิลปะและการสร้างสรรค์ ศิลปะในอาหารและเสื้อผ้า ระบบคิดเกี่ยวกับชีวิตและความสำนึกต่อมิติส่วนรวมของสังคมในชุมชน วัฒนธรรมการสื่อสารและการแสดงภาวะปัจเจกภาพในบริบทของชุมชน

การวิจัยและพัฒนาการมุ่งคิดค้น ประดิษฐ์ ปรับปรุงวิธีการและการปฏิบัติเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน เพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะสาธารณะชุมชน ดังต่อไปนี้ว่าทำให้ดีและมีความเหมาะสมพอเพียงแก่ชุมชน ได้อย่างไร ? : การพัฒนาทักษะการสื่อสารและการเรียนรู้ทางสังคมเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองในเงื่อนไขแวดล้อมที่จำเป็นของชุมชน การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมต่อสาธารณะด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์ของประชาชน การพัฒนาทักษะพ่อแม่และสมาชิกครอบครัวในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะและภาวะผู้นำทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาของผู้นำชุมชน เครือข่าย อสม กลุ่มการรวมตัวของประชาชน กลุ่มเยาวชน การพัฒนาทักษะการสื่อสารและจัดการความรู้ในภาวะวิกฤติ การพัฒนาทักษะการสื่อสารและสร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมชุมชน การถอดบทเรียนและพัฒนาความเข้มแข็งในการจัดการตนเองของชุมชน อบต โรงเรียน อสม และเครือข่ายประชาชนในชุมชน การพัฒนาสื่อและระบบจัดการความรู้ที่เหมาะสมสำหรับชุมชน การพัฒนาระบบแสง สี เสียง และระบบไฟ เพื่อจัดงานต่างๆที่มีรสนิยมและสร้างสรรค์มิติชุมชน รูปแบบการจัดงานและการใช้สื่อให้กิจกรรมชุมชนมีความหมายต่อการสืบทอดระบบภูมิปัญญาของชุมชนอย่างเข้มแข็ง

การวิจัยปฏิบัติการ : มุ่งเรียนรู้จากการปฏิบัติ สร้างความรู้ชี้นำการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างดำเนินการและวิธีจัดการต่างๆเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาของชุมชนในสิ่งต่อไปนี้ว่าทำให้เกิดขึ้นด้วยการพึ่งตนเองในการจัดการของชุมชนได้อย่างไร เหตุผลและวิธีคิดต่อการดำเนินการต่างๆของชุมชนเป็นอย่างไร บรรลุผลที่ต้องการอย่างไรบ้าง บทเรียน องค์ความรู้ นวัตกรรม กระบวนการค้นพบ และภูมิปัญญาปฏิบัติต่างๆเป็นอย่างไร  ? :  แหล่งการเรียนรู้และนำเสนอข้อมูลชุมชนที่ดำเนินการและบริหารจัดการด้วยตนเองของกลุ่มประชาคมในชุมชน การระดมพลังการมีส่วนร่วมเพื่อดำเนินการและบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้และนวัตกรรมการเรียนรู้ในชุมชน เช่น เครือข่ายบ้านเรียน กิจกรรมในสวนสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสร้างการพักผ่อนหย่อนใจร่วมกันนอกบ้าน เครือข่ายโรงเรียน อสม บ้านเรียนศิลปะชุมชน องค์กรและเครือข่ายดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับกลุ่มพลเมืองสูงวัย ผู้พิการ กลุ่มสร้างสรรค์การพึ่งตนเอง และกลุ่มเป้าหมายต่างๆ การดำเนินการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ของชุมชน การจัดการชุมชนเรียนรู้ผ่านการพัฒนาระบบการผลิตในวิถีทำกินของชุมชน การดำเนินการศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้ชุมชนทางสื่อ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนด้วยการจัดการเชิงธุรกิจ ธุรกิจเชิงวิชาการ ธุรกิจเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่พอเพียง การสร้างงานและรูปแบบออแกไนเซอร์งานต่างๆในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ที่เด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน สามารถบริการชุมชนและทำงานเพื่อพึ่งตนเองในการพัฒนาชีวิตที่ดีได้ การพัฒนาโครงสร้างและการจัดองค์กรดำเนินการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนตามที่ต้องการขององค์กรท้องถิ่นและชุมชน การพัฒนาเวทีชุมชนและแหล่งการเรียนรู้สาธารณะในชุมชนให้เกิดระบบจัดการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชนที่มีประสิทธิภาพ การดำเนินการเครือข่ายจัดการความรู้ทางเว็บบล๊อกเพื่อทำให้ชุมชนมีคลังความรู้ พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ท้องถิ่น และสามารถเข้าถึงจากสังคมภายนอกได้อย่างกว้างขวาง

แนวดำเนินการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคม เพื่อเคลื่อนไหวชุมชนให้ได้ร่วมกันปฏิบัติและเรียนรู้การจัดการตนเองด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน ก่อนที่จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพียงได้แต่ความทันสมัย อีกทั้งเข้าถึงประชาชนและชุมชนได้อย่างทั่วถึงไปจนถึงระดับครัวเรือนและระดับปัจเจกนั้น จะทำให้ชุมชนเกิดระบบวิธีคิด รวมทั้งเห็นคุณค่าความสำคัญของความรู้กับการดำเนินชีวิต ตลอดจนเห็นคุณค่าความสำคัญของภูมิปัญญาชุมชน แล้วจึงมีเหตุผลที่ดีต่อการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ซึ่งบทเรียนจากหลายแห่ง ที่สามารถดำเนินการในแนวทางดังกล่าวนี้ได้ เช่น เวทีคนหนองบัว, เครือข่ายโฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนา, เครือข่ายโรงเรียน อสม, เครือข่ายบล๊อกเกอร์จำนวนหนึ่งของเว็บบล๊อก GotoKnow ซึ่งกำเนิดที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นสังคมออนไลน์ที่เชื่อมโยงถึงภาคปฏิบัติการในชุมชนด้วย เหล่านี้ ได้ให้บทเรียนที่น่าสนใจบางประการว่า จะก่อให้เกิดการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาอย่างมีคุณค่า อีกทั้งมีการจัดการของชุมชนที่เข้มแข็งมากกว่าการได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆโดยขาดกระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการอยู่กับการปฏิบัติ 

ยิ่งไปกว่านั้น การมุ่งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินการและจัดการตนเองได้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน จะเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยแปรประสบการณ์ของชุมชนในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ให้สามารถบันทึก สร้างเป็นระบบความรู้และคลังภูมิปัญญา ตลอดจนเป็นสื่อการเรียนรู้และทรัพยากรทางความรู้ ซึ่งจะสามารถเป็นวัตถุดิบและเป็นปัจจัยพื้นฐาน ในอันที่จะริเริ่มสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงต่างๆของสังคม ขึ้นจากพื้นฐานที่งดงามและเข้มแข็งของชุมชน ทั้งทางด้านการปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน การพัฒนาสังคมวัฒนธรรมประชาธิปไตย การพัฒนาสังคมวัฒนธรรมการอ่านและการใช้ความรู้ในบริบทการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่

ที่สำคัญคือ จะช่วยทำให้สังคมมีเครือข่ายการเรียนรู้และสร้างความเป็นจริงของตนเองให้ปรากฏ สามารถค้นหาและเข้าถึงด้วยระบบจัดการความรู้ลงไปจนถึงระดับวิถีชีวิตชุมชนที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในระบบข้อมูลและความรู้ทางสังคมมาก่อน ซึ่งจะทำให้ชุมชนอีกเป็นจำนวนมากสามารถร่วมนำเสนอความเป็นจริงใหม่ๆที่ดีและมีอยู่ในสังคมของประเทศ ที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยเห็นความเป็นตัวของตัวเองดังกล่าว เพราะไม่มีวิธีจัดการเข้าไปช่วยชุมชนได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ.

หมายเลขบันทึก: 427405เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2011 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)
  • เพิ่งกลับมาจากไร่
  • หลังจากไปแก่งกระจานมาครับ
  • ชอบเรื่องการวิจัยและพัฒนา
  • อีกเรื่องคือวิจัยปฏิบิติการ
  • เอามาฝากด้วยครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/426973

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
ตอนนี้แถวแก่งกระจานคงสวยงามมากเลยนะครับ
ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันครับ

                        

แวะไปเยี่ยมบันทึกและรายงานการไปทำเวิร์คช็อปพัฒนาศักยภาพการวิจัยของเหล่าคุณครูกับอาจารย์ด้วยครับ ได้บรรยากาศการทำงานและพากันเรียนรู้แบบเพื่อนคนทำงานด้วยกันที่ดูดีมากเลยนะครับอาจารย์

สวัสดีครับอาจารย์วิรัตน์

ทุกชุมชนจะมีการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาท้องถิ่นตนเองอยู่ตลอดเวลา เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียนอย่างไม่เป็นทางการ และมีครูอย่างไม่เป็นทางการ

เป็นการวิจัยปฏิบัติการที่คนในชุมชนเป็นนักวิจัยในเรื่องที่เขาถนัด จัดการเองได้

ทำอย่างไรจะให้ความรู้ของทุกท้องถิ่น ไม่สลายไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่

ต้องมีการจัดการความรู้ฉบับท้องถิ่นฉันเอง

สวัสดีครับกานต์

การมีวิธีช่วยสร้างความรู้และจัดการระบบความรู้ของตนเองฉบับท้องถิ่น ของชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ อาจจะเป็นตัวทำให้งานอีกหลายอย่างได้พลังการมีส่วนร่วมจากผู้คน และทำให้ทำสิ่งต่างๆได้ดียิ่งๆขึ้นไปด้วยเลยนะครับ

กราบนมัสการขอพระคุณดอกไม้
จากท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

ขอบพระคุณดอกไม้
จากท่านอาจารย์ขจิตครับ

ขอบพระคุณดอกไม้
จากท่านกานต์ครับ

ขอบพระคุณดอกไม้
จากอาจารย์ศิลา ภูชยาครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่เขียนถึง GotoKnow ค่ะ ขอแก้ไขคำผิดนิดนึงค่ะ GotoKnow กำเนิดที่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ค่ะ

ป.ล. วันก่อนได้คุยเกริ่นไว้กับคุณเอกค่ะเรื่องมา meeting ที่หาดใหญ่ค่ะอาจารย์ จะขอเรียนเชิญอาจารย์ไว้ด้วยค่ะ

 

ขอบพระคุณครับอาจารย์ ดร.จันทวรรณครับ ได้แก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อยแล้วครับ
หากมีโอกาสก็ยินดีมาร่วม meeting และอาจได้หารือเพื่อมองหาทางทำอะไรให้เชื่อมโยงกัน ก็ดีเหมือนกันนะครับอาจารย์ ด้วยความยินดีนะครับ

ด้วยความยินดีค่ะ

นำบทสัมภาษณ์ของ อ. จากงาน NKM มาฝากค่ะ http://gotoknow.org/blog/hci/427530

ขอบพระคุณครับอาจารย์
ได้แวะเข้าไปอ่านด้วยแล้วครับ
ทีมงานของอาจารย์และ GotoKnow แข็งขันดีจังเลยนะครับ

พี่อาจารย์...มาบอกว่ายังระลึกถึงเสมอนะคะ....

                         

นานๆก็โผล่ขึ้นมาจาก facebook แล้วก็แวะมาทักทายกันใน GotoKnow อย่างนี้บ้างก็ดีนะหนูครูอ้อยเล็ก หายไปนานเลยนะนี่นะ คลับคล้ายคลับคราว่าเมื่อสักวันสองวันนี้จะมีใครถามถึงครูอ้อยเล็กอยู่นะครับ สงสัยทำให้เกิดแรงดลใจ ออกมารายงานตัวกันพอดี

ค่ะพี่อาจารย์..ตั้งหลักได้จะเข้าโกทูโนบ่อยๆเหมือนเคยค่ะ...ว่างเว้นคงมีเรื่องดีมาเขียนสู่กันฟังเชิงวิชาการ..อาจจะเป็นการนำโครงงานเด็กกีฬาเข้าสู่ชุมชนก็ได้นะคะ..อ้อยเล็กก็พยายามที่จะผลักดันให้เด็กได้เข้าร่วมชุมชนให้มากขึ้นค่ะ...

ขอเป็นกำลังใจ ให้มีความสำเร็จและได้ประสบการณ์ดีๆอยู่เสมอๆครับคุณครูอ้อยเล็ก

วันนี้ทำบุญบ้าน...เอาบุญมาฝากค่ะพี่อาจารย์...

  • ขออนุโมทนาครับ เมื่อเช้านี้ก็ได้ไปร่วมทำบุญขึ้นบ้านใหม่กับครอบครัวของน้องที่มหาวิทยาลัยมหิดลด้วยกัน พอสายๆหน่อยก็ไปช่วยเป็นวิทยากรกลุ่มให้กับเวทีพัฒนาเครือข่ายครูวิจัยของเขตพื้นที่การศึกษา เขต ๒ จังหวัดนครปฐม ตกเย็นนี้ก็ได้ร่วมรับทราบการได้ทำบุญบ้านของครอบครัวหนูอ้อยเล็กนี่อีก วันนี้เลยมีแต่เรื่องดีๆตั้งแต่เช้ากระทั่งเย็นเลย
  • ขนมไทยๆทั้งนั้นเลยนะครับ ฝีมือคุณแม่คุณครูอ้อยเล็กแน่เลย

พี่อาจารย์ขนมเหล่านี้เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องเอามาร่วมทำบุญค่ะ...ฝีมือแม่อ้อยเล็กคือเต้าตาลเชื่อม 2ถ้วยคู่น่ะคะ..น้องนั้นร่วมบุญทั้งนั้นค่ะ...

นี่เข้าสูตรของการวิจัยชุมชนและการทำงานชุมชนเลยนะครับ
ที่ว่าการเห็นขนม กับข้าว และของโฮมบุญหลากหลาย
ก็เป็นตัวบ่งชี้ความสมัครสมานสามัคคีและความเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างหนึ่ง

Ico48..ช่ายค่ะ..ตัวชี้วัดพวกนี้แม่อ้อยกลัวหายไปจากครอบครัวมากเพราะว่าลูกๆทำงานกรุงเทพฯ2 สงขลา1มีอ้อยที่อยู่บ้าน แม่ยังมีหวังที่จะให้อ้อยสานต่อความสัมพันธ์ความเป็นญาติพี่น้องในหมู่บ้านไว้ด้วยการไปช่วยงานบุญงานกุศลอยู่เนืองๆแต่ก็ไม่ค่อยมีเวลา อาศัยที่ว่าเป็นครูท.4 มีเด็กละแวกบ้านไปเรียนเยอะ ก็จะมีรุ่นหลังที่เป็นลูกศิษย์ที่รู้จักบ้านครูอ้อยๆอยู่ตรงนี้ บ้านครูอ้อยทำนั่นทำนี่มาช่วยไหมครู อะไรทำนองนั้น และก็มีรุ่นแม่ของลูกศิษย์ก็จะจำอ้อยได้ เพราะตอนวัยรุ่นก็ตะเวณหาบขนมขายไปทั่วหมู่บ้าน...ก็จะรู้ว่าอ้อยลูกใคร ทำอะไร เกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไรค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท