ประชาธิปไตยในพุทธศาสนา


                                   ประชาธิปไตยในพุทธศาสนา

            เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมาได้รับนิมนต์เป็นวิทยากรในหัวข้อ"ประชาธิปไตยในพุทธศาสนา"ของสภาเด็กและเยาวชน อ.ไชยปราการ  ในตอนแรกที่ได้รับทราบหัวข้อที่ต้องบรรยายก็รู้สึกว่า เอ.. จะบรรยายยังไงดีหนอ  ก็มานั่งขบคิดปัญหาพิจารณาเรื่องราวในพุทธศาสนา  จึงทำให้กระจ่างแจ้งว่า อ้อ..ที่จริงประชาธิปไตยนี้มีในพุทธศาสนาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีผ่านมาแล้ว

            ประชาธิปไตยหรือ "Democracy"เป็นคำที่ใช้มานานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณรุ่งเรือง ซึ่งมุ่งแสดงถึงการปกครองที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออก มีส่วนร่วมในการปกครองโดยเลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในสภาบริหารและสภานิติบัญญัติ  ผู้ให้คำนิยามแก่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่กระชับและสั้น คือ ลินคอล์น ที่ว่าประชาธิปไตย คือ การปกครองของประชาชน  โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

             ในพุทธศาสนานั้นพระพุทธเจ้าเองทรงปกครองดูแลเหล่าพุทธสาวกด้วยประชาธิปไตยเช่นกัน แม้ในยุคสมัยนั้นมีการแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างรุนแรง  แต่เมื่อพระองค์ก็ทรงเลือกที่จะให้เหล่าพุทธสาวกที่มาจากต่างชนชั้นกันอยู่ร่วมกันอย่างผู้ที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมเสมอกัน  ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเสมอกันไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร  พระองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อเป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่การบัญญัติวินัยนั้นก็ทรงบัญญัติเป็นพระสงฆ์มิได้บัญญัติตามลำพัง ต้องให้เกิดเรื่องก่อน แล้วประชุมสอบสวนแล้วบัญญัติพระวินัยท่ามกลางพระสงฆ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสงฆ์ต่างพร้อมใจกันนำไปปฏิบัติ การทำกรรมต่างๆ ของสงฆ์ ยกเว้นอปโลกนกรรม ล้วนให้ทำเป็นการสงฆ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ 

                   ญัตติกรรม-ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป เช่นการสวดปาติโมกข์               

ญัตติทุติยกรรม-ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรคคือ ๕ รูปขึ้นไป เช่น เรื่องกฐิน
ญัตติจตุตถกรรม-ทำด้วยสงฆ์ ทสวรรค คือ ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปยกเว้นในที่กันดาร เช่นการอุปสมบท
การให้มานัตต์ การสวดอัพภาน ก็ต้องใช้สงฆ์ตั้งแต่ ๒๑ รูปขึ้นไป จึงกล่าวได้ว่า
พระวินัย คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน
คุณสมบัติของพระสงฆ์ คือ คุณสมบัติของสมาชิก
อำนาจพระสงฆ์ คือ อำนาจอธิปไตย

อธิกรณ์สงฆ์ทั้ง ๔ คือ
ก. วิวาทาธิกรณ์-การขัดแย้งกันเกี่ยวกับธรรมวินัย
ข. อนุวาทาธิกรณ์-การโจทก์กันด้วยอาบัติต่างๆ
ค. อาปัตตาธิกรณ์-การละเมิดอาบัติต่างๆ
ง. กิจจาธิกรณ์-กิจของสงฆ์ที่เกิดขึ้นที่จะพึงทำด้วยสงฆ์จำนวนต่างๆ
ต่างก็จะต้องระงับด้วยวิธีการที่เรียกว่า อธิกรณสมถะ ๗ คือ
๑. สัมมุขาวินัย ระงับต่อหน้าสงฆ์ต่อหน้าบุคคลต่อหน้าวัตถุ
๒. สติวินัย การระงับด้วยการให้เกียรติแก่พระอรหันต์ ผู้มีสติสมบูรณ์
๓. อมูฬหกวินัย การระงับเหตุด้วยการยกเว้นให้แก่ผู้ทำผิดในขณะที่เป็นบ้า คือได้หลงไปแล้ว
๔. เยภุยยสิกา ระงับด้วยเสียงข้างมากลงมติ
๕. ปฏิญญาตกรณะ ระงับด้วยการทำตามปฏิญญา

๖. ตัสสปาปิยสิกากรรม ระงับด้วยการลงโทษศัตรูผู้ถูกสอบสวนแล้วพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย ให้การรับแล้วปฏิเสธ ปฏิเสธแล้วรับเป็นต้น
๗. ติณวัตถารกวินัย ระงับด้วยการประนีประนอมทั้งสองฝ่าย ดุจเอาหญ้าทับสิ่งสกปรกไว้ไม่ให้มีกลิ่น
     ทั้งอธิกรณ์และการระงับต้องทำเป็นการสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ดุจการตั้งกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้

แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟังดังท้ายกรรมวาจาว่า
"ยสฺสายสฺมโตขมติ...
.........โส ตุณฺหสฺสยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย"
"ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น"
อนึ่งการทำกรรมอันใดก็ตาม พระวินัยจะต้องพร้อมเพรียงกัน ดังคำขึ้นต้น ของกรรมวาจาว่า
"ยทิ สงฺฆสฺสปตฺตกลฺลํ"
ซึ่งแปลว่า "ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ พร้อมแล้ว... สงฆ์พึงทำ..." ดังนี้.

          นี่แหละคือ ประชาธิปไตยที่มีในพุทธศาสนามาเนิ่นนานแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #ประชาธิปไตย
หมายเลขบันทึก: 427298เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2011 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ท่านอาจารย์มหาครับ

ผมเป็น "แฟนคลับ" ของอาจารย์มหาฯ มาเนิ่นนานนะครับ อย่างไรก็ดี เมื่อได้อ่านเนื้อหาเกี่ยวกับ "ประชาธิปไตยแนวพุทธ" ที่ท่านอาจารย์มหาเีขียนแล้ว ผมมีข้อสังเกตที่ขอแลกเปลี่ยนครับ

พระวินัย คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน
คุณสมบัติของพระสงฆ์ คือ คุณสมบัติของสมาชิก
อำนาจพระสงฆ์ คือ อำนาจอธิปไตย

ประเด็นอื่นๆ ผมมองว่า "อาจจะตีความได้" เพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่อาจารย์มหาฯ พยายามจะดึงเข้าหาประเด็นที่ต้องการอธิบายเกี่ยวกับประชาธิปไตย  อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ผม "แรเงาเหลืองๆ" ผมขอแลกเปลี่ยนนะครับ

พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทนฯ   ผมไม่ค่อยชัดเจนในประเด็นนี้ครับ ว่า พระอาจารย์ตีความบนฐานของหลักการและแนวทางของอะไร  เพราะผู้แทนฯ ในยุคปัจจุับันนี้เกิดจากการเลือกทั้งสองทาง คือ ทางตรงและทางอ้อม ด้วยสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน หรือที่เราเรียกกันว่า "เลือกตั้งกับลากตั้ง" คำ่ว่า "พระสงฆ์" อาจจะหมายถึงพระภิกษุทั้งหมดใช่หรือไม่ครับ  หากใช่ พระภิกษุคือผู้ที่ผิดตัดสินใจบวชเอง มิได้หมายถึงคนที่ได้รับการโหวต หรือไดรับการเลือกให้บวช จึงบวชได้  ในประเด็นนี้ เราจะเทียบเคียงกับผู้แทนฯ ได้อย่างไรครับ

เนื่องจากเป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ  ฉะนั้น กราบรบกวนอาจารย์มหาฯ ช่วยกรุณาขยายความเพิ่มเติมได้ไหมครับ ก่อนที่ผมจะแลกเปลี่ยนต่อไปในโอกาสหน้า

ประเด็นต่อไปที่ผมขออนุญาติถามต่อนะครับ

ทั้งอธิกรณ์และการระงับต้องทำ เป็นการสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ดุจการตั้งกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้

ผมเรียนตรงๆ ว่าผมก็ไม่ค่อยชัดในประเด็นนี้เช่นกันครับ  เรียนตรงๆ ว่าผมทำวิจัยเรื่อง "รูปแบบการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี" ซึ่งรูปแบบที่ผมกล่าวถึง ผมได้นำเสนอ "หลักการอธิกรณสมถะ" ที่พระพุทธเ้จ้าได้ออกแบบให้เป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง   ถึงกระนั้น  หลักการสัมมุขาวินัย (วิธีจัดการความขัดแย้งในที่พร้อมหน้า) ก็ตาม หรือตัสสปาปิยสิกา (วิธีจัดการความขัดแย้งด้วยการลงลงโทษแก่ผู้กระทำผิด) ก็ตาม  แนวทางคือการตั้งกรรมการ หรืออนุกรรมการ (อนุกรรมการอาจจะใช้ในหลักอุพพาหิกา) ขั้นมาเพื่อดำเนินการเรียกโจทก์ และจำเลยมาซักถามต่อหน้าธรรม วินัย สงฆ์ หรือบุคคลก็ตาม

ประเด็นคือ "การที่อาจารย์มหาฯ พยายามตีความกลุ่มคนที่เป็นกรรมการ หรืออนุกรรมการ" ว่าเป็น "กรรมาธิการของสภา" อาจารย์ใช้หลักการใดเข้ามาอธิบายเทียบเคียงครับ กราบรบกวนขอความรู้เพิ่มเติมด้วย  เพราะสิ่งที่อาจารย์นำเสนอนั้น ยอมรับว่าเป็นความรู้ใหม่สำหรับผม และผมตื่นเต้นที่ได้อ่านงานท่านครับ

ผมจะรอคำตอบจากอาจารย์มหาฯ นะครับ ขอได้โปรดกรุณาผมด้วย

ด้วยสาราณียธรรม

 

ขอบพระคุณอาจารย์นะครับที่ติดตามผลงานผมเสมอ และขออภัยด้วยครับที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์ช้าไปหน่อย  สำหรับ

พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน  ก็คงไม่เหมือนชาวบ้านที่เลือกผู้แทนราษฎรษ์เสียเลยทีเดียว เพราะพระสงฆ์ไม่ได้ผ่านการคัดเลือกดั่งเช่นชาวบ้านแน่นอนครับ แต่การที่พระสงฆ์จะเข้าทำสังฆกรรมใดก็จะได้รับการเลือกจากหมู่สงฆ์ให้ทำหน้าที่ในกรรมนั้น ๆ เช่น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ พระอนุสาวนาจารย์ พระอันดับ เป็นต้น นั่นก็คือ การได้รับการคัดเลือกจากพระภิกษุทั้งปวงนั่นเองครับ

 

ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องของคณะกรรมาธิการนั้น ในทางบ้านเมือง คณะกรรมาธิการ Committee หมายเฉพาะถึงคณะกรรมการที่รัฐสภาหรือสภาแต่ละสภาแต่งตั้งขึ้นเพื่อศึกษาสอบสวนกรณีใด ๆที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา หรือของสภาแล้วแต่กรณี หรือ หมายถึง คณะบุคคลที่สภาตั้งขึ้นเพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาแล้วรายงานต่อสภาซึ่งการมอบหมายให้คณะกรรมาธิการกระทำการดังกล่าวเป็นการมอบหมายเฉพาะเรื่อง

     ก็เช่นเดียวกันครับในพุทธศาสนาก็ไม่คล้ายกับบ้านเมืองทั้งหมด  แต่ก็สามารถเทียบเคียงได้จากการตั้งการกสงฆ์ (การกสงฆ์ (อ่านว่า กา-รก-สงฆ์, การะกะสงฆ์) แปลว่า สงฆ์ผู้ทำกิจ, หมู่ภิกษุผู้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญ ใช้เรียกสงฆ์หมู่หนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ทำกิจสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นประโยชน์แก่หมู่คณะหรือแก่พระศาสนา ได้แก่ กิจการที่เป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อรักษาพระธรรมวินัย เพื่อชำระอธิกรณ์ เป็นต้น) ซึ่งการกสงฆ์ ได้แก่สงฆ์ที่ร่วมกันทำสังคายนาหรือทำสังฆกรรมต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า สังคีติการกสงฆ์ กัมมการกสงฆ์ ตามลำดับ ในการตั้งพระภิกษุเข้าสู่การเป็นการกสงฆ์นั้นก็จะต้องคัดเลือกพระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านในเรื่องนั้น ๆ

       ก็คล้ายคณะกรรมาธิการฝ่ายบ้านเมือง (คณะกรรมาธิการเป็นกลไกที่สำคัญของสภา เพราะสภามีหน้าที่กว้างขวางครอบคลุมในกิจกรรมทุกประเภท การปฏิบัติหน้าที่ทั้งในทางนิติบัญญัติและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินจึงจำเป็นต้องอาศัยคณะกรรมาธิการเป็นหลัก เนื่องจาก

        1. สภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนมาก มีระยะเวลาในการประชุมที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถตอบสนองปริมาณงานของสภาที่มีจำนวนมากได้

        2. สมาชิกสภาแต่ละบุคคลมีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และความสนใจในปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันในปัญหาแต่ละด้าน )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท