การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาบัณฑิตในอุดมคติ : 2. เล่นกับภาพฝัน และภาพจริง


โอกาสที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะทำประโยชน์อันลึกล้ำให้แก่สังคม เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดให้ลึกลงไปในระดับคุณค่าและจิตวิญญาณ จึงจะเห็น ถ้ายังคิดแบบผิวเผินในระดับกิเลสที่หนาเขรอะ จะไม่มีวันมองเห็น เพราะกิเลสมันบดบังเสียหมด

การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาบัณฑิตในอุดมคติ  : 2. เล่นกับภาพฝัน และภาพจริง

        ดังได้เล่าไว้แล้วว่าผมจะไปบรรยายพิเศษเรื่องนี้ที่พิษณุโลกในวันจันทร์ที่ ๗ สค.     และได้ให้ความเห็นเชิงหลักการไว้แล้วที่นี่      วันนี้ผมมีโอกาสได้คิดใคร่ครวญต่อ     ยิ่งเห็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะทำประโยชน์อันลึกล้ำให้แก่สังคม      เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดให้ลึกลงไปในระดับคุณค่าและจิตวิญญาณ จึงจะเห็น     ถ้ายังคิดแบบผิวเผินในระดับกิเลสที่หนาเขรอะ จะไม่มีวันมองเห็น     เพราะกิเลสมันบดบังเสียหมด

        แต่ต้องระวังนะครับ     อย่าเชื่อผมมากไป     ผมอาจจะผิดเสียเองก็ได้     ผมอาจจะเสนอแบบคนกิเลสหนาไปอีกแนวหนึ่ง ก็ได้     พึงอ่านและพิจารณาโดยยึดถือกาลามสูตร     คืออย่าเชื่อทันที     ให้ใคร่ครวญไตร่ตรองเสียก่อน

        ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเอง และถามซึ่งกันและกันเสียก่อน ว่าบัณฑิตในอุดมคติของมหาวิทยาลัย ฮ คืออะไร     ในทำนองเดียวกัน มหาวิทยาลัย อ ก็ต้องจัดกระบวนการสร้าง "วิสัยทัศน์ร่วม" (Shared Vision) ภายในมหาวิทยาลัย     และร่วมกับภาคี หรือ "เพื่อน" ของมหาวิทยาลัย      ว่า บัณฑิตในอุดมคติของมหาวิทยาลัย อ เป็นอย่างไร     และมีแนวทางสร้างอย่างไร      นี่คือขั้นที่ ๑ ของการจัดการความรู้ครับ

         แต่เมื่อได้ วิสัยทัศน์ร่วม  และแนวทาง มาแล้ว ก็อย่ากระโจนลงไปทำเลยนะครับ     ให้ตั้งสติเสียก่อน     เพราะสิ่งที่ได้มานั้นมักจะอยู่ในกระบวนทัศน์เดิมๆ     ทำไปก็วนอยู่ในอ่าง หรือแผ่นเสียงตกร่อง  ไม่ไปไหน     เราต้องมาคิดหากระบวนทัศน์ใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ เอาเอง

         ตรงนี้แหละครับที่ยาก     ว่าเราจะเอาวิสัยทัศน์ร่วมมาใช้    แต่ไม่เอาแนวทางหรือยุทธศาสตร์ที่ภาคีช่วยกันบอก มาใช้     แล้วใครเขาจะร่วมทำกับเรา     ตรงนี้เป็นเรื่องของ "กุศโลบาย" แล้วละครับ     ต้องใช้ KM เป็นเครื่องมือสร้างและใช้ กุศโลบาย    

         กุศโลบาย คือ AI - Appreciative Inquiry ครับ     ให้ไปเที่ยวหา ว่าความสำเร็จเล็กๆ ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด อยู่ที่ไหน      ก่อนจะหาได้ว่าอยู่ที่ไหน เราก็ต้องพัฒนาความสามารถในการ "แตกย่อย" ภาพฝัน ของบัณฑิตในอุดมคติ  ออกเป็นภาพฝันเล็กๆ หรือความสำเร็จเล็กๆ ให้ได้เสียก่อน

        ตรงนี้แหละที่เป็นทักษะสำหรับการดำเนินการใช้ AI - KM ในการพัฒนาบัณฑิตอุมคติ     ต้องมีทักษะในการวาดฝันร่วมกัน     วาดฝันที่เป็นภาพใหญ่     และมีทักษะในการแตกภาพใหญ่ออกเป็นภาพย่อย     เพื่อจะได้หาความสำเร็จเล็กๆ มาชื่นชมและต่อภาพขึ้นเป็นภาพใหญ่

        สังเกตนะครับ เรากำลังพูดกันถึง ๒ ภาพ     คือภาพฝัน กับ ภาพจริง      สำหรับภาพฝันเราเริ่มจากภาพใหญ่ แล้วแตกออกเป็นภาพย่อย      สำหรับภาพจริง เราเริ่มจากภาพย่อย แล้วต่อกันเป็นภาพใหญ่      ยุทธศาสตร์ KM - AI เราใช้วิธีต่อภาพจริงเล็กๆ ขึ้นมาเป็นภาพจริงที่ยิ่งใหญ่     โดยที่ภาพจริงที่ยิ่งใหญ่นั้นคือภาพฝันที่เราร่วมกันกำหนด

         ยุทธศาสตร์ KM - AI คือยุทธศาสตร์สร้างภาพฝัน ให้เป็นภาพจริง     โดยที่สะเก็ดหรือหน่ออ่อนของภาพจริง มีอยู่แล้ว

         มีต่อตอนที่ ๓ เรื่อง การสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ของบัณฑิต  

วิจารณ์ พานิช
๕ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 42719เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนนี้ผมก็กำลังอยู่ในภาพจริงแต่ถูกชี้นำให้มองเห็นภาพฝันครับ

ความฝันเป็นสิ่งที่สวยงามมาก ๆ ครับ แต่ทุกคนตอนนี้ได้แต่มองกันอย่างเดียว ไม่พยายามเดินฝ่าอุปสรรค เดินแต่แบบเดิม ๆ แบบที่เคยทำกันมา แบบที่เรียนรู้มาจากต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเดินแบบเดิมแล้วจะไปทางไหน แต่ก็ถูกหล่อหลอมทางจิตใจว่า เดินแล้วจะไปที่ฝั่งฝันได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท