occrayong
กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม รพ.ระยอง

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อันตรายอย่างไร?


ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอันตรายอย่างไร?

นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ปัจจุบันตำแหน่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข) เตือนว่า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้ในบ้านปัจจุบันมีหลายประเภท เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยาเช็ดกระจก หรือสารซักฟอก โดยปกติน้ำยาล้างห้องน้ำ หรือผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อมีส่วนประกอบเป็นสารเคมีประเภทกรด หรือด่าง จึงต้องขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ทางสาธารณสุข ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งกำหนดให้มีเลขทะเบียน "วอส." ฉลากเตือนอันตรายรูปหัวกะโหลกไขว้และรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณเข้มข้นของสารต่างๆ วิธีใช้และคำเตือน เพื่อให้ผู้ใช้ระมัดระวัง

จากการสำรวจและเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์พบว่ามีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่มีเลขทะเบียน "วอส." และรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ แต่ออกวางจำหน่ายอยู่หลายยี่ห้อ เช่น น้ำยาขจัดคราบ Super White Crening ซึ่งมีกรดเกลือ หรือไฮโดรคลอริกเข้มข้นสูงถึง 18.9 % มีโซดาไฟ 3.9 % ส่วนผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อ มีกรดกำมะถัน หรือซัลฟูริก 84-97.2 % ถ้าหากเทกรด หรือด่างที่มีความเข้มข้นสูงมากๆ โดนผิวหนังจะทำให้เกิดอาการแสบปวดร้อน ผิวหนังไหม้ ทำลายเนื้ออย่างถาวร หากสูดไอของสารเคมีเหล่านี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ

ทางป้องกันที่ดีที่สุด

เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีมาตรฐาน มีฉลาก และเลขทะเบียนแจ้งชัดเจน มีชื่อผู้ผลิต วิธีใช้ ข้อควรระวัง และคำแนะนำในการแก้พิษกรณีร่างกายได้รับสารเหล่านี้ และขณะใช้ควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก ใส่ถุงถือ และหลังใช้ทุกครั้งต้องล้างมือให้สะอาด

 หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ กองเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร.  02-5915436  02-5915436 และหากต้องการร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ แจ้งได้ที่ โทร.  02-5907298  02-5907298

Soap and Detergents

สบู่ (Soap) เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทำจากไขมันสัตว์หรือพืช

สารละลายสิ่งสกปรก (Detergents) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดมากกว่าสบู่ ทั้งยังทำฟองกับน้ำกระด้างได้ ทำให้สิ่งสกปรกละลายออกมา โดยไปลดแรงตึงผิว (Surface tension) ใช้ทำผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน แชมพู หรือน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ
        สารละลายสิ่งสกปรกแบ่งตามคุณสมบัติทางเคมี ได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ nonionic, anionic, cationic กลุ่มที่มีพิษมากที่สุดคือ cationic detergent

Anionic detergents  สารละลายสิ่งสกปรกที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่
            - พวกเกลือโซเดียม โปแตสเซียม และแอมโมเนียมของกรดไขมัน
            - ซัลโฟเนทเตดไฮโดรคาร์บอน (Sulfonated hydrocarbon)
            - ฟอสโฟรีเลทเตดไฮโดรคาร์บอน (Phosphorylated hydrocarbon) ใช้ทำน้ำยาล้างจาน แชมพู 
       
Nonionic detergents สารละลายสิ่งสกปรกพวกนี้ ได้แก่    

             -  Alkyl aryl polyethersulfates                           

             -  alcohol หรือ sulfonate 

             -  Polyethylene glycol alkyl

             -  Alkyl phenol polyglycol

สารกลุ่มนี้มีพิษน้อย และมีอันตรายน้อยกว่ากลุ่ม anionic

Cationic detergent เป็นสารประกอบพวก quaternary ammonium compound ที่พบมาก ได้แก่

             -  benzalkonium chloride

             -  cetrimide

             -  cetylpyridinium

             -  dequalinium

ประโยชน์
        -  Anionic detergent ใช้เป็นน้ำยาล้างจาน ซักเสื้อผ้า แชมพูสระผม หรือทำความสะอาดทั่วไป
        -  Nonionic detergent ใช้ในผลิตภัณฑ์ซักผ้าบางชนิด
        -  Cationic detergent ใช้เป็น antiseptic และ disinfectant ที่ใช้ในบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม หรือ โรงพยาบาล

ความเป็นพิษ
        โดยปกติสบู่และผงซักฟอกที่ใช้ในบ้านเรือน หากได้รับในปริมาณไม่มาก มักไม่ก่อให้เกิดอาการพิษ
        สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงพยาบาล ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางอุตสาหกรรม หรือผงซักฟอกที่ใช้กับเครื่อง มักมีฤทธิ์กัดกร่อน (corrosive)
        ผลิตภัณฑ์ที่มี anionic หรือ nonionic มักจะไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองมากนัก หรืออาจเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย  ในเด็กที่รับประทาน anionic detergents ปริมาณมากสุดที่ยังปลอดภัยคือประมาณ 0.1-1 กรัม/กิโลกรัม  ส่วน nonionic แม้รับประทานถึง 20 กรัมก็ยังไม่ปรากฏอาการ
        หากกลืนกิน cationic detergent เข้าไป อาจทำให้ปากและคอไหม้พอง ทั้งยังมีผลต่อกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ขนาดที่ทำให้ตายประมาณ 1-3 กรัม
        แชมพูที่ใช้กำจัดเหา หรือแมลงมักมีสารกำจัดแมลงอยู่ หากใช้ไม่ถูกต้อง อาจได้รับพิษจากสารกำจัดแมลงนั้นได้

อาการ
กรณีที่รับประทานเข้าไป
        สบู่ nonionic และ anionic detergents  ถ้ารับประทานไม่มาก มักไม่พบอาการผิดปกติ แต่ถ้ารับประทานมากๆ จะมีอาการเจ็บปาก ปากและลิ้นพอง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
        Cationic detergents อาจทำให้ปาก ลำคอ รวมทั้งทางเดินอาหารไหม้พอง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบาก หมดสติ ชัก ความดันโลหิตลดต่ำลง ปอดบวมน้ำ
        ถ้ารับประทานผงซักฟอกที่มีโซเดียมไตรโพลีฟอสเฟตและ เฮ็กซ่าเมตาฟอสเฟตเข้าไป จะทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง ทำให้มีอาการอาเจียนและท้องเดิน และพบในคนไข้เด็กหนึ่งรายที่กระเพาะอาหารตีบ
หากถูกผิวหนังซ้ำๆ หลายๆครั้ง อาจทำให้ผิวหนังแห้ง แตก ระคายเคือง
หากเข้าตา Cationic detergents อาจระคายเคืองและแสบตามาก

การรักษา การปฐมพยาบาล 
    กรณีที่ผู้ป่วยรับประทานสารพิษเข้าไปให้ดื่มน้ำหรือนมมากๆ เพื่อลดการดูดซึม ไม่ควรทำให้อาเจียน เพราะจะทำให้สารพิษย้อนกลับขึ้นมาทำลายทางเดินอาหารได้อีก 
    ถ้าถูกผิวหนัง ให้ ถอดเสื้อผ้าออก และชำระล้างร่างกายให้สะอาด 
    ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15-20 นาที หากยังปวดหรือเคืองตาอยู่ ให้นำส่งโรงพยาบาล 
    ถ้าผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้ให้รีบนำส่งแพทย์ทันที
            - กลืนผลิตภัณฑ์ที่มี Cationic detergent
            - อาเจียนติดต่อกันนาน หรือพบอาการพิษ
            - ปากไหม้พอง
การรักษาฉุกเฉินและการรักษาแบบประคับประคอง        ควรเฝ้าติดตามการหายใจ ชีพจร ความดันโลหิต สมดุลของของเหลวและอิเล็กโตรไลต์ในร่างกาย อาจให้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจถ้าจำเป็น 
       ถ้าผู้ป่วยชัก รักษาอาการชักด้วยไดอะซีแพม ขนาดของไดอะซีแพมที่ใช้

       ผู้ใหญ่ : 10-20 มก. อัตรา 0.5 มล. (2.5 มก.)/30 วินาที ซ้ำได้หลัง 30-60 นาที 
       เด็ก : 200-300 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กก.

เอกสารอ้างอิง
1. สุนทรี  สิงหบุตรา. พิษรอบตัว การรักษาและการแก้พิษ. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: เอ. ที แอนด์ เอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล, 2541, 373-375
2. Henry J A, Wisemom H M. Management of poisoning A Handbook for health care workers, 1997. World Health Organization; 204-206
3. Mullen W H. Caustic and corrosive agents.in Olson K R. Poisoning & Drug Overdose. 3rd edition, Singapore: Simon & Schuster, 1999; 93-95

ที่มา : โปรแกรม poison 2004 การรักษาและช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อได้รับสารพิษ

  :http://lib.vit.src.ku.ac.th/tip/tip49/texttip/tip49_15.asp

หมายเลขบันทึก: 425026เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2011 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท