สังคายนา กยศ.ยกชุดอุดรูโหว่เจรจากรุงไทยลดค่าต๋งพันล้าน


คลังสั่งตั้งกรรมการสังคายนา กยศ.หลังพบช่องโหว่เพียบ ทั้งการจัดการไร้ประสิทธิภาพทวงหนี้อืด เจอกรุงไทย ฟันค่าต๋งอีกปีละ 1,000 ล้าน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะกรรมการและเลขานุการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่มปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ กยศ.มีคำสั่งให้ตั้งกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ กยศ.ใหม่ โดยให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เป็นประธาน รมว.ศึกษาธิการเป็นรองประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลางเป็นกรรมการ

       นายรังสรรค์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีการตั้งกรรมการขึ้นมากำหนดยุทธศาสตร์เนื่องจากการบริหารงานของ กยศ.ที่ผ่านมามีช่องโหว่มาก ทั้งเรื่องการบริหารเงินกองทุนและการติดตามทวงหนี้ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้จะพิจารณาใน 3 เรื่องได้แก่ การกำหนดยุทธศาสตร์ของ กยศ.ใหม่ เช่น การทำความเข้าใจกับสถานศึกษาเพื่อปรับวิธีคิดจากเดิมที่ต้องไปวิ่งหานักเรียนมากู้ให้ครบตามวงเงินที่ได้รับโควตาไว้ ทำให้เกิดปัญหาคนที่ได้กู้ไม่ใช่คนที่อยากเรียนจริง ส่วนคนที่เดือดร้อนจริงกลับไม่ได้กู้

       ประการต่อมา ต้องพยายามเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียน นักศึกษาใหม่ ว่าการกู้เงินจาก กยศ.ไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอาย และต้องพยายามหาวิธีการยกระดับการพิจารณาแจกทุนให้แก่นักเรียนที่ได้ทุน นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนใหม่ เนื่องจากพบว่าในแต่ละปี กยศ.จะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารกรุงไทย เพื่อเป็นค่าบริหารกองทุนและค่าติดตามทวงหนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราที่มากเกินไป หากสามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์คืนกลับไปให้นักเรียน นักศึกษาได้อีกมาก "กองทุน กยศ.มีเงินที่ต้องบริหารจัดการอยู่หลายหมื่นล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าค่าบริหารจัดการและค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้ธนาคารกรุงไทยต่อปีสูงเกินไป อาจจะเข้าเจรจาเพื่อขอลดค่าธรรมเนียมได้" นายรังสรรค์ กล่าว

       นอกจากนี้ จะมีการหารือกับธนาคารกรุงไทยเรื่องการพัฒนากระบวนการติดตามทวงหนี้ให้มีประสิทธิภาพ เช่นการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนที่ได้ทุน กยศ.กลับมาใช้หนี้มากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของ กยศ.พบว่า มีกลุ่มนักศึกษาผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ 5 งวดขึ้นไปที่จะถูกดำเนินคดีในปี 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.67 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ที่ค้างชำระ
1.66 หมื่นล้านบาท

โพสต์ทูเดย์

8 กุมภาพันธ์ 2554

หมายเลขบันทึก: 424831เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2011 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท