ข้อควรพิจารณาในการพ่นหมอกควันกำจัดยุง


การพ่นเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีประสิทธิภาพลดความหนาแน่นของยุงได้ประมาณ 3-5 วันเท่านั้น จึงต้องดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงควบคู่ไปด้วยเสมอ
เอกสารประกอบการชี้แจง-ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแร่ (วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554) ในประเด็นการพ่นหมอกควันเพื่อกำจัดยุง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการพ่นหมอกควันกำจัดยุงในพื้นที่ตำบลแร่
------------------------------------------------------------------------------

การป้องกันโรคไข้เลือดออก* 
 
               โรคไข้เลือดออก สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว การป้องกันควบคุมโรคที่สำคัญ จึงต้องไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะในผู้ป่วย โดยการลดจำนวนยุงตัวเต็มวัย และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ซึ่งจะต้องทำให้ครอบคลุม   ทุกครัวเรือน ต่อเนื่องและสม่ำเสมอตลอดทั้งปี   มีวิธีปฏิบัติ  ดังนี้
                1. วิธีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 
คือ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อลดจำนวนยุงตัวเต็มวัยและแหล่งเพาะพันธุ์ให้ได้มากที่สุด โดยมีข้อแนะนำสำหรับสถานศึกษา ได้แก่
- ดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในสถานศึกษา ทุก 7 วัน
- ให้ความรู้และคำแนะนำแก่นักเรียนเกี่ยวกับ วงจรชีวิตของยุง  การแพร่เชื้อ
 และวิธีป้องกัน
                 1.1 ทางกายภาพ  ได้แก่ การปิดภาชนะกักเก็บน้ำด้วยฝาปิดเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่  อาจจะใช้ผ้ามุ้ง ผ้ายางหรือพลาสติกปิดและมัดไว้ ภาชนะที่ยังไม่ใช้ประโยชน์ควรจะคว่ำ
มิให้รองรับน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด สิ่งของเหลือใช้    เช่น  กะลา กระป๋องควรเผาหรือฝัง แจกันดอกไม้สดควรเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน วิธีการเหล่านี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดทั้งปี
                 1.2 ทางชีวภาพ  คือ การปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บกักน้ำ เช่น โอ่งตุ่ม 2-4 ตัว หมั่นดูแลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง  วิธีนี้ง่ายประหยัดและปลอดภัย
                 1.3 ทางเคมี  โดยใส่ทรายทีมีฟอสในภาชนะเก็บน้ำใช้  ควรใช้เฉพาะภาชนะที่ไม่สามารถปิดหรือใส่ปลากินลูกน้ำได้ 
2. วิธีการลดยุงตัวเต็มวัย มีดังนี้
 2.1 ใช้ไม้ตียุง ใช้น้ำผสมน้ำสบู่หรือผงซักฟอก ฉีดพ่นให้ถูกตัวยุง 
 2.2 การพ่นเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย เป็นวิธีควบคุมยุงที่ให้ผลดี แต่ให้ผลระยะสั้น ราคาแพง  ผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้  เพราะเคมีภัณฑ์ อาจเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง จึงควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็น
                3. การป้องกันยุงกัด โดยนอนในมุ้ง ทายากันยุง ใช้สมุนไพร/พัดลมไล่ยุง ใส่เสื้อให้มิดชิด หลีกเลี่ยงที่มืด ทึบ อับ ชื้น 
การพ่นเคมีกำจัดยุง**
     - การพ่นเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีประสิทธิภาพลดความหนาแน่นของยุงได้ประมาณ 3-5 วันเท่านั้น จึงต้องดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงควบคู่ไปด้วยเสมอ
    - การพ่นเคมีบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็นจะทำให้ยุงดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลง ซึ่งจะเกิดผลเสียหายอย่างยิ่งในการควบคุมการระบาดของโรค
-----------------------------------------------------------------------
ที่มา : * แนวทางการควบคุมโรคไข้เลือดออกสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดย สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค (มกราคม 2553)
        ** คู่มือการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค (พิมพ์ครั้งที่ 1 มิถุนายน 2551)
หมายเลขบันทึก: 424827เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2011 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท