ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

เตรียมสอบครูผู้ช่วย สรุประเบียบงานสารบรรณ


สรุปสำหรับสอบครูผู้ช่วย

    สรุประเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.๒๕๒๖ และฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๔๘)

นายศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

****************

๑. งานสารบรรณ หมายความว่า งานที่เกี่ยวกับการบริหารงานเอกสาร       ตั้งแต่  ๑) การจัดทำ ๒) การรับ ๓) การส่ง ๔) การเก็บรักษา ๕) การยืม        ๖) การทำลาย

๒. ส่วนราชการ ทั้งราชการบริหารส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น หรือในต่างประเทศ รวมถึง คณะกรรมการ

๓. ผู้รักษาการตามระเบียบนี้ คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

๔. หนังสือราชการ คือ เอกสารที่เป็นหลักฐานทางราชการ ได้แก่

    ๑) หนังสือที่มีไปมาระหว่างส่วนราชการ

    ๒) หนังสือที่ส่วนราชการมีไปถึงหน่วยงานอื่นใดที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือที่มีไปถึงบุคคลภายนอก

    ๓) หนังสือที่หน่วยงานอื่นใดที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือบุคคลภายนอกมีมาถึงส่วนราชการ

    ๔) เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในราชการ

    ๕) เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ

    ๖) ข้อมูลข่าวสารหรือหนังสือที่ได้รับจากระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์

๕. หนังสือราชการ มี ๖ ชนิด คือ หนังสือภายนอก  หนังสือภายใน  หนังสือประทับตรา  หนังสือสั่งการ  หนังสือประชาสัมพันธ์ และหนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ

๖. หนังสือภายนอก คือ หนังสือที่ติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธี ใช้กระดาษตราครุฑ  

     ๑) หนังสือติดต่อระหว่างส่วนราชการ

    ๒) หนังสือที่ส่วนราชการมีถึงหน่วยงานอื่น ซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการ

    ๓) หนังสือที่ส่วนราชการมีถึงบุคคลภายนอก

๗. การอ้างถึง ให้อ้างถึงหนังสือฉบับสุดท้ายที่ติดต่อกันเพียงฉบับเดียว เว้นแต่  มีเรื่องอื่นที่เป็นสาระสำคัญต้องนำมาพิจารณา 

๘. หนังสือภายใน คือ หนังสือที่ติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธีน้อยกว่าหนังสือ   ภายนอก ใช้กระดาษบันทึกข้อความ ใช้ติดต่อภายในกระทรวง ทบวง กรม หรือจังหวัดเดียวกัน

๙. หนังสือประทับตรา คือ หนังสือประทับตราแทนการลงชื่อของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป โดยให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกอง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป เป็นผู้รับผิดชอบลงชื่อย่อกำกับตรา  ใช้กระดาษตราครุฑ

๑๐. หนังสือประทับตรา ใช้ได้ทั้งระหว่างส่วนราชการกับส่วนราชการ และระหว่างส่วนราชการกับบุคคลภายนอก เฉพาะเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ  ถ้าเป็นเรื่องที่หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไปกำหนดต้องทำเป็นคำสั่ง

๑๑. ตราชื่อส่วนราชการ ให้ประทับตราชื่อส่วนราชการด้วยหมึกแดง และให้ผู้รับผิดชอบลงลายมือชื่อย่อกำกับตรา

๑๒. หนังสือสั่งการ มี ๓ ชนิด ได้แก่  คำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับ 

๑๓. คำสั่ง คือ ข้อความที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย  ใช้กระดาษตราครุฑ

๑๔. ระเบียบ คือ ข้อความที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ได้วางไว้  โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายหรือไม่ก็ได้  เพื่อถือเป็นหลักปฏิบัติงานเป็นประจำ ใช้กระดาษตราครุฑ

๑๕. ข้อบังคับ คือ ข้อความที่ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดให้ใช้ โดยอาศัยอำนาจ ของกฎหมายที่บัญญัติให้กระทำได้  ใช้กระดาษตราครุฑ

๑๖. หนังสือประชาสัมพันธ์ มี ๓ ชนิด ได้แก่  ประกาศ  แถลงการณ์ และข่าว

๑๗. ประกาศ คือ ข้อความที่ทางราชการประกาศ หรือชี้แจงให้ทราบ หรือแนะแนวทางปฏิบัติ  ใช้กระดาษตราครุฑ

๑๘. แถลงการณ์ คือ ข้อความที่ทางราชการแถลงเพื่อทำความเข้าใจในกิจการของทางราชการ หรือเหตุการณ์หรือกรณีใด ๆ ให้ทราบชัดเจนโดยทั่วกัน       ใช้กระดาษตราครุฑ

๑๙. ข่าว คือ ข้อความที่ทางราชการเห็นสมควรเผยแพร่ให้ทราบ

๒๐. หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ มี ๔ ชนิด คือ  หนังสือรับรอง  รายงานการประชุม  บันทึก และหนังสืออื่น

๒๑. หนังสือรับรอง คือ  หนังสือที่ส่วนราชการออกให้เพื่อรับรองแก่บุคคล  นิติบุคคล หรือหน่วยงานเพื่อให้ปรากฏแก่บุคคลโดยทั่วไปไม่จำเพาะเจาะจง    ใช้กระดาษตราครุฑ

๒๒. หนังสืออื่น คือ หนังสือหรือเอกสารอื่นใดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นหลักฐานในราชการ รวมถึง ภาพถ่าย ฟิล์ม แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ และสื่อกลางบันทึกข้อมูล  หรือหนังสือของบุคคลภายนอกที่ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ได้รับเข้าทะเบียนรับหนังสือของทางราชการแล้ว

๒๓. สื่อกลางบันทึกข้อมูล รวมถึง สื่อใด ๆ ที่อาจใช้บันทึกข้อมูลได้ด้วยอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผ่นบันทึกข้อมูล  เทปแม่เหล็ก  จานแม่เหล็ก         แผ่นซีดี-อ่านอย่างเดียว หรือแผ่นดิจิทัลอเนกประสงค์

๒๔. หนังสือที่ต้องปฏิบัติให้เร็วกว่าปกติ แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ

      ๑) ด่วนที่สุด  ให้ปฏิบัติทันทีที่ได้รับหนังสือ

      ๒)  ด่วนมาก  ให้ปฏิบัติโดยเร็ว

      ๓) ด่วน  ให้ปฏิบัติเร็วกว่าปกติ เท่าที่จำได้

๒๕. การติดต่อราชการ ทำเป็นหนังสือที่เป็นเอกสาร และระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์

๒๖. กรณีติดต่อด้วยระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ส่งตรวจสอบการส่ง    ทุกครั้งและให้ผู้รับแจ้งตอบรับ และส่วนราชการผู้ส่งไม่ต้องจัดทำเป็นหนังสือเอกสาร เว้นแต่ เรื่องสำคัญจำเป็นต้องยืนยันเป็นเอกสารให้ทำเอกสารยืนยัน ตามไป

๒๗. การส่งข้อความทางเครื่องมือสื่อสารอื่น (โทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์)

ให้ผู้รับปฏิบัติเช่นเดียวกับได้รับหนังสือ  ผู้ส่งและผู้รับต้องบันทึกข้อความไว้เป็นหลักฐาน

๒๘. หนังสือเวียน คือ หนังสือที่มีถึงผู้รับจำนวนมาก มีใจความอย่างเดียวกัน   ให้เพิ่มพยัญชนะ ว หน้าเลขทะเบียนหนังสือส่ง (อาจกำหนดเลขที่หนังสือเวียนเฉพาะ เรียงลำดับตั้งแต่เลข ๑ ไปตามลำดับ จนถึงสิ้นปีปฏิทิน หรือใช้เลขที่  ของหนังสือทั่วไป ตามแบบหนังสือภายนอก อย่างหนึ่งอย่างใด)

๒๙. การเก็บหนังสือ แบ่งเป็น ๑) การเก็บระหว่างปฏิบัติ ๒) การเก็บเมื่อปฏิบัติเสร็จแล้ว ๓) เก็บไว้เพื่อใช้ในการตรวจสอบ

๓๐. หนังสือที่ต้องเก็บไว้ตลอดไป ให้ประทับตราคำว่า  ห้ามทำลาย  ด้วยหมึก    สีแดง

๓๑. หนังสือที่เก็บไว้โดยมีกำหนดเวลา ให้ประทับตราคำว่า  เก็บถึง พ.ศ. ...  ด้วยหมึกสีน้ำเงิน และลงเลขของปีพุทธศักราชที่ให้เก็บถึง

๓๒. อายุการเก็บหนังสือ โดยปกติให้เก็บไว้ไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี

๓๓. หนังสือที่ได้ปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้ว  และเป็นคู่สำเนาที่มีต้นเรื่องที่จะค้นได้จาก  ที่อื่นให้เก็บไว้ ไม่น้อยกว่า ๕ ปี 

๓๔. หนังสือที่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีความสำคัญ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ดำเนินการเสร็จแล้วให้เก็บไว้ไม่น้อยกว่า ๑ ปี

๓๕. หนังสือหรือเอกสารเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันทางการเงิน (ที่ไม่ต้องใช้ประกอบการตรวจสอบหรือเพื่อการใด ๆ) ให้เก็บไว้ไม่น้อยกว่า ๕ ปี

๓๖. หนังสือเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ถึง ๑๐ ปี หรือ ๕ ปี  ให้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง

๓๗. ทุกปีปฏิทิน ให้ส่วนราชการจัดส่งหนังสือที่มีอายุครบ ๒๐ ปี นับจากวันที่ได้จัดทำขึ้นที่เก็บไว้ พร้อมบัญชีส่งมอบหนังสือครบ ๒๐ ปี ให้สำนักหอจดหมาย เหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ภายในวันที่ ๓๑ มกราคม ของปีถัดไป

๓๘. การยืมหนังสือที่ส่งเก็บแล้ว การยืมหนังสือระหว่างส่วนราชการ ผู้ยืมและ     ผู้อนุญาตให้ยืมต้องเป็น หัวหน้าส่วนราชการระดับกองขึ้นไป หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

๓๙. การทำลายหนังสือ ภายใน ๖๐ วันจากวันสิ้นปีปฏิทิน ให้เจ้าหน้าที่จัดทำบัญชีหนังสือขอทำลาย เสนอหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการทำลายหนังสือ

๔๐. การทำลายหนังสือ ให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมแต่งตั้งคณะกรรมการทำลายหนังสือ ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอีกอย่างน้อยสองคน (แต่งตั้งจากข้าราชการ ตั้งแต่ระดับ ๓ หรือเทียบเท่าขึ้นไป)

๔๑. การทำลายหนังสือที่ได้รับอนุมัติแล้ว  โดยวิธีเผา หรือวิธีอื่นใดที่จะไม่ให้หนังสือนั้นอ่านเป็นเรื่องได้  และเมื่อทำลายเรียบร้อยแล้วให้คณะกรรมการลงนามร่วมกันเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติทราบ

๔๒. การขอทำลายหนังสือ หากกองจดหมายเหตุแห่งชาติ ไม่แจ้งให้ส่วนราชการทราบภายใน ๖๐ วันนับแต่วันส่งเรื่อง ถือว่าได้รับความเห็นชอบแล้ว

 

หมายเลขบันทึก: 424748เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาอ่านระเบียบสารบัญ และนำภาพบ้านผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ มาฝากด้วย

การทำไอโอดีเซล



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท