ประสบการณ์ไถนา


ไถนาใช่ยาก ไม่ต้องออกแรง แต่ต้องอดทนเป็นเลิศ

       เมื่อประมาณปลายปี ๒๕๓๖  แม่เปรยให้ฟังว่าคนที่กรีดยางพารา ไม่ยอมทำนา (วัฒนธรรมคนที่นี่หากต้องการกรีดยางแบ่งกันระหว่างเจ้าของสวนกับคนกรีด  มีข้อแม้ต้องทำนาแบ่งกันด้วย    สัดส่วนแบ่งยาง เจ้าของสวนยางได้ ๖๐  คนกรีดได้ ๔๐ สัดส่วนแบ่งข้าว  เจ้าของสวนยางและนาได้ ๕๐  คนกรีดยางและต้องทำนาด้วยได้ ๕๐ เจ้าของนาไถให้คนกรีดยางต้องดำนาและเก็บเกี่ยวให้) ทั้งที่จะซื้อรถไถนาให้เขาด้วย  เลยบอกแม่ไปว่าหากจะซื้อรถไถนาให้คนกรีดยาง  ซื้อให้ลูกดีกว่า  แล้วจะไถนาให้เอง  ปรากฎว่าแม่ซื้อรถไถนาแบบเดินตามรวมอุปกรณ์ให้ในราคา ๔๐,๐๐๐ บาท  และเริ่มฝึกหัดไถนาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  โดยมีแม่เป็นคนดำนาและเก็บเกี่ยวข้าว         ปีแรกลุยนาร้าง  เริ่มจากนาที่มีอยู่และไม่ได้ทำมาหลายปี  เห็นว่าน้อยไป  เลยไปหาซื้อนามาอีก ๒ แปลง  ๔ ไร่เศษ  ไปรับจำนองใช้สิทธิทำนามาอีก ๔ ไร่เศษ     ไถคนเดียว  ใช้เวลาว่างในวันหยุดราชการ ปีนั้นทำนาดำกว่า ๑๕ ไร่           ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖  จนถึงปี ๒๕๔๘ ร่วม ๑๒ ปี  เริ่มใหม่ๆ ก็ไม่ชำนาญ  อาศัยประสบการณ์ตอนอายุ ๗-๘ ขวบ เคยจูงควายไปส่งพ่อก่อนไปโรงเรียนเพราะพ่อต้องแบกไถ  เสาร์อาทิตย์บางทีพ่อก็ให้จับหางไถผลัดมือบ้าง  แต่ก็ไถไม่ชำนาญ  พ่อก็ไม่ปล่อยให้ทำอย่างจริงจังด้วยพ่อคงเห็นว่ายังเล็กเกินไป   จนกระทั่งไปเรียนหนังสือต่างจังหวัดก็ไม่ได้กลับมาช่วยพ่อไถนาอีกเลย   แต่สังเกตเห็นว่าขี้ไถที่ไถด้วยควายก้อนขี้ไถเล็กนิดเดียว  พอมาไถด้วยควายเหล็กก้อนขี้ไถโตขึ้นไถได้เร็วขึ้น   แต่พอดำนาข้าวกลับไม่ดีเท่าไถด้วยควาย จึงได้รู้ว่าการไถลึกไม่มีประโยชน์อันใด โคลนเยอะดำนายาก  ขณะเดียวกันดินที่มีปุ๋ยถูกกลบลงลึก  ดินที่ไม่มีปุ๋ยถูกพลิกขึ้นมาไว้ข้างบน  เท่าที่สังเกตพบว่า  รากของต้นข้าวลงลึกไม่เกินครึ่งฝ่ามือหรือประมาณ ๓ นิ้วฟุต  แสดงว่าการไถลึกเกินไปไม่มีประโยชน์อันใด  แต่การไถด้วยควายเหล็กนั้นการไถให้ลึกไถง่ายกว่าการไถตื้น  การไถตื้นจานไถดีดและเกินอาการ แวง  คือพลิกดินไม่หมด  ต้นหญ้าไม่ตาย เสียเวลาวนซ้ำ

           บันทึก ๑๐ ตุลาคม  ๒๕๔๙

            จากประสบการณ์ไถนาด้วยควายเหล็ก ๑๐ กว่าปี  เมื่ออายุมากขึ้น  ข้อเข่าสึก เกิดอาการบาดเจ็บเดินไม่ไหว  จำเป็นต้องหาเครื่องทุ่นแรงที่สะดวกสบายกว่ามาใช้  ลงทุนไปดาวน์รถแทรคเตอร์ขนาด ๓๔ แรงม้า ขับเคลื่อน ๔ ล้อ มาใช้  อุปกรณ์หลัก มีจานไถ ๖ จาน  จอบหมุนขนาดกว้าง ๑.๖๐ เมตร   พร้อมกับใบมีดดันดินหน้า  เริ่มฝึกหัดขับไถนามาตั้งแต่ มีนาคม ๒๕๔๙  หรือประมาณ ๘ เดือน  สามารถทำงานได้รวดเร็วกว่า ๓๐ เท่า  สามารถช่วยเหลือเพื่อนๆ ชาวนาที่จะทำนาได้หลายราย  มีโอกาสจะมาบันทึกต่อ 

            บันทึก ๑๗  พ.ค ๕๐ <p>            หลังจากได้แทรคเตอร์ดังกล่าวมาก็ลงมือทำนา เฉพาะที่ดินของตนเองที่พ่อแม่แบ่งให้ประมาณ ๑๐ไร่  ทำนาดำครับ  แม่เป็นคนดำและเก็บให้ ๖ ไร่  เป็นไปตามเจตนารมณ์ของแม่ที่ไม่อยากให้นาร้าง  และต้องการให้ไถให้ดังที่เคยปรารภไว้ตอนที่ซื้อรถไถเดินตามเมื่อสิบกว่าปีก่ อน อีก ๔ ไร่ ให้คนที่กรีดยางทำแบ่งกัน  เจ้าของนา+สวน เป็นผู้ไถ  เขาดำนาและเก็บข้าวให้ เมื่อแบ่งกันแล้วต่างคนต่างขนกลับเอง  แต่ผมแถมขนให้ด้วยโดยใช้แทรคเตอร์ เร็วกว่าครับ</p>

            เมื่อเห็นว่ามีเครื่องมือพร้อม  เลยไปหาที่นาร้างไ ด้มาอีก ๒ แปลง แปลงแรก ๔ ไร่เศษ  ทำนาดำ  โดยจ้างชาวบ้านละแวกบ้าน  ถอนกล้าและดำนาเฉลี่ยต้นทุนค่าดำนาไร่ละ ๗๐๐ บาท(กำละ ๑๕ บาท ไร่หนึ่งประมาณ ๔๕-๕๐ กำ)  จ้างเก็บอีกเลียงละ ๗ บาท  เป็นเงิน ๓๔๐๐ บาทเศษ  ได้ข้าวมา  ประมาณ ๕๐๐ เลียง  หากนวดเป็นข้าวเปลือกได้ประมาณ ๗๑ ถัง   แปลงที่สอง  ๗ ไร่เศษ  ทำนาหว่านน้ำตม  ใช้ข้าวพันธ์ชัยนาท๑  ระยะเก็บเกี่ยว ๑๑๕ วัน  ตอนแรกใช้เคียวเก็บเอง  เก็บอยู่ ประมาณ ๒๐ วัน(เฉพาะวันหยุดราชการ)  ได้ไม่ถึงครึ่งไร่  คำนวณดูแล้วข้าวเสียหายหมดแน่ เลยตัดสินใจจ้างรถเกี่ยวข้าว  เวียนง้ออยู่หลายครั้ง  ในที่สุดต้องจ่ายค่าเดินทางให้ ๑๐๐๐ บาท  และค่าจ้างเก็บข้าวอีก ๓๘๐๐  บาท  เสร็จภายในชั่วโมงเศษ   แรงงาน ฤาจะสู้เครื่องจักร  ได้ข้าวเปลือกมาประมาณ ๑๕๐ ถัง

            แผนงานปี ๒๕๕๐  น าส่วนหนึ่ง ๔ ไร่  แม่บอกว่าดำเองไม่ไหวแล้ว  อีกอย่าง  แปลงติดกันเขาปลูกยางไปแล้ว  น้ำจากคลองก็เอาขึ้นยาก เพราะชลประทานขุดให้ลึกเสียนี่  เลยไถแปลงเป็นสวนยาง  กะว่าจะปลูกยางพารา  นับถึงวันบันทึกนี้ไถเสร็จแล้ว   หาที่นาทำใหม่ครับ  มีนาร้างเยอะ  ไปติดต่อเช่าที่นาร้างได้มาอีก ๒ แปลง แปลงแรก ๑๐ ไร่ เศษ   ในราคาไร่ละ ๕๐  บาทในปี แรก,   ๑๐๐  บาทต่อไร่ ในปีที่สอง,  ๑๕๐  บาทต่อไร่ ในปีที่สาม    แปลงที่สอง  ๕ ไร่เศษ ราคาค่าเช่าเท่ากับแปลงแรก   รวมกับนาที่ทำอยู่ก่อนหน้าที่ทำนาหว่านในปีก่อน ๗ ไร่  และนาตนเองที่เหลืออีก ๖ ไร่  ปีนี้กะจะทำนา  ๒๘ ไร่  นาดำ ๖ ไร่  นาหว่าน ๒๒ ไร่ 

บันทึก ๑๔ ตุลาคม  ๒๕๕๐

       จากประสบการณ์การขับรถแทรคเตอร์ไถนามาปีเศษ  พบว่าอุปสรรคที่สำคัญของการไถนาก็คือการขับให้รถแทรคเตอร์ติด  ไม่ว่าจะเป็น ๑) การติดหล่มจมโคลน  ๒) ติดแขวนคันนา  ๓) รถแทรคเตอร์พลิกคว่ำ  ๔) รถแทรคเตอร์ติดมุมนา  ถ้าสนใจเรื่องเหล่าน้ คลิกอ่านได้ที่นี่

</span></span>

หมายเลขบันทึก: 42358เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2006 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็น Tacit K. ที่สดๆจากนาเลยนะครับ

ให้กำลังใจครับ

ที่บ้านผม สมัยก่อนมีควายไถนา ผมนอนเถียงนากับพ่อ ได้ยินเสียง คนไล่ควายเวลาไถนา บรรยากาศแบบนั้นตอนนนี้ไม่มีแล้ว...กลายเป็นควายเหล็กแทน

แต่ก็เถอะครับ...วิถีโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยน เราคงต้องปรับกันไป แต่ความสุขที่เราได้ปลูก ได้ดำ ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตที่เราลงแรงไป

ถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง คงไม่เท่าที่ได้ลงแรง

ขอบคุณครับผม 

ผมชอบคำว่า  "ถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง คงไม่เท่าที่ได้ลงแรง"  จริงๆ ก็เป็นอย่างนั้นครับ  บล๊อกนี้เริ่มต้นผมเคยตั้งชื่อเป็น "ออกกำลังกายด้วยวิธีการทำนาทำสวน"  แต่เขียนไปเขียนมาไม่ค่อยจะได้พูดถึงการออกกำลังกายเท่าไร  พูดถึงเทคนิคการทำนาทำสวนเป็นส่วนใหญ่  เลยปรับปรุงและแก้ไขบล๊อคให้เป็นอย่างที่เห็นนี่แหละครับ  ตอนนี้ผมสนใจการทำสวนยางแถบภาคเหนือครับ กำลังเล็งหาที่แถวๆ ลำพูน   ถ้ามีอะไรช่วยแนะนำด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท