เพลินอ่าน ตอน กิจกรรมสร้างนิสัยรักการอ่านสำหรับครู


  

ก่อนที่จะมาแลกเปลี่ยนกันครูนุ่นรู้สึกว่ารักการอ่านในห้องเรียนของตัวเองดูไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้าเท่าไร พอคุณครูเล็ก – ณัฐทิพย์ ได้ยินเช่นนี้จึงเตรียมกิจกรรมมาสร้างแรงบันดาลใจในการอ่านให้กับครูช่วงชั้นที่ ๒ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วย

กิจกรรมที่ครูเล็กนำมา คือ กลวิธีสร้างนิสัยรักการอ่านที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงแนะนำไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่” มาให้คุณครูได้อ่าน

วิธีที่ ๑. ใช้เวลาสบายๆ ของครอบครัวเพื่อส่งเสริมการอ่าน
วิธีที่ ๒. เลือกหนังสือดีที่เด็กสนุก
วิธีที่ ๓. ให้เด็กได้รู้เรื่องราวหลากหลายจากพหุวัฒนธรรม
วิธีที่ ๔. มีกิจกรรมพัฒนาทักษะการคิด
วิธีที่ ๕. ใช้ทักษะนาฏการในการเล่า
วิธีที่ ๖. ใช้กิจกรรมศิลปะเชื่อมโยงกับการอ่าน
วิธีที่ ๗. สอนให้รู้จักสกัดความรู้และจับใจความสำคัญ
วิธีที่ ๘. ต่อยอดจากประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
วิธีที่ ๙. นำเด็กสู่โลกแห่งวรรณคดี
วิธีที่ ๑๐. พัฒนาทักษะไพรัชภาษาพาสู่โลกกว้าง

 

ครูเล็กตัดกระดาษออกมา ๑๐ แผ่น ที่บอกวิธีการและข้อความในบทพระราชนิพนธ์ที่สนับสนุนวิธีการต่างๆ เช่น  “หนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่ามันสนุกตื่นเต้น มีรสมีชาติ ขึ้นมาทันที” นำข้อความต่างๆ เหล่านี้ มาวางกระจายไว้บนโต๊ะ ต่อจากนั้น ให้ครูนัท ครูนุ่น และครูม่อนอ่าน แล้วเลือกวิธีการที่เหมาะกับตัวเองที่สุด และเชื่อว่าวิธีการนั้นๆ จะนำเราไปสู่การสร้างนิสัยรักการอ่าน

 

ครูนุ่น – พรพิมล เลือกวิธีที่ ๒ ครูนุ่นรักการอ่านเพราะได้เริ่มอ่านหนังสือที่เราชอบ และเล่มที่เราชอบก็นำเราไปสู่เล่มต่อๆ ไปได้ อีกวิธีหนึ่งคือวิธีที่ ๗ เริ่มอ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์ อ่านเพื่อจับความ ไม่ใช่แค่อ่านฆ่าเวลา อย่างหนังสือบางเล่มอ่านครั้งแรกได้เรียนรู้แบบหนึ่ง พออ่านครั้งที่สองก็เกิดความเข้าใจและเรียนรู้อีกอย่าง เหมือนเป็นการตีความผ่านประสบการณ์ของตัวเองในขณะนั้นๆ

 

ครูนัทนันทกานต์ เลือกวิธีการที่ ๒ เหมือนครูนุ่น เวลาครูนัทอ่านเรื่องที่ชอบแล้วจะสามารถจินตนาการและคิดตามได้ นอกจากนี้ครูนัทยังชอบอ่านเรื่องใกล้ตัว เพราะเรื่องที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จะทำให้รู้สึกเข้าถึงการอ่านมากๆ ได้เหมือนกับวิธีที่ ๘

 

ครูม่อน – ภาวิณี ยังเลือกไม่ถูกว่าวิธีไหนจะทำให้ครูม่อนรักการอ่าน ปกติครูม่อนมักจะอ่านหนังสือวรรณกรรมไม่จบเล่ม ทั้งๆ ที่ตอนซื้อหรือตอนไปยืมห้องสมุดนั้น รู้สึกอยากอ่านมาก แต่พออ่านได้ครึ่งเล่มก็ไม่อ่านต่อ ครูม่อนบอกว่าชอบอ่านหนังสือที่มีภาพสวยๆ และเป็นสารคดี เช่น National Geography ถ้าหนังสือสารคดีแบบนี้ ครูม่อนสามารถอ่านได้จนจบเล่มอย่างไม่เบื่อ

 

ครูเล็กณัฐทิพย์ ชอบอ่านหนังสือเพราะหนังสือเปิดโลกกว้างให้กับตัวเองนำเราไปรู้จักรูปแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลาย (วิธีที่ ๓) หนังสือเล่มที่อ่านและประทับใจคือ เรื่อง สี่ปีนรกในเขมร จำได้ว่าอ่านตอนเด็กๆ อ่านแล้วเห็นความเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเขมร เห็นภาพของสงคราม ความโหดร้ายที่มนุษย์ทำแก่กัน แต่ภายใต้ความโหดร้ายก็เห็นถึงการช่วยเหลือกันของเพื่อนมนุษย์ที่ไม่แบ่งแยกชนชาติ ในเรื่องนี้คนญี่ปุ่นได้รับการช่วยเหลือจากคนเขมรและได้หลุดพ้นมาจากสงครามอันโหดร้าย ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้แต่งขึ้นมาจากเรื่องจริง คนญี่ปุ่นที่รอดมานี้แหละเป็นคนแต่ง เป็นประสบการณ์จริงๆ ของผู้แต่ง

 

ในตอนท้ายของการแลกเปลี่ยนกัน ครูนุ่นบอกว่าถ้าไม่มีวงแลกเปลี่ยนแบบนี้ก็ไม่ได้มีโอกาสทบทวนว่าเราทำอะไรไปบ้าง ตอนแรกคิดว่าเราทำอยู่คนเดียว มาถึงตอนนี้ก็รู้ว่ายังมีคนที่ทำเหมือนกัน 

ในฐานะผู้บันทึก ตอนแรกก็คิดว่าวันนี้จะมีอะไรคืบหน้าบ้างไหม แต่พอมาแลกเปลี่ยนกัน ก็พบว่านี่แหละคือพลังของการแลกเปลี่ยน เพียงแค่เรานำประสบการณ์จริงเพียงเล็กน้อยมาพูดคุยกัน มันก็นำไปสู่การเรียนรู้ของแต่ละคนตามวิถีของการเรียนรู้ร่วมกันแล้ว 

 

                                                ครูเล็ก – ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์ บันทึก

 

 

หมายเลขบันทึก: 423315เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2011 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท