เพลินอ่าน ตอน นักเรียนช่วงชั้นที่ ๒ อ่านอะไรในยามว่าง


 

คุณครูที่เป็นสมาชิกวง “รักการอ่าน” มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกครั้ง ด้วยหัวเรื่องชวนติดตาม

What: การกระตุ้นให้เด็กๆ เข้าไปเลือกหนังสือในห้องสมุดมาไว้ในห้องเรียนเพื่ออ่านในเวลาว่าง

Why: เด็กจะได้เป็นผู้เลือกด้วยตนเอง และหนังสือที่เลือกมาก็จะตรงใจเด็กๆ ทำให้เด็กๆ รู้สึกอยากอ่านมากขึ้น

How: ครูนัดเวลาให้มีการหมุนเวียนหนังสือในห้องเรียนใหม่ทุกๆ ๒ สัปดาห์

 

ครูนัท – นันทกานต์ คุณครูของนักเรียน ชั้น ๕ เริ่มจากการพาเด็กๆ ไปเลือกหนังสือในห้องสมุด พบว่าหลายๆ คนชอบอ่านหนังสือคล้ายๆ กัน แต่เริ่มที่จะคิดถึงเพื่อนคนอื่นๆ ด้วยว่า ถ้ายืมหนังสือมาแล้วจะมีเพื่อนมาอ่านบ้างไหม ตอนนี้เด็กๆ เริ่มสนใจยืมหนังสือที่เป็นซีรี่ย์ที่ต้องอ่านต่อกันหลายๆ เล่ม เช่น อยากให้โลกนี้ไม่มีโชคร้าย แม้หนังสือจะเป็นซีรี่ย์แต่อ่านได้ง่าย ทำให้เพื่อนที่ไม่ค่อยอยากจะอ่านหนังสือเห็นแล้วสงสัย และสนใจอยากจะหยิบมาอ่านบ้าง

ครั้งนี้เด็กๆ เลือกหนังสือที่เป็นการ์ตูนช่องน้อยลง ซึ่งครูนัทมองว่าเป็นสัญญาณที่ดี คนที่ไม่ค่อยอ่านหนังสือก็เริ่มมาอ่านหนังสือที่เป็นความเรียง และจะหยิบอ่านเล่มบางๆ มาอ่านก่อน ส่วนคนที่รักการอ่านแล้วก็สามารถเลือกหยิบหนังสือเล่มหนาๆ มาอ่านได้อย่างสบาย

 

ครูนุ่น – พรพิมล คุณครูของนักเรียนชั้น ๖ ยังคงไปยืมหนังสือในห้องสมุดมาให้เด็กอ่าน แต่พยายามเลือกหนังสือให้หลากหลายประเภท เช่น หนังสือวรรณกรรมแว่นแก้วที่มีสีสันสดใส หนังสือความเรียง หนังสือแปล หนังสือวิชาการที่มีรูปเล่มที่น่าสนใจ แล้วมาแนะนำให้ลองอ่านกัน เช่น นำเอาคำถามที่เป็นเนื้อหาในหนังสือบางข้อมาลองถามในชั้นเรียน พอเวลาพักกลางวันก็มีนักเรียนผู้หญิงมาเอาหนังสือที่ครูแนะนำไว้ไปอ่านแล้วก็ถามตอบกับเพื่อน ส่วนนักเรียนผู้ชายที่ไม่ชอบอ่านก็ได้รับอานิสงส์จากการฟัง ตรงที่มานั่งตอบคำถามกับเด็กผู้หญิงด้วย

ครูนุ่นเล่าว่าเวลาที่ครูได้อ่านหนังสือเล่มเดียวกับเด็กแล้วความสนุกอยู่ตรงที่ “ฉันอ่าน เธออ่าน” “เธอคิดอย่างนี้ ฉันคิดอย่างนี้” เวลาคุยกันก็จะรู้กันว่าตอนไหนใครชอบ เกิดความรู้สึกร่วมกันได้ง่าย ครูนุ่นยังเสริมว่าเวลาแนะนำหนังสือแนววิชาการจะต้องลองเปิดภาพที่น่าสนใจให้เด็กๆ ดูด้วย บอกว่าเล่มนี้เป็นวิชาการแต่ข้างในมีสีสันน่าสนใจมากเลยนะ แล้วก็ตั้งคำถามกับเด็กด้วย เช่น ชนิดคำมีกี่ชนิด? เด็กก็ตอบไม่ได้ พอตอบไม่ได้ก็ทำให้อยากรู้ พออยากรู้ก็ไปหยิบมาอ่าน

 

ครูม่อน – สาวิณี คุณครูของนักเรียนชั้น ๔ บอกว่าตอนนี้ยังไม่ได้ทำอะไรที่คืบหน้าไปจากเดิม แต่พยายามนำคำแนะนำของครูนุ่นกับครูนัทไปปรับใช้กับตัวเองก่อน เพราะโดยพื้นฐานครูม่อนไม่ค่อยได้อ่านหนังสือวรรณกรรม หรือหนังสือความเรียงเท่าไร จะชอบอ่านหนังสือแบบสารคดี เช่น National Geographic ที่เป็นเรื่องๆ ไป และชอบอ่านเกร็ดที่น่าสนใจในหนังสือ อีกอย่างหนังสือประเภทนี้จะมีภาพที่สวย ชวนน่าติดตาม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตะวันนำหนังสือธรรมะมาจากบ้าน แล้วเห็นว่าไม่มีมีเพื่อนมาหยิบไปอ่านเลย ตะวันเลยเดินมาบอกคุณครูให้ช่วยแนะนำหนังสือให้ด้วย ครูม่อนเลยบอกตะวันว่าเดี๋ยวขอครูลองอ่านดูก่อน เพราะครูม่อนก็อยากลองอ่านหนังสือธรรมะด้วยเหมือนกัน

ในวันนั้นครูม่อนก็ได้แนะนำหนังสือธรรมะของตะวันให้เพื่อนๆ ได้รู้จัก แต่ก็ยังไม่ได้มีเด็กมาสนใจอ่านเท่าไร เพราะเด็กส่วนใหญ่ยังชอบอ่านหนังสือที่มีภาพประกอบ

หนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นที่สนใจในหมู่เด็ก ชั้น ๔ คือ หนังสือ “กบนอกกะลา” ก็มีเด็กบอกว่าเขามีหนังสือด้วยหรือ น่าสนใจดีนะ เคยดูแต่ในทีวี

ครูม่อนว่าจะลองทำตารางเช็ครายชื่อหนังสือที่เด็กนำมา และหนังสือที่เพื่อนสนใจมาอ่าน หากทำตารางดังกล่าว ครูม่อนจะได้รู้ว่าใครนำหนังสือมาให้เพื่อนอ่านบ่อยๆ และหนังสือแนวไหนที่เป็นหนังสือยอดฮิตของเด็กๆ ส่วนเรื่องที่ครูนัท แลกเปลี่ยนเรื่องพาเด็กไปเลือกหนังสือที่ห้องสมุดเองนั้น ครูม่อนจะลองไปทำดู

 

 

ครูเล็ก - ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์ บันทึก

 

หมายเลขบันทึก: 423308เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2011 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท