เพลินอ่าน ตอน ครั้งแรกของช่วงชั้นที่ ๒ กับประเด็นการสร้างเด็กให้รักอ่าน (๒)


 

ครูนัทนันทกานต์ เล่าว่านักเรียนชั้น ๕ โดยภาพรวมมีพื้นฐานที่ชอบอ่านหนังสือ เด็กผู้หญิงก็ชอบอ่านเรื่องรักสดใส ส่วนเด็กผู้ชายอ่านหนังสือแนวต่อสู้  แต่ขอบเขตของการอ่านหนังสือยังแคบอยู่  ดังนั้น ครูชั้น ๕ จึงมีการมาแนะนำหนังสือให้เด็กอ่าน และมีการจับประเด็นต่างๆ ในการอ่านด้วย  และพยายามชวนเด็กๆ มาอ่านหนังสือดีๆ

 

หลังจากแนะนำ พบว่า เด็กเริ่มนำหนังสือดีๆ มาอ่านกันมากขึ้น เด็กไม่ได้อ่านแค่เอาเนื้อเรื่อง แต่อ่านเพื่อจับประเด็นดีๆ และดูว่าจะนำเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ต่อจากนั้น ก็มาแลกเปลี่ยนกันในวงใหญ่

 

ในช่วงแรกๆ ก็มีการนำเกมรักการอ่านมาเล่น ดึงดูดให้อ่านโดยนำเรื่อง Harry Potter มาใช้ในเกม มีเด็กบอกว่าไม่เห็นอยากอ่านเลย แต่ครูนัทก็ลองยืมหนังสือ Harry Potter มาไว้ที่ห้องดู ปรากฏว่าเด็กคนที่พูดว่าไม่เห็นอยากอ่านเลย กลับมาหยิบหนังสือ Harry Potter ไปอ่าน แต่ครูนัทก็ยังรู้สึกว่าการทำกระบวนการรักการอ่านของชั้น ๕ นั้นยังไม่ค่อยต่อเนื่องนัก

 

นอกจากครูนัทจะไปยืมหนังสือจากห้องสมุดมาไว้ที่ห้องแล้ว บางทีก็ให้เด็กเลือกเอง ระยะหลังอยากให้เด็กได้อ่านหนังสือดีๆ ครูนัทจึงไปเลือกหนังสือเอง การแนะนำหนังสือนั้น ครูนัทใช้วิธีเดียวกับครูม่อนคือ ประชาสัมพันธ์ด้วยการนำข้อความดีๆ ในหนังสือมาอ่านให้เด็กฟัง และกระตุ้นด้วยคำถาม พอถึงตอนกลางวันก็มีเด็กไปหยิบหนังสือที่ครูนัทแนะนำมาอ่าน 

 

ครูนัทสังเกตเห็นว่าเด็กชอบเห็นชั้นหนังสือของห้องตัวเองมีหนังสือมาวางเยอะๆ พอชวนให้เอาหนังสือมาก็มีการพูดแลกเปลี่ยนกันว่า ใครนำหนังสือเล่มไหนมา

 

ครูนุ่น – พรพิมล  เริ่มจากการใช้เกม Harry Potter มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ชั้น ๖ เพราะเด็กส่วนใหญ่ชอบเรื่อง Harry Potter ต่อจากนั้น ก็สะท้อนปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับการเขียนของเด็กชั้น ๖ ว่า มักจะใช้ภาษาพูดมาเขียนบรรยายในวิชาประยุกต์ เนื่องจากเด็กๆ อ่านแต่หนังสือที่ไม่ใช่ความเรียง ดังนั้น ครูนุ่นจึงอยากชวนเด็กๆ มาอ่านหนังสือที่มีการใช้ถ้อยคำที่เป็นความเรียงมากขึ้น

 

ครูนุ่นกระตุ้นด้วยการเล่าถึงหนังสือดีๆ ที่ได้อ่านมาแลกเปลี่ยนให้กับเด็กๆ ฟัง เช่น เรื่องความสุขของกะทิ โชคดีที่ภูอินทร์เคยอ่าน ครูนุ่นจึงผลักดันให้ภูอินทร์เล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนๆ ก็รู้สึกทึ่งว่าภูอินทร์จะอ่านและตอบคำถามจากเรื่องนี้ได้ดีมาก พอทำกิจกรรมนี้ไปแล้ว ก็พบว่ามีเด็กกระตือรือร้นที่จะอ่านมากขึ้น

 

ปีบเป็นเด็กอีกคนหนึ่งที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่รักการอ่านมาก และที่บ้านก็มีหนังสือเยอะมาก แต่ปีบก็ไม่ได้อยากที่จะอ่านเลย ก่อนหน้านี้ครูให้ปีบนำหนังสือมา ปีบก็เอามาหลายเล่ม แต่ก็เอามาเพราะทำตามหน้าที่เท่านั้น แต่หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมนี้แล้วปีบก็ให้ความสนใจกับการอ่านหนังสือมากขึ้นมากขึ้น

 

มัดหมี่ก็เป็นเด็กอีกคนหนึ่งที่อ่านหนังสือมากขึ้นเพราะกิจกรรมนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้อ่านแต่การ์ตูนช่อง ส่วนบิวท์ก่อนหน้านี้ไม่เคยอ่านเลย และขณะนี้ก็ยังอ่านต่อเนื่องอยู่ บิวท์พูดสะท้อนว่า “หนังสือมีอะไรอย่างนี้ด้วยหรือ ไม่เคยคิดมาก่อนเลยนะ” ครูนุ่นเล่าว่าขนาดวันที่มีงานปาร์ตี้ที่โรงเรียนบิวท์ยังหลบมานั่งอ่านหนังสือเลย ส่วนเฟอร์ที่ไม่เคยอ่านหนังสือเลยเลย พอเริ่มอ่านก็มีเรื่องกลับไปถามคุณพ่อคุณแม่บ้างแล้ว  ทำให้ครูนุ่นรู้สึกว่าประสบผลสำเร็จดี เพราะเด็กที่ไม่เคยสนใจอ่านหนังสือเลย ก็มาเริ่มหันมาอ่านบ้างแล้ว

 

วิธีการที่ครูนุ่นใช้ คือ การแนะนำหนังสือประเภทหนังสือแปล วรรณกรรมเยาวชน  และพยายามเลือกให้มีความหลากหลาย  โดยจะเลือกมาหนึ่งเล่มที่น่าสนใจที่สุดออกมาแนะนำ แล้วบอกกับเด็กๆ ว่า “แต่ครูนุ่นขอไปอ่านก่อนนะ” พออ่านเสร็จมาวางคืนไว้ที่ชั้นหนังสือ แล้วหนังสือเล่มนั้นก็จะมีเด็กมาอ่านต่อ และมารอต่อคิวอ่านอีกหลายคนทีเดียว

 

ประเด็นที่ครูนุ่นจะทำต่อไปคือ ให้เด็กๆ มาแลกเปลี่ยนกันว่าหลังจากที่หันมาอ่านหนังสือแล้วชีวิตของพวกเขามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

 

                                                              ครูเล็ก - ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์ บันทึก

 

หมายเลขบันทึก: 422764เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2011 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หลังจากที่ดิฉันได้มีเวลาคิดเกี่ยวกับบันทึกข้างต้นก็เกิดความคิดขึ้นว่า ถ้าเราให้เด็กเขียนรายการหนังสือที่เขานำมาจากบ้าน ใส่ในตารางรวมของห้อง แล้วให้ผู้ยืมมาเขียนชื่อต่อท้ายว่าเล่มนี้ใครยืมบ้างแล้ว เราก็จะได้สถิติว่าเด็ก ชช. ๒ นิยมอ่านอะไรกัน ทั้งจากการนำมา และความแพร่หลายในการยืมด้วย

และถ้านำมาแยกเป็นเด็กหญิง เด็กชาย เราก็จะได้รู้อะไรเกี่ยวกับนิสัยการอ่านเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งครูคณิตก็สามารถนำงานชิ้นนี้ไปสอนเรื่องการอ่านแผนภูมิได้อีก

ดิฉันเชื่อแน่ว่าหากครูสามารถนำเรื่องของการสร้างอุปนิสัยรักการอ่าน มาทำให้เป็นเรื่องเดียวกันกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน เราคงจะได้เห็นอะไรดีๆ เกิดตามมาอีกไม่น้อยทีเดียว :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท