มหกรรม KM เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง ปีที่ ๔ : ขยายพันธุ์คนรักเท้า (๓)


การแบ่งระดับงานและเกณฑ์ให้บริการที่ชัดเจนช่วยให้คนทำงานเห็นภาพการส่งต่อคนไข้ที่เป็นระบบ มีคำตอบให้กับงานตัวเอง รู้ทางช่วยเหลือคนไข้

ตอนที่

ทีมที่ ๔ ที่มาเล่าประสบการณ์ขยายพันธุ์คนรักเท้าในวันนี้ คือ ทีมจากสถาบันราชประชาสมาสัย โดยมีคุณแสงระวี รัศมีแจ่ม นักวิชาการสาธารณสุข มาเป็นตัวแทน คุณแสงระวีบอกว่าไม่ชอบที่ถูกเรียกว่าเป็นนักวิชาการเลย จริงๆ ตัวเองก็เป็นพยาบาลนั่นแหละ ประสบการณ์จากห้องผ่าตัด และทำงานมานานพอที่ยังได้เห็นการใช้น้ำผึ้งในการช่วยรักษาแผล ซึ่งเป็นการรักษาที่อาจารย์เทพ จัดเข้าหมวดประวัติศาสตร์ไปแล้ว

อย่างที่เราทราบกันดี สถาบันราชประชาสมาสัยอยู่ในสังกัดกรมควบคุมโรค มีหน้าที่ดูแลคนไข้โรคเรื้อนซึ่งเป็นโรคติดต่อ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนตนเองให้หันมาบริการโรคไม่ติดต่ออย่างเบาหวานนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้อย่างเชื่องช้า ทรัพยากรที่สถาบันราชประชาสมาสัยมีอยู่ที่สำคัญอย่างยิ่งและหาไม่ได้ที่อื่นๆ คือ ความชำนาญด้านการดูแลเท้า ดูแลแผลที่เท้า และทำรองเท้าสำหรับคนไข้โรคเรื้อน ซึ่งมีปัญหาเท้าชาเช่นเดียวกับคนไข้เบาหวาน ที่ผ่านมาสถาบันราชประชาสมาสัย โดยการนำของอาจารย์สมเกียรติ มหาอุดมพร ได้มีบทบาทอย่างมากในการเป็น “ครู” ที่พยายามป่าวร้องให้คนหันมาสนใจเรื่องเท้า และเป็นครูที่ยินดีสอนอยู่เสมอ

ที่สถาบันราชประชาสมาสัยเองนั้น ภารกิจหลักคืองานด้านวิชาการ ดังนั้นจึงมองตนเองเหมือนเป็นพี่เลี้ยง สำหรับงานขยายพันธุ์คนรักเท้าบริเวณรอบๆ บ้าน สถาบันฯ ได้จัดตั้งหลักสูตรการอบรมต่างๆ รวมถึงเรื่องเท้าด้วย และพยายามชักชวนสนับสนุนให้โรงพยาบาลเพื่อนๆ ในจังหวัดสมุทรปราการได้เริ่มต้นลงมือทำงานเท้า มีการลงเยี่ยมติดตามดูผลงานของเพื่อนศิษย์ทั้งหลายด้วยและให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง การติดตามเยี่ยมได้สร้างความแปลกใจให้กับหลายๆ ทีม ถึงกับบอกตรงๆ ว่าไม่นึกว่าครูจะตามมาเยี่ยม การติดตามและเป็นที่ปรึกษาต่อเนื่องนี้เองคือเคล็ดลับการทำให้งานเท้าขยายตัวได้จริง

ทีมสุดท้ายคือทีมจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี คุณอารยา นิลาทะวงษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นตัวแทนเล่าเรื่อง สิ่งที่จังหวัดร้อยเอ็ดแตกต่างจาก ๔ ทีมที่ผ่านมาคือการที่พี่ใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ลงมือถือธงเป็นผู้นำในการขยายพันธุ์คนรักเท้านี้ด้วยตัวเอง ดังนั้นทุกๆ อย่างจึงเป็นเรื่องของการเริ่มต้นที่นโยบาย

 

คุณอารยา นิลาทะวงษ์

งานขยายพันธุ์คนรักเท้าของจังหวัดร้อยเอ็ดเกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการเหมือนกองทัพ เริ่มต้นจากการประชุมแถลงเรื่องราวให้กับทุกระดับ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ลงไปจนถึงระดับตำบล มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเรื่องนี้ในระดับต่างๆ อย่างเป็นเรื่องราว มีการจัดแบ่งหน้าที่การดูแลเท้าระหว่างสถานพยาบาลระดับต่างๆ

ระดับ รพ.สต. ก็ดูแลขั้น basic แค่คัดกรองเบื้องต้นและสอนการดูแลเท้าทั่วๆ ไป แต่หากเป็นระดับโรงพยาบาลชุมชุนก็ต้องรับผิดชอบสูงขึ้นมาเป็นระดับ advance คือสามารถดูแลแก้ไขความผิดปกติต่างๆ ที่ไม่ยากเกินไปได้ และต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับ รพ.สต. และสำหรับคลินิกเท้าในโรงพยาบาลทั่วไปต้องทำงานระดับ expert เป็นที่รับ refer คนไข้ที่มีปัญหาเกินความสามารถของระดับ basic และ advance รวมทั้งรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงพยาบาลชุมชนในการพัฒนาบริการเท้าให้เก่งขึ้นต่อๆ ไป

นอกจากนั้นยังได้ทำเกณฑ์การแบ่งระดับความเสี่ยงและมาตรการบริการสำหรับเท้าคนไข้เบาหวานที่ชัดเจน เช่น เสี่ยงต่ำให้ติดตามปีละครั้งก็พอ เสี่ยงมากขึ้นก็ต้องดูแลกันบ่อยขึ้น การแบ่งระดับงานและเกณฑ์ให้บริการที่ชัดเจนช่วยให้คนทำงานเห็นภาพการส่งต่อคนไข้ที่เป็นระบบ มีคำตอบให้กับงานตัวเอง รู้ทางช่วยเหลือคนไข้

จังหวัดร้อยเอ็ดได้เริ่มต้นบุกเบิกการทำงานเท้ามานานหลายปีแล้ว ปัจจุบันจังหวัดสามารถติดตามคัดกรองความเสี่ยงเท้าให้กับประชาชนได้ครบถ้วนมากขึ้นเป็น ๘๐.๗๗% ในปี ๒๕๕๓ และหากเปรียบเทียบข้อมูลปี ๒๕๕๓ กับปี ๒๕๕๒ พบว่าอัตราส่วนของคนไข้เบาหวานที่มีเท้าอยู่ในกลุ่ม low risk เพิ่มมากขึ้น (๗๘% ในปี ๒๕๕๒ และ ๘๑% ในปี ๒๕๕๓) และอัตราส่วนของคนไข้ที่มีเท้าอยู่ในกลุ่ม moderate risk, high risk, very high risk ล้วนลดลงทั้งสิ้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งต้องเกิดขึ้นเนื่องจากการตื่นตัวของบุคลากรการแพทย์และประชาชนเรื่องเท้าที่เพิ่มมากขึ้น การคัดกรองที่ครอบคลุมมากขึ้น และความสามารถในการจัดการกับปัญหาตั้งแต่แรกๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วย

คุณอารยา ปิดท้ายการเล่าเรื่องราวของร้อยเอ็ดด้วยการโชว์นวัตกรรมเพลงบริหารเท้า แถมมีมิวสิกวิดีโอให้ดูอีกด้วย นั่งอยู่บนเวทียังต้องถอดรองเท้าหมุนเท้าตามนางแบบทั้งหลายในวิดีโอด้วย เพลงนี้มีลิขสิทธิ์ (ไม่แน่ใจว่าลิขสิทธิ์รวมถึงท่าเท้าเต้นด้วยหรือไม่) แต่ไม่หวง สนใจติดต่อพี่ต้นตำรับ คุณมยุรา ไกรแก้ว จากสถานีอนามัยบ้านไผ่ ตำบลหมูม้น อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้เล่าเรื่อง : คุณธัญญา วรรณพฤกษ์

หมายเลขบันทึก: 419279เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท