มหกรรม KM เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง ปีที่ ๔ : ขยายพันธุ์คนรักเท้า (๒)


ความสุขที่อิ่มที่สุดคือการได้ทำงาน ได้ผลิตอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ ได้รู้ว่าตัวเองได้ช่วยป้องกันแผล และได้สอนวิทยายุทธต่อให้กับคนอื่นๆ ที่สนใจ

ตอนที่

ช่วง highlight ของงานคือช่วงคนทำงานเล่าเรื่องนี้เอง เนื่องจากเรามีเวลาจำกัดเหลือเกิน เราจึงตกลงว่าทุกทีมจะขึ้นไปนั่งบนเวทีพร้อมๆ กันเลย ไม่ต้องเสียเวลาสลับตัวขึ้นลง แถมได้เป็นกำลังใจให้กันและกันอีกด้วย

ตามที่ตกลงกันไว้ เราเริ่มต้นจากเรื่องเล็กแต่ลึก ผู้เล่าเรื่องคือ “พี่ตี๋” หรือ คุณชูชาติ นันทโนภาส หัวหน้า ER จากโรงพยาบาลครบุรี จ.นครราชสีมา พี่ตี๋แจ้งไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่าที่มางาน KM เท้านี้มีจุดประสงค์เดียว คือต้องการมาเล่าเรื่อง felted foam dressing เพื่อให้คนอื่นๆ เชื่อว่ามันดีจริงและมีความอยากนำไปใช้กับคนไข้ของตัวเอง พี่ตี๋เริ่มต้นรู้จักกับ felted foam dressing เมื่อมาอบรมที่ รพ.เทพธารินทร์ ตอนแรกที่ได้ยินคำว่า felted foam ยังคิดว่าเป็นโฟมแบบโฟมทำกระทงด้วยซ้ำไป พอได้เห็นว่ามันคืออะไรแล้ว ก็ได้เริ่มกลับไปลงมือทำกับคนไข้ เห็นผลดีจริงๆ แผลที่ไม่หายซักทีก็หายได้ภายในเวลาไม่นาน

 

 คุณตี๋กำลังเล่าเรื่อง felted foam dressing

ตลอดเวลาที่ทำงาน felted foam dressing พี่ตี๋ตามเก็บข้อมูล วัดขนาดแผลที่ค่อยๆ เล็กลง และทำเป็นงานวิจัยย่อยๆ ที่ยอดเยี่ยมจนได้รับรางวัลหลายรางวัลแล้ว แต่ที่สำคัญพี่ตี๋บอกว่า ผลงานวิจัยเหล่านี้ช่วยให้พี่ตี๋สามารถบอกใครต่อใครให้เชื่อได้ว่า felted foam dressing น่ะเวิร์คจริงๆ มาทำกันเถอะ ตามที่ได้ติดตามข้อมูลที่ทำด้วยมือตัวเอง แผลขนาด ๑ เซนติเมตรจะใช้เวลาในการหาย ๑๔.๕๓ ± ๕.๘๒ วัน โดยมีค่า median อยู่ที่ ๑๕.๔ วัน พี่ตี๋เล่าเรื่องราวด้วยอารมณ์รัก felted foam จริงๆ และปิดท้ายด้วยการถามผู้ร่วมงานว่า “เชื่อผมหรือยังว่า felted foam ดีจริง”

ฟังจากเสียงปรบมือและหน้าตาที่จดจ่อของผู้เข้าประชุม คิดว่าไม่มีใครค้านพี่ตี๋เลย อีกสิ่งที่น่าสนใจคือพี่ตี๋มีการต่อยอด นำเอาไอเดีย felted foam dressing ซึ่งดั้งเดิมที่สอนกันมาใช้สำหรับแผลใต้ฝ่าเท้า มาใช้กับแผลด้านข้างของเท้าด้วย เรียกว่า KM ของแท้ จัดการความรู้ระดับเซียน

ทีมทำงานผู้มาปันประสบการณ์ทีมที่สอง คือ โรงพยาบาลแพร่ โดย นพ.วิชิน โชติปฏิเวชกุล ศัลยแพทย์ และ พี่คุณญา แก้วทันคำ พยาบาลคู่ใจจากศูนย์เบาหวาน คุณหมอวิชินบอกว่ามาสนใจเท้าก็เพราะเซ็งๆ ที่ทำไมต้องเอาแต่ตัด ตัด ตัด คุณหมอเลยลงมือปฏิบัติตนเป็นผู้นำทีมบุคลากรสารพัดวิชาชีพของโรงพยาบาลแพร่ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล นักกายภาพบำบัด และขยายเครือข่ายไปถึงคนไข้และอาสาสมัครด้วยอีกต่างหาก ร่วมกันลุยสร้างบริการสุขภาพเท้าขึ้นมาจนสำเร็จ

 

นพ.วิชิน โชติปฏิเวชกุล ทีม รพ.แพร่

กระบวนการขั้นตอนการลงมือทำเหมือนกันกับอีกหลายๆ แห่ง คือ เริ่มต้นจากการมาเข้าชั้นเรียนตามหาวิชาการมาเป็นพื้นฐานก่อน (คุณหมอนำทีมมาเรียนที่เทพธารินทร์) เสร็จแล้วก็กลับไปรวบรวมทีม อธิบายให้เข้าใจว่าจะทำอะไร เสร็จแล้วก็ลงมือปฏิบัติ แต่เคล็ดลับสำคัญที่สุดที่สัมผัสได้คือการมีผู้นำที่เข้มแข็ง ลุ้น ลุย ดัน สุดฤทธิ์ 

สิ่งที่โดดเด่นของการขยายพันธุ์คนทำงานเท้า คือ การชักชวนอาสาสมัครและคนไข้เข้ามาร่วมวงเรียนรู้ และถือโอกาสขอยืมพลังงานในการให้บริการและป่าวประกาศสอนวิธีการดูแลเท้าให้ตัวเองซะเลย หากไปเยี่ยมคลินิกเบาหวานของโรงพยาบาลแพร่ เราก็จะเห็นภาพของทีมอาสาสมัครนั่งทำงานบริการเพื่อนคนไข้อย่างเอาจริงเอาจัง

พอทีมงานโต พลังงานทวีคูณ ผลที่สุดโรงพยาบาลแพร่ได้เห็นจำนวนคนไข้เบาหวานที่ได้รับการให้ความรู้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว (จาก ๔๗.๕% ปี ๒๕๕๒ เป็น ๘๓.๐% ปี ๒๕๕๓) และอัตราการเกิดแผลที่เท้าลดลง (จาก ๓.๔% ปี ๒๕๕๒ เป็น ๒.๘% ปี ๒๕๕๓) และอัตราการตัดนิ้วเท้าหรือขาลดลง (จาก ๐.๒๑% ปี ๒๕๕๒เป็น ๐.๑๗% ปี ๒๕๕๓)

อีกหนึ่งความโดดเด่นของทีม รพ.แพร่ คือ การผลิตอุปกรณ์ podoscope (กระจกส่องเท้าสำหรับประเมินการกระจายน้ำหนัก) หลายๆ ทีมได้ประสบความสำเร็จในการผลิตอุปกรณ์นี้มาแล้ว แต่เพิ่งเห็นการนำกล้องดิจิตอลมาติดไว้กับเครื่องเป็นแห่งแรก เจ๋งมาก ทำให้ผู้ที่กำลังได้รับการตรวจเท้าเห็นภาพไปพร้อมๆ กับคนตรวจ ช่วยการอธิบายได้มาก แถมยังสามารถเก็บภาพเป็นไฟล์เอาไว้ในคอมพิวเตอร์สำหรับเอากลับมาดูใหม่กี่ครั้งก็ได้ แล้วก็เก็บสำหรับใช้ในการสอนต่อหรือ case conference ได้อีกด้วย

 

Podoscope ติดกล้องของ รพ.แพร่

ต่อมาคือทีมจากเมืองช้าง โรงพยาบาลสุรินทร์ ส่งพี่บุญเลี้ยง จันทรี นักกายอุปกรณ์มือหนึ่งของเมืองไทย มาเป็นตัวแทนเล่าเรื่อง ที่ผ่านมาเรายังเห็นนักกายอุปกรณ์เข้ามาร่วมทีมดูแลเท้าเบาหวานน้อยมาก และทั่วประเทศยังมีปัญหาการขาดแคลนผู้รู้จักและช่วยผลิตอุปกรณ์สำหรับป้องกันแผลที่เท้า นับว่าพี่บุญเลี้ยงเป็นผู้บุกเบิกแนวทางเดินสายใหม่สำหรับวิชาชีพนักกายอุปกรณ์เลยทีเดียว เราต้องพยายามก๊อปปี้พี่บุญเลี้ยงให้เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย กิจกรรมการดูแลเท้าที่โรงพยาบาลสุรินทร์มีฐานทัพติดอยู่กับฝ่ายเวชกรรมฟื้นฟู

 

ซ้าย คุณบุญเลี้ยง จันทรี ขวา รองเท้าสุขภาพยี่ห้อ รพ.สุรินทร์

วันนี้พี่บุญเลี้ยงมาเล่าประสบการณ์ “ความสุข” ของการได้ทำประโยชน์ช่วยคนไข้เบาหวานด้วยการใช้ความถนัดในด้านการประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นทุนเดิม เริ่มต้นจากการได้มีโอกาสมาเข้าอบรมเรื่องการดูแลเท้าที่เทพธารินทร์ แล้วปิ๊งไอเดียอย่างมากในเรื่องการทำแผ่นรองรองเท้าและรองเท้าซึ่งจะมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดแผลที่เท้า

เมื่อได้เรียนรู้หลักการแล้ว พี่บุญเลี้ยงและทีมงานก็ได้ทดลองพัฒนาหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นสูตรผสมยางพาราที่ให้คุณสมบัติที่เหมาะสมและราคาถูก การออกแบบรองเท้าและเสาะหาแหล่งผลิต เป็นการป้องกันแผลพร้อมๆ กับสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น แถมยังเกิดรองเท้าสุขภาพยี่ห้อ “โรงพยาบาลสุรินทร์” ขึ้นในวงการอีกด้วย

แม้งานของทีมโรงพยาบาลสุรินทร์จะเริ่มต้นจากปัญหาของเท้าเบาหวาน แต่ปัจจุบันทีมได้ใช้ความรู้ความชำนาญขยายผลไปสู่คนไข้และประชาชนกลุ่มอื่นๆ ด้วย ประมาณว่าเพียง ๑ ใน ๔ ของกลุ่มคนที่ดูแลอยู่นั้นเป็นคนไข้เบาหวาน ตัวอย่างงานก็เช่นการจะออกคัดกรองเด็กอายุประมาณ ๗-๘ ขวบที่มีปัญหากระดูกสันหลังคด หากมีปัญหาจะได้ใช้อุปกรณ์เสริมไปที่รองเท้าได้ทันการณ์ เพราะหากปล่อยไว้นานๆ จะทำให้เป็นสาเหตุของอาการปวดหลังในอนาคตได้

ผลงานด้านการพัฒนาแผ่นรองรองเท้าและรองเท้าสุขภาพของโรงพยาบาลสุรินทร์ปัจจุบันเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีผู้หลักผู้ใหญ่ได้ทดลองใช้และติดใจจำนวนไม่น้อย ได้รับรางวัลแล้วก็หลาย แม้ในการมางาน KM-DM ที่กรุงเทพฯ ปีนี้ก็มาไม่เสียเที่ยว เพราะพอจบงาน KM ปุ๊บ ทีมก็ต้องเดินสายไปรับรางวัลจาก กพร. ต่ออีก

แต่ไม่ว่าจะเป็นรางวัลอะไรก็แล้วแต่ พี่บุญเลี้ยงสรุปว่าความสุขที่อิ่มที่สุดคือการได้ทำงาน ได้ผลิตอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ ได้รู้ว่าตัวเองได้ช่วยป้องกันแผล และได้สอนวิทยายุทธต่อให้กับคนอื่นๆ ที่สนใจ พี่บุญเลี้ยงยึดหลักไม่ขายแต่ให้ฟรี ที่ให้ฟรีน่ะคือความรู้ที่ให้มาเรียนกันได้ ยินดีสอนเสมอ

ผู้เล่าเรื่อง : คุณธัญญา วรรณพฤกษ์

หมายเลขบันทึก: 419274เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท