เติมสีสันยามเช้าหน้าหนาวริมน้ำป่าสัก


ช่วงหน้าหนาว หรืออากาศพอจะเย็นๆอย่างในช่วงเดือนมกราคมนี้ เวลากาแฟยามเช้าที่ศาลาริมน้ำยิ่งแสนวิเศษกว่าฤดูอื่นๆ

แม้ว่าการซ่อมปรับปรุงบ้านหลังน้ำท่วมยังคงต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือนๆ ต้นไม้ต้นไร่ก็ยังไม่ได้ปลูกใหม่ทดแทน ด้วยจะรอให้การทำบ้านเสร็จมากกว่านี้อีกหน่อย สภาพบริเวณบ้านดูไม่จืดจริงๆค่ะ แต่สายน้ำป่าสักยามเช้าของหน้าหนาวกับชีวิตน้อยๆของเหล่านกหลากหลายก็เป็นสิ่งที่ธรรมชาติยังมีเมตตาให้มาจรุงจิต

เมื่อไม่กี่วันได้เห็นภาพชีวิตและลีลาของ นกจาบคาหัวเขียว ที่มาจับเรียวไผ่รับแสงแดดยามเช้าที่ท่าน้ำ โชคดีที่เก็บภาพได้ แค่นี้ก็มีความสุข ปลื้มที่ได้เห็น ได้นำภาพมาฝากกันค่ะ

นกจาบคาหัวเขียวนี้ส่วนมากจะเห็นเขาเป็นฝูงเล็กๆห้าหกตัวบินร่อนโฉบไปมาอยู่ฟากน้ำตรงข้าม นานๆทีเขาจึงจะมาฝั่งบ้านเรา และพอดีกล้องดิจิตอลตัวใหม่สามารถซูมได้ถึงสิบห้าเท่า ก็พอทำให้เก็บภาพและได้เห็นสีสันเขาชัดขึ้น

นกจาบคา มีหลายชนิด สวยๆทั้งนั้น ที่มาโชว์ตัวนี้เป็นชนิด นกจาบคาหัวเขียว แต่มีชื่อภาษาอังกฤษไปเน้นความโดดเด่นที่หาง คือ Blue-tailed bee-eater มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Merops philippinus เป็นนกในตระกูล Meropidae จัดเป็นนกอพยพชนิดหนึ่ง มีแหล่งผสมพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ชื่อ bee-eater ก็บ่งบอกว่า เป็นนกพวกที่ชอบกิน ผึ้ง นะคะ และยังกินแมลงอื่นๆเป็นอาหารด้วย เช่น ต่อ แตน แมลงปอ

นกจาบคาหัวเขียว นี้รูปร่างเพรียวลม สีสันสวยงาม มองไปจะเห็นทั้งสีเขียว สีเหลืองอมส้ม สีฟ้า สีดำ โดยจะมีสีเขียวเด่นเป็นพิเศษ บริเวณใบหน้ามีแต้มสีฟ้าเล็กๆ และมีแถบยาวสีดำอยู่ตรงดวงตา ขนที่คอเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล หางเป็นสีฟ้า และจะงอยปากสีดำ ที่ขนหางตรงกลางจะเป็นเส้นยาวตรงๆสองเส้นที่เห็นเด่นชัด

ลีลาการบินของเขาก็แสนพิเศษ มีทั้งบินโผไปมา บินดิ่งทิ้งตัวโฉบเหยื่อกลางอากาศ บินร่อนข้ามแม่น้ำ

 

เมื่อเขาเกาะเรียวไผ่เอากล้องส่องทางไกลมาส่อง เห็นเขาคาบแมลงสะบัดหัวไปมา ตำราบอกว่าเขากำลังใช้ปากจิกและสะบัดเปลือกแข็งที่หุ้มตัวแมลงออก เห็นสวยๆอย่างนี้แต่ออกแนวโหดเหมือนกัน ก็ตามธรรมชาติของนกจาบคาหัวเขียว บุญทำ กรรมแต่ง เป็นเช่นนั้นเองนะคะ

 

...นกจาบคาหัวเขียวชอบสร้างรังอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ตามริมฝั่งแหล่งน้ำที่เป็นทรายหรือพื้นที่ราบเปิดโล่ง รังมีลักษณะเป็นเหมือนอุโมงค์ค่อนข้างยาว นกชนิดนี้จะวางไข่ทรงกลมสีขาวครั้งละ 5-7 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะเฝ้าดูแลไข่ด้วยกัน นอกจากนี้ เวลาออกหากินหรือพักเกาะตามที่สูง ก็มักจะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเช่นกัน...

(มงคล วงศ์กาฬสินธุ์ นกจาบคาหัวเขียว Outdoor Adventure Magazine (นิตยสารท่องธรรมชาติ) Vol.1, No.12, May 1995)

 

 

 

ได้เห็นสิ่งรื่นรมย์ยามเช้า ได้ข้อคิดชีวิตความเป็นไปของนานาสัตว์ร่วมโลก ขอขอบคุณแม่ธรรมชาติและเจ้านกจาบคาหัวเขียวที่มาเติมสีสันยามเช้าให้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 419053เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2011 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

สวัสดีค่ะ

         มาชมความงามของธรรมชาติ  และเป็นบุญตาที่ได้เห็นภาพนกจาบคา  สวยงามมากค่ะ  ตอนแรกคิดว่าเป็นภาพวาด  ภาพนกเกาะที่เรียวไผ่  สวยจริงๆค่ะ ถ้าได้มาเห็นจริงๆคงสวยกว่านี้นะคะ    วันก่อนขณะที่ครูดาหลานั่งผิงแดดอยู่หน้าบ้าน  มีนกเขามากาะตรงเรียวไผ่ตัวหนึ่ง ขณะที่เกาะลำไผ่ก็กระดกขึ้นๆลงๆ  ก็ลุกจะไปเอากล้อง มันบินไปก่อนไม่ทันได้ถ่ายรูปไว้  ยังนึกเสียดาย

                              

สวัสดีค่ะ

    ภาพสวยมากค่ะ เคยถ่ายรูปนกชนิดนี้ได้และอยากรู้จักชื่อมาโดยตลอด เลยได้โอกาสรู้คราวนี้ ขอบคุณมากค่ะ ภาพนี้ถ่ายที่อินเดียริมแม่น้ำยมนาฝั่งตรงกันข้ามกับ Taj mahal คณะทัวร์กำลังนั่งรอชมสีของ Taj mahal ตอนพระอาทิตย์ตก เจ้านกสีสวยตัวนี้ก็โฉบมาเกาะอยู่ตรงหน้า ทุกคนลืม Taj mahal ไปชั่วขณะค่ะ :)

Jaa :)

สวัสดีค่ะคุณKRUDALA ดีใจที่ถูกใจค่ะ นี่ถ้าได้มานั่งดื่มกาแฟและชมนกยามเช้าด้วยกันคงเพลิดเพลินการชมนานานกอย่างยิ่งเลยล่ะค่ะ

ปกติเรียวไผ่นี้ นกเขา มักจะมาจับจองก่อนใคร แล้วก็จะมีนกปรอด มากันเป็นคู่ค่ะ ส่วนพวกนกเอี้ยงหัวหงอนจะมากันหลายตัวส่งเสียงวุ่นวายที่สุด นานๆนกจาบคาหัวเขียวจะมา น่าสังเกตว่าหากมีนกจาบคาหัวเขียวมาเกาะ นกอื่นๆมักไม่มาเกาะทาบรัศมี หรืออาจว่าเขาเป็นพวกนกปราดเปรียว และดูโหดๆมังคะ

การถ่ายรูปพวกนก ผีเสื้อ ตัวเองคิดว่าเป็นจังหวะโชคด้วยค่ะ นานๆทีจึงจะได้ภาพเหมาะๆ

สวัสดีค่ะคุณJaa ขอบคุณที่มาชมนกด้วยกันค่ะ ภาพนกจาบคาริมฝั่งน้ำยมนาก็แสนน่ารักค่ะ และคิดว่าแม้ว่าจะเป็นนกจาบคา แต่ก็เป็นคนละชนิด กับ นกจาบคาหัวเขียว น่าจะเป็น นกจาบคาเล็ก Green bee-eater ดูตรงคอเขาจะเป็นสีฟ้าๆ

พวกนกจาบคานี่สีสันสวยงามชวนมองมากๆเลยนะคะ

ขอบคุณค่ะคุณครูหยุยนาย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) เป็นความลงตัว พอเหมาะ พอดีหลายอย่างในวันนั้นที่เก็บภาพได้ค่ะ

เก็บภาพได้อย่างพอใจขนาดนี้ทำให้คิดไปว่าเขาตั้งใจมาโชว์ให้เราเก็บภาพค่ะ

อาทิตย์อรุณสวัสดีค่ะพี่นุชสุดสวาทบาดใจ

ว้าว ลีลาโผผินบินว่อนของนกจาบคานี้ไม่ธรรมดา เอ สงสัยว่าเจ้าตัวที่ตีลังกาจะเป็นตัวผู้ โชว์สาวแต่เช้าเลยรึเปล่าคะเนี่ย อิ อิ

 ภาพนี้ยิ่งสุดยอดค่ะพี่นุช กดปุ่มครั้งเดียวได้นกสามตัวเลย ว้าว เป็นละครเวทียามเช้าที่เติมสีสัน ได้พลังมากๆนะคะ ส่งกำลังใจกันต่อไปกับบ้านค่ะ ขอบคุณพี่นุช ทำให้รู้ว่าความสุขเกิดขึ้นได้ทุกสภาวะ ให้พี่นุชสุขสันต์ทุกห้วงยามค่ะ ... :)

 

นกน้อย  น่ารักจังค่ะ

ค่ะน้องปูจ๋าpoo อรุณสวัสดิ์แบบสายๆแต่อากาศยังเยี่ยมอยู่

เป็นโชว์สีสันสุดสวยยามเช้าที่ตื่นตาจริงๆค่ะ ตอนกดชัตเตอร์ก็เสี่ยงไปอย่างนั้น ไม่ชัวร์ว่าจะเก็บลีลาวิหคได้แค่ไหน พอมาเปิดในคอมพิวเตอร์ ว้าว! เหลือเชื่อค่ะ เลยได้นำมาแบ่งกันชื่นชม

ส่งกำลังใจในการปรับปรุงบ้านมาเสมอๆ พอบ้านเสร็จต้องมาร่วมฉลองนะคะ (กระซิบว่าอาจจัดการบรรยายและสนทนาธรรมริมน้ำกันค่ะ)

ชีวิตที่เเสนรื่นรมย์ ชมนก ชมไม้ น่าอิจฉามากๆครับ :)

สวัสดีค่ะคุณครู ป.1 แสนสุขสมนั่งชมวิหค แต่ไม่อยากเป็นนกค่ะ^___^

เจ้านกจาบคาหัวเขียวนี่ถูกใจผู้ชมทุกท่านเลยนะคะ

สวัสดีเป็นครั้งแรกค่ะ ขอบคุณค่ะที่ช่วยให้ปริมกระจ่างว่านกนี้ชื่อว่านกจาบคา เคยจับภาพได้แต่ไม่รู้จักชื่อ

ภาพนกบนกิ่งไผ่งดงามจังค่ะ เหมือนภาพวาดเลย สุขสันต์วันอาทิตย์กับธรรมชาติอันงดงามค่ะ

สวัสดีค่ะคุณเอกจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร แสนรื่นรมย์ สมวัยค่ะ ลักษณ์แปดอย่างพี่เมื่อพิจารณาสังขารตนเองแล้วก็ต้องสงวนพลังไว้ทำสิ่งที่ชอบและเหมาะสมกับตนค่ะ^___^

เห็นภาพงานแต่งน้องสาว งดงามสดชื่น น่าปลื้มใจมากค่ะในพิธีแบบล้านนา รองานคุณเอกบ้าง

เมื่อไหร่เราจะได้พบปะสุนทรียสนทนากาแฟริมน้ำกันดีล่ะคะ

อาจารย์ : อยากไปเจอมากๆครับ

ประมาณต้น มีค.มีงาน ภาคี สสส.เปิดเวทีเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างเเรงบันดาลใจในการจัดการความรู้ออนไลน์ จัดที่ กทม. มี ดร.จันทวรรณ มาร่วม (ผมกะจะเชิญ Blgger ๒ - ๓ ท่าน) ผมมาทำกระบวนการ ...มาด้วยกันนะครับ ชวนพี่ศิลามาด้วย จะได้มา สุนทรียสนทนา กันครับ...

ส่วนบ้านริมน้ำ รอพี่ศิลาเขาว่างๆ จะไปนอนสักคืนครับ

สวัสดีค่ะคุณ...ปริม ทัดบุปผา... ขอบคุณที่มาทักทายได้เป็นมิตรใหม่กันนะคะ

นกจาบคาเขาชอบอยู่กันเป็นฝูงและใกล้แหล่งน้ำใหญ่ๆ พี่เพิ่งเคยเห็นนกนี้ด้วยตาตนเองเป็นครั้งแรกก็ที่บ้านนี่แหละค่ะ แต่ฝูงเล็ก เห็นมานานแต่เพิ่งเก็บภาพได้ ยกความสามารถให้กล้องตัวใหม่ที่ซูมได้สิบห้าเท่าค่ะ

สุขสันต์วันอาทิตย์แด่คุณปริมเช่นกันค่ะ

เป็นสีสีนที่สวยงามจริงๆ ครับ

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

อยากเป็นนกเหลือเกิน.......ภาพสวยจริงๆค่ะ สมกับเข้าของบล๊อกหลายเด้อ

มาชมนก ชมไม้ ด้วยคนครับ

 

ขอบคุณ Ico48 ที่แวะมาเยี่ยมเยียน แลกเปลี่ยนความรู้ครับ

จากบันทึก ข้าววัชพืช เป็นวิกฤติชาติ - ชาวนาไทย : ทำนาปี นาปรัง มีแต่หญ้า ยา ปุ๋ยเคมี

ศาสตร์เรื่องของการปลูกข้าว ของญี่ปุ่น น่าทึ่งมาก ครับ ว่ากันด้วยพัฒนาอย่างเป็น ระบบ ระเบียบ และความปราณีต เอาใจใส่ทุกขั้นตอน ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

พัฒนาคน : มีคุณภาพ มีการศึกษา มีจิตวิญญาณของเกษตรกร ห่วงใยสิ่งแวดล้อม

พัฒนาพันธุ์ :ให้ได้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคเเมลง รสชาตถูกปากผู้บริโภค

พัฒนาเครื่องจักร: รองรับแรงงานภาคเกษตรที่หายไป ซึ่งปัจจุบันเหลือประมาณ ร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด

ตั้งแต่เครื่องมือ

การเพาะกล้า-เป็นระบบสายพานลำเลียงผลิตแผ่นกล้า ใช้เมล็ดพันธุ์ จำนวนที่เหมาะสม มีการอนุบาลก่อนลงเเปลง ต้นกล้าข้าวไม่ต้องลงไปโตแข่งกับหญ้าในแปลงนา 

เตรียมดิน -ให้เรียบเสมอ  ลึกในระดับที่เหมาะสม 12-18 cm.พร้อมสำหรับการปักดำ

ปักดำ - เป็นแถวเป็นแนว มีระเบียบ มีช่องว่างให้อากาศผ่าน แสงแดดส่องถึงพื้น การจัดการดูแลในเเปลงนาก็ง่ายขึ้น

ดูแล -ใช้เครื่องพรวนหญ้า (weeder)ลดการใช้ยาปราบวัชพืช และเครื่องชักร่องน้ำ ระบายน้ำได้ น้ำไม่ท่วมขังเเปลงนา

เก็บเกี่ยว -ใช้ระบบนวดเฉพาะคอรวง ใช้พลังงานในการนวดนวดน้อยลง ได้ข้าวที่มีความชื้นต่ำ เนื่องจากไม่ต้องเอาต้นข้าวเข้าตู้นวด (ซึ่งบริเวณโคนต้นข้าวมีความชื้นสูง) ประหยัดพลังงานในการอบลดความชื้น หลังการเก็บเกี่ยว

การจัดเก็บ -ไซโล ขนาดเล็ก เก็บข้าวที่โรงนาเกษตรกร ไว้ทยอยสีขายทั้งปี สีเป็นข้าวกล้อง และข้าวขาว หรือบรรจุเป็นข้าวเปลือกใส่ถุง กระดาษรีไซเคิล

การสี - มีตู้สีข้าวหยอดเหรียญตามชุมชน เพื่อผู้บริโภคได้สารอาหารครบถ้วน กรณีซื้อข้าวเปลือกมาไว้ที่บ้าน แล้วต้องการบริโภคข้าวกล้องเเบบสีสดๆร้อน

เพราะ เปลือกข้าวเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ดูแลคุณภาพข้าวได้ดีที่สุด ...

หลังการเก็บเกี่ยว : เครื่อง กระจายฟาง รวมฟาง อัดฟาง ไว้ใช้ประโยชน์ทำปุ๋ย เลี้ยงสัตว์ต่อ   

พัฒนาระบบชลประทาน : ควบคุมน้ำ ได้ก็ประหยัดน้ำ จัดการในเเปลงนาได้ดั่งใจ ที่ระดับ 5cm. น้ำสลับเเห้ง  ข้าวก็ไม่ต้องโตยืดตัว หนีน้ำ (มีผลต่อปัจจัยการผลิตอย่างอื่นต่อ ปุ๋ย ยา การร่วงหล่น ) หรือเเห้งตาย เพราะไม่มีน้ำ 

พัฒนาตลาด :ผ่านระบบสหกรณ์ หรือ JA ทำให้เกษตรกรได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรม

และให้ "คุณค่ากับเเหล่งผลิต ว่ามาจากเเปลงนาใคร คนปลูก ดูแลอย่างไร"  ใส่ใจกันทุกขั้นตอนจริงๆ ครับ

ยืนยันคุณภาพการผลิตกันตั้งแต่เเปลงนา ผู้บริโภคก็มั่นใจ

ไม่ใช่ ทำ Marketing ข้าวบรรจุถุงขาย อย่างเดียวเหมือนบ้านเรา ที่ใครปลูกก็ไม่รู้ ปลูกดูแลกันอย่างไร ก็ไม่รู้อีก  คนกิน คนซื้อ รู้แค่ว่าข้าวยี่ห้ออะไร รู้ กันอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ ตราห้าง... ตราร่ม... ตราหัวเรือ...  ตรา ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่  ...

 

"ชาวนาญี่ปุ่น ไม่ขายข้าวเปลือกทีเดียวหลังเก็บเกี่ยวครับ แต่จะเก็บและทยอยสีขายตลอดทั้งปี ทำ packing ติด brand เจ้าของนา brand เเหล่งผลิต ทำให้ปริมาณข้าวไม่ล้นตลาด (มี Buffer stock ที่โรงนาเกษตรกร) "

สวัสดีปีใหม่ค่ะ..ในธรรมชาติไม่มีแต่สิ่งโหดๆอย่างเดียวในตรงข้ามก็ยังมีสิ่งดีๆงามๆให้เราได้พักใจได้เสมอ..ขอบคุณที่ได้เห็นภาพงามๆในธรรมชาติ..ด้วยคนเจ้าค่ะ..ยายธี

คุณเอกจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร รอนัดวันว่างกับคุณศิลานะคะ พี่ชวนไปนอนที่อยุธยาบุรีเทวี บ้านปากท่ายังต้องปรับปรุงอีกนาน

ขอบคุณค่ะคุณบีเวอร์ เราไม่ค่อยได้พบกันนะคะ นี่ต้องขอบใจเจ้านกจาบคาหัวเขียวที่ชวนให้มาค่ะ ^______^

สาวสวยสดใส เช่นคุณวิไล บุรีรัตน์ มาชมนกสีสวย แหม สมกันจังค่ะ

สวัสดีปีใหม่เช่นกัน ขอบคุณนะคะ

ขอบคุณค่ะคุณต้นกล้า แวะพักมาชมนก ชมไม้ด้วยกัน

ขอบคุณที่ให้ข้อมูลเรื่องข้าวของญี่ปุ่นจนมองเห็นภาพใหญ่ทั้งหมดพี่ก็ได้ไปลงความคิดเห็นในบันทึกล่าสุดของคุณแล้วด้วยเช่นกัน ถึงจะไม่ใช่ชาวนา ไม่ได้ทำอะไรกับการปลูกข้าว หรือทำเกษตรเป็นจริงเป็นจังก็สนใจเรื่องนี้ค่ะ เพราะอย่างไรก็ยังกินข้าวอยู่ทุกวัน

สวัสดีีใหม่ค่ะคุณยายธี ได้คุยกับน้าต้อย เห็นว่าจะนัดชวนคุณยายธีมาอยุธยากัน รอต้อนรับค่ะ คุณยายธีหายหวัด หายไข้ดีแล้วใช่มั้ยคะ รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

ชมนกสวยๆ เพลินๆให้สบายใจนะคะ

ได้มาชื่นชม.....และชื่นใจเหลือเกิน

สเหมือนได้...เห็นด้วยตาตนเองค่ะ

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาชมบรรยากาศยามเช้าริมน้ำป่าสักพร้อมกับได้ชม "นกจาบคาหัวเขียว" ชอบบรรยากาศแบบนี้ค่ะ
  • ระลึกถึงกันเสมอค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

                                 เห็นภาพนกน้อยคู่นี้น่ารัก ๆ ก็เลยเก็บมาฝากกันค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณคุณแจ๋ว คนถ่ายรูปปลื้มค่ะที่สามารถเก็บภาพได้สวยขนาดนี้

ระลึกถึงกันเสมอเช่นกันค่ะ เจ้านกน้อยคู่นี้มาขึ้นเวทีนางงาม เอ๊ย...นกงาม เข้ากันเลยนะคะ

ขอบคุณที่มาแวะเวียน หยอดสิ่งน่ารักๆให้เสมอๆค่ะ

ขอบคุณมากสำหรับความสุขสดชื่นกับภาพนกเชิงศิลป์สวยงามนี้ค่ะ..จินตนาการกับธรรมชาติรอบข้างดีๆที่นกมาพึ่งพิง..ชอบจังค่ะ..

                      ผีเสื้อสีสวยที่สวนในบ้าน

ขอบพระคุณค่ะพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ นก ผีเสื้อ ต้นไม้...ธรรมชาติที่ใครๆสามารถมีได้ทุกคน ทุกที่ แต่จะมีใครสนใจที่จะเห็นความงามใช่มั้ยคะ

เจ้าผีเสื้อหนอนกาฝากเป็นผู้มาเยือนเติมสีสันเสมอนะคะ เห็นจนแทบจะกลายเป็นของธรรมดา เมื่อไปเห็นผีเสื้อสวยๆแปลกตาก็จะไปตื่นเต้นกับของใหม่ของแปลก พอได้สติก็ทำให้คิดได้ว่า เขาก็สวยงามอย่างที่สุดเป็นปกติ แต่ใจเรานี่เองที่ไปเกิดความไม่ใส่ใจเพราะชินชา ทุกวันนี้เห็นเขาพากันบินมาต้องขอบใจเขาทุกครั้งที่มาสร้างชีวิตชีวาให้ค่ะ

ใบชะพลูของพี่ใหญ่งามจัง นุชมีเมนูอร่อยจากใบชะพลูคือ ปลากรายห่อใบชะพลูย่าง วันหลังจะขอทำให้พี่ใหญ่ชิมนะคะ

ทักทายยามเย็นฝนกำลังโปรยปรายเลยค่ะพี่นุช

ชมบรรยากาศจริงๆมาแล้ว มาชมภาพนกแบบชัดเจนอีกครั้ง คิดถึงจังเลยค่ะ

กลับมาถึงเกาะเมื่อเช้า สะสางภารกิจโน่นนี่ เพิ่งได้ทานข้าวรวบเช้าเที่ยงอย่างเยอะ

อิ อิ คิดถึงต้มพะโล้ ทอดมัน บรรยากาศริมน้ำ ขอบพระคุณพี่นุชมากมาย ประทับใจค่ะ

สวัสดีค่ะน้องปูจ๋า กว่าพี่จะมาตอบได้ ลุ้นเจ้าสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ขึ้นค่ะ สองบริษัทผู้รับผิดชอบร่วมกันเขามีปัญหาคาใจหาจุดยุติบ่ได้ ^___^  พี่เลยต้องใช้แอร์การ์ด และมันช้ากว่า ADSL ที่เคยใช้อยู่มากเลยค่ะ หมู่นี้เลยไม่คล่องตัวในการเข้ามาโกทูโนว์ คิดถึงมากเช่นกัน นึกถึงน้องปูที่ดูตื่นเต้นอยากจับภาพทุกสิ่งที่มองเห็นแล้วอมยิ้มกับตัวเอง น้องช่างน่าเอ็นดูจัง เมื่อไหร่จะมีเวลาว่างมาอีก ชวนเพื่อนหรือน้องมาด้วยก็ได้ยินดีต้อนรับทุกคนค่ะ และพี่ก็รอฟังข่าวจากน้องปูนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท