อะไรคืออาร์ทีเมีย จักรพงษ์


ถึงจะตัวเล็กแต่ก็มีประโยชน์

ความรู้เกี่ยวกับอาร์ทีเมีย

อาร์ทีเมีย หรือ ไรสีน้ำตาล หรือไรน้ำเค็ม (brine shrimp) เป็นสัตว์น้ำที่ทนเค็มที่สุดในโลก ชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดอยู่ในพวกครัสเตเซีย (Crustacea) เช่นเดียวกับกุ้ง, กั้ง และปู แต่อาร์ทีเมียเป็นพวกที่ ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มตัว ในวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลก นิยมเอาอาร์ทีเมียไปใช้เป็นอาหารในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน จำพวก กุ้ง ปู และปลาชนิดต่างๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ อาทิ
- อาร์ทีเมียมีคุณค่าทางอาหารเหมาะสมโดยสังเขปดังนี้
โปรตีน (%) ไขมัน (%) คาร์โบไฮเดรต (%) เถ้า (%)
อาร์ทีเมียวัยอ่อน 52.2 (8.8) 18.9 (4.5) 14.8 (4.8) 9.7 (4.6)
อาร์ทีเมียโตเต็มวัย 56.4 (5.6) 11.8 (5.0) 12.1 (4.4) 17.4 (6.3)
- อาร์ทีเมียมีความอ่อนนุ่มและขนาดเหมาะสม
ความยาว (มิลลิเมตร) ความกว้าง (มิลลิเมตร)
อาร์ทีเมียวัยอ่อน 0.4-0.52 0.14-0.18
อาร์ทีเมียโตเต็มวัย 7.0-15.0 3.0-4.0
- ตัวอ่อนของอาร์ทีเมีย ในขณะที่ถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกสีน้ำตาล ในทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า cysts แต่คนไทยกลับเรียกกันทั่วไปว่าไข่อาร์ทีเมียนั้น สามารถเก็บสะสมรักษาให้คงสภาพมีชีวิต อยู่ได้เป็นเวลาหลายปี เมื่อต้องการใช้ก็เพียงแต่นำมาเพาะในระยะเวลาอันสั้นก็จะฟักออกเป็นตัวแล้วสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ตามที่ต้องการทำให้สะดวกมากต่อการจัดการ นอกจากนั้น อาร์ทีเมียขนาดโตเต็มวัย (Artemia Biomass) ซึ่งนอกจากจะใช้ให้เป็นอาหารสัตว์น้ำโดยตรงแล้วยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาร์ทีเมียดอง อาร์ทีเมียแช่แข็ง (Frozen Artemia) อาร์ทีเมียผง (Artemia Powder) อาร์ทีเมียแผ่น (Artemia Fake) หรือใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีนสูง ชนิดต่างๆ สำหรับใช้ในวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยทั่วไป
- อาร์ทีเมียช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำ เนื่องจากอาร์ทีเมียกินอาหารโดยการกรองรวบรวม สิ่งแขวนลอยทุกอย่างในน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าช่องปาก ทั้งพวกจุลินทรีย์ “แบคทีเรีย (bacteria) แพลงก์ตอน (plankton)“ พวกซากเน่าเปื่อยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ (detritus) ตลอดจนพวกอนุภาคอินทรีย์สาร (organic particles) เป็นอาหาร

ชีววิทยาของอาร์ทีเมีย (Biology fo Artemia)
   อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
ไฟลัม (phylum) : อาร์โทรโปดา (Arthopoda)
ชั้น (class) : ครัสเตเซีย (Crustacea)
อันดับ (order) : อะนอสตราคา (Anostraca)
ครอบครัว (family) : อาร์ทีมิอิดี (Artemiidae)
สกุล (genus) : อาร์ทีเมีย (Artemia),
ชื่อสามัญ (common name) : อาร์ทีเมีย (Artemia), ไบร์นชริมพ์ (Brine shrimp)
ชื่อไทย (Thai common name) : อาร์ทีเมีย, ไรสีน้ำตาล, ไรน้ำเค็ม

  ลักษณะของอาร์ทีเมีย (Morphology of Artemia)
อาร์ทีเมียเป็นสัตว์ที่ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มลำตัว มีเพียงเนื้อเยื่อบางๆ เท่านั้นที่หุ้มลำตัว ว่ายน้ำเคลื่อนที่ในลักษณะหงายท้อง มีรูปร่างแบนเรียวคล้ายใบไม้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
  1 ส่วนหัว (head) แบ่งออกเป็น 6 ปล้อง ปล้องแรกเป็นที่ตั้งของตาเดี่ยว (ocellus) ตารวม (compound eyes) มีก้านตา 1 คู่ และริมฝีปาก (labrum) ปล้องที่ 2 เป็นที่ตั้งของหนวดคู่แรก (first antennae) ช่วยรับความรู้สึก ปล้องที่ 3 เป็นที่ตั้งของหนวดคู่ที่ 2 (second antenna) ใช้ในการว่ายน้ำและกรองรวบรวมอาหาร ปล้องที่ 4 เป็นกราม (mandibles) ช่วยพัดโบกอาหาร ปล้องที่ 5 เป็นฟันคู่แรก (first maxillae) และปล้องที่ 6 เป็นฟันคู่ที่ 2 (second maxillae)
  2 ส่วนอก (thorax) แบ่งออกได้เป็น 11 ปล้อง แต่ละปล้องประกอบด้วยระยางค์ (appendages) 1 คู่ เรียก ระยางค์อก (thoracopods) ซึ่งระยางค์เหล่านี้ เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ทั้งในการเคลื่อนที่ หายใจ และกรองรวบรวมอาหาร
   3 ส่วนท้อง (abdomen) แบ่งออกได้ 8 ปล้อง ปล้องแรกเป็นที่ตั้งของอวัยวะเพศ ปล้องที่ 2-7 ไม่มีระยางค์ และปล้องที่ 8 มีแพนหาง (cercopods) 1 คู่
โดยปกติอาร์ทีเมียขนาดโตเต็มวัย (adult) เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย หนวดคู่ที่ 2 (2 nd antenna) ในเพศผู้จะมีขนาดใหญ่คล้ายตะขอ (hooked graspers) ใช้จับเพศเมีย ส่วนในเพศเมียหนวดคู่ที่ 2 จะมีขนาดเล็กลงเปลี่ยนมาทำหน้าที่รับความรู้สึก และบริเวณปล้องแรกของส่วนท้องในเพศผู้ จะมีอวัยวะเพศผู้ (penis) อยู่ 1 คู่ สำหรับเพศเมีย จะมีอวัยวะเพศเมีย (uterus หรือ brood pouch) รายละเอียดในรูปที่ 1


  การสืบพันธุ์ (Reproduction)
อาร์ทีเมียสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ (sexual reproduction) ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ออกลูกได้ทั้งแบบออกเป็นตัว (ovoviviparous) โดยในช่วงสภาวะแวดล้อมปกติไข่จะฟักเป็นตัวภายในมดลูก (uterus) สังเกตได้จากมดลูกจะมีสีขาวเทา และแบบออกเป็นซีสต์ (oviparous) มีเปลือกแข็งหุ้ม สังเกตจากมองเห็นมดลูกมีสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งในแต่ละรอบของการสืบพันธุ์เพศเมียแต่ละตัวจะให้ลูกออกมาเป็นตัวหรือเป็นซีสต์ เพียงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น โดยความดกประมาณ 50-300 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาด ของแม่และสายพันธุ์ สภาวะปกติอาร์ทีเมียมักจะออกลูกเป็นซีสต์
  ไข่อาร์ทีเมีย (Artemia cysts)
ตามปกติแล้ว ไข่ของสัตว์ทั่วไปจะมีลักษณะเป็นเซลล์ (cell) เดียว แต่ใข่อาร์ทีเมียนั้นไม่ได้มีเซลเดียว แต่ได้พัฒนาจนกระทั่งเป็นตัวอ่อน (embryo) ในระยะที่มีลักษณะคล้ายรูปถ้วย (gastrula stage) ซึ่งมีเซลล์ประมาณ 3,000-4,000 เซลล์ แล้วในช่วงสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะปกติอย่าง กระทันหันก็จะหยุดการเจริญเติบโตเป็นการชั่วคราว (nondifferentiated cell) แล้วสร้างเปลือกแข็งมาหุ้มเพื่อป้องกันตัวอ่อนระยะดังกล่าวไว้ ในทางวิทยาศาสตร์ต้องเรียกว่า ซีตส์ (cysts) แต่คนไทยเรียกว่า ไข่ เปลือกของไข่อาร์ทีเมียนั้น มีรูพรุนซึ่งจะเป็นทางผ่านของอากาศและน้ำ และยังช่วยพยุงให้ไข่ลอยน้ำ เปลือกของไข่มีสีน้ำตาลเข้ม เพราะมีส่วนประกอบของสารพวกฮีมาติน (haematin) ซึ่งมีสีน้ำตาลหรือแดง โดยในแหล่งน้ำเค็มจัดมากที่อาร์ทีเมียอาศัยอยู่นั้น ไข่อาร์ทีเมียจะลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ แล้วถูกพัดพาไปตามกระแสลมและน้ำ ไปรวมกันอยู่บริเวณวังน้ำวนและริมฝั่ง ขนาดของไข่อาร์ทีเมีย อยู่ระหว่าง 200-300 ไมครอน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาวะแวดล้อม
   วงจรชีวิตของอาร์ทีเมีย (Life Cycle of Artemia)
ตัวอ่อนระยะแรกของอาร์ทีเมียทั้งที่ออกมาจากแม่โดยตรง หรือแม่ปล่อยไข่แล้วฟักเป็นตัว ภายหลัง เรียกว่า Instar ? จะมีความยาวประมาณ 0.40-0.52 มิลลิเมตร มีสีเหลืองส้มของไข่แดง (yolk) ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากตัวอ่อนระยะแรกนี้จะเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงรูปร่างโดยการลอกคราบอีกประมาณ 15 ครั้ง ใช้ระยะเวลาประมาณ 7-15 วัน ก็จะเจริญเติบโตมาถึงวัยเจริญพันธุ์ (adult) ความยาวระหว่าง 7-15 มิลลิเมตร เริ่มมีการสืบพันธุ์ (รูปที่ 2) ถ้าเป็นอาร์ทีเมียในกลุ่มที่มี 2 เพศ มักจะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (sexual reproduction) โดยการจับคู่และผสมพันธุ์กันระหว่างตัวผู้และตัวเมีย
ถ้าเป็นอาร์ทีเมียในกลุ่มที่มีเพศเดียว จะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (parthenogenesis) โดย ไข่จะไม่ได้รับการผสมจากน้ำเชื้อตัวผู้ แต่สามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งการสืบพันธุ์ทั้ง 2 แบบนี้ อาร์ทีเมียสามารถให้ลูกออกมาได้ 2 ลักษณะ คือเป็นตัวหรือเป็นไข่ (cysts) โดยในช่วงสภาวะแวดล้อมปกติ อาร์ทีเมีย จะออกลูกเป็นตัว ส่วนในช่วงที่สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไปจากภาวะปกติอย่างกระทันหัน เช่น ความเค็มสูงขึ้นมากอย่างกระทันหัน (salinity stratification), ออกซิเจนลดลงมากอย่างกระทันหัน,
อุณหภูมิสูงขึ้นหรือและลดลงมากอย่างกระทันหัน อาร์ทีเมียส่วนใหญ่จึงจะออกลูกมาเป็นไข่ (cysts) อาร์ทีเมียจะเริ่มผลิตไข่ครั้งใหม่ได้ หลังจากการให้ลูกครั้งก่อนผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 วัน โดยทั่วไปแล้ว อาร์ทีเมียที่เลี้ยงในประเทศไทยจะมีอายุได้ประมาณ 1-3 เดือน


คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4149เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2005 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทำไม อาทีเมีย ของผมมันยังไม่ฟักซักทีเลยอ่ะครับ

คือผมไปซื้อของเล่นมาชิ้นนึง มันบอกว่าเป็นแพลงตอนล้านปี

http://www.weloveshopping.com/template/a11/showproduct.php?pid=532322&shopid=13977

(ตามลิงค์ด้านบน)

ผมก็เลยซื้อมาเล่น แต่ตอนนี้รอๆๆ แล้ว รอเล่า ใข่มันก็ยังไม่เห็นฟักออกมาเป็นตัวเลย

ในนั้นก็มีคู่มือการเลี้ยงมาเหมืองกัน

ผมก็ทำตามทุกขั้นตอนแล้วนะครับ

งงเลยว่าทำไมใข่มันไม่ฟักสักที

ถ้ารู้ช่วยบอกด้วยนะครับ นี่ไฮไฟฟผม

http://porkadas.hi5.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท