แผนการจัดการเรียนรู้ที่จัดการเรียนรู้โดยวิธีการทางประวัติศาสตร์


วิธีการทางประวัติศาสตร์

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ ๑ 

เรื่อง อาณาจักรตามพรลิงค์ หน่วยที่ ๓ “ ตามรอยไทย ”

       เวลา ๑ คาบ  (นอกห้องเรียน ๕ ชั่วโมง)

กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม       ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑

สาระการเรียนรู้

                สาระที่ ๔  ประวัติศาสตร์ 

มาตรฐาน

                มาตรฐาน ๔.๑  เข้าใจความหมาย  ความสำคัญของเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์  สามารถใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ

 

ตัวชี้วัด/สาระการเรียนรู้แกนกลาง

            ม.๑/๓ ความหมายและความสำคัญของประวัติศาสตร์    และวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่มีความ สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน  ตัวอย่างหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัย ทั้งหลักฐานชั้นต้น และหลักฐานชั้นรอง  วิธีการทางประวัติศาสตร์ไปใช้ศึกษาเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทยที่มีอยู่ในท้องถิ่นตนเองในสมัยใดก็ได้  (สมัยก่อนประวัติศาสตร์  สมัยก่อนสุโขทัย  สมัยสุโขทัย  สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี  สมัยรัตนโกสินทร์ ) และเหตุการณ์สำคัญในสมัยสุโขทัย

 

สาระสำคัญ

อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) มีกษัตริย์สำคัญ คือ  พระเจ้าศรีธรรมโศกราช  และพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช  ซึ่งทรงสามารถรวบรวมพวกมลายู  และ  แขกทมิฬไว้ในอำนาจ  มีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช  (อาจเป็นบริเวณบ้านท่าเรือหรือบ้านพระเวียง)  ซึ่งตั้งอยู่ด้านเหนือ  ของอาณาจักรลังกาสุกะ  (บริเวณปัตตานี) มีอาณาเขตทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตกจดทะเลอันดามันถึงบริเวณที่เรียกว่า  ทะเลนอกซึ่งเป็นบริเวณจังหวัดกระบี่ปัจจุบัน

 ผลการเรียนรู้

                มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช)

                ๑. อธิบายประวัติความเป็นมาของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้

                ๒. อธิบายถึงแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้

                ๓.  อธิบายความเสื่อมของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้

 สาระการเรียนรู้

                อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช)

               ๑. ประวัติความเป็นมาของอาณาจักรตามพรลิงค์

               ๒. มรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรตามพรลิงค์

               ๓. ความเสื่อมของอาณาจักรตามพรลิงค์

 

กระบวนการจัดการเรียนรู้  ( วิธีการทางประวัติศาสตร์ )    

ขั้นเตรียม 

๑) จัดกลุ่มนักเรียนแบบคละความสามารถ  กลุ่มละ ๔ - ๕ คน 

๒) ครูทบทวนระเบียบของกลุ่ม 

๓) ครูทบทวนบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกกลุ่ม 

๔)  ครูทบทวนเรื่อง “วิธีการทางประวัติศาสตร์ ” โดยให้นักเรียนร่วมกันตอบคำถามในประเด็นต่อไปนี้ 

           ๔.๑ วิธีการทางประวัติศาสตร์  มีความสำคัญอย่างไร

           ๔.๒ วิธีการทางประวัติศาสตร์  มีกี่ขั้นตอน  อะไรบ้าง 

            ๔.๓ นักเรียนคิดว่าวิธีการทางประวัติศาสตร์  ขั้นตอนใดสำคัญที่สุด 

๕) ครูแจ้งวัตถุประสงค์ของบทเรียน 

ขั้นสอน

ขั้นกำหนดปัญหาหรือประเด็นที่จะศึกษา

๑)  ครูซักถามความรู้ความรู้เดิมเกี่ยวกับจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมกันกำหนดปัญหาหรือประเด็นที่ศึกษา  โดยตัวแทนห้องเขียนลงในกระดาน  เลขานุการกลุ่มจดบันทึก

            ๑.๑ จังหวัดนครศรีธรรมราชมีชื่อเดิมว่าอะไร

            ๑.๒ กษัตริย์สำคัญของอาณาจักรนครศรีธรรมราช คือใคร

            ๑.๓ สถานที่สำคัญของนครศรีธรรมราช  มีอะไรบ้าง

๒)  นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาเอกสารประกอบการเรียนเรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์”  เพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดปัญหาหรือประเด็นที่จะศึกษา

๓)  นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาหรือประเด็นที่จะศึกษา  เกี่ยวกับของอาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช)  โดยทุกคนร่วมกันอภิปราย  เลขานุการกลุ่มจดบันทึก

 ขั้นรวบรวมหลักฐาน

๑)  ครูตั้งประเด็นคำถาม  : ในการตั้งสมมติฐาน  จำเป็นต้องสืบเสาะหาข้อมูลที่เชื่อถือได้  นักเรียนจะมีวิธีการอย่างไร

          นักเรียน : ร่วมกันบอกวิธีการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ

     ๑.๑ ศึกษาค้นคว้าหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร  ได้แก่  พงศาวดาร  หนังสือประวัติศาสตร์  บทความจากวารสารหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ

     ๑.๒ ศึกษาค้นคว้าหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร  ได้แก่ วัดพระธาตุวรมหาวิหาร  กำแพงเมืองนคร ฯ  ศิราจารึกวัดเพชรจริก  เป็นต้น

๒)  ครูตั้งประเด็นคำถาม  : จากข้อมูลที่นักเรียนบอกมา  ข้อมูลใดน่าเชื่อถือมากกว่ากันระหว่างข้อมูลที่ผู้เขียนร่วมสมัย  กับข้อมูลที่เรียบเรียบหรือเขียนขึ้นภายหลัง

          นักเรียน :  ข้อมูลที่ผู้เขียนร่วมสมัยน่าเชื่อถือมากกว่า  แต่ถ้าหาข้อมูลประเภทนี้ไม่ได้  ก็สามารถใช้ข้อมูลที่เรียบเรียบหรือเขียนขึ้นภายหลังได้

ขั้นตรวจสอบและประเมินคุณค่าของหลักฐาน

๑)      ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มค้นคว้าหาข้อมูล 

๒) ครูนำสนทนาถึงเกณฑ์ในการวัดความน่าเชื่อถือของข้อมูลว่ามีไรบ้าง 

นักเรียน : ร่วมกันตอบ  - ศึกษาแหล่งข้อมูลว่ามาจากแหล่งใด  น่าเชื่อถือหรือไม่  เช่น จากพงศาวดาร  จดหมายเหตุ  ศิลาจารึกวัดเพชรจริก 

๓) ครูตั้งคำถามกับนักเรียน ดังนี้

    ๓.๑ นักเรียนได้ค้นคว้าจากหนังสือกี่เล่ม 

     ๓.๒ ข้อมูลที่นักเรียนได้มานั้นสรุปตรงกันหรือขัดแย้งกันหรือไม่อย่างไร

     ๓.๓ นักเรียนทราบได้อย่างไรว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือเพียงใด

     ๓.๔ สมาชิกในกลุ่มได้ปรึกษาหารือกันถึงข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้หรือไม่

                ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มอภิปรายร่วมกันในกลุ่มและจดบันทึก

ขั้นวิเคราะห์ตีความจากหลักฐาน

๑) ให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม  พิจารณาสมมติฐานที่ตั้งไว้แล้วพิจารณาข้อมูลที่หาข้อมูลมาสนับสนุนข้อสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ 

๒) นักเรียนต้องค้นพบคำตอบที่ถูกต้องโดยการผสมผสานและสังเคราะห์ข้อเท็จจริงแนวความคิดเข้าด้วยกัน  ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปผลตามข้อมูลหลักฐานที่ได้จากการศึกษา  รวบรวม

ขั้นนำเสนอข้อมูลหรือการสังเคราะห์ข้อมูล 

๑) กลุ่มนักเรียนนำเสนอความรู้และแนวคิดที่ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์แล้ว  และได้ปรับปรุงแก้ไข  โดยนำเสนอหน้าชั้นเรียน  โดยใช้วิธีเขียนรายงาน  การรายงาน  และแสดงแผนที่  แผนภูมิ 

ขั้นสรุปบทเรียนและประเมินผลการทำงานกลุ่ม 

๑)  ครูและนักเรียนร่วมกันสรุป  โดยการวิพากษ์ผลงานและการนำเสนอของแต่ละกลุ่ม

๒)  ครูสรุปความรู้เพิ่มเติมให้กับนักเรียน

๓) ครูและนักเรียนร่วมกันประเมินผลการทำงานกลุ่ม 

๔) ครูกล่าวชมกลุ่มที่ทำกิจกรรมกลุ่มได้ดี  และให้ข้อเสนอแนะกลุ่มที่ต้องปรับปรุง

 

สื่อ / แหล่งการเรียนรู้

๑. เอกสารประกอบการเรียนเรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

๒. แบบฝึกหัดเรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

๓. หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ ม.๑ กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์  ๒๕๕๓.

๔. หนังสือประกอบการเรียน  รายวิชาพื้นฐาน  กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช  ๒๕๔๖.

๕. คู่มือ  เสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ช่วงชั้นที่ ๓ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้น พื้นฐาน  พุทธศักราช ๒๕๔๔  สังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑  กรุงเทพมหานคร : พัฒนาศึกษา  ๒๕๔๗.

กระบวนการวัดผลและประเมินผล

        วิธีวัดผล 

         ๑. ตรวจแบบฝึกหัดเรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

         ๒. ตรวจผลงาน เรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

         ๓. สังเกตพฤติกรรมในการทำงานกลุ่ม เรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

         เครื่องมือวัดผล

         ๑. แบบฝึกหัดเรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

         ๒. แบบตรวจผลงาน เรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

          ๓. แบบสังเกตพฤติกรรมในการทำงานกลุ่ม เรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

           เกณฑ์การประเมินผล

           ๑. ประเมินผลโดยถือเกณฑ์ผ่าน  สำหรับนักเรียนที่ทำแบบฝึกหัด และผลงานได้คะแนนในการวัดผลร้อยละ ๘๐ ขึ้นไป

           ๒. ประเมินผลโดยถือเกณฑ์ผ่าน  สำหรับนักเรียนมีพฤติกรรมในการทำงานกลุ่ม ระดับคุณภาพ  ๑๘ – ๒๔  ผ่าน

เอกสารประกอบการเรียน

วิชาประวัติศาสตร์ ๑  ส ๒๑๑๐๓   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑

หน่วยการเรียนรู้ “ตามรอยไทย”  เรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

 ผลการเรียนรู้

                ๑. อธิบายประวัติความเป็นมาของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้

                ๒. อธิบายมรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้

                ๓.  อธิบายความเสื่อมของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้          

------------------------------------------------------------------

อาณาจักรตามพรลิงค์ ( นครศรีธรรมราช ) ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ - ๑๙

คำว่า  ตามพร  เป็นภาษาบาลี  แปลว่า  ทองแดง  ส่วนลิงค์  เป็นเครื่องหมายบอกเพศเขียนเป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า  Tambalinga  หรือ   Tammaling หรือ  Tamballinggam  จีนเรียกตันเหมยหลิว  หรือโพ-ลิง หรือ โฮลิง  (แปลว่าหัวแดง)

จดหมายเหตุจีนระบุว่า  นครโฮลิง (เมืองตามพรลิงค์)  นั้นได้ส่งทูตไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน  เมื่อ  พ.ศ.  ๑๒๙๑ ,  พ.ศ.  ๑๓๑๐ ,  พ.ศ.  ๑๓๑๑  พ.ศ.  ๑๓๕๖ .  พ.ศ.  ๑๓๕๘  และพ.ศ.  ๑๓๖๑   ต่อมาได้มีการเรียกชื่ออาณาจักรตามพรลิงค์  เสียใหม่ว่า  อาณาจักรศิรธรรม  ภายหลังเมื่อเมืองนี้อยู่ในอำนาจของอาณาจักรสุโขทัยจึงได้เปลี่ยนเป็น  เมืองศรีธรรมราช 

 อาณาจักรตามพรลิงค์  มีกษัตริย์สำคัญ คือ  พระเจ้าศรีธรรมโศกราช  และพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช  ซึ่งทรงสามารถรวบรวมพวกมลายู  และ  แขกทมิฬไว้ในอำนาจ  มีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช  (อาจเป็นบริเวณบ้านท่าเรือหรือบ้านพระเวียง)  ซึ่งตั้งอยู่ด้านเหนือ  ของอาณาจักรลังกาสุกะ  (บริเวณปัตตานี) มีอาณาเขตทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตกจดทะเลอันดามันถึงบริเวณที่เรียกว่า  ทะเลนอกซึ่งเป็นบริเวณจังหวัดกระบี่ปัจจุบัน

อาณาจักรตามพรลิงค์เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ไปยังอาณาจักรสุโขทัย และดินแดนทั่วแหลมมลายูพระภิกษุจากนครศรีธรรมราชเคยเดินทางไปสืบ  พระพุทธศาสนาถึงประเทศลังกา

                ใน  พ.ศ.๑๖๕๘  ได้มีการส่งคณะทูต  ไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนราชวงศ์ซ้อง  ที่เมืองไคฟง  พุทธศตวรรษที่ ๑๖ อาณาจักรตามพรลิงค์ได้ส่งไพร่พลไปช่วยพระเจ้าสุริยวรมันที่  ๒  สร้างเมืองนครธม  พ.ศ.  ๑๘๑๓  อาณาจักรตามพรลิงค์ได้ตกอยู่ในอิทธิพลอาณาจักรลังกาสุ  พ.ศ. ๑๘๓๗ เมืองนครศรีธรรมราชได้เข้ารวมอยู่อาณาจักรสุโขทัย  และ  พ.ศ.  ๑๘๙๓  เมืองนครศรีธรรมราชได้เข้ารวมกับอาณาจักรอยุธยา

                อาณาจักรตามพรลิงค์นี้ประกอบไปด้วยเมือง  ๑๒  เมือง  โดยใช้ตราสิบสองนักกษัตร  เป็นตราประจำแต่ละเมือง  คือ  เมืองสายบุรี  (หนู)  เมืองปัตตานี  (วัว)  เมืองกลันตัน  (เสือ)  เมืองปาหัง  (กระต่าย)  เมืองไทรบุรี  (งูเล็ก)  เมืองพัทลุง  (งูใหญ่)  เมืองตรัง  (ม้า)  เมืองชุมพร  (แพะ)  เมืองบันทายสมอ  (ลิง)  เมืองสงขลา  (ไก่)  เมืองตะกั่วป่า  (สุนัข)  และเมืองครหิหรือกระบุรี (สุกร)

มรดกทางวัฒนธรรม

๑. ศิลปกรรม พระบรมธาตุ วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช   พระพุทธสิหิงค์

๒. ศาสนา อาณาจักรนครศรีธรรมราช มีการติดต่อกับลังกา และเป็นอาณาจักรแรกที่รับเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ เข้ามานับถือและกลายเป็นศูนย์กลางเผยแพร่พระพุทธศาสนาบนคาบสมุทรมลายู และยังเผยแพร่ไปยังกรุงสุโขทัยด้วย อันเป็นผลให้พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทฝังรากลึกลงในสังคมไทยตั้งแต่นั้นมา

๓. การปกครอง จัดการปกครองตามแบบของอินเดียแบบเทวราช มีพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ

ความเสื่อมของอาณาจักรตามพรลิงค์

พุทธศตวรรษที่ ๗  อาณาจักรตามพรลิงค์  ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรฟูนัน  ต่อมา  พ.ศ.  ๑๓๑๘  อาณาจักรตามพรลิงค์ได้ตกเป็นเมืองขึ้นอาณาจักรศรีวิชัย  และ  พ.ศ.  ๑๕๖๘  ได้ถูกพวกโจฬะจากอินเดียยกทัพมารุกราน 

ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ แคว้นนครศรีธรรมราชตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และถูกผนวกรวมกับอาณาจักรอยุธยาในเวลาต่อมา

 

ที่มา : http://www.google.co.th/imgres?imgurl=http

 

แบบฝึกหัด 

วิชาประวัติศาสตร์ ๑  ส ๒๑๑๐๓   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑

หน่วยการเรียนรู้ “ตามรอยไทย”  เรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

 

ผลการเรียนรู้

                ๑. อธิบายประวัติความเป็นมาของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้

                ๒. อธิบายมรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้

                ๓.  อธิบายความเสื่อมของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้          

------------------------------------------------------------------

คำชี้แจง  เมื่อนักเรียนศึกษาเอกสารประกอบการเรียนเรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์”   เมื่อศึกษาจบแล้วให้ตอบคำถามต่อไปนี้ให้ถูกต้อง

๑. จดหมายเหตุจีนเรียกอาณาจักรใดว่า ต้ำมาลิ่ง  หรือตันเหมยหลิง หรือโฮลิง

………………………………………………………………………………………………………

๒. สันนิษฐานว่าศูนย์กลางของอาณาจักรตามพรลิงค์ในช่วงแรกอยู่บริเวณใด  เพราะเหตุใด

………………………………………………………………………………………………………

๓. อาณาจักรตามพรลิงค์มีความสำคัญด้านพระพุทธศาสนาอย่างไร

………………………………………………………………………………………………………

๔. พระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรตามพรลิงค์มีชื่อว่าอะไร  ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ไหน

………………………………………………………………………………………………………

๕. อาณาจักรตามพรลิงค์สิ้นสุดลงเพราะเหตุใด

………………………………………………………………………………………………………

 

เฉลยแบบฝึกหัด

วิชาประวัติศาสตร์ ๑  ส ๒๑๑๐๓   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑

หน่วยการเรียนรู้ “ตามรอยไทย”  เรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ”

 

ผลการเรียนรู้

                ๑. อธิบายประวัติความเป็นมาของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้

                ๒. อธิบายมรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้

                ๓.  อธิบายความเสื่อมของอาณาจักรตามพรลิงค์ได้          

------------------------------------------------------------------

คำชี้แจง  เมื่อนักเรียนศึกษาเอกสารประกอบการเรียนเรื่อง “อาณาจักรตามพรลิงค์”  จบแล้วให้ตอบคำถามต่อไปนี้

๑. จดหมายเหตุจีนเรียกอาณาจักรใดว่า ต้ำมาลิ่ง  หรือตันเหมยหลิง หรือโฮลิง

     อาณาจักรตามพรลิงค์

๒. สันนิษฐานว่าศูนย์กลางของอาณาจักรตามพรลิงค์ในช่วงแรกอยู่บริเวณใด  เพราะเหตุใด

     อยู่ที่บ้านท่าเรือ  เพราะมีทำเลเหมาะในการติดต่อค้าขายทางทะเล

๓. อาณาจักรตามพรลิงค์  มีความสำคัญด้านพระพุทธศาสนาอย่างไร

      เป็นอาณาจักรแรกที่รับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาประดิษฐาน

๔. พระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรตามพรลิงค์มีชื่อว่าอะไร  ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ไหน

     พระพุทธสิหิงค์ ปัจจุบันประดิษฐานที่หอพระพุทธสิหิงค์  จังหวัดนครศรีธรรมราช

๕. อาณาจักรตามพรลิงค์สิ้นสุดลงเพราะเหตุใด

     ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ.1893

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 414598เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2010 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท