สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น (1)


ผลักดัน Team Learning / สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น / ระวัง ! ติดกับดัก

เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2549 ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมในกิจกรรม การจัดทำกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ซึ่งจัดขึ้น 3 วัน ณ ห้องประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูชุมพร ช่วงเช้าจึงต้องรีบปฏิบัติภารกิจเปิดการฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ของสำนักงานจังหวัดซึ่งจัดต่อเนื่องกันมา 4 หลักสูตรเป็นเวลา 8 วัน โดยเปิดฝึกอบรมที่อาคารฐานความรู้ชุมพรออนไลน์ที่ผมบริหารอยู่ เสร็จแล้วจึงรีบเดินทางไปประชุม

หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนของการเปิดประชุมและบอกเล่าความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ท่านอาจารย์กิตติวุฒิ พันธุ์ธร หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สพท.ชุมพร 1 ก็ได้เชิญให้ผมพูดคุยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดชุมพร อันเป็นเรื่องที่ผมได้มีส่วนร่วมคิดตั้งแต่แรกเริ่ม และร่วมปฏิบัติในบางภาคส่วน รวมทั้งได้นำคณะจากสถาบันพระปกเกล้ามาทำการศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาแบบบูรณาการ หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า ยุทธศาสตร์ CEO มาเล่าให้ที่ประชุมได้รับฟัง

ผมเริ่มต้นด้วยการสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โดยแยกประเด็นตามคำหลัก 3 คำ คือ ท้องถิ่น, การเรียนรู้ และสาระ

1. ท้องถิ่น ในความคิดของผมเป็นทั้งบริบทและเป้าหมาย

บริบท คือ สภาพแวดล้อมโรงเรียนที่ตั้งอยู่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีเรื่องราวทางวัฒนธรรม, สังคม, เศรษฐกิจ ฯลฯ อันเป็นตัวกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นนั้นแตกต่างกัน

เป้าหมาย สำหรับนักเรียนจึงควรจะได้รับการเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ขยายขอบเขตไปในแต่ละช่วงชั้น ได้แก่

ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) เรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นระดับหมู่บ้าน, ตำบล, อำเภอ

ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-ป.6) ขยายขอบเขตการเรียนรู้ทั่วทั้งจังหวัด

ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-ม.3) การรับรู้ของเด็ก ๆ เริ่มสนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม และสมควรสร้างความชัดเจนให้นักเรียนได้เรียนรู้กว้างขวางขึ้นไปในระดับกลุ่มจังหวัด, ภาค, ประเทศ

ช่วงชั้นที่ 4 (ม.4-ม.6) ผมมองดูตัวเองสมัยเมื่อยังเป็นเด็ก ก็พบว่าวัยแห่งการแสวงหาอุดมคติในชีวิตเริ่มขึ้นในช่วงนี้ ท้องถิ่นสำหรับเขาจึงควรเป็นเรื่องของโลกาภิวัฒน์ ที่ขยายขอบเขตครอบคลุมทั่วโลก มีอิทธิพลลด Time & Space เชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ ให้เข้าถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบอย่างรุนแรงมหาศาล

2. การเรียนรู้ ผมย้ำคำว่า Learning  ซึ่งไม่ใช่ทั้ง Teaching และ Training ดังนั้น จึงต้องคิดถึงการจัดกระบวนการให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน

ผมอยากเห็น มรรควิธี ให้นักเรียนได้ไปเรียนรู้สิ่งดี ๆ  สิ่งที่เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ในแต่ละชุมชน  และศึกษาว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

3. สาระ อันที่จริงคำนี้มีความหมายลึกซึ้งและกว้างขวาง แต่เมื่อนำมาพูดคุยในแวดวงของกระทรวงศึกษา ผมสังเกตว่าความหมายของ สาระ กลับแคบลง เพราะไปติดอยู่กับคำว่า กลุ่มสาระวิชา มองเข้าไปก็จะวนเวียนอยู่ใน Field หลัก 8 กลุ่มสาระวิชา ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ, การงานอาชีพและเทคโนโลยี, ภาษาต่างประเทศ

เมื่อใช้คู่กับแบบฟอร์มตาราง ซึ่งที่ประชุมจะต้องช่วยกันออกความคิดเห็นเพื่อนำมากรอกเป็นข้อมูลลงไปให้เต็มทุกช่อง ผมก็สรุปว่านี่คือ กับดัก ที่เป็นตัวกำหนดให้ผลที่ได้จากการประชุม ลึกและแคบลงไปในแต่ละ Field

ผมจึงย้ำกับที่ประชุมว่า ผมอยากเห็นการออกแบบหลักสูตรสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ให้เป็นเรื่องที่คำนึงถึงกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ควบคู่กันไป โดยเป็นการเรียนรู้จากครูผู้สอนในห้องเรียนภายใต้ Education Mode เพียง 20% อีก 80% เป็นการเรียนรู้แบบ KM Mode คือเรียนรู้จากกิจกรรมนอกห้องเรียนโดยภาคีต่าง ๆ ได้แก่ ชุมชน, ปราชญ์ชาวบ้าน, นักธุรกิจ, นักวิชาการในหน่วยงานภาครัฐ และผู้นำ / เจ้าหน้าที่ในองค์กรส่วนท้องถิ่น ฯลฯ

ผมสังเกตว่าที่ประชุมรับได้กับความเห็นนี้ แต่จะได้ผลมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องที่ผมจะติดตามเฝ้าดู และนำมาถ่ายทอดในโอกาสต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 41410เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2006 01:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เป็นแนวคิดทีดี  และการปฏิบัติที่เยี่ยม  จะขออนุญาตนำไปเป็นแนวทางนะคะ  ขอบคุณค่ะที่มีแนวคิดทีดีมาฝาก

ได้อ่านวิธีการเรียน การสอนของโรงเรียนในภาคเหนือ เขียนโดยอาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ ซึ่งอาจารย์จะรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น และเขียนลงในหนังสือขวัญเรือน เป็นโรงเรียนที่มีการเรียนโดยใช้การเรียนรู้ร่วมกัน

- ทุกเช้าจะมีเด็กนักเรียนนำเสนอถึงศีลวันละข้อ และอ่านข่าวประกอบที่เกี่ยวกับศีลข้อนั้น

- วันศุกร์เด็กทุกคนใส่ชุดพื้นบ้าน แสดงศิลปะพื้นบ้าน เด็กทุกคนต้องเล่นดนตรีเป็นอย่างน้อย 1 ชิ้น

- ใน 1 สัปดาห์ จะมี 1 วันที่พระจะมาบิณฑบาตที่โรงเรียน เด็กทุกคนแม่จะเตรียมอาหารให้จากบ้านเพื่อตักบาตร

- การเรียนในห้องให้เด็กนั่งบนพื้นเป็นกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เด็ก ๆ จะมีโครงการในการดูแลรักษาลำน้ำในหมู่บ้าน 

         อาจารย์ได้สอบถามผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีการเรียนแบบนี้ ได้ความว่า ทำให้ลูกเป็นเด็กดี พ่อแม่พลอยมีความสุข จึงให้ความร่วมมือกับ ผอ. ทุกเรื่อง เมื่อผู้ปกครองเข้าร่วม ชุมชนก็เข้ามา วัดก็ร่วมด้วย ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท