รอยทางสร้างสุขในโรงเรียนเพลินพัฒนา (๑)


วันที่  ๒ ธ.ค. ๕๓  ที่ห้องลีลาวดี  มีการนำเสนอผลงานวิชาการของนักจิตตปัญญาศึกษารุ่นใหม่ ช่วงที่ ๓ บทความที่นำเสนอในช่วงนี้มี

 

  • รอยทางสร้างสุขในโรงเรียนเพลินพัฒนา   วิมลศรี  ศุษิลวรณ์
  • องค์กรแห่งความสุข : โรงเรียนสัตยาไส   ธนวัฒน์  ธรรมโชติ
  • เจ็ดเสมียน : ลุ่มน้ำ ชุมชน ผู้คน ความสุข   พีรเทพ รุ่งคุณากร 
  • ผลของกลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตน และการปรึกษาแนวพุทธ ต่อสุขภาวะทางจิตของผู้ป่วยยาเสพติดที่อยู่ในระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ  ยุวดี  เมืองไทย

 

 

ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาให้ข้อเสนอแนะ คือ รศ.ดร.ลือชัย  ศรีเงินยวง  อาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  รศ.อรทัย  อาจอ่ำ  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม  มหาวิทยาลัยมหิดล  และ อ.ปกรณ์  สุวรรณประภา นักวิชาการอิสระ

 

 

ประเด็นที่ดิฉันไปนำเสนอต่อที่ประชุม คือ  การเปลี่ยนแปลงของตัวเองที่เกิดขึ้นก่อนการ เริ่มต้นของโรงเรียนเพลินพัฒนา ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ดิฉันยังอยู่ในวัยประถมต้น นั่นคือ

 

  • การค้นพบความมหัศจรรย์ของการอ่านเขียน และการได้หลั่งไหลจินตนาการของตัวเองออกมาในการเรียนวิชาเรียงความ  
  • การค้นพบความงดงาม และสติปัญญาของภาษาไทยในกลบท

 

เมื่อทำงานเขียนหนังสือไประยะหนึ่งก็พบกับคำถามที่ทำให้ตัวเองต้องเลือกทางเดินของชีวิตใหม่ ที่ทำให้ต้องลาจากบริษัทโฆษณา มาสู่รั้วโรงเรียน  คำถามที่เกิดขึ้นคือ

 

“จะดีกว่าไหมถ้าเราจะใช้ความตั้งใจ และความสามารถที่มีอยู่นี้ไปทำงานเขียนหนังสือให้เด็ก”

 

เมื่อมาอยู่ในโรงเรียนแล้วก็ยังคงตั้งคำถามต่องานของตัวเองต่อไปว่า

 

“ทำอย่างไรเด็กจึงจะรักภาษาไทยเหมือนที่เรารัก และสามารถที่จะเรียนรู้ภูมิปัญญาภาษาไทยเพื่อเข้าใจบรรพบุรุษ”

 

“จะดีไหมถ้าประเทศไทยมีโรงเรียนทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกสักโรง”

 

 

ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนเพลินพัฒนาจึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๗  ดิฉันเขียนไว้ในบทคัดย่อของบทความเรื่อง รอยทางสร้างสุขในโรงเรียนเพลินพัฒนา ว่า

 

 

          โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นโรงเรียนที่ผู้ร่วมก่อตั้งมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสังคมโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน โดยหวังจะให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการมาร่วมสร้างความดีงามด้วยกัน

 

          เพลินพัฒนาเริ่มพบความสุขในการทำงานจากการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จร่วมกัน ด้วยการประยุกต์ใช้เครื่องมือของการจัดการความรู้ที่สำคัญ ได้แก่ SST – Success Story Telling , AAR – After Action Review  และ Dialogue โดยเน้นไปที่ SSS – Success Story Sharing เพื่อสร้างให้บุคลากรเกิดความเคารพซึ่งกันและกันจากการมองเห็นเรื่องดี มุมดี ประสบการณ์ดี จากความสำเร็จของเพื่อนร่วมงาน เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะนำเอาความสำเร็จที่ได้ยินได้ฟังมาทดลองปฏิบัติ ก่อให้เกิดการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรไปพร้อมกัน

 

           ก้าวต่อมาเพลินพัฒนาได้นำเอาจิตตปัญญาศึกษาเข้ามาพัฒนาครูในหน่วยการเรียนเพลินภาวนา : จิตตปัญญา (สำหรับการพัฒนาครู) เพื่อปลูกและสร้างพลังภายในจิตใจให้ครูและบุคลากรของโรงเรียนมีความสามารถในการดูแลจิตใจตัวเอง เกิดความรักความเมตตา และทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความสัมพันธ์กับคุณค่าหลักขององค์กร

 

           เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางของการพัฒนาคนที่มีการจัดการความรู้เป็นฐาน โดยมีจิตตปัญญาศึกษาพาสู่การหยั่งลึกลงไปถึงความเข้าใจในตนและคนอื่น อันก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เป็นไปอย่างเกื้อกูล

 

 

คำสำคัญ :  จิตตปัญญาศึกษา , กระบวนการพัฒนาครู , ความสุข

 

หมายเลขบันทึก: 413897เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท