ผังเหตุและผล


ไดอะแกรมก้างปลา

ไดอะแกรมของเหตุและผล (Cause &Effect diagram)

การแก้ปัญหาโดยใช้ระบบควบคุมคุณภาพ มาช่วยในการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานกัน เทคนิคนี้เรียกว่า ไดอะแกรมของเหตุและผล (Cause and effect diagram) หรือแผนผังก้างปลา (Fishbone diagram) เทคนิคนี้ได้รับการคิดค้นขึ้นมาในปี ค.ศ. 1943 โดย ศาสตราจารย์คาโอรุ อิชิกาว่า แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว และมีการแก้ไขพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ

ผังก้างปลาเป็นวิธีการที่ใช้หาสาเหตุที่แท้จริง (root cause) ของปัญหาในระดับรายละเอียด ก่อนที่เราจะใช้ไดอะแกรมนี้ก็ต้องทราบปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน ซึ่งก็จะได้มาจากการรวบรวมข้อมูล จัดเรียงข้อมูล ดังที่ผมเคยเสนอในบทความก่อนๆ โดยเลือกปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุดมาแก้ไขก่อน แล้วมาระดมความคิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ค่อยๆระบุสาเหตุที่อาจทำให้เกิดปัญหา เมื่อทำเสร็จออกมาแล้วแผนผังจะมีลักษณะคล้ายก้างปลา ดังรูป

 

  ผังก้างปลาประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้

 ส่วนปัญหาหรือผลลัพธ์ (Problem or Effect) ซึ่งจะแสดงอยู่ที่หัวปลา
ส่วนสาเหตุ (Causes) จะสามารถแยกย่อยออกได้อีกเป็น
     o ปัจจัย (Factors) ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหา (หัวปลา)
     o สาเหตุหลัก
     o สาเหตุย่อย
ซึ่งสาเหตุของปัญหา จะเขียนไว้ในก้างปลาแต่ละก้าง ก้างย่อยเป็นสาเหตุของก้างรองและก้างรองเป็นสาเหตุของก้างหลัก เป็นต้น

 

ในส่วนของขั้นตอนการทำผังก้างปลา สรุปได้ดังนี้ครับ

  1. กำหนดประโยคปัญหาที่หัวปลา
  2. กำหนดกลุ่มปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหานั้นๆ
  3. ระดมสมองเพื่อหาสาเหตุในแต่ละปัจจัย
  4. หาสาเหตุหลักของปัญหา
  5. จัดลำดับความสำคัญของสาเหตุ
  6. ใช้แนวทางการปรับปรุงที่จำเป็น

       การกำหนดหัวข้อปัญหาควรกำหนดให้ชัดเจนและมีความเป็นไปได้ ซึ่งหากเรากำหนดประโยคปัญหานี้ไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว จะทำให้เราใช้เวลามากในการค้นหา สาเหตุ และจะใช้เวลานานในการทำผังก้างปลา
       การกำหนดปัญหาที่หัวปลา เช่น อัตราของเสีย อัตราชั่วโมงการทำงานของคนที่ไม่มีประสิทธิภาพ อัตราการเกิดอุบัติเหตุ หรืออัตราต้นทุนต่อสินค้าหนึ่งชิ้น เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ควรกำหนดหัวข้อปัญหาในเชิงลบ
       เทคนิคการระดมความคิดเพื่อจะได้ก้างปลาที่ละเอียดสวยงาม คือ การถาม ทำไม ทำไม ทำไม ในการเขียนแต่ละก้างย่อยๆ

เราสามารถที่จะกำหนดกลุ่มปัจจัยอะไรก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่ากลุ่มที่เรากำหนดไว้เป็นปัจจัยนั้นสามารถที่จะช่วยให้เราแยกแยะและกำหนดสาเหตุต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ และเป็นเหตุเป็นผล
       หากกล่าวถึงในส่วนของกระบวนการผลิต โดยส่วนมากมักจะใช้หลักการ 4M 1E เป็นกลุ่มปัจจัย (Factors) เพื่อจะนำไปสู่การแยกแยะสาเหตุต่างๆ ซึ่ง 4M 1E นี้มาจาก
           

M - Man   คนงาน หรือพนักงาน หรือบุคลากร
M - Machine  เครื่องจักรหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวก
M - Material  วัตถุดิบหรืออะไหล่ อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในกระบวนการ
M - Method  กระบวนการทำงาน
E  - Environment  อากาศ สถานที่ ความสว่าง และบรรยากาศการ - ทำงาน

 

       แต่ไม่ได้หมายความว่า การกำหนดก้างปลาจะต้องใช้ 4M 1E เสมอไป เพราะหากเราไม่ได้อยู่ในกระบวนการผลิตแล้ว ปัจจัยนำเข้า (input) ในกระบวนการก็จะเปลี่ยนไป เช่น ปัจจัยการนำเข้าเป็น 4P ได้แก่ Place , Procedure, People และ Policy หรือเป็น 4S Surrounding, Supplier, System และ Skill ก็ได้ หรืออาจจะเป็น MILK Management, Information, Leadership, Knowledge ก็ได้ นอกจากนั้น หากกลุ่มที่ใช้ก้างปลามีประสบการณ์ในปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะกำหนดกลุ่ม ปัจจัยใหม่ให้เหมาะสมกับปัญหาตั้งแต่แรกเลยก็ได้ เช่นกัน

                ข้อดีของเทคนิคนี้ คือ ทำให้เราสามารถรวบรวมความคิดจากหลายๆฝ่ายในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ และเป็นเหตุเป็นผล อย่างไรก็ตาม การจะทำได้แผนผังก้างปลาที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยทักษะของผู้นำการประชุมด้วย เพื่อให้ได้ความคิดที่ต่อยอดออกไปและเป็นประโยชน์กับการแก้ปัญหาได้มากที่สุด

 

อ้างอิง http://www.psstainlessthailand.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538729227&Ntype=2

 

วันที่ 15 ธันวาคม 2553

โดยนายเกรียงศักดิ์ ปรีชา

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 413892เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท