หมอแต่งดำ


ศรัทธา มีความจำเป็นเพียงใดในความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ ก็นั้นหรือ

เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอเพิ่งผ่านการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเนื้อร้าย ก่อนการผ่าตัด เธอได้ฟังคำอธิบายของแพทย์่ว่า จะผ่าตัดเอาส่วนไหนออกบ้าง เพื่ออะไร การผ่าตัดมีความเสี่ยงต่อเธออย่างไรบ้าง และเธอก็ต้องเซ็นยินยอมรับการผ่าตัดลงในแบบฟอร์ม ๔ชุุด 

เธอจำได้ว่า ก่อนเข้าห้องผ่าตัด แพทย์ทำความตกลงกับเธอ โดยระบุ ข้อตกลงอย่างชัดเจนในใบยินยอมว่า จะตัดอวัยวะดังกล่าวออก ๓ใน๔ส่วน เนื่องจากผลการสืบค้นทุกประเภทยืนยันว่า ต้องเอาออกตามนี้

หลังผ่าตัดเสร็จ แพทย์ก็เล่าให้เธอฟังว่า อันที่จริง อีก ๑ ใน๔ที่เหลืออยู่ในตัวเธอก็ดูไม่ค่อยดีนัก แต่แพทย์ไม่กล้าตัดออก เพราะตกลงกันไว้แค่ ๓ใน๔  ครั้นจะปลุกเธอขึ้นมาระหว่างการผ่าตัดด้วยการดมยาสลบเพื่อปรึกษาก็ทำไม่ได้

เรื่องราวนี้ ทำให้ผมนึกถึง คำพูดของตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง Jin ที่กำลังจะเข้าฉายในรายการของทีวีไทย คำพูดนั้นกล่าวว่า "ถ้าการผ่าตัดนี้ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวจนดิฉันต้องเสียชีวิต ดิฉันก็ขอมอบความไว้วางใจให้คุณหมอ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับคนไข้รายต่อไป"  

ตัวละครกล่าวคำพูดนี้หลังจากได้ยินแพทย์ที่บังเอิญข้ามมิติเวลาจากศตวรรษ๒๑ ย้อนหลังกลับไปประมาณ สองร้อยปี อธิบายให้ฟังว่า เธอเป็นมะเร็งเต้านม จำเป็นต้องรับการผ่าตัด แต่หมอหลงยุคคนนี้ก็ไม่ชำนาญการผ่าตัดคนไข้ประเภทนี้ เธออาจถึงแก่ชีวิต หรือ อาจหายก็ได้ทั้งสิ้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ญี่ปุ่นกำลังใกล้จะเปิดประเทศ การแพทย์ตะวันตกยังแทบจะไม่มีบทบาทอะไรในสังคมยุคนั้น  

ในแง่หนึ่ง สองตัวอย่างที่เล่ามานี้ สะท้อนลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่ต่างกันในประเด็นสำคัญคือ "ศรัทธา"(trust) ระหว่างทั้งสองฝ่าย 

ศรัทธา มีความจำเป็นเพียงใดในความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ ก็นั้นหรือ

สุดโต่งด้านหนึ่ง ถ้ามีศรัทธาล้วนๆ ขาดปัญญากำกับ คนไข้อาจไม่สนใจคำอธิบายของแพทย์ คำพูดที่คนไข้ประเภทนี้มักพูดกับแพทย์ คือ "ทุกอย่างก็แล้วแต่คุณหมอเถอะครับ"

อีกสุดโต่งหนึ่ง คือ ไม่มีศรัทธา คนไข้ก็อาจจะเรียกร้องหลักประกันความเสี่ยง ด้วยการอาศัยข้อความในใบยินยอมรับการรักษาเป็นหลักฐาน เพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากแพทย์ ดังที่เกิดขึ้นเป็นนิจในสังคมอเมริกา แพทย์ก็ต้องปกป้องตัวเองเช่นกัน ด้วยการสืบค้นตรวจหาสาเหตุของโรคและความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งมักทำจนเกินจำเป็น และเรียกค่าตอบแทนจากคนไข้ไว้มากๆ เพื่อจ่ายเบี้ยประกันความเสี่ยงในการประกอบวิชาชีพ ลงท้ายค่าใช้จ่ายการให้บริการรักษาพยาบาลก็เลยสูงลิบลิ่ว จนคนกว่า ๓๐ล้านคนในอเมริกาไม่มีกำลังที่จะจ่ายค่าบริการ ต้องยอมทนให้ป่วยหนักจนเข้าห้องฉุกเฉินซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะเป็นทางเลือกเดียวที่จะได้รับการรักษาโดยไม่ต้องจ่ายสตังค์

ใช่หรือไม่ว่า ความพอดี น่าจะอยู่ตรงที่ "ศรัทธาพร้อมปัญญา" นั่นคือ ทั้งแพทย์และคนไข้มีศรัทธาต่อความดีของกันและกัน พร้อมทั้งตระหนักว่า ความรู้ทางการแพทย์มีขีดจำกัด พ้นขีดจำกัดก็คือ ความเสี่ยง ความไม่แน่นอนที่ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมชะตากรรมกันด้วยศรัทธา ดังตัวอย่าง คำพูดของตัวละครที่เล่าให้ฟัง

ทำอย่างไร คนไทยด้วยกันทุกฝ่ายจะช่วยกัน ปรับความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ให้เป็นไปในลักษณะ ความพอดี นี้ 

บางคนเชื่อว่า ข่าว "แพทย์แต่งดำ" เป็นอาการของความวิปริตทางสังคม ที่ส่วนหนึ่งแสดงออกมาในด้านความสัมพันธ์ในทางเสื่อมระหว่างแพทย์กับคนไข้  ในด้านอื่นยังมีอีกมาก เช่น ความเสื่อมถอยในความส้มพันธ์ ระหว่างครูกับนักเรียน  ระหว่าง พระกับสีกา ระหว่าง พ่่อแม่กับลูก ฯลฯ ดังที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ

เมื่อคิดได้เช่นนี้ ความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะกันระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับ ฝ่ายไม่เห็นด้วยในเรื่อง พรบ.ผู้เสียหายทางการแพทย์ ก็น่าจะหันเหไปสู่ความร่วมมือกันที่จะมองให้เห็นเหตุอันเป็นรากเหง้าของอาการวิปริตที่ทุกฝ่ายล้วนตกเป็นเหยื่อ 

เหตุนั้น คือ อะไรกันหนอ?

หมายเลขบันทึก: 412410เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 00:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท