โทษประหารชีวิตยับยั้งอาชญากรรมได้หรือไม่?


โทษประหารชีวิตยับยั้งอาชญากรรมได้หรือไม่?

นัทธี จิตสว่าง

ปัญหาอาชญากรรมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โหดเหี้ยมในการกระทำมากขึ้นส่งผลให้สังคมเรียกร้องให้มีการจัดการกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดให้สาสมกับความผิด เสียงเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตผู้กระทำผิดอย่าจริงจังทันทีทันใดปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ด้วยความเชื่อที่ว่าโทษประหารชีวิตจะสามารถทำให้ยับยั้งอาชญากรรมได้ จะสามารถข่มขู่ยับยั้งให้คนเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะกระทำผิด

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีการบังคับใช้โทษประหารอย่างต่อเนื่องและจริงจัง อาชญากรรมที่รุนแรงก็ยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม ในประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการกำหนดโทษเกี่ยวกับการลักลอบค้ายาเสพติดไว้ถึงขั้นประหารชีวิตก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้ทำการลักลอบขายยาเสพติดอยู่อีกเป็นจำนวนมาก มีรายงานว่าในปี  2538 ทางการซาอุดีอาระเบียตัดสินประหารชีวิตผู้ลักลอบค้ายาเสพติดถึง 191 คน ด้วยการตัดคอด้วยดาบในที่สาธารณะ ส่วนการประหารผู้หญิงจะใช้วิธียิ่งเป้า แต่การลักลอบค้ายาก็ยังมีอยู่ในประเทศไทย  ศาลตัดสินประหารชีวิตคดีฆ่าแหม่มที่ระยองได้ไม่กี่วัน  ก็เกิดเหตุขึ้นที่อื่นอีก จึงทำให้สงสัยกันว่าเราจะใช้โทษประหารชีวิตยับยั้งอาชญากรรมได้หรือไม่

การนำโทษประหารชีวิตมาใช้นั้น สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการลงโทษได้หลายประการ แต่ที่เป็นที่ถกเถียงกันก็คือเรื่องการยับยั้งอาชญากรรม  ซึ่งมีความเชื่อกันว่าถ้าลงโทษหนัก ลงโทษอย่างรุนแรงโดยเฉพาะโทษประหารชีวิต จะทำให้คนเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าทำผิด แต่การวิจัยหลายเรื่องพบว่าโทษจะมีผลทำให้คนเกรงกลัวได้  ต้องประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ  มีความแน่นอนและรวดเร็วในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ โทษเบาแต่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้จะมีผลในการข่มขู่ยับยั้งมากกว่าโทษหนักที่ไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ โทษประหารชีวิตก็เช่นกันมิได้หมายความว่าโทษหนักแล้วจะทำให้เกิดความเกรงกลัว

ที่สำคัญ โทษประหารชีวิตมีผลต่อการยับยั้งการกระทำผิดของคนแต่ละประเภทในสังคมไม่เท่าเทียมกัน  โทษประหารชีวิตทำให้คนทั่วไปกลัว  แต่ไม่ทำให้คนร้ายกลัว  คนที่ทำผิดส่วนใหญ่ตัดสินใจทำผิดเพราะคิดแล้วว่า  เมื่อทำแล้วจะสำเร็จ  เห็นแล้วว่าทำแล้วจะสามารถหลุดรอดไปได้  คิดว่ากลอุบายหรือทางหนีทีไล่ที่วางไว้จะทำให้หลุดรอด คิดว่าเมื่อทำผิดแล้วจะไม่มีใครเห็นหรือไม่ถูกจับ  ถ้าประกอบอาชญากรรมแล้วไม่สำเร็จก็คงไม่ทำ และถ้าทำสำเร็จแล้วโทษถึงจะรุนแรงแค่ไหนก็มีค่าเป็นศูนย์  ดังนั้นพวกอาชญากรรมมืออาชีพ พวกอิทธิพล พวกจ้างวาน จึงไม่กลัวโทษประหารชีวิต เพราะเชื่อในความสามารถในการหลบหลีกของตนจะทำให้ไม่ต้องรับโทษเมื่อทำสำเร็จ เมื่อไม่ถูกจับก็ไม่ต้องรับโทษ  แต่ถ้าทำแล้วโอกาสหลุดรอดมีน้อย  แม้จะมีโทษแค่จำคุก 2  -  3 ปี ก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำ

นอกจากนี้ ยังมีพวกที่ทำผิดไปโดยหน้ามืดหรืออารมณ์ชั่ววูบ ก็ไม่มีโอกาสจะได้คิดไตร่ตรองทำไปโดยไม่ได้ยั้งคิด  หลายคนไม่ได้คิดถึงโทษทัณฑ์  ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมีโทษเท่าไร  ลดโทษเท่าไร  แต่สิ่งที่สนใจในขณะนั้นคือสถานการณ์ที่มากดดันให้กระทำหรือทำไปเพื่อปกปิดการกระทำผิดของตน  เช่น  ฆ่าเพื่อปกปิดการข่มขืนหรือฆ่าเพราะเหยื่อขัดขืนในการข่มขืน แม้จะมีโทษรุนแรงเท่าไรก็ยับยั้งไม่ได้ เพราะไม่มีโอกาสได้ไตร่ตรองถึงโทษทัณฑ์ที่จะตามมา  แต่ทำไปโดยอารมณ์ชั่ววูบ  ความแค้น  ความโกรธ  ความกดดัน ฯลฯ  แม้ว่าพวกเหล่านี้บางส่วนสมควรที่จะประหารชีวิตเพื่อ  “ทดแทนให้สามสมกับความผิด”  หรือเพื่อ  “ป้องกันสังคม”  แต่ไม่ใช่เพื่อ  “ข่มขู่ยังยั้งให้เกรงกลัว”  เพราะโทษประหารชีวิตมีผลในการยับยั้งผู้กระทำผิดในคดีลักษณะเช่นนี้ได้น้อย

แล้วยังพวกอาชญากรรมโดยสันดานที่ชีวิตสูญสิ้นสถานภาพทางสังคม พวกนี้ไม่มีอนาคต  ไม่มีอะไรจะเสียเป็นพวกเดนตาย  รู้ตัวว่าเมื่อทำผิดแล้วถูกจับแล้วตัวเองจะต้องตายแต่ก็ยังทำเพราะชีวิตก็เหมือนตายไปแล้ว  พวกนี้จึงไม่ค่อยกลัวโทษประหาร  และที่จริงแล้วการตายเป็นการหนีความเจ็บปวดความทรมานของพวกเขาที่ดีที่สุด  หลายคนจึงกลับคิดว่าไม่อยากให้พวกนี้ตายเร็วเสียอีก การขังไว้นานๆ โดยยังไม่ประหารกลับทำให้พวกนี้ได้รับความเจ็บปวดมากกว่า  โทษประหารจึงไม่มีผลยับยั้งต่ออาชญากรกลุ่มนี้  แต่มีผลยับยั้งต่อคนในสังคมที่เป็นคนดีโดยทั่วไป

มีข้อโต้แย้งว่าโทษประหารชีวิตไม่ทำให้คนเกิดความเกรงกลัวได้  เพราะไม่มีการประหารจริงหรือประหารทันที  ขาดความรวดเร็วที่จะทำให้เห็นผลทันตา  คนจึงไม่กลัว

การประหารชีวิตในทันทีทันใดคงเป็นไปได้ยาก เพราะการที่จะประหารชีวิตผู้ใดได้นั้น  ต้องผ่านการกลั้นกรองไตร่ตรองหลายชั้น โดยต้องผ่านกระบวนการในการพิจารณาทางศาล ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาถึงศาลฎีกาทำให้ต้องใช้ระยะเวลานาน เพื่อให้มีการกลั่นกรองจนเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าไม่มีความผิดพลาดในการพิจารณาคดี ไม่เป็นการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์หรือผู้ไม่สมควรได้รับโทษประหาร  เพราะหากประหารชีวิตไปแล้วจะไม่สามารถเรียกชีวิตหรือสิ่งที่สูญเสียไปแล้วกลับคืนมาได้ หลายฝ่ายคงไม่อยากเห็นคดีนักโทษประหารดังเช่นคดีเชอรี่ แอน เกิดขึ้นอีก นอกจากนั้น  เมื่อคดีเด็ดขาดแล้วยังจะต้องมีกระบวนการในการที่จะขออภัยโทษหรือลดโทษ  ทั้งนี้เป็นไปตามข้อมติสหประชาชาติที่ได้เรียกร้องให้ประเทศที่ยังมีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่  มีบทกฎหมายสำหรับช่วยคุ้มกันผู้ถูกกล่าวหาในคดีที่มีโทษถึงประหารชีวิต  กล่าวคือ

     1.  บุคคลที่ต้องโทษประหารชีวิตจะต้องมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลสูง และมีสิทธิเสนอฎีกาขออภัยโทษหรือลดโทษ

     2.  จะต้องไม่จัดการประหารชีวิตผู้ต้องโทษจนกว่ากระบวนการอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาเพื่อขออภัยโทษหรือลดโทษนั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว

ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีกลไกทางกฎหมายในลักษณะนี้ ดังนั้นการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในทันทีทันใดให้เห็นผลทันตานั้น จึงมีข้อจำกัดดังกล่าว การจะใช้โทษประหารชีวิตโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้อุทธรณ์ฎีกาคงเป็นไปได้ยาก

สำหรับเรื่องการประหารชีวิตโดยเปิดเผยและประหารในที่เกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบและเกิดความเกรงกลัวเพื่อผลในการข่มขู่ยับยั้งนั้น  เมื่อการประหารชีวิตไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีทันใดเพราะต้องผ่านกระบวนการในการกลั่นกรอง การประหารในที่เกิดเหตุและโดยเปิดเผยก็ไม่มีผลใดๆ เพราะคนจะลืมเรื่องราวไปแล้ว และที่สำคัญคือ  แม้จะประหารชีวิตได้ทันทีทันใดในที่เกิดเหตุ ก็จะทำให้เกิดความเกรงกลัวได้เฉพาะในหมู่ประชาชนทั่วไป แต่สำหรับอาชญากรที่ไม่มีอะไรจะเสีย อาชญากรที่ทำโดยความกดดัน อารมณ์ชั่ววูบ อาชญากรที่มีเล่ห์กลอุบายแยบยล เห็นโอกาสหลุดรอดมีสูงแล้ว โทษประหารชีวิตไม่มีผลต่อการยับยั้งผู้กระทำผิดกลุ่มนี้

การประหารชีวิตอย่างเปิดเผยในที่เกิดเหตุ  โดยเฉพาะด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยมเพื่อหวังจะใช้ข่มขู่ยับยั้ง  เช่น  การยิงเป้า  การตัดคอ  และการแขวนคอในที่สาธารณะเหมือนที่บางประเทศกระทำอยู่ เช่น การจับใส่รถเครนแขวนคอหรือยิงเป้าหมู่นั้น มีผลเป็นเพียงการแสดงออกถึงความต้องการในการแก้แค้นทดแทน ให้สาสมกับความผิด เป็นการแสดงออกถึงความเคียดแค้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงระดับความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของคนในสังคมนั้นด้วย การแขวนคอหรือยิงเป้าต่อที่สาธารณะจึงไม่เป็นเพียงประจานผู้กระทำผิดเท่านั้น  แต่ยังเป็นการประจานสังคมที่ทำการประหารขึ้นอีกด้วย

แต่ถ้าสังคมจะยังคงให้มีโทษประหารชีวิตไว้ ก็น่าจะเป็นด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อป้องกันสังคมโดยการขจัดผู้ที่เป็นอันตรายต่อสังคมให้ออกไปจากสังคมหรือเพื่อมุ่งขจัดคนร้ายที่มีพฤติกรรมรุนแรงและยากต่อการแก้ไข การประหารชีวิตเป็นวิธีการที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพในการที่จะจัดการกับบุคคลเหล่านี้มากกว่าวิธีจำคุกไว้เป็นเวลานานๆ คนลักษณะเช่นนี้ยังคงมีอยู่ในสังคม แม้สังคมจะสร้างเขาขึ้นมา แต่เพื่อป้องกันสังคมก็จำเป็นต้องขจัดคนเหล่านี้

ดังนั้น วิธีการประหารชีวิตจึงไม่จำเป็นต้องทำแบบเปิดเผย และด้วยวิธีการดูเหมือนทารุณโหดร้าย แต่ควรเป็นการประหารที่สะท้อนถึงการมีมนุษยธรรมมากขึ้น  โดยการประหารในลักษณะที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ (แต่มีกรรมการจากฝ่ายต่างๆ ในการประหารและแจ้งให้สาธารณะทราบภายหลัง) ด้วยวิธีการที่ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานหรือมีการทรุดโทรม  เกิดการเปรอะเปื้อนเลือดตามร่างกาย  เช่น  การใช้วิธีประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ  ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกประหารเสียชีวิตในทันทีด้วยอาการที่สงบ  เป็นการประหารชีวิตที่มุ่งตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในข้อสุดท้ายคือ  การป้องกันสังคม

ในทางตรงข้าม  ถ้าจะมุ่งให้การประหารชีวิตเป็นการตอบสนองต่อ  ความเคียดแค้นชิงชังของคนในสังคมแล้ว ก็ต้องลงโทษด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม  ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน  ต่อหน้าสาธารณชน แต่จะหวังว่าโทษประหารชีวิตจะช่วยข่มขู่ยับยั้งอาชญากรรมด้วยนั้น  คงเป็นไปได้เฉพาะประชาชนคนดี ๆ ทั่วไปเท่านั้น

โทษประหารชีวิตจึงมิใช่คำตอบของปัญหาอาชญากรรม การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและการขจัดสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในสังคมที่หล่อหลอมและสร้างอาชญากรที่มีพฤติกรรมเหี้ยมโหดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องต่างหาก ที่น่าจะเป็นคำตอบของปัญหาอาชญากรรมที่แท้จริง

 

                       

                       

 

หมายเลขบันทึก: 411473เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2010 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่เห็นด้วยกับการใช้โทษประหาร เพราะมีแต่คนดีเท่านั้นที่เกรงกลัว ส่วนคนที่ก่ออาชญากรรมก็จะกลัวคนดี จึงควรส่งพระสงฆ์เข้าไปอบรมบ่มนิสัยนักโทษที่มีความผิดร้ายแรง เช่นฝึกให้นักโทษเหล่านั้นนั่งสมาธิ สวดมนต์ ปลูกฝั่งความเชื่อเรื่องบุญกรรม ฯลฯ ให้แก่นักโทษเหล่านั้นถ้านักโทษไม่ให้ความร่วมมือกับพระสงฆ์ก็อาจจะมีโทษให้ขังเดี่ยว ขังห้องมืด อดอาหารหรือให้ไปทำความสะอาดห้องนำนักโทษ ฯลฯ แต่ถ้าให้ความร่วมมือปฏิบัติตามที่พระสงฆ์แนะนำสั่งสอนแล้วก็จะมีรางวัลให้เช่นให้ดูทีวีได้ ให้เข้าร่วมแข่งขันกีฬา ให้พบญาติได้บ่อยขึ้น โดยตั้งข้อแม้ว่า ยิ่งทำดีโทษยิ่งลด โดยส่วนตัวมีความเห็นว่าคนเราเมื่อรู้ผิด รู้ชอบ และได้ทำดีบ่อย ๆ ก็จะเกิดความเคยชินไม่กล้ากระทำผิดหรือไม่อยากกระทำผิดอีก โดยความดีนี้ต้องมีพระสงฆ์คอยให้คำแนะนำ และเข้าไปเยี่ยมเยือนนักโทษอยู่เนื่อง ๆ และในส่วนของพระสงฆ์นั้นควรมอบใบประกาศนียบัตรเป็นพระสงฆ์นักปฏิบัติปลดปล่อยนักโทษ หรือมอบโล่ประกาศเกียรติคุณคุณความดีให้แก่พระสงฆ์เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากพระสงฆ์ดี ๆ ทั่วประเทศ ส่วนโทษจำคุกของนักโทษนั้นให้มีจำนวนปีที่ต้องจำคุกมากไว้ก่อนและให้มีข้อกำหนดการลดโทษโดยการทำงานสาธารณะ ขุดท่อ ลอกท่อ ตัดหญ้า พับถุง หรืออาจมีการสอบธรรมะ เพื่อลดโทษด้วย โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีใครเลว 100% คนทุกคนมีความดีอยู่ในตัว มีได้รับธรรมกล่อมเกลา เราจะได้คนดีกลับคืนสู่สังคม

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นายจอมจักรภพ เอกกุล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท