ทำขวัญนาค 9 (ทำอย่างไรจึงเรียกว่าพิธีทำขวัญนาค)


การรักษาไว้ซึ่งขนบประเพณีเก่า ๆ อาจทำได้ยากขึ้นทุกที คงจะต้องเลือกรับสิ่งที่มีความเหมาะสม

ทำขวัญนาค 9

(ทำอย่างไรจึงเรียกว่าพิธีทำขวัญนาค)

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

          พิธีทำขวัญนาคมีระเบียบ แบบแผน มีขั้นมีตอนในการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นไปจนเสร็จพิธี สิ่งของทุก ๆ อย่างที่นำเอามาใช้ประกอบในพิธีล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งแทนค่าความรู้สึกนึกคิด เป็นสิ่งของมงคลที่ช่วยหนุนนำความเชื่อและศรัทธาให้ผู้ที่จะบวชได้ทำใจให้ผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ มีสมาธิตั้งมั่นและมีความมั่นคงแน่วแน่

          โหราจารย์หรือจ้าวพิธีผู้ซึ่งได้ผ่านการเรียนรู้ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากหมอทำขวัญนาครุ่นเก่า ได้รับการครอบครูมาให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อจากท่านได้อย่างถูกต้อง กว่าที่บุคคลผู้หนึ่งจะมานั่งประกอบพิธีในงานที่มีความสำคัญ อันเป็นงานมงคลที่ยิ่งใหญ่ของแต่ละครอบครัวได้นั้น หมอทำขวัญนาคจะต้องเป็นผู้สูงวัย เป็นผู้ที่บำเพ็ญศีลภาวนา มีสง่าราศี มีความน่าเชื่อถือยอมรับนับถือ ได้ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นหมอขวัญ สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ คำสอน คำแนะนำที่จะนำพานาคไปสู่ความรู้ในกิจของสงฆ์และการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในเพศบรรพชิต

          

          ในพิธีทำขวัญนาคจะต้องมีบายศรีต้นหรือหลักบายศรี 3 ชั้น หรือ 5 ชั้น หรือ 7 ชั้น (โดยมากนิยมบายศรี 5 ชั้น ไม่ใช้บายศรี 9 ชั้น) จะเป็นบายศรีแห้งหรือบายศรีสดก็อนุโลมให้ใช้ได้ ตั้งบายศรีให้มั่นคงและยึดด้วยไม้ขนาบบายศรี เป็นไม่ไผ่ผ่า 3 ซีก (เรียกว่าไม้ซีก) ใช้ด้ายสายสิญจน์มัดให้แน่นทั้งตอนบนตอนกลางและตอนล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้บายศรีซวนเซ ในบายศรีแต่ละชั้นใส่อาหารคาวหวาน ขนมต้มแดงต้มขาว ส่วนข้าวปากหม้อและไข่ต้มใส่ไว้ที่ยอดบายศรี และที่ยอดบายศรปักเทียนชัยเอาไว้ 1 เล่ม แต่ถ้าสิ่งยึดเหนี่ยวไม่มั่นคงให้ปักเทียนชัยเอาไว้ที่พานข้าวสารแทน (เทียนจะได้ไม่ร่วงหล่นลงมา)

          มีใบตอง 3 ก้าน ตัดให้สุดก้าน ไม่ให้หูใบตองติดอยู่ที่ต้น ใบตองทั้ง 3 ก้านควรมีขนาดเท่า ๆ กันเมือเวลาห่อใบตองด้วยผ้าหุ้มบายศรีแล้วจะได้ดูสวยงามพอเหมาะ ใบตองทั้ง 3 ก้านที่มีความยาวพอดีจะช่วยให้เวลานาคอุ้มไม่ยาวเกะกะมากจนเกินไป ความละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางครั้งก็มีความสำคัญให้ต้องพิถีพิถันบ้างเหมือนกัน

          ในสมัยก่อน เมื่อ 30-50 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ผมเริ่มออกไปประกอบพิธีกับคุณตาวัน มีชนะ ท่านจะย้ำเสมอว่า เวลาหุ้มบายศรี (แต่ก่อนใช้ผ้าม่านผืนขนาดเล็ก) ให้มัดมุมหนึ่งของผ้าม่านติดกับไม้ซีกที่ตอนบนให้แน่นหนาแล้วส่งผ้าม่านพันรอบบายศรีโดยส่งด้วยมือซ้ายและรับผ้าด้วยมือขวา ผ้าที่หุ้มบายศรีก็จะเวียนรอบหลักบายศรีแบบทักษิณาวัตร (เวียนขวา) เมื่อพันผ้ารอบบายศรีและมัดด้วยสายสิญจน์สวยงามแล้ว ให้นำเอาพวงเงินพวงทองมาคล้องที่หลักบายศรี ชาวบ้านที่มีความรู้เก่า ๆ ท่านจะทำพวงเงินพวงทองเอาไว้สำเร็จรูปและนำเอามามอบให้หมอทำขวัญคล้องที่บายศรี พวงเงินได้แก่เครื่องเงินทุกชนิดร้อยติดต่อกันมา ส่วนพวงทองได้แก่สร้อยทองคำ แหวน กำไล เดี๋ยวนี้ทองมีค่าสูงมากก็ลดละในประเด็นนี้ไปนานแล้ว (บางท้องถิ่นก็ยังมี)

          เครื่องกระยาบวช 1 สำรับ ประกอบด้วย ขนมต้มแดง ต้มขาว ข้าวปากหม้อ ไข่ต้ม วางไว้ในถ้วยที่มีบายศรีปากชาม 3 หวีรองรับทั้ง 3-4 ถ้วย จัดไว้ในสำรับเดียวกัน มีกล้วยหวีงาม มีหมูวางบนใบตอง (หมูนอนตอง) มีมะพร้าวอ่อน 1 ผล (เปิดฝาให้สามารถใช้ช้อนตักน้ำมะพร้าวป้อนนาคได้) มีอาหารคาวหวาน 1 สำรับ (ปัจจุบันอาจไม่มีก็ได้)

          สิ่งของที่จะต้องเตรียมนำเอามาใช้ในที่ประกอบพิธีที่สำคัญยังมีอีก ได้แก่ ขันน้ำ 2 ใบ (แต่เดิมใช้ขันลงหิน) ห้ามใช้ขันน้ำที่ปากรอม คือ ม้วนขอบปากขันเข้าใน แต่ในปัจจุบันอนุโลมใช้ขันเงินกันได้เพราจะหาขันลงหินได้ยากมากขึ้น ขันใบหนึ่งใส่น้ำสำหรับทำน้ำมนต์ ในขันน้ำมนต์จะมีใบพลู 7 ใบลงคาถาลอยอยู่ในน้ำมนต์ ส่วนขันอีกใบหนึ่ง ใช้ใส่ข้าวสารปักแว่นเวียนเทียน

          แว่นเวียนเทียน มี 3 แว่นติดเทียนแว่นละ 3 เล่มอยู่กับแว่นติดเทียน แว่นที่ 1 รูปพระพุทธ แว่นที่ 2 หอยสังข์ แว่นที่ 3 รูปพญานาค หากไม่มีแว่นติดเทียนก็อนุโลมให้ใช้กาบกล้วย แก้วน้ำ หรือหวีหวีผมแทนตามความจำเป็น ส่วนมากแล้วหาขอยืมได้ที่วัดใกล้ ๆ บ้านแต่บางครั้งท่านเจ้าภาพก็อาจจะลืมไปก็มีจึงต้องกาวัสดุทดแทน ใช้เทียนทั้งหมด 9 เล่มรวมกับเทียนชัยอีก 1 เล่ม เป็น 10 เล่ม

          แป้งหอมน้ำมันหอมเจิมหน้านาค โดยทั่วไปใช้แป้งจากดินสอพองผสมกับน้ำมนต์หรือน้ำหอมคนให้เข้ากันแล้วเสกคาถา “นะเมตตา......” สำหรับเจิมหน้านาค อาจจะใช้แป้งเม็ด หรือใช้แป้งน้ำจากขวดโดยเขย่าให้แป้งเข้ากับน้ำเสียก่อน แล้วจึงเทลงในถ้วยใส่แป้ง กว่าจะถึงพิธีเจิมหน้านาคแป้งก็จวนจะแห้งแล้ว

          ด้ายสายสิญจน์ ควรเตรียมเอาไว้ 1 มัด/ม้วน บางท้องที่ใช้ด้ายขนาดใหญ่ เพื่อที่จะ ให้ญาติกาผูกข้อมือเรียกขวัญให้เจ้านาคตอนสุดท้าย  บางท้องที่ใช้เป็นสายโยงเชื่อมต่อจากหลักบายศรีไปยังญาติที่มานั่งเวียนเทียน เพื่อที่จะให้เจ้านาคกราบลาขอขมาและอโหสิกรรม ในส่วนนี้บางครั้งหมอทำขวัญต้องยกให้พิธีกรท้องถิ่นดำเนินงานต่อไปเพื่อที่จะให้ถูกต้องตามประเพณีของท้องถิ่น

          มีพานไหว้บูชาครูในตอนเริ่มต้นพิธี ในพานประกอบด้วยดอกไม้สี ธูป 3, 5 ดอก มากกว่านั้นได้แต่เพิ่มเป็น 7, 9 ดอกได้ เทียน  1-2 เล่ม หมาก 5 คำ ยาสูบ 1 ซอง เหล้าขาว 1 ขวด เงินกำนล 6 บาท หรือ 12 บาท (เกินกว่านี้ได้)

         

ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าพิธีทำขวัญนาค

          เนื่องจากการทำขวัญนาค เป็นพิธีที่มีขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนพิธีกรรมเสร็จสมบูรณ์ ผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบพิธี เท่าที่ผมได้เห็นมาบางท่านก็สวมชุดที่ดูสุภาพเรียบร้อย บางท่านสวมใส่ชุดสีขาวดูสะอาดตา หมอบางท่านสวมชุดใหญ่อย่างขุนนางในอดีต ชุดที่หมอสวมใส่จะต้องให้ดูน่าเลื่อมใสศรัทธา ไม่มีสีสันที่สดใสฉูดฉาดจนเกินไป  ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นโหราจารย์จะต้องเริ่มต้นประกอบพิธี ดังนี้

1. ขั้นเตรียมการที่จะเข้าสู้พิธีทำขวัญนาค

    -  จัดตั้งหลักบายศรีให้มั่นคงแน่นหนา โดยขนาบด้วยไม้ 3 ซีกและมัดให้แน่น

    -  จัดเตรียมพาน สำรับอาหารบูชาครู จุดเทียน ธูปไหว้ครูที่สอนทำขวัญนาคมาให้

    -  นำเอาขันน้ำมาวางตรงหน้า จุดเทียนท่องคาถาทำน้ำมนต์ หยดเทียนลงในขันน้ำ

    -  นำเอาใบพลูมาลงคาถา ลอยไว้ในขันน้ำมนต์ นำอาหารใส่ไว้ในแต่ละชั้นบายศรี

    -  นำเอาใบตองทั้ง 3 ก้านมาหุ้มหลักบายศรี นำเอาผ้าแพร ผ้าสีหรือผ้าม่านห่อหุ้มบายศรีให้มิดชิดและสวยงามโดยพันผ้าเวียนขวาแล้วมัดด้วยสายสิญจน์ 1 เปลาะ

    -  นำเอาเทียนมาติดที่แว่นเวียนเทียน แว่นละ 3 เล่ม ติด 3 แว่น ปักไว้ที่ขันข้าวสาร

    -  เลือกทิศทางในการนั่งให้ไม่ตรงกับทิศมีผีหลวง ดูตามวันที่มีผีหลวงจับประจำทิศ ให้หลบทิศนั้นด้วย

    -  จัดระดับของการนั่ง หมอทำขวัญนาคไม่ควรนั่งต่ำกว่าเจ้านาค อย่างน้อยก็อยู่ในระดับพื้นเดียวกัน

2. ขั้นตอนในพิธีทำขวัญนาค

    - เชิญเจ้านาค บิดา มารดาและญาติทั้งหมดที่มาร่วมงานได้เข้ามายังบริเวณพิธี

    - หมอทำขวัญนาคเกริ่นนำ พูดอธิบายอานิสงที่ทุกฝ่ายพึงจะได้รับในการบวชพระ

    - ร้องทำนองเชิญเทวา บูชาครู เคารพคุณและยกย่องเกียรติยศของเจ้านาค

    - กล่าวถึงตอนปฏิสนธิ การกำเนิดเกิดมาของคนเรา ให้รู้ถึงบุญคุณของบิดามารดา ด้วยท่วงทำนองที่เหมาะสม อธิบายการเลี้ยงดูอุ้มชูมาตั้งแต่ยังเยาว์จนถึงวันนี้

    - กล่าวถึงนามนาค หรือสำเภาทองของนาค เส้นทางของการบวชพระที่เกิดจากความมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา

    - ร้องเป็นทำนองสอนนาค ให้ข้อคิดในกิจของสงฆ์ ข้อควรปฏิบัติข้อห้ามที่ต้องระวัง

    - เชิญขวัญนาคด้วยทำนองเสนาะหรือทำนองอื่นที่ทดแทนกันได้อย่างซึ้งใจ

    - กล่าวถึงบายศรีและสิ่งของที่นำเอามาใช้ประกอบพิธีว่าทดแทนอะไรกันบ้าง

    - จุดเทียนชัย ร้องส่งทำนองนางนาคหรือทำนองที่เหมาะสมในการเวียนเทียน ส่งแว่นเทียนให้บิดาเริ่มต้นไปจนครบ 3 รอบ เบิกบายศรี (เปิดผ้าหุ้มบายศรีมาห่อใบตองให้นาคอุ้มเอาไว้)

    - นำเอามะพร้าวอ่อนมาตักขวัญข้าว ไข่ขวัญใส่ลงไปแล้วตักน้ำป้อนนาค 3 ครั้ง

    - หมอรับแว่นเวียนเทียนทั้ง 3 แว่น แกะเทียนมารวมกันทั้ง 9 เล่ม หยิบใบพลูในขันน้ำมนต์พรมน้ำมนต์ไปที่เจ้านาคและหลักบายศรีจนถึงผู้ที่มาร่วมพิธี นำใบพลูมารองรับเทียนวนไปรอบหลักบายศรี 3 รอบแล้วกระพุ่มเทียนควันเทียนเป่าใส่หน้านาค ให้เจ้านาคอ้าปากรับควันเทียน

    - หมอทำขวัญนำเอาแป้งหอมมาเจิมที่หน้าผากให้เจ้านาค ว่าคาถา “มะ อะ อุ” และแปลคาถาด้วย  

    - จัดให้บิดามารดานั่งคู่กันแล้วให้นาคส่งตองขวัญที่ห่อหุ้มให้กับบิดามารดา นาคกราบขอขมาและรับตองขวัญกลับคืนนำเอาไปวางไว้ในที่สูง เป็นเสร็จพิธี

3. ขั้นตอนหลังพิธีทำขวัญนาค

    - ให้นาคถือพานเข้ามากราบขอขมาญาติพี่น้องที่ยังนั่งรออยู่ในพิธี บางท้องที่อาจ

      เป็นการใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือให้เจ้านาคแล้วให้ศีลให้พร

    - หมอทำขวัญแสดงความเคารพในพิธีโดยกราบ 3 ครั้ง ลาครูที่หน้าบายศรี

    - จัดเก็บสิ่งของบูชาครูและจัดสถานที่ให้ดูมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ในยุคปัจจุบันนี้ ได้พบเห็นอะไรบ้างในพิธีที่เรียกว่าทำขวัญนาค

          1. ได้พบว่า หมอทำขวัญนาคในยุคปัจจุบัน ไม่ได้เน้นการประกอบพิธีเหมือนในสมัยก่อน แต่มาเน้นการแสดงทำขวัญนาคมากกว่า เพราะตั้งแต่เริ่มต้นพิธี ไม่ได้ตั้งต้นที่มนต์คาถา ว่าได้ก็ว่าเอา ไม่มีการเรียงลำดับอย่างเป็นระบบ นำเสนอแบบการร้องเพลงเสียมากกว่า ถึงแม้ว่าเพลงที่ร้องจะมีความเกี่ยวข้องในพิธีทำขวัญนาค แต่ก็เป็นเพลงที่ฟังสนุกสนาน นึกจะจับตอนใดมากล่าวก็นำเอามาขาดความสัมพันธ์กันของเนื้อหาสาระ ไม่ได้นำไปสู่การให้ข้อคิดคติธรรมดังในอดีตที่ผ่านมา อายุของหมอทำขวัญนาคลดลง (หมายถึงหมอที่ทำหน้าที่ประกอบพิธี) อายุ 17-19 ปี หรือต่ำกว่านั้น ยังอายุไม่ครบบวช

          2. ทำให้ได้เห็นความตรงกันข้ามกับที่รุ่นครูได้ปฏิบัติได้กระทำกันมาในอดีตหลายอย่าง เช่น ระดับของการนั่งทำขวัญนาค ในอดีตที่ผ่านมาผมก็ยังเคยนั่งบนตั่งทำขวัญนาค เจ้าภาพเขาต้องการยกพื้นให้สูงกว่าพื้นเวทีขึ้นไปโดยนำเอาตั่งขนาดใหญ่มาวางแล้วจัดพิธีบนนั้น ตั้งหลักบายศรี ปูพรมเต็มพื้นที่ แต่หมอขวัญไม่ควรนั่งต่ำกว่านาคหรือผู้ที่จะบวช

          3. การเวียนเทียนของญาติพี่น้องที่มาร่วมพิธี เมื่อหมอทำขวัญนาคจุดแว่นเทียน แว่นที่ 1 พร้อมกับว่ามนต์คาถากำกับจนจบแล้วเวียนไปรอบหลักบายศรี (บายศรีสดอาจวนรอบไม่ได้) แล้วส่งให้บิดาของนาครับไว้เวียนเสร็จปัดควันเทียนออกจากตัวส่งต่อไปให้คนที่อยู่ซ้ายมือ คือจะต้องเวียนจากซ้ายไปขวา (ทักษิณาวัตร) ในงานมงคล แต่ในภาพจริงได้พบว่าเวียนจากขวาไปซ้ายก็มี หากไม่มีใครทักก็แล้วกันไปแต่ถ้าผู้รู้ได้พบเข้าจะกล่าวตำหนิได้ว่าไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องตามระบอบของพิธี

          4. ได้พบว่า ในระหว่างที่มีการประกอบพิธี โดยเฉพาะช่วงตอนหรือเวลาที่หมอร้องเป็นทำนองเพลงสมัยใหม่ จะมีผู้ที่มาร่วมงานออกไปรำเต้นกันอย่างสนุกสุดเหวี่ยง ในยุคก่อน ๆ หรือในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการรำและเต้นประกอบในพิธีทำขวัญนาค แต่เป็นบางช่วงบางตอนและกริยาอาการที่พวกเขาแสดงออกก็ดูสุภาพเรียบร้อยไม่รุนแรงจนเกินไป เรียกว่าสนุกแต่พอดีไม่ถึงกับสนุกสุดมันส์

          5. บายศรีที่ใช้ในการประกอบพิธีทำขวัญนาคมีวิวัฒนาการจากการใช้วัสดุที่เป็นโลหะบาง ๆ มาเป็นวัสดุจากพืชสด ๆ มาประดิษฐ์เป็นบายศรี จัดเป็นช่อเป็นชั้นอย่างสวยงามมีทั้งดอกไม้ประดับแทรกแซมอย่างวิจิตรบรรจง บางงานจัดพายศรีด้วยพานโตกซ้อนเป็นชั้นลดหลั่นขนาดกันลงมาจากยอดจนถึงพื้น ในบายศรีแต่ละชั้นจะมีที่ว่างเอาไว้สำหรับวางอาหารคาวหวาน เครื่องสังเวยที่เรียกว่า เครื่องกระยาบวช ส่วนบนยอดสุดของบายศรีจะเป็นที่วางข้าวขวัญและไข่ขวัญ ปัจจุบันในบางที่ บายศรีทำด้วยดอกไม้สด และจัดพานผลไม้เอาไว้อย่างงดงามประกอบพิธี

          6. ได้พบว่า ท่วงทำนองที่หมอทำขวัญนาคนำเอามาใช้ร้องประกอบพิธี เป็นทำนองสากลนิยมมากขึ้น ผู้ฟังสนุกแต่จิตใจไม่สงบ อาจจะไม่นำไปสู่การมีสมาธิที่มั่นคง ทำนองเดิมที่ฟังแล้วซาบซึ้งชวนให้คิดตาม ในพิธีทำขวัญนาค ท่วงทำนองที่ใช้เป็นหลักคือ “ทำนองธรรมวัตร” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทำนองเสนาะ” มาจากทำนองที่พระคุณเจ้าท่านเทศนาบนธรรมาสน์เทศน์ในอดีตก่อนที่จะพัฒนามาเป็นเทศนาทำนองแหล่อย่างที่พบเห็นกันในยุคปัจจุบัน

          7. ใช้วงดนตรีสากล เครื่องดนตรีต้องมีเครื่องไฟฟ้าขยายเสียงเข้ามาร่วมบรรเลงในพิธีทำขวัญนาค เสียงบรรเลงของวงดนตรีประเภทนี้จะรุกเร้า ถึงตอนโซโล่ตอนลงเพลงก่อนที่จะมาเข้าสู่ตอนใหม่จังหวะก็น่าที่จะออกมาเต้นกันอย่างสุขใจในอารมณ์ ต่างกับสมัยก่อนที่ใช้วงดนตรีไทย หรืออย่างดีก็เป็นแตรวงที่นั่งเป่าเป็นเพลงเรียบ ๆ ในทำนองไทยเดิมหรือทำนองเพลงลูกทุ่งบ้างก็เป็นท่วงทำนองที่อิงไทยเดิมที่ฟังแล้วได้สติ สงบ จิตสว่าง อาจจะมองแตกต่างกันในแง่ความคิด

          8. ในพิธีทำขวัญนาคจะประกอบไปด้วย “พูดร้องท่องคาถา” พูดเป็นการแนะนำสั่งสอน อบรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ร้องเป็นการสอดแทรกเพิ่มเติมในเกล็ดย่อยที่ออกนอกเหนือจากเนื้อหาไปบ้าง ส่วนคาถาเป็นการกำกับในแต่ขั้นตอนของพิธีเพื่อความเป็นมงคลแก่ผู้ที่กระทำดี มีความตั้งใจที่จะบวชสืบต่อพระพุทธศาสนา แต่ในยุคปัจจุบันบางงานพบว่า มีแต่การแสดงที่เป็นการร้องเพลงอย่างมหรสพ มากว่าที่จะเรียกว่าเป็นพิธี

          9. การพูดสามารถที่จะจดจำมาจากหมอทำขวัญท่านอื่น ๆ ที่ชื่นชอบนำเอามาใช้งานได้ การร้องเพลงสามารถที่จะฝึกร้อง ฝึกแหล่ ฝึกร้องเพลงไทยเดิมได้ แต่คาถาและพิธีกรรมจะต้องฝึกปฏิบัติมาจากครูต้นแบบที่เป็นหมอทำขวัญนาคในอดีตที่มีภูมิรู้อย่างสมบูรณ์แบบแล้วถ่ายทอดมายังคนรุ่นใหม่รับมรดกกันต่อ ๆ มาเป็นช่วง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่หมอขวัญรุ่นใหม่ใช้วิธีจำพิธีกรรมก็อาจจะเกิดข้อบกพร่องผิดพลาดให้พบเห็นได้ ในกรณีอย่างนี้มนต์เสน่ห์ความขลัง ความน่าเชื่อถือศรัทธาก็ลดน้อยถอยลงไปได้

          ดังนั้นถ้าผู้ที่กระทำพิธีขาดในกรณีใดกรณีหนึ่งไปใน 9 ข้อที่กล่าวมาก็จะเกิดความผิดพลาดบกพร่องได้ ถ้าขาดตกบกพร่องหรือหายไปหลายข้อ ท่านผู้รู้ก็จะมองได้ว่า นี่มิใช่พิธีทำขวัญนาค แต่เป็นการโชว์อะไรสักอย่างหนึ่งที่ศิลปินท่านนั้นมีความถนัดเป็นพิเศษ ยิ่งมีความเบี่ยงเบนมากเท่าไร ความมีมนต์ขลังก็จะจางหายไปด้วย จึงทำให้ค่านิยมในการจัดให้มีพิธีทำขวัญนาคลดน้อยลงไป เพราะนอกจากจะไม่สอดคล้องกับการทำพิธีแล้วยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบวชอีกด้วย

                            

          แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญยิ่งขึ้นทุกขณะ การรักษาไว้ซึ่งขนบประเพณีเก่า ๆ อาจทำได้ยากขึ้นทุกที คงจะต้องเลือกรับสิ่งที่มีความเหมาะสม ไม่เกินเลยจนดูออกนอกเส้นทางไปมากก็คงเป็นที่ยอมรับได้อยู่ ครับ

ติดตามอ่าน GotoKnow.org (Blog to Book) บล็อก "ทำขวัญนาค" 50 ตอน ได้ที่เว็บ Partal in THailand : http://portal.in.th/kwannak/pages/13087/  (11 ธ.ค. 2553)

ติดตาม ตอนที่ 10 (เชิญหมอขวัญมาทำพิธีหรือมีความต้องการอย่างอื่น)

หมายเลขบันทึก: 411469เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2010 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ
  • บันทึกนี้ทำให้ผมนึกถึงการมีโอกาสได้บวชเมื่อ 8 ปีก่อน การเตรียมตัวบวช มีขั้นตอนหลายอย่าง ตอนแรกผมกะว่าจะทำเป็น ปอยดัก(คืองานบวชพระที่ทำกันเล็กๆ เงียบๆ ดักก็คือ เงียบครับ คือทำแบบประหยัด ไม่มีพิรีตองมากมาย) เอาไปเอามาพอหลายคนรู้ กลายเป็นงานที่มีพ่อแม่ พี่น้อง มาร่วมงานมากมายเพราะถือว่าเป็นงานบุญ ไม่ต้องออกบัตร การ์ดเชิญทุกคนก็เต็มใจมา ก่อนทำขวัญ ก็จะมีผู้เฒ่าผู้แก่มัดมือ ยังประทับใจจนทุกวันนี้ครับ ส่วนการทำขวัญนาค ถือเป็นการสอนนาคให้ตั้งใจในการบวช ให้รู้ถึงพระคุณของพ่อแม่ แต่ทางเหนือการทำขวัญไม่นิยมใช้ดนตรี แต่หมอทำขวัญกล่าวได้ไพเราะลึกซึ้ง กินใจ ความหมายดีมากๆ ครับ

สวัสดี (คนเหนือ) คุณชำนาญ

  • เป็นการย้อนอดีตที่มองเห็นภาพได้ชัดเจน แรงศรัทธาของวงศาคณาญาติมิอาจที่จะหักห้ามในความตั้งใจได้ ตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของประเพณี (ธรรมเนียม แบบแผน) มาจนถึงทุกวันนี้ งานบวชมีครบ "ทาน ศีล และภาวนา"
  • ผมมีโอกาสได้ไปทำขวัญนาค ที่จังหวัดตาก (1 ครั้ง) ที่จังหวัดลำปาง (3 ครั้ง) การจัดงานบวชทางภาคเหนือยิ่งใหญ่เกินกว่าจะหาคำมาอธิบาย ผมได้เห็นมากับตา
  • ในแถบภาคกลางเมื่อตอนที่ผมเริ่มฝึกหัดทำขวัญนาคไปงานกับคุณตาก็พบว่าส่วนมากว่ากันปากเปล่าไม่มีดนตรีเช่นกันเพราะท่วงทำนองที่ใช้ร้องเป็นทำนองเสนาะ ไม่เหมือนในปัจจุบันนี้ที่มีการประยุกต์และผสมผสานไปตามกาลเวลา ครับ
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท