เบื้องหลังประชันเบื้องหน้า(AAR) การเป็นวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้ กิจกรรมฐานที่ 3 “ดีใจจัง! ฉันทำได้” โซนตามล่าหา Tacit “งานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 5 (KM Inside – Lively Learning Land)”


ผู้เขียนเริ่มงง และรู้ตัวว่า ผู้เข้าร่วมฯได้สัมผัส Tacit Knowledge เข้าให้แล้ว เมื่อได้อ่าน หัวใจ AAR

เบื้องหลังประชันเบื้องหน้า (AAR) การเป็นวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้ กิจกรรมฐานที่ 3  “ดีใจจัง! ฉันทำได้” โซนตามล่าหา Tacit “งานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 5  (KM Inside – Lively Learning Land)”

 

เบื้องหลัง... โจทย์ที่ได้รับมอบหมายจาก สคส. 

กระบวนการเป็นการดำเนินกิจกรรม ๒ รอบ  โดยแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง

ช่วงแรกเน้นการฟัง+ทำความรู้จักกัน : ให้เขาแนะนำตัว, บอกความคาดหวัง ๑ ข้อ และบอกความสามารถพิเศษ (หรือใช้หัวข้อดีใจจัง ฉันทำได้ หรือหัวข้อที่เขาจะเล่า How to ของตนเองออกมาได้ ไม่เอาแนวคิดให้เอาประสบการณ์จริง....)ของตนเอง ๑ เรื่อง (ยังไม่ต้องเล่าแต่บอกแค่หัวข้อเท่านั้น)   เมื่อพูดครบทุกคนแล้วเราก็บอกโจทย์ต่อไป คือ ให้แต่ละคนบอกชื่อ ความคาดหวัง ๑ ข้อ และ บอกความสามารถพิเศษ ๑ ข้อ  ของ ๑ คนในวง โดยจะให้เรียงลำดับหรือใครพร้อมพูดก่อนก็ได้โดยคนที่พูดทีหลังห้ามพูดซ้ำกับ คนที่พูดก่อน

ช่วงที่ ๒ คือ ให้เขาจับคู่ ๓-๔ คน เล่าเรื่องความสามารถพิเศษของตนเอง (หรือดีใจจังฉันทำได้) ให้กลุ่มฟัง (ทุกคนต้องเล่า) โดยเน้นให้เล่า How to คือเล่าแล้วคนฟังเอาไปทำได้ และคนฟังซักถามให้ชัดเจนได้ เพื่อเอาไปทำได้   ให้เวลาประมาณ ๑๕-๒๐ นาที   จากนั้นให้กลุ่มเลือกมา ๑ เรื่องที่มี How to ที่น่าสนใจ มาเล่าให้กลุ่มใหญ่ฟัง    

 

     กิจกรรมนี้เน้นให้ผู้เข้าร่วมฯเรียนรู้ว่า Tacit Knowledge เป็นความรู้เล็กๆ ที่ทุกคนมีโดยผ่านการปฏิบัติจริง ผ่านประสบการณ์มา ไม่ใช่แนวคิด วิธีคิด ที่ตนเองยังไม่เคยทำ หรือขั้นตอนทั่วไป หรือคู่มือที่บอกวิธีปฏิบัติ แต่ในความจริงแล้วมันเป็นหลักการทั่วไปสำหรับจะเอาไปทำจริงเท่านั้นเพราะ เวลาทำจริงมันมีอะไรมากกว่าวิธีการในหนังสือ เหมือนทำอาหารตามคู่มือ แต่เวลาทำจริงตามคู่มือเรามีข้อสงสัยว่าทำแบบนี้ถูกมั๊ย ผิดมั๊ย และรสชาติอาหารก็ไม่เหมือนที่บอกไว้ในคู่มือ    ดังนั้น Tacit ก็คือเทคนิคเฉพาะตัวของแต่ละคน  ดังนั้นการถ่ายทอด Tacit จึงเป็นการเล่าเหตุการณ์ตรงของตนเอง (ไม่ใช่ฟังคนอื่นแล้วเอามาเล่าต่อ)  และเป็นการเล่า Case ที่เน้น How to

 

เบื้องหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นจริง...  ภาคบ่ายของวันจันทร์ ที่  22  พฤศจิกายน  2553

 

รอบที่ 1 เวลา 13.45-14.45 น.

  • ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 22 ท่าน จากหลากหลายหน่วยงาน

     ผู้เขียนเริ่มดำเนินกิจกรรมช่วงแรก  สิ่งที่ประทับใจ คือ เสียงหัวเราะของทุกคน เมื่อทราบว่าต้องบอกชื่อ ความคาดหวัง และสิ่งที่เพื่อนสมาชิก ดีใจจัง! ฉันทำได้  กลุ่มจำหัวข้อดีใจจัง! ฉันทำได้มากที่สุด รองลงมา คือ เพื่อนมาจากหน่วยงานอะไร  กลุ่มจำชื่อ และความคาดหวังได้น้อยมาก (ความคาดหวังคล้ายกันเป็นจำนวนมาก คือ ต้องการเรียนรู้กระบวนการ KM และTacit Knowledge) แต่เขาสามารถชี้ตัวกันได้ จึงเป็นบรรยากาศที่ผ่อนคลายพอควร รอบนี้ผู้เขียนเน้นว่าหัวข้อดีใจจัง! ฉันทำได้ ต้องเล่าได้ พร้อมยกตัวอย่าง ผู้เขียนดีใจจัง! ฉันทำอาหารได้ ทั้งที่อดีตเป็นเรื่องยาก และมีแต่คนติฝีมือผู้เขียน  พบว่า ผู้เข้าร่วมฯบอกหัวข้อได้ตามที่ผู้เขียนต้องการ ผู้เขียนแจกการ์ดแข็งให้จดบันทึก  ทุกคนก้มลงเขียนทันที ผู้เขียนจึงให้ผู้ช่วยฯไล่เก็บทันทีเช่นกัน และบอกว่า “ให้เขียนหลังพูด”   ผู้เขียนคิดเอาเองว่า  กลุ่มบอกหัวข้อได้ค่อนข้างดี เพราะเขาคิดตามกรอบที่ผู้เขียนยกตัวอย่างนั่นเอง เช่น ดีใจจัง! ฉันออกแบบจัดสื่อนิทรรศการได้    ดีใจจัง! ฉันลดน้ำหนักได้ เป็นต้น

     เข้าสู่ ช่วงที่ 2 ผู้เขียนแนะนำให้แบ่งกลุ่มอิสระ อาจเลือกหัวข้อที่เราตอบได้ในช่วงแรก  น่าแปลกที่คนมักจะจำสาระสำคัญได้ แม้จะถูกดึงความสนใจอยู่ที่การจดบันทึก  การเล่าเรื่องเป็นไปโดยอิสระ 20 นาที ผู้เขียนให้กลุ่มเลือกเรื่องที่ประทับใจ 1 เรื่อง เขียนหัวข้อในกระดาษสีรูปหัวใจ แล้วส่งตัวแทนเล่าให้กลุ่มใหญ่ฟัง เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นจากผู้เข้าร่วมฯ ว่า ใครควรเป็นผู้เล่าเรื่อง ผู้เขียนมิได้ตอบ แต่ย้อนถามกลับไปว่า “เอ๋! ใครควรเป็นผู้เล่าหนอ?” และแล้วกลุ่มก็ได้คำตอบเองว่า เป็นเจ้าของเรื่อง ผู้เขียนเสริมว่า ให้ผู้ฟังในกลุ่มเล็กนี้ ฝึกฟังซ้ำอีกครั้งแบบลึก จะได้มุมมอง หรือเกิดความคิดที่ต่างไปจากรอบแรก ถ้าตัวแทนที่มิใช่เจ้าของเรื่องเป็นผู้เล่า จะเป็นเรื่องเล่าที่รับฟังมาภายใต้จินตนาการของตัวแทนนั่นเอง

  • ก่อนเริ่มกระบวนการ ผู้เขียนตั้งหลักด้วยการสำรวจพื้นที่ลงรายละเอียด จากที่ดูคร่าวๆตอนเช้า พร้อมสำรวจอุปกรณ์ที่มีจริง ณ ขณะนั้น 
    • บรรยากาศต้องเกิดอย่างง่ายๆ คือ โจทย์ของผู้เขียน   
    • ป้ายฐานที่ 3 ถูกเลื่อนไปอยู่ภายใต้แสงไฟที่สว่างชัดเจนซึ่ง เป็นฉากหลังวิทยากร  
    • โต๊ะยาวถูกเลื่อนมาปิดบังลำโพงใหญ่สีดำในแนวเฉียง สำหรับจัดวางอุปกรณ์จำพวกกระดาษ การ์ด สี ฯลฯ บนโต๊ะให้เป็นระเบียบ   
    • ไมโครโฟนขาตั้งถูกจัดสายไม่ให้เกิดความยุ่งเหยิง ถ้าต้องส่งต่อกันในวง และตั้งไว้ใกล้จุดวิทยากร 
    • เก้าอี้ที่เตรียมไว้จำนวนหนึ่งประมาณ 10-15 ตัว ถูกจัดเป็นตัวกั้นอาณาเขตคร่าวๆ เพื่อไม่ให้ผู้เข้าร่วม หลุดออกไปเสียสมาธิกับกิจกรรมกลุ่มข้างเคียง ที่มองเห็นและได้ยินเสียงกันได้ เราก็จำกัดสภาวะนั้นไว้
    • ตัววิทยากรเองนั้น ใช้การแต่งกายที่แปลกล้อไปกับฉากสีฟ้า ม่านเปลือกหอย  งานนี้เราจะเงียบที่สุด แต่ขับเคลื่อนกระบวนการด้วยการอำนวยบรรยากาศKM นั่นเอง  ผู้เข้าร่วมจะสัมผัสได้กับตัวเขาเอง แล้วหลั่ง Tacit Knowledge ของเขาออกมาตามที่พึงมี ทำให้สมาชิกได้เรียนรู้ร่วมกัน

     เทคนิคที่เกิดขึ้นขณะดำเนินกระบวนการนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่า เป็นแรงขับเคลื่อนจากภายในตัวเราไปเชื่อมประสาน  กับเสาอากาศภายในตัวของผู้เข้าร่วมฯ โดยมิได้เปล่งวาจา  ผู้เขียนไม่ได้คิดมาก่อนว่า ต้องเป็นเช่นนั้น หรือเช่นนี้  มีอยู่หลายครั้งเช่นกัน ที่เกือบเอ่ยคำพูดขัดจังหวะบรรยากาศที่เกิดขึ้น แต่ยังตามตนเองทัน จึงเงียบ  ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

 

รอบที่ 2 เวลา 15.15-16.30 น. (สรุปกิจกรรม 15 นาที)

  • ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 17 ท่าน จากหลากหลายหน่วยงาน เช่นเดียวกัน

     ผู้เขียนเริ่มกระบวนการแตกต่างจากรอบแรก ตรงที่ ไม่ได้ยกตัวอย่าง ดีใจจัง! ฉันทำได้  และคิดจะขัดผู้เข้าร่วมฯในหลายครั้งที่เขาเอ่ยหัวข้อ แต่กลับไม่ทำ  ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าการออกนอกกรอบคิดเดิมของตนเองในครั้งนี้มีคุณค่ายิ่ง  เพราะเรื่องเล่าของ 4 กลุ่มย่อยที่ถูกคัดเลือกมานั้นถูกสรุปกลับเป็น Tacit Knowledge ที่แตกต่างกันให้ผู้เข้าร่วมฯเข้าใจได้ ใน 15 นาที สุดท้าย อย่างน่าประทับใจ

มีเวลาเหลือ 5 นาที ผู้เขียนตั้งโจทย์ ว่า ผู้เข้าร่วมฯได้เรียนรู้อะไร? ให้เขียนออกมา 

ผู้เขียนเริ่มงง และรู้ตัวว่า ผู้เข้าร่วมฯได้สัมผัส Tacit Knowledge เข้าให้แล้ว เมื่อได้อ่าน หัวใจ AAR ที่พอจะหยิบยกบางส่วนมา ดังนี้

  • เข้าใจกระบวนการดึง Tacit ในตัวคนที่มีประสบการณ์
  • ประทับใจ เทคนิคการสกัดความรู้จากผู้รู้, รู้วิธีการในการรับฟังอย่างลึกซึ้ง, จับประเด็นได้, หลักการฟังที่ต้องจับประเด็น  และแปลตีความได้ดีมาก
  • รูปแบบการจัดสัมมนาน่าสนใจ ทำให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และนำความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมมาเป็นการสรุปในรูปแบบของ Tacit
  • ฐาน 3 ได้เรียนรู้การนำความรู้ที่เรามีความชำนาญ ความสามารถ มาแบ่งปัน และแต่ละหัวข้อสามารถเรียนรู้ได้
  • ได้รู้ว่าทุกอย่างสำคัญ และความรู้มีรอบด้าน  ความชำนาญรวมกันจะเกิดความสำเร็จ “อย่าคิดว่าเรามีครบ เพราะเวลาก้าวเดินไปทุกวัน ทุกสิ่งมีสิทธิ์เปลี่ยนแปลง”
  • ได้รู้ว่าทุกอย่างสำคัญ และความรู้มีรอบด้าน ความชำนาญรวมกันจะเกิดความสำเร็จ “อย่าคิดว่าเรามีครบ เพราะเวลาก้าวเดินไปทุกวัน ทุกสิ่งมีสิทธิ์เปลี่ยนแปลง”

 

  • ผู้เขียนไม่ได้ตั้งความคาดหวังใด นอกจากช่วยดำเนินกิจกรรม ให้ สคส. เต็มที่ เพราะพัฒนาการทางความคิดของผู้เขียนกำลังอยู่ในช่วง วางแล้วสุขดี สบายดี โล่งดี
  • แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา อาจถือว่าประหลาดใจ ที่เรียกว่า “งงๆ” นั่นเอง  คล้ายรอยหยัก ความจำในสมองช่วงฝึกงานกับ สคส. เป็นตอนๆ ถูกหยิบมาใช้ในช่วงที่ดำเนินกิจกรรมโดยไม่รู้ตัว ผสานกับทักษะอื่นๆในตัว จริงๆแล้วก่อนหน้านี้ ผู้เขียนไม่ได้ใช้เทคนิคดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ  แต่ครั้งนี้เข้าใจว่า เหมาะสมที่ต้องผสานใช้ความรู้ดังกล่าว จึงถูกหยิบออกมาอัตโนมัติ
  • สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้เข้าร่วมสามารถรับความรู้ปฏิบัติ ที่ผู้เขียนจงใจถ่ายทอดแบบสอดแทรกให้เกิดการซึมซับ โดยที่เขาไม่รู้ตัว เพราะผู้เขียนไม่ได้พูดออกมา เช่น การสกัดความรู้ปฏิบัติ  การฟังแบบลึก และกระบวนการ KMฉบับย่อ  เป็นต้น

 

     ผู้เขียนกำลังเรียนรู้วิธีประยุกต์ใช้ KM ในการดำรงชีวิต ซึ่งจะมีเรื่องเล่าในตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 411137เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากนะคะ พี่วีร์.. ทั้งเรื่องช่วยดำเนินกระบวนการในงานและ เขียนรายละเอียดของฐาน ซึ่งเป็นประโยชน์กับอุมากเลยค่ะ.. เพราะอุมีโครงการจะทำหนังสือเรื่องเล่าเชิงนิทานของโซนทะเล Tacit และ หาดฝึกกระบวนท่า ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท