10 วิธีเกษียณก่อนวัยให้มีความสุข


สำนักข่าว BBC ตีพิมพืเรื่อง 'Early retirement 'is good for us', research shows' = "(การศึกษาพบ) เกษียณก่อนวัยดีกับเรา", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ [ BBC ]

. 

การศึกษาใหม่ (ตีพิมพ์ใน BMJ) ทำในกลุ่มตัวอย่างพนักงานของรัฐชาวฝรั่งเศสกว่า 14,000 คนพบว่า การเกษียณก่อนวัยตอนอายุประมาณ 55 ปี มีส่วนทำให้ชีวิตเครียด-เหนื่อยน้อยลงแยะเลย

การศึกษาขนาดใหญ่ (มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างมาก) ในปี 2552 พบว่า การเกษียณก่อนวัยมักจะทำให้สุขภาพแย่ลง และถ้าไม่ทำงานหลังเกษียณเลยจะเพิ่มเสี่ยงอาการโรคหัวใจกำเริบ (heart attacks), มะเร็ง และโรคหลักๆ (เช่น เบาหวาน ฯลฯ) เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานบางเวลาหลังเกษียณ (part-time job) 

.

กลไกที่เป็นไปได้ คือ การทำงานอย่างน้อยบางเวลา (หลังเกษียณ) ทำให้คนเรารู้สึก "ดีกับตัวเอง (self-esteem)" มากขึ้น รู้สึกมีคุณภาพชีวิตมากขึ้น ทำให้สุขภาพทางกายพลอยดีไปด้วย

การทำงานทำให้มีรายได้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม... งานที่ทำหลังเกษียณจะดีกับสุขภาพจริงๆ คือ งานที่ไม่เครียดและไม่เร่งรีบมากเกินไป

 
.
 

อ.ดร.ฮูโก เวสเตอร์ลุนต์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยสตอล์คโฮม สวีเดน ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างพนักงานรัฐชาวฝรั่งเศส ติดตามไป 15 ปี

กลุ่มตัวอย่างที่ "เออร์ลี" มักจะเลิกทำงานเต็มเวลาตอนอายุ 55 ปี 

.

ผลการศึกษาพบว่า การเออร์ลี (เกษียณก่อนกำหนด) จะให้ผลดีกับสุขภาพถ้าเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่กดดันให้เลิกงาน เช่น ถูกเลิกจ้าง ฯลฯ

รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปมีนโยบายที่จะชะลอเวลาเกษียณออกไป เนื่องจากคนเรามีอายุยืนยาวขึ้น ถ้าให้เกษียณเร็วจะทำให้มีช่วงชีวิตที่ไม่ทำงาน (หลังเกษียณ) นานขึ้น ภาระของรัฐบาลในการจ่ายเงินบำนาญจะมากขึ้นตามไปด้วย

 

.

 
ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร (หมู่เกาะอังกฤษ - UK) มีแผนจะเลื่อนเวลาเกษียณไปที่ 65 ปี โดยจะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2554

ปัญหาใหญ่ของการเกษียณก่อนกำหนด คือ ทำอย่างไรจึงจะมีเงินพอใช้ในช่วงชีวิตที่เหลือ ซึ่งยิ่งนานจะยิ่งทำให้ค่าของเงินเก็บสะสมน้อยลง เนื่องจากเงินจะเฟ้อ-ของจะแพงเพิ่มขึ้นไปทุกปี [ howstuffworks ]

.

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า วิธีเกษียณก่อนวัย (เออร์ลี รีไทร์) ให้มีสุขที่สำคัญได้แก่ [ howstuffworks ]; [ medicinenet ][ USnews ] 

(1). ออมสุขภาพ เน้นป้องกันโรคไว้ เพื่อลดค่ายา และค่าใช้ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ฯลฯ

การสำรวจหนึ่งในสหรัฐฯ (Watson Wyatt Analysis 2009) พบว่า คนที่มีสุขภาพไม่ดีมีความสุขหลังเกษียณลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับคนที่มีสุขภาพดี

.

(2). ออมทรัพย์ เน้นลดค่าใช้จ่าย เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่ม(แอลกอฮอล์)หนัก, หัดทำกับข้าวกินเองอย่างน้อยวันละ 1 มื้อ, ถ้าทำกับข้าวไม่เป็น... การหุงข้าวกล้องกินเองอย่างน้อยวันละ 1 มื้อ ฯลฯ ก็ช่วยประหยัดได้

ชีวิตหลังเกษียณที่ดีที่สุด... ควรมีรายได้จากการออมและลงทุนประมาณ 3/4 หรือ 75% ของรายได้ก่อนเกษียณ ทว่า... ถ้ารู้จักลดรายจ่ายตั้งแต่ก่อนเกษียณแล้ว ชีวิตหลังเกษียณจะเบาลงไป และสบายขึ้นมาก

.

(3). ไม่เป็นหนี้... ให้ถือหลักว่า คนที่ไม่เป็นหนี้ย่อมเป็นไท ไม่เป็นทาสน้ำเงิน

(4). ลงทุนอย่างรอบคอบ เน้นกระจายความเสี่ยงไปในหลายๆ ด้าน เพื่อให้ทรัพย์สินที่มีอยู่งอกเงย เนื่องจากถ้าไม่ลงทุนอะไรเลย

.

(5). หางานอดิเรก และค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องที่เราสนใจไว้เสมอ เพื่อป้องกันโรค "เหงา" ซึ่งพบบ่อยในคนหลังเกษียณ

การทำงานอาสาสมัคร เรียนรู้เรื่องใหม่ เช่น การทำอาหารสุขภาพ ปลูกผักสวนครัว ฯลฯ, เดินทางท่องเที่ยว มีส่วนช่วยให้ชีวิตหลังเกษียณดีขึ้นได้

.

(6). เข้าสังคมบ้าง (social network)

การสำรวจกรีนนิช (Greenwich study) พบว่า คนที่เกษียณแล้วมีความสุขจากการมีเพื่อนหรือสังคมมากกว่าการมีลูกหลาน 30%

สมัยนี้มีเครือข่ายออนไลน์ เช่น การเขียน-อ่านบล็อก การติดต่อกันออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งถ้ารู้จักใช้อย่างพอดีแล้ว จะทำให้เราเลือกเข้าสังคมของคนดีได้มากขึ้น

และถ้าอยากมีความสุขกับลูกกับหลานก็ไม่ควรทำตัวเป็นคนขี้บ่น เพราะจะทำให้ญาติสนิทมิตรสหายค่อยๆ หายไปทีละคนสองคน เพราะทนคำบ่นไม่ไหว

.

(7). ไม่ติด TV

การศึกษาจากซูริค สวิตเซอร์แลนด์ในปี 2548 และมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐฯ ในปี 2551 พบว่า คนที่ดู TV มากมีแนวโน้มจะมีความสุขน้อย, ส่วนคนที่ดู TV น้อยมีแนวโน้มจะมีความสุขมาก

อาจารย์แพทย์หลายๆ ท่านแนะนำวิธีดู TV ให้มีความสุข คือ ให้ดูไป-ถีบจักรยานออกกำลังไป และถ้ามีลู่วิ่ง-เดินไฟฟ้าก็น่าจะลองใช้วิธีดูไป-เดินไป

.

(8). เสริมเชาว์ปัญญา

การศึกษาที่ผ่านมาทำในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปพบว่า คนที่ทำงานอดิเรกประเภทใช้สมองเป็นประจำ เช่น เล่นหมากรุก ค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ฯลฯ เป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์น้อยลง 2.5 เท่า

.

(9). ไม่ยึดติดกับความสำเร็จ

ชีวิตหลังเกษียณไม่ควรยึดติดกับความสำเร็จ หรือตัวชี้วัดอะไรต่อมิอะไร... อาจารย์จิตแพทย์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เดิมท่านเป็นคนเรียนเก่งมากระดับเหรียญเงิน (สอบได้ที่ 2) ของสถาบันเป็นประจำ

หลังเกษียณท่านไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่งแล้วพบว่า สอบบางวิชาแล้วไม่ได้เกรด G (เกรดดีที่สุด) ทำให้เครียด ความดันเลือดสูงขึ้น...

ต่อมามีเด็กนักศึกษาคนหนึ่งแนะนำว่า ถ้าเรียนแล้วเครียดก็น่าจะลองเลิกเรียน ไปหาอะไรที่ไม่เครียดทำดีกว่า... ท่านเลยเลิกเรียน และกลับเป็นคนมีความสุขหลังเกษียณไปอีกนาน 

.

(10). ทำงานเพื่อชีวิต

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า คนที่ทำงานบางเวลา (ไม่เต็มเวลา) หลังเกษียณ โดยเฉพาะงานที่ถนัดหรือชื่นชอบ มักจะมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ถ้าหางานบางเวลาทำไม่ได้... การทำงานอาสาสมัครก็ทำให้มีความสุขได้เช่นกัน

.

ชีวิตคนหลังเกษียณที่ดี ควรมีลักษณะ 'green, clean, lean & meaningful' ได้แก่

(1). green = ดีกับสิ่งแวดล้อม

เน้นการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ช่วยกันประหยัดน้ำ-ประหยัดไฟ ปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว ฯลฯ

การฝึกใส่ใจสิ่งแวดล้อมทำให้คนเรามีความสุขจากการทำอะไรดีๆ มากขึ้น

.

(2). clean = สะอาด

สะอาดภายนอกด้วยการไม่ทำตัวโทรม เช่น ไม่ปล่อยให้บ้านรก สกปรก ฯลฯ และสะอาดภายในด้วยการฝึกมองโลกในแง่ดี เช่น ฝึกกล่าวคำ "ขอโทษ-ขอบคุณ-ขอบใจ" ให้ได้อย่างน้อยวันละครั้ง โดยเฉพาะถ้ากล่าวคำเหล่านี้กับคนใกล้ชิดได้จะทำให้มิตรภาพดีขึ้น

.

(3). lean = อยู่อย่างเรียบ ง่าย ประหยัด (lean = เนื้อไม่ติดมัน)

ชีวิตหลังเกษียณควรมีข้าวของเครื่องใช้เท่าที่จำเป็น ทำให้บ้านไม่รก ทำความสะอาดได้ง่าย และป้องกันการหกล้มจากการมีข้าวของเกะกะทางเดิน 

.

(4). meaningful = อยู่อย่างมีความหมาย

ตัวอย่างเช่น หาโอกาสศึกษาธัมมะ สวดมนต์ ทำสมาธิ ปฏิบัติธรรมตามโอกาส (ควรระวังเจ้าสำนักที่ละโมบโลภมาก เน้นแต่การบริจาคเงิน เพราะอาจทำให้หมดตัวได้)

แม้แต่อยู่ในบ้านก็ควรอยู่อย่างมีคุณค่าให้ได้ เช่น ช่วยทำงานบ้านตามแรงกำลังที่มี ฯลฯ เพราะซึบซับคุณค่าจากการทำงานเข้ามาสู่ตัวเรา เน้นการช่วยเหลือตัวเองให้มาก เป็นภาระต่อคนอื่นให้น้อย

.

ชีวิตหลังเกษียณที่ "มีเงินพอ-ไม่มีหนี้-มีรายจ่ายน้อยหน่อย-มีงานที่ชอบ-และมีสุขภาพดี" เป็นผลจากการเตรียมการล่วงหน้าอย่างมีระบบระเบียบ

ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

.

 

 > [ Twitter ]

ที่ มา                               

  • Thank [ BBC ] '
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 29 พฤศจิกายน 2553.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 411132เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อรุณสวัสดิ์ค่ะท่านอาจารย์ มาอ่านเรื่องราวเพื่อคุณภาพชีวิต ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์ และท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านเช่นกันครับ

อ่านแล้วดีจังค่ะ ขอบคุณที่นำมาแชร์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท