BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อุปเท่ห์


อุปเทห์

วันนี้ วันพระ... ได้นำคาถาที่๗ ของชัยมงคลคาถา (บทพาหุง) มาเป็นธรรมเทศนาต่อจากครั้งก่อนโดยในหนังสือสวดมนต์แปลได้แปลไว้ว่า

  • ด้วยเดชานุภาพของพระสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนี โปรดให้พระโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรส นิรมิตกายเป็นนาคราช ไปทรมานนันโทปะนันทะนาคราช ผู้มีฤทธิ์มาก แต่มีความรู้ผิด ด้วยวิธีแสดงอุปเท่ห์แห่งฤทธิ์นั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน

เมื่อเจอ อุปเท่ห์ คำนี้ทำให้ผู้เขียนสงสัยขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเมื่อ ๒-๓ ปีก่อนที่มีกรณีจตุคามแล้วเกจิด้านนี้รูปหนึ่งถูกกล่าวหาว่าแสดงอุปเท่ห์เลียนแบบบางอย่างที่ไม่เหมาะสม จึงลองค้นดูในเน็ตก็ไปเจอพจนานุกรมอธิบายว่า

  • อุปเท่ห์ : (อุปะเท่, อุปปะเท่) น. อุบายดำเนินการ, วิธีดำเนินการ. (ส. อุปเทศ; ป. อุปเทส).(ที่มา)

นอกจากนั้นยังพบว่าคำนี้ยังคงใช้อยู่ในเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเครื่องรางของขลัง เช่น

  • ...แล้วอมยาจะท่องมนต์คาถาสารพัดวิชา จำได้สิ้นที่หลงลืมก็จะระลึกได้อุปเท่ห์การใช้ผงยาจินดามณี....
  • ... ซึ่งเป็นยันต์ที่โด่งดังมากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นมหายันต์สูงสุดกว่ายันต์ทั้งปวง อุปเทห์ใช้ได้สารพัดประโยชน์...
  • มาคุยกันเรื่องอุปเทห์นะโมพุทธายะ... 

ผู้เขียนจึงพอสรุปได้ว่า อุปเทห์/อุปเท่ห์ ความหมายปัจจุบันน่าจะตรงตามที่พจนานุกรมให้ความหมายไว้ คือ อุบายดำเนินการ,วิธีดำเนินการ และอาจระบุให้ชัดเจนได้ยิ่งขึ้นว่า ใช้ในพวกสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเครื่องรางของขลัง... ซึ่งเมื่อใช้ตามความหมายนี้ จะใช้ในคำแปลในคาถาที่๗ ของชัยมงคลคาถาไม่รับสมกับข้อความ...

และเมื่อพิจารณาจากพจนานุกรม ท่านบอกว่ามาจากสันสกฤตว่า อุปเทศ และมาจากบาลีว่า อุปเทส ทำให้สงสัยขึ้นไปอีก กล่าวคือ อุปเทส มาจากรากศัพท์ว่า ทิสฺ แปลว่า แสดง ... โดยมี อุป เป็นอุปสัคนำหน้าซึ่งใช้ในความหมายว่า เข้าไป, ใกล้, มั่น. (อุป+ทิส+ณ = อุปเทส)

ส่วนประสบการณ์ที่ผ่านมาในการศึกษาบาลี อุปเทส มักจะแปลว่า แสดงเปรียบเทียบ โดยมีอรรถวิเคราะห์ว่า

  • อุปมํ เทเสติ เตนาติ อุปเทโส
  • บุคลย่อมแสดงเปรียบเทียบด้วยวิธีนั้น ดังนั้น วิธีนั้น ชื่อว่า อุปเทส (เป็นเครื่องแสดงเปรียบเทียบ)

เมื่อถือเอาความนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าหากว่าอุปเท่ห์/อุปเทห์ มาจากคำว่า อุปเทส จริงตามที่พจนานุกรมกล่าวอ้าง ความหมายในปัจจุบันจึงแตกต่างจากความหมายเดิมตามที่นักบาลีสำคัญหมาย...

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเพ่งตามอักษร คำว่า อุปเทห์/อุปเท่ห์ น่าจะมาจากบาลีว่า อุป+เทโห โดย เทโห แปลว่า ร่างกาย  จึงอาจแปลอุปเท่ห์/อุปเทห์ได้ว่า ร่างกายเปรียบเทียบ

กลับไปพิจารณาคำแปลคาถาที่๗. ชัยมงคลคาถาอีกครั้ง จะเห็นได้ว่า ถ้าแทนความหมายของอุปเท่ห์ด้วยข้อความว่า ร่างกายเปรียบเทียบ ก็จะรับสมกับข้อความในคาถาที่แปลมา...

ซึ่งคาถาที่๗. นี้ เป็นเรื่องที่พระโมคคัลานะปราบพญานาคโดยเนรมิตร่างกายใหญ่กว่าพญานาค (คลิกอ่านเนื้อเรื่องจากอรรถกถา)

ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า อุปเทห์/อุปเท่ห์ น่าจะมาจากบาลีว่า อุปเทโห ซึ่งแปลว่า ร่างกายเปรียบเทียบ นั่นคือ การแสดงกิริยาอาการล้อบางสิ่งบางอย่าง แต่ต่อมาความหมายก็ค่อยคลาดเคลื่อนไป...

ประเด็นนี้ ก็คงรอการวินิจฉัยต่อไป...



หมายเลขบันทึก: 411129เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นมัสการครับพระคุณเจ้า ได้ความรู้คำไทยที่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังครับผม

มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับพระคุณเจ้า

    นมัสการครับ พระอาจารย์ อุปเท่ห์ คำนี้สงสัยจะ ยืมมาแล้ว เปลี่ยนแปลงความหมายใหม่ ใช้ในทางฤทธิ์เดช แต่รูปศัพท์เดิมก็พอเห็นเค้า ว่ามาจาก อุปะ-เทหะ   เทหะ ตามที่แปลมา แต่ก่อน ก็นิยมแปลว่ากาย,ร่างกายทั้งหมด, เรื่องมงคลข้อนี้มีส่วนจะเกี่ยวข้องกับคำนี้มั้ยครับ พระโมคคัลลานะเนรมิตกายให้ใหญ่กว่า กระผมว่าเหตุผลนี้น่าจะเหมาะกว่าน.  แต่มาอ่านแล้วก้ได้ความรู้ดีครับ. 

         พระอาจารย์ครับ ช่วยอธิบาย บาลีว่า ทีฆา ชาครโต รตฺติ ให้ด้วยครับ ราตรีของคนตื่นอยู่(ด้วยธรรม)อยู่ข้างนาน คำแปลนี้ถือตามสำนวน พระศาสนโศภณ แจ่ม จตสฺสลฺโล วัดมกุฏฯครับ กระผมยังสงสัย ไม่รู้ว่าจะอธิบายแบบไหน หรือจะว่าพระโยคาวจร ผู้ประกอบความเพียรตามหลักชาคริยานุโยค เห็นว่า กาลเวลาช่างนานและยาวไกล หรือจะว่า คนธรรมดา นอนหลับไม่ลง แล้วช่วงเวลากลางคืนช่างนานแสนนาน บาลีบทนี้ จะเป็นเหฏฐิมปริยาย หรืออุปริมปริยาย ขอท่านอาจารย์โปรดแนะนำด้วยครับผม.

Ico48

พระมหาวินัย ภูริปญฺโญ ทิวาพัฒน์

 

  • ทีฆา ชาครโต รตฺติ - ราตรีของผู้ตื่นอยู่ยืนยาว

รู้สึกว่าเป็นคาถาในธรรมบท ความหมายเดิมก็ต้องไปเทียบเคียงจากนิทานที่มา แต่บางท่านก็แย้งว่านิทานในธรรมบทเป็นส่วนที่แต่งเพิ่มเติมขึ้นมา จึงอาจไม่ตรงกับพุทธประสงค์เดิม...

ส่วนการแปลความหมายนอกเหนือบริบทของนิทานนั้น ก็ต้องไปถามผู้ที่แปลเอง...

พระพุทธพจน์นั้น มีนัยหลากหลายมาก ซึ่งบางครั้งก็ต้องอาศัยคัมภีร์อรรถกถาหรือฏีกา เป็นต้น แต่ก็นั้นแหละ เกจิบางท่านก็ให้ความเห็นขัดแย้งกับคัมภีร์เหล่านั้น...

ท่านมหาฯ เคยอดนอนในเวลากลางคืนบ้างหรือไม่ การอดนอนนั้น มีสาเหตุมาจากอะไร ลองทบทวนตัวเองดู ก็อาจตอบคำถามทำนองนี้ได้...

อามนฺตา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท