ทำขวัญนาค 4 (มนต์เสน่ห์ของพิธีกรรม)


มนต์เสน่ห์ของพิธีกรรม ทำขวัญนาคต้องจางลงไปเพราะผู้ที่ไม่เข้าใจในคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี

ทำขวัญนาค 4 

(มนต์เสน่ห์ของพิธีกรรม)

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

          ทำขวัญนาค เป็นการแนะนำให้ผู้ที่จะเข้าสู่พิธีอุปสมบท (บวชพระ) ได้รับรู้และมีความเข้าใจ ในสิ่งสำคัญ 3 ประเด็นหลัก ๆ อันได้แก่

          1. วัตถุประสงค์ของการบวชและข้อปฏิบัติ เพื่อที่จะสืบต่อในพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่ต่อไป โดยปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ที่บัญญัติไว้

          2. เพื่อที่จะได้ทดแทนบุญคุณของผู้ที่ให้กำเนิดซึ่งได้เลี้ยงดูมาตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโต ได้แก่ บิดา มาราดา ปู่ ย่า ตา ยายและญาติผู้ใหญ่

          3. เพื่อที่จะได้รับผลกรรมในการกระทำครั้งนี้และแผ่บุญกุศลไปยังบิดา มารดาและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้รับส่วนบุญนี้ด้วย

         

         

          ในยุคเก่าหรือในสมัยก่อนเป็นเวลานับร้อยปีหรือมากกว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอขวัญ จะต้องเป็นพราหมณ์ บวชพราหมณ์มาอย่างถูกต้อง ในกาลต่อมาอนุโลมให้ผู้ที่อยู่ในปัจฉิมวัย (สูงอายุ) เป็นผู้ที่ถือศีลและมีความน่าเลื่อมใสศรัทธาในท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นหมอขวัญ ทำพิธีเชิญขวัญเบิกบายศรีได้ โดยแต่งกายด้วยชุดที่ดูสุภาพเรียบร้อย สีเรียบ ๆ ไม่ดูฉูดฉาดจนบาดตาหรือนุ่งขาวห่มขาวก็ได้

          ด้วยความก้าวหน้าทางการศึกษา ความเจริญเข้ามาแทนที่ ทำให้ความเชื่อ ความคิด ความต้องการของคนเราเปลี่ยนไปตามกาลเวลา พิธีทำขวัญนาคซึ่งมีมานานเกือบ 200 ปี มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก ได้แก่

          - พราหมณ์ ทำหน้าที่ประกอบพิธีทำขวัญนาคเป็นเจ้าพิธีให้คำแนะนำผู้ที่จะบวช

          - ผู้ที่อยู่ในปัจฉิมวัยคนสูงอายุเป็นผู้ประกอบพิธีทำขวัญนาค สอนนาคและเชิญขวัญ

          - ผู้สูงอายุและมีผู้ช่วยประกอบพิธีทำขวัญนาค สอนนาคและเชิญขวัญ

          - ผู้สูงอายุและหมอขวัญชาย-หญิง ทำพิธีทำขวัญนาคด้วยลีลาที่เปลี่ยนไปบ้าง

          - หมอขวัญชาย-หญิงทำหน้าร้องเล่าเรื่องราวสู่ขวัญ และเป็นผู้ประกอบพิธี

          - ศิลปินนักแสดงทำหน้าที่ร้องเพลงสากลในพิธีทำขวัญนาค

          - คนหนุ่มสาว ชาย-หญิงฝึกหัดร้องและรับงานทำขวัญนาคอย่างมหรสพ

          - ผู้ที่ครองเพศนักบวช มาปฏิบัติหน้าที่ทำขวัญนาคอย่างสามัญชน

          - จากมนต์เสน่ห์ที่มีความขลังกลายเป็นมนต์สนุกที่ขาดคติสอนใจไปโดยปริยาย

          - ทำขวัญนาคสุดมัน เต้นกันแบบจัดคอนเสิร์ต มีทั้งไฟแสงสีวูบวาบจับใจ

          ที่กล่าวมาจากในอดีตจนถึงวันนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นวิวัฒนาการของขนบประเพณี หรือเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่เริ่มต้นด้วยความศรัทธาเลื่อมใส สงบร่มเย็น จนกลายมาเป็นความสนุกสนานเร่าร้อน ทั้งที่เป็นทางไปสู่ความสงบ เราคงไม่อาจที่จะหักห้ามค่านิยมได้ ความต้องการของมนุษย์สุดที่จะประมาณ แต่ในความพอดี ความเหมาะสมที่แสดงออกมาไม่มากจนเกินไปหรือไม่น้อยจนเกินไปก็น่าที่จะเป็นรูปแบบที่ยังคงพอรับได้ในยุคปัจจุบันนี้ ครั้นจะย้อนกลับไปกระทำอย่างในอดีตเสียทั้งหมด ใครจะเป็นเจ้างานแบบดั้งเดิมเหล่านั้น

          มนต์เสน่ห์ของพิธีทำขวัญนาค ดูได้จากอารมณ์ของผู้ที่เป็นเจ้าภาพ ความพึงพอใจของเจ้าของงาน และโดยเฉพาะนาค ผู้ที่จะเข้าสู่พิธีอุปสมบทในวันรุ่งขึ้น ผู้ที่เป็นนาคได้รับประโยชน์จากพิธีกรรมนี้มากน้อยเพียงใด เป็นตัวชี้ที่จะกำหนดได้ว่า รูปแบบของพิธีกรรมในการทำขวัญนาคมีคุณค่าเพียงใด แต่ชุมชน สังคม ท้องถิ่น ก็มีส่วนในการผันแปรให้ ผู้ที่ทำหน้าหมอขวัญต้องปรับปรุงตัวให้สอดรับกับวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย แต่ในพิธีทำขวัญนาคที่ถูกต้องจริง ๆ  หมอทำขวัญจะต้องนำเอาบทสวดคาถา บทร้อง คำพูด เพลงประกอบที่เป็นแบบฉบับหรือฉบับครูมานำเสนอควบคู่หรือผสมผสานไปกับบทแทรก (ลูกเล่น) ผมหมายถึงจะต้องมีแบบฉบับครูดั้งเดิมปูพื้นไปก่อน โดยอธิบายเรื่องราวในพิธีกรรมไปตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง มิใช่จับโน่นชนนี่ตามความพอใจของหมอขวัญ

          การทำขวัญนาคในอดีตที่ผ่านมา โหราจารย์หรือผู้ประกอบพิธีทำขวัญนาค จะนำเอาคำร้องที่มีท่วงทำนองแบบที่พระเทศนา เรียกว่า “ทำนองธรรมวัตร” เรียกอีกอย่างว่า “ทำนองเสนาะ” เป็นการร้องช้า ๆ ลากเสียง มีการเอื้อนเอ่ยและเล่นลูกคอพอสมควร ตามแบบทำนองที่พระท่านเทศนา ต่อมาหมอทำขวัญได้นำเอาทำนองแหล่มาผสมผสานก็ยิ่งน่ารับฟังมากขึ้น เพราะคนรุ่นเก่า ๆ ชอบฟังพระท่านเทศนาแบบแหล่กันมานานแล้ว เมื่อหมอทำขวัญนำเอาทำนองแหล่แบบที่ท่านเคยได้รับฟังในเทศน์มหาชาติก็ยิ่งสร้างความประทับใจมากยิ่งขึ้น ในเวลาต่อมาได้มีการนำเอาเพลงไทยเดิมเข้ามาผสมผสานเป็นบทเสริมหรือแทรกไว้ในพิธีทำขวัญนาคด้วยก็ยิ่งเพิ่มความไพเราะและสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ได้บรรยากาศกับเรื่องราวบุญคุณของผู้ที่ให้กำเนิดที่นำเสนอ

          เมื่อศิลปินนักแสดงเข้ามามีส่วนร่วมในพิธีทำขวัญนาค บทร้องทำนองธรรมวัตรเหลือน้อยลง หมอทำขวัญที่เป็นศิลปินนักแสดงได้นำเอาเพลงไทยสากลเข้ามาใช้ในพิธีทำขวัญนาคด้วย บางครั้งถึงกับร้องเล่นสนุกสนานแบบสุด ๆ กันไปเลย แทนที่จะเกิดสมาธิ สติปัญญาแก่ผู้ฟัง กลับกลายเป็นการแสดงที่สนุกสนานเกินความพอดีไปบ้างก็มี ในยุคนี้มีบทร้องทำนอง “รานิเกลิง” บางท่านเรียกว่า “ราชนิเกลิง” หรือลิเก นำเอามาใช้ร้องในพิธีทำขวัญนาคด้วย ก็ยังน่าฟังเพราะเป็นทำนองช้า ๆ และฟังได้เนื้อหาใจความที่ชัดเจน

          แต่พิธีทำขวัญนาคในวันนี้ มนเสน่ห์แห่งความศรัทธาที่มีต่อการบวช เพื่อไปสู่ทางสงบอาจถูกเบี่ยงเบนไปตามค่านิยมที่เราไม่อาจหยุดยั้งได้ ผมไม่สามารถที่จะชี้นำว่าแบบไหนอย่างไรถูกต้องและอะไรเป็นข้อถูกผิด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 40 ปี ในพิธีทำขวัญนาคที่ผมได้รับมรดกมาจากคุณตา (พ่อคุณวัน มีชนะ) จนมาถึงวันนี้ ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามยุคสมัย เป็นไปตามกาลเวลา เพียงแต่ว่า ใครหรือกลุ่มบุคคลใดยังยึดมั่นในความเชื่อเดิม ๆ และมีการผสมผสานบ้างก็ยังคงรักษาภาพเก่า ๆ ที่มีความขลังในอดีตเอาไว้ได้ แต่ก็ต้องสุดแล้วแต่เจตนาของผู้ที่ต้องการเห็นต้องการให้เกิดให้มี ผมขอนำเอาเจตนาของท่านเจ้าภาพที่ผมได้รับคำแนะนำมาจากการปฏิบัติจริงในงานหลายสถานที่ ได้แก่

        -  หมอครับ ผมขอให้ทำขวัญนาคในเวลา 1 ชั่วโมงพอ (อย่าให้เกิน) จะต้องรับแขก

        -  อยากให้หมอร้องแหล่มาก ๆ คนที่นี่เขาชอบเต้น จะได้ร่วมสนุกสนานกัน

        -  ผมจดชื่อญาติมาให้ช่วยร้องเอ่ยชื่อขอรางวัลให้ผมด้วยร้องเรียกทั้งหมดเลยนะ

        -  มีหมอผู้หญิงไหม อยากได้หมอที่มีทั้งหญิงและชาย

        -  ทำขวัญนาคนานไหมครับ นาคนั่งนานไม่ได้ กลัวว่าจะหงุดหงิด

        -  ขอให้หมอร้องเพลงลูกทุ่งมัน ๆ ให้หน่อย จะได้ยืดเส้นยืดสายได้บ้าง

        -  หมอค่ะ เอาแบบซึ้ง ๆ นาคเป็นคนเรียบร้อย ว่าไปเรื่อย ๆ ดิฉันชอบฟัง

        -  ขอแหล่สำเภาทอง หมอช่วยร้องให้หน่อยได้ไหมครับ

        -  รวบรัดหน่อยเวลาเย็นแล้ว (16.15 น.) ใกล้เวลาที่จะต้องกินเลี้ยง

        ข้อเสนอแนะทั้งหมด เกือบร้อยละ 80 เป็นคนที่มาในงานให้ข้อเสนอแนะ เจ้าภาพซึ่งเชิญเราไปทำพิธีมีเจตนาที่จะรับรู้เรื่องราวและรับฟังตามขั้นตอนอยู่แล้ว แต่ผู้ที่มิใช่เจ้าภาพมักจะเข้ามาแสดงความเห็นทั้งที่มิใช่หน้าที่ของตน อย่างข้อเสนอหนึ่งที่ว่า “หมอครับ ผมขอให้ทำขวัญนาคในเวลา 1 ชั่วโมงพอ (อย่าให้เกิน) จะต้องรับแขก” คนที่มาเสนอแนะความคิดคือญาติของเจ้าของงาน งานนี้พอได้เวลาครบ 1 ชั่วโมง ผมก็จบการกระทำพิธีไปเลย แต่ท่านเจ้าภาพได้มาขอให้ว่าต่อไปอีกในเรื่องที่ท่านอยากฟัง ผมก็ต้องเรียนท่านไปว่า งานต่อไปอย่าให้คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องมากวนใจ งานนี้ วันนี้ทุกอย่างจบแล้ว

                     

        มนต์เสน่ห์ของพิธีกรรม ทำขวัญนาคต้องจางลงไปเพราะผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีก็มาก  มนต์เสน่ห์ของพิธีกรรมต้องถูกตัดทอนไปเพราะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เข้าถึงจารีตประเพณีดั้งเดิมก็มาก ในวันนี้เราจึงเห็นพิธีกรรมทำขวัญนาคเปลี่ยนแปลงไปด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

  1. กาลเวลาทำให้พิธีกรรมที่มีมนต์ขลังต้องปรับไปตามสมัยนิยม
  2. บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนทำให้พิธีกรรมต้องลดตัดทอนลงไป
  3. ผู้ที่เป็นจ้าวพิธีไม่ได้เรียนรู้มาอย่างแท้จริงกับบุคคลรุ่นครูโดยตรง

       ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นและมีจุดดับหรือมีความโดดเด่นมีความเจือจางจนถึงกับจางหายไป คนรุ่นหลังที่เข้ามาแทนที่ยังคงสามารถที่จะเก็บรักษาของเก่าเอาไว้ได้ โดยเลือกที่จะปรับปรุงแก้ไข นำเอาไปประยุกต์ใช้ให้มีความพอเหมาะพอดีตามกาลเวลาและยุคสมัย 

ติดตาม ทำขวัญนาค ตอนที่ 5 (ความเชื่อถือและศรัทธา)

หมายเลขบันทึก: 411122เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มนต์เสน่ห์ คุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี ควรเก็บรักษาไว้ ส่วนที่ลดตัดทอนเวลาเหลือน้อยลงก็อย่าคิดมากเลยครับ

  • ความจริงเวลาที่กำหนดยิ่งน้อยเท่าไร ผมยิ่งชอบ เพราะผมได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิม แต่สิ่งที่นำเสนอเอาไว้คือ เมื่อครบตามเวลาแล้วมาขอให้ว่าต่อ นี่ซิคือบทเรียนที่ชี้ประเด็นให้เห็นในบทความนี้ (เพราะจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ทำหน้าที่ได้)
  • ผมเคยไปทำหน้าที่วันละหลายงาน บางงานผมได้เวลา 30 นาทีก็มี เราสามารถที่จะรับใช้หรือทำงานให้ผู้ที่ต้องการได้ แต่ในสิ่งที่ขาดหายไป ใครคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบตามมา จึงต้องคิดถึงคุณค่าในพิธีกรรมเอาไว้ด้วยนะ (คิดในมุมกว้างและในระยะยาว) ทำตามประเพณีหรือทำตามใจชอบคงเลือกปฏิบัติได้ยากในเวลาเดียวกัน
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท