ภาษาเมืองล้านนาวันละคำตอน "สล่า"


สะล่า คือช่างคนล้านนา หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

สล่า  อ่านว่า  สะ-หล่า

เคยได้ยินพิธีกรทางวิทยุโทรทัศน์ และตัวละครเอ่ยคำว่า   สะ-ล่า  อยู่บ่อยครั้ง  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดโดยมิได้ตั้งใจ และอาจไม่ทราบว่าความหมายที่แท้จริงของคำๆนี้หมายถึงอะไรกันแน่    หรือที่อ่านถูก  พูดถูกต้องนั้นอ่านว่า  อย่างไร  

ลุงหนานจึงนึกว่า  น่าจะนำคำนี้มานำเสนอเพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจอย่างถูกต้องและเข้าใจความหมายอย่างแท้จริง

สล่าเป็นคำที่ได้รับอิทธิพลมาจากพี่น้องชาวไต(ไทใหญ่)  หากเราไปเที่ยวแถวๆเมืองเชียงตุง  พี่น้องชาวบ้านจะเรียกคนที่เก่งหรือเชี่ยวชาญอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  "สล่า" เช่น   สล่าตีกลอง  หมายถึงคนมีความเชี่ยวชาญในการตีกลอง  เป็นต้น

ส่วนในเมืองล้านนาเรียกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้าง การแป๋ง(ประดิษฐ์/ทำ)  การตกแต่ง  หรือการกระทำด้วยฝีมือต่างๆนั้นว่า "สล่า"  เช่นว่า

สล่าแป๋งโต๊ะ   คือนายช่างที่ทำโต๊ะ

สล่าแป๋งเฮือน   คือนายช่างที่สร้างบ้านเรือน

สล่าแต้ม   คือผู้เชี่ยวชาญในการเขียน/แต่ง/วาดภาพ

สล่าต้อง  คือผู้เชียวชาญในการฉลุลาย/ ทำดุนภาพ

สล่าแกะ  คือผู้เชี่ยวชาญในการแกะหรือสลัก  อาจสลักแบบ  ลอยตัว หรือ ภาพนูน  ฯลฯ.

สล่าสี  คือช่างทำสี

สล่าบอกไฟ    คือช่างทำบ้องไฟ

  การเรียกขานคำว่า   สล่า   มักจะใช้นำหน้าชื่อจริง   แทนคำว่า  นาย    เช่นนายปั๋น    เป็นช่างเรียกันว่า  "สล่าปั๋น"  หากเป็นภาษาไทยกลางอาจเรียกสั้นๆว่า  ช่างปั๋น

ดังนั้น   เมื่อเราไปทางล้านนาหากได้ยินผู้คนเรียกผู้ใดผู้หนึ่งเช่นว่า  "สล่าแดง"        "สล่าโมะ"     นั่นหมายความว่า    นายแดง   นายโมะคือ  นายช่างนั่นเองครับ

มีข้อสังเกตว่า  ผู้ที่เชี่ยวชาญในการทำอาหารหรือปรุงอาหารไม่เรียกกันว่า  "สล่า"  แต่เรียกกันว่า  พ่อครัว/แม่ครัว

กล่าวมาถึงตอนนี้ก็คงสรุปได้ว่าหากเขียนอักษรว่า  "สล่า"  ต้องอ่านว่า   สะ-หล่า ไม่อ่านว่า  สะ-ล่า    ตามที่เคยได้ยินมา

คำว่าสล่าในภาษาล้านนาสรุปความได้ว่าตรงกับคำภาษาไทยกลางว่า   "ช่าง"  นั่นเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 411121เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณค่ะ ได้ยินบ่อยค่ะ แต่เพิ่งเข้าใจความหมายค่ะ

สวัสดีครับคุณป้าแดง...

อ่านได้เร็วจริงๆ..เขียนเสร็จปุ๊บ  ท่านอ่านปั๊บเลย..

ขอบคุณที่ให้ความสนใจครับ 

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน....พรหมมา

ดีใจมากที่มีผู้ที่เห็นคุณค่าของคำล้านนาและอนุรักษ์ไว้

พ่อหนาน คนบ่ไจ่คนเมือง เยี๊ยะก๋านเหมือนกัน

เขาฮ้องสล่า เหมื๋อนกันก่อ

สวัสดีครับคุณอินทนนท์และคุณวัฒนาครับ..

ขอบคุณที่เข้ามาแว่แอ่วครับ..

คุณวัฒนาครับ...ก๋ารฮ้องมักจะขึ้นอยู่กับคนท้องถิ่น เช่นว่า    คนเมืองฮ้องว่า  สะหล่าปั๋น(ช่างก่อสร้าง)  เมื่อคนภาคกลางมาก็เรียกว่า  ช่างปั๋น(ช่างก่อสร้าง)   ที่จริงก็คือคนๆเดียวกันครับ

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน....พรหมมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท