ทำขวัญนาค 6 (ได้อะไรและเสียอะไรบ้าง)


หากเราไม่ถือเอาไว้สิ่งนั้นก็ไม่อาจที่จะอยู่ได้ คงจะต้องถึงเวลาที่จะต้องร่วงหล่นลงไปจมดินอย่างน่าเสียดาย

ทำขวัญนาค 6 

(ได้อะไรและเสียอะไรบ้าง)

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

          ผู้สูงวัยหรือคนรุ่นเก่า ท่านช่างคิดอะไรเอาไว้ได้อย่างลงตัว ท่านตั้งประเด็นที่เป็นรูปธรรมเอาไว้จนมองเห็นเป้าหมายที่จะไปให้ถึง ณ จุดนั้น ๆ ได้อย่างสงบสุข ความสูงวัยของหมอทำขวัญในอดีตหรือที่เรียกว่า “ปัจฉิมวัย” เป็นความชาญฉลาดของข้อกำหนด เพราะถึงอย่างไรคนแก่ที่ผ่านโลกมานานย่อมที่จะมีประสบการณ์สะสมความรู้เอาไว้ในตัวตนของท่านมากมาย สามารถที่จะนำเอาออกมาแนะนำชายหนุ่มที่มีอายุ 20 ปี ได้อย่างมีหลักการ ในยุคก่อน ๆ จึงพบแต่หมอทำขวัญนาคที่มีอายุ 35-40 ปี ขึ้นไป กว่าที่จะได้รับความเชื่อถือมาก ๆ วัยก็ล่วงเลยไป 50-60 ปี

         

          หมอทำขวัญนาคที่สูงวัย แน่นอนว่า ท่านเหล่านี้ได้ผ่านการบวชเรียน เป็นทหารรับใช้ประเทศชาติและมีครอบครัว มีลูกมีหลานมาแล้ว เรียกว่าเป็นผู้รู้ที่สมบูรณ์แบบ เราได้รับคำแนะนำที่ดีมีประโยชน์ที่คุ้มค่าแน่นอน และท่วงทำนองที่หมอขวัญรุ่นเก่า ๆ นำเอามาร้องในพิธีทำขวัญนาคจะเป็นการเดินเนื้อทำนอง “ธรรมวัตร” เสียส่วนใหญ่ซึ่งทำนองธรรมวัตรนี่ คนเก่า ๆ ร้องได้ไพเราะจับใจเสียจริง ๆ เวลาท่านร้องทำนองแหล่ก็จะร้องช้า ๆ ฟังได้เนื้อหาใจความ ยิ่งไม่มีจังหวะประกอบยิ่งน่าฟังเพราะลูกเอื้อนลูกเอ่ยที่ท่านนำเอามาเคล้าคลอเป็นเสมือนเสียงดนตรีประกอบอยู่แล้ว นาคที่นั่งพนมมือรับฟังได้คิดตามอย่างมีสติ ได้นึกถึงคุณค่าของความเป็นคนมีที่มา มีผู้ที่มีพระคุณให้การอุปถัมภ์เลี้ยงดูมา เมื่อมีอายุครบ 20 ปี ได้บวชทดแทนพระคุณของท่าน ได้แผ่กุศลแก่ญาติกา และได้สืบต่อพระศาสนา เรียกว่าในอดีต ผู้ที่เป็นนาค ได้เข้าสู่พิธีทำขวัญแล้วจะได้รับประโยชน์มากมาย ได้รับความรู้อย่างครบถ้วน

          แล้วถ้ามองในประเด็นข้อเสียบ้าง หากในวันนี้เราเชิญหมอขวัญรุ่นอายุ 60-80 ปี มาประกอบพิธีทำขวัญนาคเราจะเสียอะไรบ้าง แน่นอนในงานนั้นอาจเสียความสนุกสนาน ขาดความมันในอารมณ์ ฟังไปง่วงไปก็มีหากไม่ได้คิดและติดตาม พวกที่อยากจะเต้นให้สนุกก็หมดหวังไปเพราะหมอทำขวัญนาครุ่นเก่า ๆ ท่านไม่ได้นำเอาเพลงมัน ๆ มาร้องในพิธี เราจะได้ฟังในเนื้อหา แต่จะต้องสูญเสียความสนุกสนานซึ่งก็ไม่ใช่ทางที่นาคจะเดินไปอยู่แล้วหากคิดในแง่ของคนที่มีจิตศรัทธาในพิธีนี้

         

          ส่วนหมอทำขวัญนาคที่เป็นศิลปินนักแสดง เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการเพลง เป็นดารา จนถึงเป็นนักบวช ที่ได้ผ่านการศึกษาและจดจำเนื้อหาในพิธีทำขวัญนาคเอาไว้ มีความสามารถรับงานและประกอบพิธีได้ตั้งแต่อายุยังน้อย บางท่านบอกว่า เป็นหมอทำขวัญรับงานกันมาตั้งแต่อายุ 17-18 ปี ก็มี (ความจริงหมอขวัญจะต้องผ่านการบวชเรียนมาแล้ว) อย่างผม ผมออกไปงานโดยไปเป็นผู้ช่วยคุณตาตั้งแต่อายุ 17-18 ปี เหมือนกันแต่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบพิธี คุณตา หรือพ่อคุณอายุ 80 ปี เศษ เป็นผู้ทำพิธี ในเมื่อคนรุ่นใหม่ที่มีอายุอยู่ในช่วง 20-30 ปี มาทำหน้าที่เป็นหมอทำขวัญนาค เราได้อะไรจากบุคคลเหล่านี้ แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่จะต้องมองไปที่ความสนุกสนานมาก่อนคุณค่าของประเพณีและพิธีกรรม มีหมอขวัญบางท่านบอกว่า “ชอบไปงานทำขวัญนาคมากเพราะได้ไปร้องเพลงและได้เงินรางวัลมากด้วยในแต่ละงาน” หมอทำขวัญนาครุ่นหลัง ๆ มักจะมาจากนักร้องมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง นักร้องมีเสน่ห์ที่เสียงร้องอยู่แล้ว ผู้ฟังก็จะได้รับฟังเสียงเพลงที่ไพเราะ ได้ฟังเสียงร้องทำนองเพลงแหล่แบบยุคใหม่สมกับวัย จังหวะที่ประกอบเพลงก็รุกเร้าถึงใจ ทำให้ผู้ที่มานั่งรับฟังต้องลุกขึ้นมาเต้นกันอย่างงานมีคอนเสิร์ต ในแง่ของความสนุกสนานคนวัยหนึ่งได้รับไปเต็ม ๆ บางสถานที่ทำขวัญนาคตอนกลางคืน มีไฟแสงสีเสียงที่เร้าใจชวนให้ฮึกเหิมคลั่งไคล้ แสดงพลังในความยินดีอย่างงานรื่นเริง

          ถ้ามองในประเด็นเสีย เจ้าของงาน เจ้านาคและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเสียอะไรไปบ้าง เจ้านาคหรือผู้ที่จะเข้าสู่พิธีอุปสมบทเสียสมาธิ ขาดสติปัญญาที่จะนำไปสู่ทางสงบ การบวชเป็นการสละความสุขทุกอย่างที่เคยมีไปสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงใหลในสิ่งทั้งปวง ถึงแม้ว่าในความจริงระหว่างที่นาครับฟังหมอทำขวัญร้องเตือนใจอาจจะมีรอยยิ้มอย่างสุขใจ มีอารมณ์เศร้าโศกในบางขณะที่ได้รับรู้ความทุกข์ยากของพ่อแม่ที่อุทิศให้นาค มีความรู้สึกห่วงใยใครบางคนแต่ไม่กล้าที่จะแสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็นได้ หากมองให้ลึกลงไป น่าเป็นห่วงว่าอาจจะมีความเบี่ยงเบนในหลายด้านเข้ามาเบียดบัง ทำให้พิธีกรรม หรือประเพณีที่ดีงามต้องจางหายไปหรือมีให้เห็นน้อยลงไปทุกที

                            

                              

          ทั้งนี้อยู่ที่การช่วยกันรักษาเอาไว้ สิ่งของทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นของเล็กหรือใหญ่ สำคัญมากน้อยแค่ไหน หากเราไม่ถือเอาไว้สิ่งนั้นก็ไม่อาจที่จะอยู่ได้ คงจะต้องถึงเวลาที่จะต้องร่วงหล่นลงไปจมดินอย่างน่าเสียดาย ผมหวังว่า เราคนไทยจะยังคงได้พบเห็นจารีตประเพณีที่ดีงามที่เรียกว่า “ทำขวัญนาค” และพิธีกรรมอื่น ๆ ต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยน ประยุกต์ไปตามสมัยนิยมมากน้อยบ้างก็ตาม

 

ติดตาม ทำขวัญนาค ตอนที่ 7 (คิดอย่างไรกับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอทำขวัญ)

หมายเลขบันทึก: 411130เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท