สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๒.๒


ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย
ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย (ตอน ๒.๒)

  [อ่านพระราชประวัติ ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๑.๑, ตอนที่ ๑.๒, ตอนที่ ๑.๓, ตอนที่ ๑.๔, ตอนที่ ๑.๕, ตอนที่ ๑.๖, ตอนที่ ๒, ตอนที่ ๒.๑]

 

เสด็จศึกษาวิชาแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา

               เมื่อเสร็จพระราชพิธีต่างๆ แล้ว ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ เสด็จไปโลซานและปลายปีนี้เอง เสด็จไปประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเสด็จตามลำพังพระองค์ก่อน เพื่อจัดเตรียมพระตำหนักไว้สำหรับพระชายา พระโอรสและพระธิดา ซึ่งทรงโปรดให้เสด็จตามไปทีหลัง ระยะแรกๆ ที่เสด็จโดยลำพังนี้ ประทับอยู่ที่ YMCA ต่อมาทรงเช่าบ้านพักอยู่บ้านเลขที่ ๖๓ ถนนลองค์วูด บรุกไลน์ ชานเมืองบอสตัน ทรงอยู่อย่างประหยัด และอย่างคนธรรมดาสามัญจริงๆ และเป็นบ้านพักที่นักเรียนไทยในอเมริกาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดเวลา ทรงพักผ่อนโดยการช่วยเลี้ยง ฝึกพระโอรส พระธิดา และที่รัฐแมสซาชูเซตส์นี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ มีนายแพทย์วิทมอร์เป็นผู้ถวายการประสูติ

               ตอนเสด็จกลับไปอเมริกานี้ได้ทรงมีโอกาสปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ที่กรุงนิวยอร์ค เกี่ยวกับเรื่องโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาล และทรงเข้าศึกษาต่อในชั้นปีที่ ๓ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทรงสนพระทัยในวิชากุมารเวชศาสตร์ ทรงศึกษาเกี่ยวกับแบคทีเรียและลักษณะทางคลินิกของโรคท้องเดินในเด็ก ซึ่งทรงคิดว่าจะเป็นประโยชน์เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย และทรงสนพระทัยเป็นพิเศษเกี่ยวกับมารดาทารกสงเคราะห์

                  จากลายพระหัตถ์ถึง ดร. เอลลิส ว่า “เวลานี้ฉันกำลังยุ่งกับการเรียนปีที่สาม ที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ด้วยมีความหวังว่าจะเรียนให้จบหลักสูตรได้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ในขณะเดียวกันนี้ฉันยังสามารถทำการในวิชาแผนกแบคทีเรียและการตรวจโรคบางอย่างที่โรงพยาบาลสำหรับเด็กเกี่ยวกับโรคท้องร่วงของเด็ก ซึ่งฉันคิดว่าอาจเป็นประโยชน์แก่กรุงสยาม เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว ฉันตั้งใจจะเรียนพิเศษในเรื่องโรคของเด็ก เป็นเวลาอย่างน้อยสิบหกเดือนหรือหนึ่งปี อนามัยส่วนตัวฉันนั้นดีมาก เจ้าหน้าที่ในโรงเรียนแพทย์ได้เป็นธุระช่วยดูแลและตรวจอาการของฉันโดยตลอด”

                    ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ทรงเสนอโครงการผ่านกระทรวงและมูลนิธิฯ ให้มีพยาบาลชาวต่างประเทศคนที่สามเข้ามาช่วยการสอนสูติศาสตร์ โดยทรงรับพระราชทานเงินเดือนเช่นเดียวกับที่ทรงพระราชทานให้แก่สองคนแรก

                 ในระหว่างนั้น ตึกบัญชาการของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลได้ก่อสร้างสำเร็จลง ทำให้คณะมีสถานที่เป็นสัดส่วนคือ มีห้องธุรการ ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ห้องยา ห้องสมุดรวมทั้งห้องอ่านหนังสือ ห้องเก็บประวัติผู้ป่วยและห้องประชุมรวมอยู่ในตึกเดียวกัน สินค้าก่อสร้างเกือบสองแสนบาท ครึ่งหนึ่งเป็นเงินทรงบริจาค

                   ในระหว่างที่ประทับอยู่ในอเมริกาครั้งนี้ ได้พระราชทานทุนแก่นักเรียนไทยซึ่งอยู่ในประเทศนี้อีก ๒ คน คนหนึ่งเป็นนักเรียนส่วนตัวที่ขวนขวายหาทุนเรียนเองจนได้ปริญญา B.A. แล้ว และกำลังทำปริญญาชั้นสูงในด้านการศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทรงพบเมื่อเสด็จไปเยี่ยมพระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) ซึ่งเขาได้รับจ้างทำงานเป็นคนรับใช้อยู่ จึงทรงรับเป็นนักเรียนทุนส่วนพระองค์ จะให้เรียนแพทย์แต่ก็ศึกษาไม่สำเร็จ และอีกคนหนึ่งเป็นบุตรข้าราชการไทย พระราชทานทุนให้เพียงครึ่งเดียว เพราะทางบิดาพอจะออกอีกครึ่งหนึ่งได้

                    เดือนธันวาคม ทรงมีลายพระราชหัตถ์ทูลเสด็จในกรมเสนาบดี กระทรวงธรรมการ ขอกลับมาเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช ๑ ปี หลังจากทรงศึกษาจบแล้ว ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ได้ตกลงและเตรียมจะถวายตำแหน่งหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน แต่ก็มิได้สำเร็จดังพระราชประสงค์ เนื่องด้วยพระอิสริยยศ (ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์รัชทายาทด้วย)

                     ในปีสุดท้าย พ.ศ. ๒๔๗๑ สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงเขียนรายงานเพื่อประกอบการศึกษาในวิชาพิเศษ เกี่ยวกับการตรวจและรักษาโรคเด็ก ทรงเขียนเรื่องตัวตืดในเด็กที่เกิดจากการกินปลา นับเป็นรายงานเรื่องเช่นนี้ฉบับแรกที่มีในมลรัฐแมสซาชูเสตส์ ส่วนหนึ่งทรงเขียนร่วมกับ Dr. E.G. McGavern ซึ่งต่อมาได้ลงพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของแพทย์สมาคมอเมริกัน ฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๑

                ระหว่างที่ทรงศึกษาแพทย์ในปีสุดท้ายนี้ ทรงใช้เวลาและพระกำลังมากเกินไปจนเป็นเหตุให้กรรมการของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ห่วงใยในพระอนามัยของพระองค์และแม้แต่ Dr. Pearce ของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ถึงกับแนะนำว่า ให้ปรึกษากับแพทย์ในบอสตันก่อนที่จะทรงพระราชดำริวางโครงการใดๆ หลังจากทรงสำเร็จแล้ว

                  การศึกษาผ่านไปได้อย่างยากยิ่ง ในกลางปีนั้นเอง อาการพระโรคของพระวักกะอักเสบได้กำเริบขึ้น เป็นเหตุให้คณะแพทย์คิดว่าพระอาการจะไม่ฟื้นดีขึ้นได้ จึงถวายคำแนะนำมิให้ทรงตรากตรำเข้าสอบไล่ แต่ต่อมาพระอาการดีขึ้น จึงทรงเข้าสอบจนสำเร็จได้เกียรตินิยม Cum Laude เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ และได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Phi-Beta Kappa ด้วย ต่อมาทรงประชวรพระโรคไส้ติ่งอักเสบหลังจากที่ทรงสอบเสร็จประมาณ ๑ เดือน คณะแพทย์ต้องถวายการผ่าตัดทันที

               เนื่องจากพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ทรงระงับการศึกษาต่อในเรื่องโรคเด็กที่ทรงกำหนดไว้แต่แรก ได้เสด็จประพาสยุโรปเพื่อเป็นการพักฟื้นก่อนเสด็จนิวัติพระนคร แต่ก็เป็นเช่นครั้งก่อนๆ คือเสด็จเยี่ยมนักเรียนทุนส่วนพระองค์และทอดพระเนตรงาน ในสถาบันการแพทย์ต่างๆ ได้ทรงส่งรายการจดหมายเหตุที่ทรงบอกรับและที่ตั้งพระราชหฤทัยจะรับให้ที่ศิริราชและสถานเสาวภา เพื่อไม่ให้ต้องรับซึ่งเป็นการประหยัด

                 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จกลับพระนครเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งที่สิงค์โปร์ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม

                   ในวันที่ ๔ ธันวาคม ทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์สิงคโปร์ เกี่ยวกับกิจการงานที่ได้ทรงกระทำและความคิดเห็นเกี่ยวกับพระองค์เองและผู้อื่น มีคนหลายคนสงสัยว่า จะไม่ประทับอยู่ในประเทศไทย เพราะได้ประทับอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน ทรงรับสั่งว่า ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะประทับอยู่ในประเทศจนตลอดไป ข่าวลือหรือการคาดคะเนใดๆ เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ที่จะทรงได้รับหรืองานที่จะทรงกระทำจะมาแหล่งใดก็ตาม ไม่มีหลักฐานจะเชื่อถือได้ ทั้งทางราชการหรือเอกชนก็ยังไม่เคยกำหนดตำแหน่งใดๆ แก่พระองค์ท่าน

                การงานที่จะทำทั้งสิ้นก่อนสิ่งไร ต้องแล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะเดียวกัน ทรงหวังว่าจะสามารถทรงความสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับแพทย์และสาธารณสุขได้ และทรงอยู่ใต้การแนะนำของผู้ชำนาญประจำท้องถิ่น ทรงหวังพระราชหฤทัยว่าจะได้รับความชำนาญในทางปฏิบัติตามลักษณะทั่วไปของประเทศและอาจใช้ความรู้บางอย่างที่ได้ทรงรวบรวมมา ขณะทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศให้เป็นประโยชน์ได้

                  เกี่ยวกับงานของรัฐบาล ทรงหวังว่าทางการคงมอบให้เฉพาะงานสาธารณสุขที่ทรงได้รับการฝึกฝนมาและที่เหมาะกับพระนิสัย และงานนั้นต้องเป็นงานที่มีงบประมาณสนับสนุน พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือทั่วไป เพื่อให้งานนั้นยังเกิดผล

             ในฐานะที่ทรงถือการซื่อตรงจงรักต่อพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ จึงไม่ทรงยอมรับตำแหน่งใดๆ ในคณะรัฐบาล เพื่อเป็นการประดับพระอิสริยยศและรับพระราชทานเงินเดือนจากตำแหน่งนั้นๆ ถ้าการเป็นเช่นนั้นก็จะทรงสละตำแหน่งเพื่อให้ข้าราชการที่เหมาะสมซึ่งมีความต้องการเงินเดือนในหน้าที่นั้นมากกว่า

              ทรงขอเว้นจากการเกี่ยวข้องกับงานสังคมต่างๆ เพราะทรงเพิ่งได้รับการผ่าตัดใหม่ๆ พระอนามัยไม่สมบูรณ์

* ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

………….โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ………..
หมายเลขบันทึก: 41085เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2006 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท