การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนปฐมวัย


การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน

             การเขียนรายงานการวิจัยเป็นขั้นสุดท้ายของการทำวิจัย หลังจากที่ครูทำวิจัยในชั้นเรียนเสร็จแล้ว ครูควรเขียนรายงานการวิจัย เป็นการเขียนรายงานงานตั้งแต่เริ่มต้นวิเคราะห์และสำรวจปัญหา การพัฒนารูปแบบการทดลองใช้รูปแบบเพื่อแก้ปัญหาจนกระทั่งถึงการวิเคราะห์ผล สรุปผล อภิปราย และข้อเสนอแนะ  การเขียนรายงานการวิจัยเป็นการเสนอสิ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบให้ผู้อื่นทราบ

 

การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนระดับปฐมวัย

รูปแบบการนำเสนอรายงานผลการวิจัยในชั้นเรียนระดับปฐมวัยสามารถจัดทำได้ 2 แบบ คือ

1.     รูปแบบการเขียนรายงานผลการวิจัยแบบไม่เป็นทางการ สำหรับโครงสร้างจะเหมือนรายงานการวิจัยเชิงวิชาการแต่มักนำเสนออย่างสั้นๆ เช่น วิจัยหน้าเดียวหรือ 1-2 หน้า

2.    รูปแบบการเขียนรายงานการวิจัยเชิงวิชาการหรือแบบเป็นทางการ 

 ส่วนใหญ่จะมีการนำเสนอในรูปแบบการวิจัยทั่วไปที่มีองค์ประกอบหรือหัวข้อที่เป็นลำดับแบบแผนและรูปเล่มที่สมบูรณ์

 

1.  การเขียนรายงานผลการวิจัยแบบไม่เป็นทางการ (แบบง่าย)

แบบที่ 1  การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนหน้าเดียว

ส่วนประกอบของรายงานการวิจัยหน้าเดียว คือ มีสามย่อหน้า

1. ชื่อเรื่อง ชื่อผู้วิจัย สถานที่ ปีที่วิจัย

2.ย่อหน้าแรก

          -ปัญหาของชั้นเรียน เป้าหมายการแก้ไข นวัตกรรมที่ใช้ เวลาที่ใช้

3.ย่อหน้าที่สอง

          -วิธีการใช้นวัตกรรมในชั้นเรียนและผลที่เกิดขึ้น

4. ย่อหน้าที่สาม

         - ผลการตรวจสอบเป้าหมาย

ตัวอย่างรายงานผลการวิจัยหน้าเดียว

 

ชื่อเรื่อง                  การใช้ข้อตกลงของเราเพื่อเสริมสร้างระเบียบวินัยการเล่นตามมุมของนักเรียนชั้นอนุบาล 1-2โรงเรียนบ้านยางครก อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่   

ผู้วิจัย    นายเทอดศักดิ์   จันเสวี

สถานที่วิจัย     โรงเรียนบ้านยางครก อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ปีที่วิจัย   พ.ศ. 2550

----------------------------------------------------------------------------------------------

           ผู้วิจัยเป็นครูผู้สอนระดับชั้นอนุบาล 1-2 โรงเรียนบ้านยางครก อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 5  ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550  พบว่า นักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 – 2   ส่วนใหญ่หลังจากเล่นตามมุมประสบการณ์แล้วไม่ช่วยกันเก็บของเล่นเข้าที่ให้เป็นระเบียบ  ทั้งนี้เรื่องของระเบียบวินัย หรือความรับผิดชอบนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่ต้องปลูกฝัง เสริมสร้างให้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงทางคุณธรรมจริยธรรมให้เด็กเพื่อให้เด็กเติบขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

          ผู้วิจัยจึงได้ทำวิจัยในชั้นเรียนเรื่อง การใช้ข้อตกลงของเราเพื่อฝึกระเบียบวินัยการเล่นตามมุมของเด็กปฐมวัย   มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างระเบียบวินัยการเล่นตามมุมของนักเรียนชั้นอนุบาล 1-2 ผู้วิจัยดำเนินการโดยหลังจากพบปัญหาแล้ว ผู้วิจัยจึงร่วมสร้างข้อตกลงของเราในชั้นเรียนกับเด็กจำนวน 4 ข้อ และในข้อที่ 4   กำหนดว่าเล่นของเล่นแล้วช่วยกันเก็บ แล้วเขียนข้อตกลงติดไว้บนผนังห้องและให้เด็กท่องทุกวันช่วงกิจกรรมสนทนาข่าวเหตุการณ์ตอนเช้า และจะย้ำทุกครั้งก่อนให้เด็กเล่นตามมุมปะสบการณ์ ในการวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยปฏิบัติการ ใช้เวลาดำเนินการตลอดภาคเรียนที่ 1/2550 จำนวน 1 ภาคเรียน

            ผลการวิจัย พบว่า หลังจากผ่านไปหนึ่งภาคเรียนพฤติกรรมการเล่นตามมุมประสบการณ์ของเด็กมีพัฒนาการดีขึ้น กล่าวคือ เด็กเล่นตามมุมประสบการณ์แล้วช่วยกันเก็บและเก็บอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย  จึงนับได้ว่าการวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จสามารถแก้ปัญหาในชั้นเรียนได้และสามารถนำผลการวิจัย หรือเทคนิควิธีการนี้ไปปรับใช้ในการพัฒนา หรือแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ต่อไป

 

หมายเหตุ  วิจัยหน้าเดียวไม่สามารถนำไปเป็นผลงานทางวิชาการได้ แต่หากจะนำไปทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอผลงาน หรือเลื่อนวิทยฐานะ ครูปฐมวัยต้องนำผลงานวิจัยหน้าเดียว หลายเรื่องย่อยแต่เป็นปัญหาเดียวกันหรือเรื่องใหญ่เดียวกัน เช่น เรื่องของการแก้ปัญหา หรือพัฒนาระเบียบวินัยของเด็กปฐมวัย  ครูอาจแก้ปัญหา หรือพัฒนาระเบียบวินัยของเด็กปฐมวัยในสถานการณ์ เหตุการณ์ที่ต่างๆกัน(เข้าแถวไม่ตรงไม่เป็นระเบียบ เก็บของเล่นไม่เป็นระเบียบไม่ช่วยกันเก็บ วางรองเท้าไม่เป็นระเบียบ ไม่รู้จักเข้าแถวเวลารับของหรือทำกิจกรรมฯ)แล้วนำผลของแต่ละครั้งแต่ละเรื่องมาสังเคราะห์ให้เป็น 1 เล่มใหญ่จึงสามารถนำไปเป็นผลงานทางวิชาการได้

 

แบบที่ 2  รูปแบบการเขียนรายงานผลการวิจัยแบบไม่เป็นทางการ โครงสร้างจะเหมือนรายงานการวิจัยเชิงวิชาการแต่มักนำเสนออย่างสั้นๆ  เป็นการเขียนรายงานที่อิงประสบการณ์ของครูผู้วิจัย และไม่เน้นเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหัวข้อการเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนอย่างง่ายประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้  

       1.    ชื่อเรื่องการวิจัย  การตั้งชื่อเรื่อง  อาจเขียนในรูปประโยคหรือข้อความสั้นๆ  เฉพาะเจาะจง  และเร้าความสนใจควรประกอบด้วย

                            1.1      ตัวแปร คือ  สิ่งที่ต้องการศึกษา  

                            1.2      ประชากร คือกลุ่มเป้าหมายของการวิจัย

                            1.3      วิธีศึกษา  คือ  ประเภทของการวิจัย  ได้แก่  การวิจัยเชิงสำรวจ 

การวิจัยหาความสัมพันธ์  การวิจัยเปรียบเทียบ  การวิจัยทดลอง  ประดิษฐ์    และพัฒนานวัตกรรม

                2.  ชื่อผู้วิจัย  ระบุชื่อ-นามสกุลผู้วิจัย 

                3. ความเป็นมาของปัญหา (การสะท้อนความคิดก่อนปฏิบัติการ)

                            เป็นการมองปัญหาสู่วัตถุประสงค์  เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของความคิดจากปัญหาการวิจัย  จนถึงความสำคัญของปัญหา  แบ่งเป็น 5 ระดับ

                            1.  อธิบายสภาพปัจจุบัน

                                                -  บอกเหตุผล  หลักฐานประกอบ

                            2.  การนำเข้าสู่ปัญหาการวิจัย

                                                -  กล่าวถึงปัญหาสภาพกว้างชักนำทำวิจัย

                            3.  ที่มาของปัญหาการวิจัย

                                   -       บอกผลวิจัยที่ผ่านมา/นโยบาย

                            4.   ปัญหาการวิจัย

                                  -       บอกปัญหาที่แท้จริงที่ต้องการทำวิจัย

                           5.   ความสำคัญของปัญหา

                                  - ระบุความสำคัญ/จำเป็นและผลจะเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาควรกระชับ  เป็นเหตุผล  นำสู่จุดประสงค์การวิจัย  ควรใช้ข้อมูล/วิจัย  อ้างอิง

           4. วัตถุประสงค์ของการวิจัย   เป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าเราต้องการจะทำวิจัยเพื่อตอบคำถามใด เพื่อแก้ปัญหาอะไร ของใคร ที่ไหน กี่คน วัตถุประสงค์การวิจัยจะต้องสอดรับกับปัญหาการวิจัยและหัวเรื่อง 

         5.  การวางแผนเพื่อปฏิบัติการ ( Planning)  ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการเตรียมการวางแผนการปฏิบัติเพื่อการแก้ปัญหา โดยดำเนินการดังนี้

                 5.1 หาเทคนิควิธีการและนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาการจัดการเรียนการสอน

                  5.2      กำหนดวิธีการปฏิบัติ ในประเด็นดังนี้

                                            -   จะแก้ปัญหาอะไร กับใคร

                                            -   จะแก้ไขเมื่อใด ระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ปัญหา

                                            -   จะใช้เครื่องมืออะไรในการเก็บรวบรวมข้อมูล

                                            -    จะใช้วิธีการในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร                         

                 6. การปฏิบัติการ (Action) 

                 การลงมือปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน ขั้นตอนนี้เป็นหัวใจของการทำวิจัยเมื่อได้ทำการวางแผนและเตรียมการปฏิบัติการแก้ปัญหาหรือพัฒนาเรียบร้อยแล้ว ครูต้องลงมือปฏิบัติการรวบรวมข้อมูลการวิจัยโดยใช้เทคนิควิธีการต่างๆ วิธีการเก็บข้อมูลที่สำคัญที่สุดคือ การสังเกต  และเก็บข้อมูลในสภาพการจัดการเรียนการสอนปกติ ในขั้นปฏิบัตินี้อาจมีความยืดหยุ่นได้บ้างซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ที่ครูผู้ วิจัยอาจพิจารณาได้ตามความเหมาะสม ขณะการปฏิบัติการนั้นจะต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์วิจารณ์ประกอบไปด้วย รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมวิจัยหรือใช้ข้อมูลอื่นๆ ประกอบเพื่อปรับปรุงตามความเหมาะสมด้วย  

               7.  การสังเกตผลการปฏิบัติการ (Observation)  เป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล หรือผลที่ได้จาการปฏิบัติการวิจัย  ซึ่งอาจเสนอในรูปตาราง  ตารางประกอบความเรียงหรือนำเสนอในรูปของความเรียง

              8.              สรุปและสะท้อนผลการวิจัย (Reflection) เมื่อครูทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในขั้นตอนที่ 7 เรียบร้อยแล้ว จะต้องทำการสรุปพิจารณาองค์ความรู้ที่ค้นพบ เพื่อเป็นการประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือผลการวิจัยที่ได้จากการปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 6 โดยการวิเคราะห์ วิจารณ์ เพื่อสะท้อนไปสู่การปรับปรุงใหม่ หรือการทำซ้ำเพื่อยืนยันผลการวิจัน

            9.  ภาคผนวก  คือส่วนที่นำมาเพิ่มเติมในตอนท้ายของรายงานการวิจัย มักเป็นตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

 

2.  การเขียนรายงานการวิจัยเชิงวิชาการหรือแบบเป็นทางการ

          การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนเชิงวิชาการหรือแบบเป็นทางการส่วนใหญ่จะมีการนำเสนอในรูปแบบการวิจัยทั่วไปที่มีองค์ประกอบหรือหัวข้อที่เป็นลำดับแบบแผนและรูปเล่มที่สมบูรณ์ โดยองค์ประกอบของรายงานการวิจัย (แบบเต็มรูปแบบ)  ในรายงานการวิจัยมีส่วนประกอบสำคัญ  3  ส่วน ได้แก่  ส่วนนำ  ส่วนเนื้อเรื่อง  และส่วนอ้างอิง  ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ส่วนนำ   เป็นส่วนก่อนเนื้อหาของการวิจัย (ก่อนบทที่ 1) ไม่ต้องใส่เลขหน้า

       1.1    ปกนอก  ประกอบด้วย  ชื่อเรื่อง  ชื่อผู้วิจัย  ชื่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของผลงานวิจัย

      1.2     ปกใน  เหมือนปกนอกทุกประการ

      1.3    บทคัดย่อ  เป็นการสรุปย่องานวิจัยทั้งหมด  (ไม่ควรเกิน  1  หน้ากระดาษ)  โดยมีหัวข้อสำคัญดังนี้

              ก.      ชื่อเรื่อง

              ข.      ชื่อผู้ทำวิจัย

              ค.      ปีที่ทำวิจัย

             ง.       จุดประสงค์ของการวิจัย ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย และผลการวิจัย

      1.4     คำนำ เขียนถึงความเป็นมาของการทำวิจัย  (ไม่ใช่ความเป็นมาของปัญหาการวิจัย)  การขอบคุณผู้ช่วยเหลือในการทำวิจัย

      1.5     สารบัญ  เป็นตัวชี้ให้ผู้อ่านทราบว่า  หัวข้อสำคัญต่าง ๆ อยู่ในรายงานหน้าใด  มักจะแบ่งออกเป็น  3  ชนิด  ได้แก่

             ก.  สารบัญเนื้อเรื่อง  (ต้องมี)

             ข.  สารบัญตาราง  (ถ้ามีตาราง)

             ค.  สารบัญภาพประกอบหรือแผนภูมิ  (ถ้ามีภาพหรือแผนภูมิ)

2. ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วยบทสำคัญ บทที่ ดังนี้

2.1  บทที่ 1  บทนำ  ในบทนำมีหัวข้อที่สำคัญดังนี้

-                   ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย เป็นการกล่าวถึงสภาพการเรียนการสอนทั่วไป ปัญหาการเรียนการสอนทั่วไป แล้วโยงมาเป็นปัญหาที่จะต้องทำการวิจัย  ความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหา เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอน  เป็นการเขียนจากสภาพกว้าง ๆ แล้วสรุปเป็นปัญหาการวิจัยที่เล็ก

-                   วัตถุประสงค์การวิจัย  เป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าเราต้องการจะทำวิจัยเพื่อตอบคำถามใด  วัตถุประสงค์การวิจัยจะต้องสอดรับกับปัญหาการวิจัยและหัวเรื่อง 

-                   ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการเขียนให้ทราบว่าการวิจัยนี้มีประโยชน์ต่อใคร  อย่างไร

-                   นิยามศัพท์  เป็นการให้ความหมายของตัวแปรต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิจัย  โดยเขียนให้เป็นนิยามเชิงพฤติกรรม  ซึ่งมีตัวชี้วัด  เพื่อประโยชน์ในการวัดตัวแปรนั้น

-                   ขอบเขตของการวิจัย เป็นการบอกให้ทราบว่า  การวิจัยนี้มีขอบเขตของประชากรเพียงใดหรือ เป็นการศึกษาเฉพาะรายกรณีเนื้อหาวิชามีมากน้อยเพียงใดระยะเวลานานเพียงใดในการศึกษาทดลอง

-                   ข้อจำกัดของการวิจัย  เป็นการบอกให้ทราบว่าการวิจัยนี้มีตัวแปรใดที่ผู้วิจัยควบคุม  และจัดกระทำไม่ได้  เช่น  “ในการวิจัยนี้ไม่สามารถจะสุ่มแยกนักเรียนออกจากห้องเรียนมาเข้ากลุ่มทดลองได้  เพราะต้องทำการทดลองตามตารางเรียนปกติ  จึงจำเป็นต้องสุ่มเป็นห้องเรียน”

-                   สมมติฐานการวิจัย  เป็นการคาดเดาคำตอบปัญหาการวิจัยที่ผู้วิจัยได้ศึกษามาอย่างรอบคอบจากเอกสารเกี่ยวข้อง

2.2  บทที่  2  เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  เป็นการศึกษาแนวคิด  ทฤษฎี  และ

งานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัย  การค้นคว้าเอกสารเป็นการแสดงถึงศักยภาพทางวิชาการของผู้วิจัย  ผู้เขียนต้องจัดหัวข้อให้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน แล้วสรุปในทุกหัวข้อ ทุกประเด็น  เพื่อเขียนกรอบความคิดในการวิจัย  หลักการและแนวทางของนวัตกรรมที่ใช้แก้ปัญหาหรือทดลอง  นอกจากนี้ยังสามารถสรุปเลือกตัวแปรต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิจัยได้อย่างเป็นวิชาการ  สามารถนิยามตัวแปรและการวัดตัวแปรได้  และที่สำคัญที่สุด  สามารถตั้งสมมติฐานการวิจัยได้อย่างเหมาะสม

2.3  บทที่  3  วิธีดำเนินการวิจัย  ควรประกอบด้วย

-                   ประชากร  เป็นการบอกว่าประชากรที่ศึกษาคือคนกลุ่มใด  เช่น  นักเรียนชั้น ปวช. 3  แผนกวิชาช่างยนต์ในวิทยาลัยเทคนิคตรัง  หรือ  นักศึกษาชั้น ปวส. 2/1  แผนกวิชาช่างโยธาวิทยาลัยเทคนิคห้วยแก้ว

-                   กลุ่มตัวอย่าง  เป็นการเขียนเพื่อจะบอกว่า  กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนเท่าใด  ได้มาจากประชากรกลุ่มใด 

-                   เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  ผู้เขียนต้องเขียนบอกให้ชัดเจนว่า  เครื่องมือมีกี่ชุด  อะไรบ้าง  มีการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมืออย่างไร 

-                   การเก็บรวบรวมข้อมูล  (หรือวิธีการทดลองในกรณีทำการวิจัยเชิงทดลอง)  ให้เขียนบอกให้ชัดเจนว่ามีวิธีการเก็บข้อมูลอย่างไร  หรือมีวิธีการทดลองและวัดผลอย่างไร 

-                   การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ เป็นการเขียนเพื่อบอกให้ทราบว่าในการวิเคราะห์ข้อมูล  หรือทดสอบสมมติฐานใช้สถิติใด 

2.4  บทที่  4  ผลการวิเคราะห์ข้อมูล  เป็นการเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัย

2.5  บทที่  5  สรุป  อภิปรายผล  และข้อเสนอแนะ  เป็นการเขียนสรุปรวมการวิจัย

ตั้งแต่บทที่ 1  ถึง  4  มาไว้ด้วยกัน  ประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้

-                   ความนำ  เป็นการเขียนปัญหาการวิจัยอย่างย่อ  วัตถุประสงค์การวิจัย วิธีดำเนินการวิจัยอย่างย่อ  เขียนเป็นข้อความต่อเนื่องกันได้ไม่จำเป็นต้องแยกเป็นหัวข้อ  เป็นการเกริ่นนำก่อนขึ้นหัวข้อก็ได้

-                   ผลการวิจัยและข้อสรุป  เป็นการเขียนผลการวิจัยตามจุดมุ่งหมายทีละข้อ  (ไม่ต้องมีตาราง)  โดยนำผลจากบทที่  4  มาสรุปรวม

-                   อภิปรายผลการวิจัยการอภิปรายผลเป็นการชี้แจงให้ผู้อ่านทราบว่าผลการวิจัยสอดคล้องกับผลการวิจัยของใคร  สอดคล้องกับทฤษฎีใด  ขัดแย้งกับผลการวิจัยของใคร  หรือขัดแย้งกับทฤษฎีใด  ผู้วิจัยสามารถสอดแทรกความคิดของตนเองเข้าไปได้อย่างเต็มที่ในการอภิปรายผล

-                   ข้อเสนอแนะ  เป็นการเขียนแนะนำผู้อ่านให้ทราบว่า  จากผลการวิจัยนี้สามารถนำผลไปประยุกต์ใช้ภาคปฏิบัติอย่างไร  และสามารถจะวิจัยต่อในประเด็นใด

3. ส่วนอ้างอิง เป็นการแสดงให้ทราบว่าผู้วิจัยได้ค้นคว้าหามวลความรู้ เพื่อการทำการวิจัยครั้งนี้มากน้อยเพียงใด การอ้างอิงอาจประกอบด้วย

3.1      การอ้างอิงในเนื้อเรื่อง  เป็นการแสดงให้ผู้อ่านทราบว่าแนวคิด  หรือทฤษฎี  หรืองานวิจัยที่ผู้วิจัยศึกษามานั้นเป็นของใคร  พิมพ์ปีใด  อยู่หน้าใด  หรืออ้างแบบใช้เชิงอรรถ

3.2      บรรณานุกรม  เป็นการเขียนว่า  หนังสืออ้างอิงมีอะไรบ้าง เมื่ออ้างในเนื้อเรื่องแล้ว  ต้องมีการอ้างอิงในบรรณานุกรมด้วยทุกเล่ม 

3.3      ภาคผนวก  เป็นการนำรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ในเนื้อหามารวมไว้  เพื่ออ้างอิงรายละเอียด  เช่น

ภาคผนวก  ก.  ตัวอย่างเครื่องมือ

ภาคผนวก   ข.  รายชื่อผู้เชี่ยวชาญ

หมายเลขบันทึก: 410334เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2010 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยี่ยมไปเลยดีใจที่เห็นรุ่นน้องก้าวหน้าด้านการศึกษาเอาใจช่วยเน้อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท