14 วิธีป้องกันหวัด-ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่ [EN]


นิตยสาร 'Health (=สุขภาพ)' ตีพิมพ์เรื่อง '9 ways to stay sniffle-free' = "9 วิธีป้องกัน (อยู่ให้ไกล) หวัด-คัดจมูก (ไม่คัดจมูก), หรือ '9 ways to avoid the flu' = "9 วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ [ Health ]

.
ศัพท์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจตอนนี้ได้แก่
  • [ sniffle ] > [ s - นิฟ - เฝิ่ว - L ] > http://www.thefreedictionary.com/sniffle > verb = หายใจมีเสียงดัง (จากหวัด-คัดจมูก-น้ำมูกไหล), สะอึกสะอื้น (จากการร้องไห้ เสียใจ ฯลฯ)
  • sniffle-free = ไม่คัดจมูก ไม่มีเสียงดังจากการหายใจติดขัด

.

วิธีป้องกันหวัด-ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่ที่สำคัญได้แก่

 

.

 
 

(1). ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (ถ้าทำได้) > วัคซีนนี้ช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ป้องกันหวัด-ไข้หวัด, ส่วนใหญ่จะฉีดก่อนเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม หรือหน้าหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มักจะมีการระบาดสูงกว่าช่วงอื่นๆ

ความสำคัญของการป้องกันไข้หวัดใหญ่ คือ ไข้หวัดใหญ่มักจะมีไข้สูง มีโรคแทรก เช่น ปอดบวม ฯลฯ มากกว่า และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าหวัด-ไข้หวัด

ก่อนและหลังฉีดวัคซีน... ควรนอนให้พอ หลีกเลี่ยงการนอนดึกและนอนไม่พอ ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนต่ำลง

 

.

 

(2). กินอาหารสุขภาพ

การกินอาหารสุขภาพพอประมาณ (มากไปทำให้อ้วนได้) โดยเฉพาะโปรตีนชนิดดีจากปลา โดยเฉพาะปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอด (ถ้าทอด... น้ำมันปลาจะซึมออก และน้ำมันที่ใช้ทอดจะซึมเข้าไปในเนื้อปลา), ผักผลไม้ และอาหารที่มีโอเมกา-3 ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค

ถ้าไม่กินปลา... อาจกินน้ำมันปลา อาหารที่มีน้ำมันถั่วเหลือง เมล็ดพืช เช่น เมล็ดแฟลกซีด (flaxseed = ปอป่าน), ฟักทอง ฯลฯ ปริมาณเล็กน้อยแทนได้

ไม่ควรลดความอ้วนหรือลดน้ำหนักเร็วเกิน 0.5 กก./สัปดาห์ ในช่วงที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาด เนื่องจากอาจทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำลงได้ชั่วคราว

ร่างกายของเราจำเป็นต้องใช้สารอาหารเหล่านี้ในการสร้างเม็ดเลือดขาว และสารภูมิต้านทาน (antibody)

.

(3). ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ

อ.ดร.ฟรายโฮเฟอร์ จากมหาวิทยาลัยเซาธ์ แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า คนที่ออกแรง-ออกกำลังแรงปานกลาง 30 นาที/วัน เกือบทุกวันเป็นหวัด (cold) น้อยลง เฉลี่ย 1 ครั้ง/ปี, ต่ำกว่าคนที่ไม่ออกกำลัง คือ 4 ครั้ง/ปี

การออกกำลังหนักไป เช่น วิ่งแข่งมาราธอน ฯลฯ อาจทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลงชั่วคราวได้... การเลือกทางสายกลางใช้ได้ดีในเรื่องภูมิต้านทานโรค คือ (ออกกำลัง)น้อยไปมากไปมักจะไม่ดี

.

(4). ระวังจมูกแห้งหรือเย็น

อ.ดร.ฟรายโฮเฟอร์แนะนำว่า โพรงจมูกคนเรามีเซลล์เยื่อบุชนิดมีขน (cilia) ทำหน้าที่คล้ายคนกวาดขยะ คอยพัดโบกฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมออกไปทางด้านนอกจมูก

เซลล์นี้จะทำงานได้น้อยลงในภาวะที่อากาศแห้ง เช่น อยู่ในห้องแอร์ อากาศหนาวจัด ฯลฯ, วิธีช่วยให้จมูกชุ่มชื้นวิธีหนึ่ง คือ ดื่มน้ำให้พอ และระวังอย่าให้ลมพัดกระทบจมูกโดยตรง เช่น ไม่เปิดแอร์ให้ลมพัดโดนตัวเราโดยตรง ฯลฯ

ภาวะอากาศเย็นอาจทำให้ปลายจมูกเย็นลง และเซลล์เยื่อบุชนิดมีขนทำงานได้น้อยลง... วิธีป้องกัน คือ การสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นในที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น สวมหมวก ใช้ผ้าพันคอ ฯลฯ

.

(5). กินโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว

การศึกษาจากเยอรมนีพบว่า คนที่กินอาหารชนิดที่มีจุลินทรีย์ชนิดดีทุกวันติดต่อกัน 3 เดือน เป็นหวัดน้อยลงเกือบ 2 วัน และอาการเบาลงด้วย

ควรเลือกโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยวชนิดไขมันต่ำ-น้ำตาลต่ำ และควรลดอาหารกลุ่มคาร์บ หรือ "ข้าว-แป้ง-น้ำตาล" ลง เพื่อป้องกันน้ำหนักขึ้น

.

(6). นอนให้พอ และขอนอนไม่ดึกด้วย (ถ้าเป็นไปได้)

การศึกษาในปี 2552 พบว่า คนที่นอนคืนละ 8 ชั่วโมง/คืนขึ้นไป เป็นหวัดน้อยกว่าคนที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง/คืน 3 เท่า

.

(7). ทำความสะอาด

ควรใช้น้ำสบู่อ่อนทำความสะอาดลูกบิดประตู บานพับหรือที่จับตู้เย็น (ต้องระวังไฟดูด เช่น ต่อสายดิน สวมรองเท้ายาง ฯลฯ ก่อนเสมอ), รีโมต คอนโทรล TV, ฝักบัว, กระเป๋าสตางค์, แป้นพิมพ์-เมาส์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เป็นประจำ

หวัด-ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อได้ทางการไอ-จามประมาณ 6 ฟุต = 1.8 เมตร, ฝุ่นละอองฝอยจะกระจายไปนานประมาณ 10 วินาที หรือไกลกว่านั้น-นานกว่านั้น ถ้าอากาศระบายไม่ดี เช่น ห้องแอร์ ฯลฯ และผ่านการปนเปื้อนสารคัดหลั่ง (เสมหะ-น้ำมูก-น้ำลาย) ผ่านมือ

ช่วงที่มีโรคระบาดจึงควรหลีกเลี่ยงห้องแอร์ เช่น ไนท์คลับ ผับ บาร์ ฯลฯ

เมื่อคนที่เป็นหวัดไอ-จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น เขี่ยจมูก-สัมผัสจมูก ฯลฯ และไปจับต้องสิ่งของต่างๆ จะทำให้สิ่งของนั้นๆ เปื้อนเชื้อโรค และติดต่อไปยังคนอื่นได้

.

(8). ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ
.
ล้างมือด้วยสบู่ก่อนกินอาหาร-ดื่มน้ำ-เข้าบ้าน, หลังเข้าห้องน้ำ-ใช้ของร่วมกับคนอื่น-จับมือ ('shake hands' แบบฝรั่งเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าไหว้แบบไทย) - สัมผัสสัตว์เลี้่ยง
.
ถ้าไม่มีโอกาสล้างมือ... เจลแอลกอฮอล์อาจช่วยฆ่าเชื้อโรคได้
.
การล้างมือด้วยสบู่ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์... ควรทำให้นานพอ คือ ประมาณ 20 วินาที = เพลงวันเกิด 'Happy Birthday' หรือเพลง "ช้างๆๆ" 2 รอบ
.
.
(9). ใส่ผ้าปิดปาก-จมูก หรือแมสค์ (mask)
.
คนๆ แรกที่ควรใส่ผ้าปิดปาก-จมูก คือ คนไข้ หรือคนที่มีอาการคัดจมูก-น้ำมูกไหล-ไอ-จาม และควรเปลี่ยนผ้าปิดปาก-จมูกทุกๆ 4 ชั่วโมง
.
เวลาไอ-จาม... ควรปิดปากด้วยกระดาษทิชชู แล้วทิ้งในภาชนะปิดสนิท เช่น ถุงพลาสติก (ปิดถุงให้สนิทเสมอ) ฯลฯ, ถ้าไม่มีกระดาษทิชชู... ควรใช้ท่อนแขนปิดปาก-จมูก เนื่องจากมีโอกาสปนเปื้อนไปสู่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ น้อยกว่ามือ
.
.
(10). แยกคนป่วย
.
ควรให้คนป่วย โดยเฉพาะคนที่เป็นหวัด-คัดจมูก-ไอ-จาม ได้ลาป่วย ไปพักผ่อนที่บ้าน เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังคนอื่น
.
.
(11). ออกแบบห้องน้ำใหม่
.
ห้องน้ำที่ดี ควรทำประตูทางเข้าเป็นแบบซิกแซก บังตาได้โดยไม่ต้องใช้มือเปิด-ปิดประตู เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อหวัด-ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่ ผ่านลูกบิดประตู
.
ถ้าใช้ประตูแบบที่ต้องจับลูกบิด... ควรทำอ่างล้างมือและเตรียมสบู่ไว้ด้านนอกห้องแทน
.
ถ้าต้องการให้หน่วยงานมีสุขอนามัยดี... ควรทำอ่างล้างมือพร้อมสบู่ไว้หลายๆ จุด โดยเฉพาะทางเข้า-ออกสำนักงาน ติดกล้องวงจรปิดไว้ตรวจสอบว่า คนในหน่วยงานล้างมือมากพอหรือไม่
.
(12). ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่
.
ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือมีอาการไข้สูงเกิน 38C (องศาเซลเซียส), หายใจขัดหรือแน่นหน้าอก, ไอรุนแรง... ควรไปหาหมอก่อน 48 ชั่วโมง หรือ 2 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ
.
คนที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด มีโอกาสได้รับประโยชน์จากยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ถ้าไปหาหมอก่อน 48 ชั่วโมง หรือ 2 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ
.
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ คนสูงอายุ คนที่ตั้งครรภ์ หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ
.
(13). ไม่สูบบุหรี่
.
การไม่สูบบุหรี่ และไม่หายใจเอาควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบเข้าไป โดยเฉพาะห้องแอร์ที่มีคนสูบบุหรี่ เช่น ไนท์คลับ ผับ บาร์ ฯลฯ ช่วยป้องกันหวัด-ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่-ปอดบวม-วัณโรค
.
(14). ไม่ดื่มหนัก
.
การดื่ม (แอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ เบียร์ เหล้า ฯลฯ) หนัก ทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำลง เพิ่มโอกาสสำลักน้ำลาย ซึ่งอาจทำให้ปอดบวมได้
.
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ > แนะนำให้อ่าน [ วิธีเพิ่มภูมิต้านทานโรค / ภูมิคุ้มกันโรค ]
.

 > [ Twitter ]

ที่ มา                               

  • Thank [ Health ].
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 21 พฤศจิกายน 2553.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 409499เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2010 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท